มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


ธรรมนคร (๑๖)








ธรรมนคร (๑๖)

ธรรมบรรยายจากศาลาเสือพิทักษ์ โดย หลวงพ่อเสือ


ธรรมนคร (๑๕)



เมื่อปฏิบัติไปอำนาจญาณปรีชานั้นก็ผลักดันให้เกิด ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณที่ ๖ คือ ภยญาณนั่นเอง เป็นญาณที่มีความรู้สึกว่า สังขาร คือ รูปนามนี้เป็นภัยอันใหญ่หลวง

การที่ได้รับอารมณ์อย่างนี้ ก็เนื่องมาจากภังคญาณที่ได้ประจักษ์เห็นอยู่เนืองๆ ส่งอำนาจต่อมาให้ผู้รู้คือปัญญา รู้ยิ่งขึ้น รู้มากขึ้น ความน่ากลัวก็มีมากขึ้นโดยจะเห็นว่าไม่มีทางไหนปลอดภัยเลย เหมือนคนกลัวผี พอเดินในที่มืดๆ หันไปทางไหนก็เจอแต่ผี คือประสบกับอารมณ์ของญาณที่ ๕ อยู่เรื่อยๆ จนสติปัญญานั้นแก่กล้า

ภยญาณ คือเห็นความน่ากลัวอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ เมื่อเห็นแต่ความดับไปๆ มากเข้าๆ นั่นเอง ความรู้สึกว่าสิ่งที่เป็นสาระน่ายินดีในสังขารมันก็หายไปเอง เพราะเห็นแล้วว่าไม่ดี ก็ไม่ต้องการ

ปกติธรรมชาติของจิตไม่ต้องการทุกข์อยู่แล้วเมื่อมาเจอ ยิ่งไม่ต้องการใหญ่ มีความรู้สึกว่าเป็นภัยอันน่ากลัวเข้ามาแทนที่ สารประโยชน์สุขมันจะหายไป ความใคร่ในภพจะจางบางมาก รู้สึกแต่ความน่ากลัว (ในที่นี้คือชีวิตน่ากลัว ไม่มีอะไรอื่นน่ากลัว) เข้าไปแทนที่ในจิตใจ โดยอาศัยวิปัสสนาเป็นเหตุ กระทำให้มองเห็นการเกิดขึ้นของสังขารเป็นไปในกำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐีติ ๗ สัตตวาส ๙

โดย ศาลาธรรม [20 มิ.ย. 2557 , 09:00:16 น.] ( IP = 58.11.186.80 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1




“ความรู้สึกน่ากลัว” เป็นเพราะแน่ใจว่า ภพภูมิไม่ได้น่ากลัว แต่สังขารน่ากลัว

ปัญญาเข้าไปเห็นว่าสังขารนี้เป็นภัยน่ากลัวไม่ว่าในแหล่งกำเนิดใด ภพใด

ประจักษ์กับจิตตนเองด้วยปัญญาว่า สังขารนั้นเป็นทุกข์ไม่โทษอย่างอื่นแล้ว

เหตุนี้จึงเรียกญาณนี้หรือความรู้สึกในนามรูปว่าเป็น ภยตูปัฏฐานญาณ

ความรู้สึกในขณะนี้ ตัณหาซึ่งก็คือตัวสมุทัย จะอาศัยอารมณ์นี้เกิดขึ้นไม่ได้อีกแล้ว

ตัณหาจะต้องหยุดชะงักลง แต่ยังไม่ได้คลายตัวออก เมื่อก่อนตัณหามันตัวสูงกว่า แต่พอถึงญาณนี้ ตัณหามันหดตัวลง มันเตี้ยกว่าเพราะอำนาจจิตมีมาก เรามีอำนาจมากกว่าตัณหา แต่มันยังไม่หาย (ตัณหาหยุดซ่า หยุดแผ่ซ่านไป) เพราะอารมณ์ภยตูปัฏฐานญาณ เป็นข้าศึกต่อตัณหา เพราะเห็นทุกข์ ทุกข์เป็นข้าศึกต่อตัณหา

อุปมาเหมือนคนเป็นโรคผิวหนัง เมื่อเอายาทาโรคก็หยุดกำเริบ แต่ไม่ได้ถอนรากถอนโคน เพราะรากโคนนั้นคือกรรม ถ้าเลิกทายาก็เป็นอีก ตอนนี้ตัณหามันไม่ซ่า แต่มันก็เกิดมาได้อีก คืออารมณ์มันไม่เที่ยง อารมณ์ความยินร้ายซึ่งมีมูลรากจากโทสะ ยังอาศัยเกิดขึ้นได้อยู่ในญาณที่ ๖ นี้ โทสะยังอาศัยอยู่ได้

โดย ศาลาธรรม [20 มิ.ย. 2557 , 09:02:13 น.] ( IP = 58.11.186.80 : : )


  สลักธรรม 2




ญาณที่ ๗ อาทีนวญาณ หรือ อาทีนวานุปัสสนาญาณ เป็นญาณที่เห็นโทษของสังขาร สังขารนี้ก็คือนามรูป ญาณนี้เนื่องมาจากภยญาณ เพราะในชีวิตเรา นิสัยเราเมื่อเห็นภัยแล้วย่อมต้องเห็นโทษ การเห็นโทษในที่นี้ท่านวางหัวข้อไว้ว่า ต้องเห็น ๕ อย่างนี้ คือ

