รู้จักจริต
http://webboard.abhidhammaonline.org/old/picdb.thaimisc.com/d/dokgaew/9289-12.gif@nhttp://webboard.abhidhammaonline.org/old/i554.photobucket.com/albums/jj409/somjai100/rose%20set/bara-gli1.gif@t=1254486543
รู้จักจริต
โดย หลวงพ่อเสือ
ในจริตทั้ง ๖ จะมีการจับคู่กันได้ ได้แก่ ราคจริตคู่กับศรัทธาจริต โทสจริตคู่กับพุทธจริต วิตกจริตคู่กับโมหจริต
ลักษณะของราคจริต คนที่มีราคะมาก ราคะในที่นี้คือ “พอใจง่าย” (ราคะในที่นี้อย่าคิดว่าเป็นเรื่องกาเม) เป็นคนชอบความสวยงาม ชอบของประณีต แต่ทุกคนก็ชอบเหมือนกัน เช่น ทุกคนไม่ชอบโทรมๆ ชอบสวยงาม หรือทานอาหารก็ต้องปรุง สรุปว่าราคะมีทุกคน แต่บางคนมีมากหน่อย ก็คือแต่งตัวต้องประดิดประดอย เรียกว่า ต้องเนี๊ยบ บุคลิกต้องดีตั้งแต่ผมจรดเท้า และชอบอาหารรสอร่อย กินอย่างเดียวก็ได้ จะไม่อร่อยอีก ๓ อย่าง ก็ตักกินอยู่อย่างเดียว การเดินใช้ปลายเท้าจิก ลงปลายเท้ามาก ชอบหวีผม หรือแม้กระทั่งบวชแล้ว อย่างพระรูปหนึ่ง เวลาวันโกนต้องเอียง และชอบลูบผม เสยผม ไม่รู้เสยอะไร เพราะไม่มีผม
ลักษณะของศรัทธาจริต คนประเภทนี้จะเชื่อง่าย จูงไปง่ายเพราะมีศรัทธาที่ไม่ใช่ศรัทธา ๔
ลักษณะของโทสจริต เป็นพวกโกรธง่าย กับข้าวตั้งอยู่หลายอย่างไม่ถูกปากอย่างเดียว ไม่กินแล้ว พูดดีมาทั้งวัน อารมณ์ดีมาทั้งวัน พอพูดแสลงหูคำเดียว ความดีลืมหมด ทำดีให้ตั้งเยอะ แต่พอทำไม่ดีนิดเดียวโกรธตะบี้ตะบัน เห็นเราเป็นคนไม่ดีตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ หงุดหงิดแม้กระทั่งตัวเอง แต่เข้าหาพุทธจริตได้ง่าย
ลักษณะของพุทธจริต เป็นจริตของพระพุทธเจ้า จริตที่เข้าไปสู่ความเป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะคนโทสะจะเบื่อง่าย เบื่ออะไรจำเจ และไม่ชอบตกแต่งอะไร ขอให้ไปทีเถอะ ไม่ชอบประดิดประดอย แต่งตัวก็พอดูได้ ไปด้วยความรีบร้อน
พวกราคะจริตกับพวกโทสจริตจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ จะหงุดหงิด ถ้าพ่อบ้านเป็นคนโทสะ แม่บ้านเป็นพวกราคะจะอยู่ไม่ได้ จริตต้องคล้ายคลึงกัน ต้องปรับเข้าหากัน ฉะนั้น เมื่อออกเรือนไปแล้วต้องปรับตัวเข้าหากัน พวกโทสจริตเห็นคนแก่ก็ไม่พอใจ จะรู้สึกชีวิตต้องแก่อย่างนี้หรือ ก็วิ่งเข้าหาความเป็นพุทธจริตได้ง่าย เมื่อให้ดูทุกข์แล้ว ก็เบื่อสังสารวัฏได้ง่าย
ลักษณะของวิตกจริต พวกนี้ต้องมีความสนุกสนานร่าเริงบันเทิงนำหน้า ต้องมีฉิ่งฉับกลองยาว ไม่ชอบอยู่เงียบ ชอบสนุกครื้นเครง หัวร่อต่อกระซิกไป พวกนี้จะเข้ากับโมหจริต เช่น ดนตรีจบก็หลับ พูดจบคุยจบก็หลับ
แต่ทุกคนมีทั้ง ๖ จริตเหมือนกันหมด แต่จะมีจริตอะไรสุดโต่งกว่ากันเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อรู้ว่ามีทุกจริต จึงต้องเอาเอาปัญญามาดัดจริตที่ไม่ดี เพื่ออะไร? เพื่อจะได้เข้าสู่วิปัสสนากรรมฐาน
ทำไมคนเราจึงเวียนว่ายตายเกิด? เพราะยังมีตัณหาอยู่ ตัณหามีที่ออกเข้า ๖ ที่ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงต้องใช้วิปัสสนากรรมฐานพิจารณาดังนี้
ทางตา ขณะเห็นรูป กำหนด นามเห็น
ทางหู ขณะได้ยินเสียง กำหนด นามได้ยิน
ทางจมูก ขณะได้กลิ่น กำหนด รูปกลิ่น (รูปหอม รูปเหม็น เป็นต้น)
ทางลิ้น ขณะได้ลิ้มรส กำหนด รูปรส (รูปเปรี้ยว รูปหวาน รูปเผ็ด เป็นต้น)
ทางกาย ขณะถูกต้องสัมผัส กำหนด รูปร้อน รูปเย็น รูปอ่อน รูปแข็ง
ทางใจ ขณะรู้สึกนึกคิด กำหนด นามทางใจ (นามรู้สึก นามรู้ นามทุกข์นามเจ็บ เป็นต้น)
ขณะเดิน ยืน นั่ง นอน กำหนด รูปเดิน รูปยืน รูปนั่ง รูปนอน
ขณะนี้ไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่แล้วนะ พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ๒,๕๐๐ ปีเศษ ผู้สืบสายโลหิตหลงเหลือไม่กี่ชีวิตแล้ว ผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาอย่างไม่กลัวตาย ท้าทายเกิดมีไม่มาก ฉะนั้นการแบกงานพระศาสนาในการสั่งสอนวิปัสสนากรรมฐานนั้น ผู้ที่ทำได้บุญมากมายมหาศาล ขอโทษนะ พระพุทธองค์ตรัสว่า ธรรมจักรกำลังหมุนอยู่ ผู้รู้ย่อมมีมาก ในขณะเดียวกัน พระธรรมจักรที่ยังหมุนอยู่และผู้รู้นั้นหมุนตามย่อมไปสู่สุคติสวรรคโลกและนิพพาน
ในขณะนี้พระธรรมจักรหมุนอยู่ แต่มีผู้นอนขวาง ย่อมประหารชีวิตลงอเวจี ท่านเตือนว่า ถ้าเราได้เจอนักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้รู้กว่าผู้สูงกว่าด้วยภูมิธรรมของเรา แล้วกำลังไขข้อข้องใจในวิปัสสนากรรมฐาน ท่านบอกว่า นอกจากคนเคารพในธรรมได้บุญแล้ว เคารพในธรรมอันเป็นทางพ้นทุกข์นั้นได้บุญสูงกว่าจะเป็น ปุพเพ กะตะ ปุญญตา ให้เรานั้นมีโอกาสเกิดในที่ๆ มีพระพุทธเจ้าในชมพูทวีป แต่ถ้าผู้ใดหลับอยู่ในท่ามกลางธรรมจักร ผู้นั้นจะต้องอยู่ในกงจักรแห่งชีวิตคือสังสารวัฏนาน เป็นการถ่วงตัวเองด้วย
ในอดีตก็ได้ทำงานช่วยเหลือชาวบ้านมามากมาย ต่อไปนี้ทำเพื่อตนด้วย เพื่อคนอื่นด้วยคือ งานไม่เกิด เป็นงานของพระพุทธเจ้า และไม่เคยเอาความรู้ของผู้อื่นมาประกาศเป็นความรู้ตน เคยมองแบบแต่ไม่เคยลอกแบบ มองเพื่อมาทำให้เกิดแบบในใจ มีความริเริ่มสร้างสรรค์ส่งเสริมตนเองด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่มีอะไรเกินความสามารถ ถ้าเกินความสามารถก็ให้รู้ว่า เราไม่เคยทำงานนี้ไว้ จึงติดขัด ก็ต้องคิดแก้ไขโดยเปลี่ยนไปทำงานอื่น ฉะนั้น ถ้าตอนนี้ยังทำไม่ได้ อย่ากลุ้ม ไปแก้ไขจุดอ่อนนี้ก่อน โดยศึกษาให้ทั่ว ให้รู้รอบ เพราะงานทางโลกนั้นต้องรู้ให้รอบ เช่นแอร์มาใหม่ชนิดไหนก็ต้องไปศึกษา เรียน มีหนังสือใหม่ๆ เอามาศึกษา เพราะต้องมีแอร์ที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
แต่มีเวลาส่วนตัว รอบรู้ว่าเรานั่งอยู่กำหนด รูปนั่ง เพื่อเอาความรู้รอบมาเลี้ยงครอบครัวและตนเอง และแบ่งบางส่วนได้ทำบุญด้วย และเอาความรอบรู้ไว้ทำงานพ้นทุกข์ นี่คือหลักการ
วิปัสสนากรรมฐานเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าจูงคนไปเป็นพระขีณาสพ มีทางเดียวคือ ทำลายความโง่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะที่ปฏิบัตินี้ ตัณหาลวงล่อไม่ได้เลย เพราะปัญญามาเป็นกับดักแล้ว คอยจี้คอยปล้นตัณหาแล้ว สติมาเฝ้าอุดรอยรั่ว ปัญญามาวิดน้ำแล้ว ฉะนั้นเปรียบเรือ ๑ ลำ มีรูรั่ว ๖ ที่ สติเหมือนชันอุดไว้ ปัญญาวิดน้ำ วิริยะพายไป เมื่อน้ำเก่าวิดออก น้ำใหม่ไม่เข้าเรือก็เบา วิริยะ อาตาปี วิ่งฉิว ท่าเรือคือพระนิพพาน เราสามารถขึ้นท่าได้แน่นอน นี่คือหัวใจแห่งกรรมฐาน ได้แก่ วิปัสสนากรรมฐาน