๑.เห็นความเกิดขึ้นของสังขาร ที่ตนปฏิสนธิมาว่าเป็นโทษ ที่ได้ปฏิสนธิวิญญาณมานี้เป็นโทษ

๒.เห็นความเป็นไปของสังขาร ในระหว่างที่ตั้งอยู่ในภพ ทั้งทุกคติ สุขคติ เป็นโทษ

๓.เห็นกรรมว่าเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิต เกิดขึ้น และทำให้ความเป็นไปของสังขารตั้งอยู่ในระหว่างภพ เป็นโทษ ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่ากรรมก็ไม่ใช่คุณ ไม่มีคุณเลย กรรม การกระทำทุกอย่าง ไม่มีคุณเลย

๔.เห็นความเสื่อมสิ้นไปของสังขาร เป็นโทษ

๕.เห็นว่าการที่ต้องไปเกิดอีก มีชาติอีก มีภพอีก เป็นโทษอย่างยิ่ง

ญาณที่ ๗ นี้ จะเป็นการประกาศต่อจิตอย่างมั่นคงว่า “ปฏิสนธิที่ได้มา การมีชีวิตอยู่ กรรมเป็นตัวปัจจัยให้เกิดโทษนั้น ความสิ้นไปของสังขาร และการต้องไปเกิดอีก เป็นโทษ” มันเป็นการประกาศด้วยปัญญาอย่างชัดแก่ผู้ปฏิบัติโยคาวจรผู้นั้น หรือสรุปใจความว่าอำนาจของอาทีนวญาณนี้ เป็นอำนาจที่เข้าไปเห็นสภาวะของโทษโดยตรง ทั้ง ๕ ประการที่กล่าวนั้นเป็นสภาวะของโทษ

โดย ศาลาธรรม [20 มิ.ย. 2557 , 09:03:43 น.] ( IP = 58.11.186.80 : : )


  สลักธรรม 3




โดยสรุป คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท หรือคือรูปนาม ที่เป็นไปทั้งหลายนี้เป็นโทษ เข้าไปถึงสภาวะนั้นๆ ด้วยปัญญา มีความรู้สึกในอารมณ์เช่นนี้อย่างมั่นคง ก็เพราะตัณหาไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นปรุงแต่งอารมณ์ วิปลาสธรรมทั้งหลายที่เคยเป็นไปอย่างก่อนนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยอำนาจของปัญญาที่มีกำลังแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ จึงสามารถสร้างอารมณ์ให้แก่ญาณนี้ได้เต็มที่ จนกระทั่งตัณหาไม่มีโอกาสเกิด

อารมณ์ของญาณนี้เป็นข้าศึกของตัณหา อารมณ์ของญาณนี้เป็นที่เดือดร้อนของตัณหามากที่สุด ตัณหาเดือดร้อนที่สุดในญาณที่ ๗ เพราะตัณหาไม่มีที่อาศัย จิตในขณะนั้น ปัญญาในขณะนั้น จึงพ้นจากสภาพความหวาดระแวงและเป็นทาส เพราะเห็นอะไรเป็นโทษไปหมด ตัณหาไม่เข้าร่วม เพราะตัณหาชอบทุกข์

ไม่ต้องกลัวว่าญาณนี้จะมีสุขเข้ามาแทรก หรือจะมีตัณหามาเกี่ยวข้อง เพราะเปิดทางให้เห็นทุกข์อย่างชนิดฉกรรจ์ ปลอดภัยจากสุขวิปลาส ไม่มีสิ่งใดจะเห็นว่าเป็นของน่ายินดีอีกเลย แม้กระทั่งสติปัญญาของตัวเอง ที่เข้าไปรู้ความจริง ไม่มีสิ่งใดจะเห็นว่าเป็นของน่ายินดีอีกเลย เพราะในความรู้สึกของผู้ปฏิบัติหรือโยคาวจร ตรงนั้นสติก็อาศัยระลึก ปัญญาเป็นตัวเห็นโทษ

ฉะนั้น ในขณะนั้น อารมณ์ของโยคาวจรกล่าวว่า อำนาจของญาณปัญญา เพียงสักแต่ว่ารู้เท่านั้น ไม่เลยไปอย่างอื่นเลย ไม่เลยไปรำพึงรำพัน ไม่เลยไปจากความรู้ สักแต่ว่ารู้ สติก็สักแต่ว่าอาศัย อาศัยแล้วก็รู้ อาศัยแล้วก็รู้ ได้แค่นิดเดียว เป็นขณะเลย หมายความว่า ทิฏฐิก็ดี ตัณหาก็ดี ไม่เข้าไปอาศัยปรุงแต่งให้เกิดความยินดี สติปัญญาที่ตนเข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงนั้น มีความมั่นคงจนไม่สามารถเปิดทางให้ตัณหาและทิฏฐิมาอาศัยได้อีกแล้ว