และก่อนที่จะสอนวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อมีบุคคลมาแล้วต้องการเรียนรู้ทางไม่เกิด เขาบอกว่าเขาไม่อยากเกิดแล้ว ให้สอบถามก่อนจะสอนว่า เพราะเหตุใด? ถ้าเขาตอบว่า เพราะจนจังเลยจึงไม่อยากเกิด ก็แนะนำได้ว่า
ระดับที่ ๑ ถ้าจนเพราะไม่มี แต่ขยัน ช่วยไปเลย
ระดับที่ ๒ ถ้าจนเพราะไม่มี แต่ขี้เกียจ ช่วยไม่ได้
ระดับที่ ๓ ถ้าจนเพราะไม่พอ ไม่ช่วยเลย
ดังนั้นการตอบคำถามมี ๓ แบบ คือ
แบบที่ ๑ ถามแล้วตอบทันที
แบบที่ ๒ ต้องย้อนถามก่อนว่า ถามทำไม
แบบที่ ๓ ไม่ต้องตอบ
เช่น ถามว่า ชาติหน้ามีไหม ตอบเลย มี
ถามว่า บุญมีจริงไหม ตอบเลย มี
ถามว่า บาปมีจริงไหม ตอบเลย มี
ถามว่า นั่งสมาธิมีเหมือนลูกแก้ว มีเหมือนชฎามาสวมหัว เป็นอย่างไร? ตอบว่า ที่คุณรู้สึกตัวเย็นๆ อุ่นๆ ตัวลอยๆ นั้น คุณชอบไหม? เขาตอบว่า ชอบ (ก็ไม่ต้องแก้เพราะเขาชอบ) แปลว่า เขามาเล่าให้เราฟัง ฉะนั้นอย่าโง่ บางครั้งเขาไม่ต้องการให้แก้ เพียงแค่มาเล่าให้ฟัง แต่ถ้าเขาอยากหลับ เช่น นอนไม่หลับก็แก้ให้ คือสอนสมาธิ สอนแผ่เมตตา ค่อยๆ เติมเข้าไป
มีบางคำถามที่พระพุทธเจ้าไม่ตอบ พระองค์ยังทรงเฉยเลย เช่น คุณเชื่อหรือว่าคุณจะถึงพระนิพพานได้ ก็ไม่ต้องตอบ เพราะเรารู้ว่าพระนิพพานมี แต่ไม่ได้ถึงในวันเดียว ไม่ต้องอธิบายมาก
ฉะนั้น ชีวิตแต่ละชีวิตไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องตายเหมือนกัน และเกิดต่างกันในแหล่งกำเนิด ๔ อย่าง ล้วนน่ากลัวและอันตรายมากในการเกิด แต่ถ้ามีอาวุธติดตัวไป ความน่ากลัวก็น้อยลง อาวุธนั้นก็คือปัญญาวุธเท่านั้นเอง เพราะปัญญาสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้
แต่ละคนปรารถนาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และไม่ปรารถนาความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ แต่ก็ประสบพบเจอกันมามากแล้ว เราต้องแสวงหาศรัทธาให้มากขึ้น เพราะศรัทธาเรามีแค่หางอึ่ง เช่น อาจพูดโกหกได้ ขอไปที แล้วค่อยทำดีต่อ เพราะผู้ที่มีศรัทธาแล้ว มีศีลบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย มีพระโสดาบันเป็นต้นไปเรียกว่า ผู้มีธรรมคุ้มครองแล้ว นี่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“ดูก่อนท่านผู้แสวงหาสันติวรบททั้งหลาย การปลูกฝังคุณธรรมเป็นเรื่องยากในหมู่มนุษย์ เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว มนุษย์เป็นผู้เห็นแก่ตัวและพวกพ้อง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสัตว์ประเภทอื่นๆ ในโลก ต่างเพียงว่ามนุษย์นั้นสามารถฝึกตนได้ ฝึกจิตได้ ฝึกดีได้”
http://webboard.abhidhammaonline.org/old/i554.photobucket.com/albums/jj409/somjai100/line/882424051988164824.gif
หน้า:
[1]