ปัญญาที่เห็นโทษของสังขารอย่างนี้ เห็นมากมาย มากขึ้นๆ ยิ่งกว่าเห็นผีอีก อำนาจมากขึ้น ทำให้เกิดญาณความรู้สึกขึ้นมา ไม่ได้คิดแล้ว รู้สึกว่า ถ้าไม่เกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตายด้วย ปัญญาบอกกับจิต ไม่ใช่ได้ยินทางหู แต่ประกาศทางใจ หรือถ้าเอาเข้าสภาวะก็คือ ถ้าเผื่อไม่มีขันธ์ อายตนะ ธาตุ คือรูปนามอย่างเดียว จะเป็นสุขและมีความปลอดภัย แต่ตราบใดยังมีขันธ์ มีรูปนามอยู่ มีแต่โทษ มีภัย จะประกาศออกมาเลย จะเป็นความปลอดโปร่ง ถ้าไม่มีขันธ์

โดย ศาลาธรรม [20 มิ.ย. 2557 , 09:05:22 น.] ( IP = 58.11.186.80 : : )


  สลักธรรม 4




ความรู้สึกนี้ท่านเรียกว่า เป็นอำนาจญาณในสันติแล้ว แต่เป็นสันติมาก คือความรู้หยั่งลงพระนิพพานแล้ว เหมือนเครื่องบินแล่นมาใกล้ถึงที่แล้ว เริ่มลดระดับลงแล้ว คำว่า สันติบทนี้ หมายถึง พระนิพพาน ฉะนั้น ญาณที่ ๗ นี้ มีอำนาจพาจิตใจโยคาวจรให้หยั่งลงแล้ว เพราะตามธรรมดาธรรมที่จะพ้นทุกข์โทษภัยทั้งหลายจากที่กล่าวมาแต่ต้นในอาทีนวญาณไม่มีในโลกนี้ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหมดบังคับบัญชาไม่ได้ สิ่งต่างๆ ที่บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เป็นของฉิบหาย ธรรมชาติในโลกนี้เป็นทุกข์ทั้งสิ้น

ฉะนั้น ธรรมที่จะพ้นจากทุกข์โทษภัย ไม่มีในโลกนี้ นอกเสียจากพระนิพพานเท่านั้น การที่มีปัญญาญาณเข้าไปรู้สึกถึงต้นขั้วเลยว่า ขันธ์ อายตนะ ธาตุ เหล่านี้นี่แหละเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ไม่มีสุข ถ้าไม่มีจึงจะสุข การรู้อย่างนี้จึงถือว่าหยั่งรู้ในคุณลักษณะของพระนิพพานยังไม่ได้ แต่ยอมรับว่านี่แหละพระนิพพานถึงจะสุข

ตอนนี้ลองถามดูว่าอยากตายไหม ก็ยังไม่อยากตายเพราะยังรู้สึกว่าตายไม่ดี แต่โลกนี้ไม่มีสุขเลย เพราะโลกนี้เป็นของสมมติ แล้วสิ่งที่เราได้มา ก็ทำให้เราติดสมมติ แล้วไม่รู้ว่าสิ่งสมมตินั้นไม่เที่ยง แต่คราวนี้มันไปเห็นความไม่เที่ยงแล้วจึงไม่ชอบสมมติ จิตนั้นรับปรมัตถ์คือพระนิพพานเท่านั้น การที่จะเห็นธรรมอันเป็นความสุขไม่มีในโลกนี้เลยจึงหยั่งลงอย่างมั่นคง ว่าพระนิพพานเท่านั้น

ซึ่งอารมณ์อย่างนี้คือเห็นโทษในสังขารอย่างอุกฤษ และเห็นคุณของพระนิพพานอย่างมั่นคงในศรัทธา อารมณ์สองอย่างนี้เป็นข้าศึกกัน เพราะเห็นโทษมากเท่าไหร่ ก็พอใจที่จะพ้นจากโทษมากกว่านั้น หรือเห็นคุณในการพ้นโทษมากเท่าใด ก็ยิ่งไม่พอใจในโทษมากเท่านั้น เป็นธรรมดา ที่อยากจะถึงธรรมที่ไม่มีโทษคือพระนิพพาน

ด้วยเหตุเช่นนี้ อารมณ์สองอย่างของญาณปัญญานี้ ต่างก็เป็นปัจจัย ช่วยกันตีต้อนให้ปัญญาแก่กล้า เห็นโทษก็อยากจะไป เห็นสุขก็อยากจะถึง อยากจะหนีจากการมีชีวิต อยากจะถึงบรมสุข มันก็ต้อนปัญญามุ่งไปสู่ธรรมที่เป็นวิวัฏฏะคามินี ธรรมที่ออกจากสังสารวัฏฏ์ อารมณ์ของญาณที่ ๗ เป็นอารมณ์ต้อนออกเป็นวิวัฏฏะ

โดย ศาลาธรรม [20 มิ.ย. 2557 , 09:06:45 น.] ( IP = 58.11.186.80 : : )


  สลักธรรม 5




ฉะนั้น อธิษฐานให้วิวัฏฏะไม่ได้ แต่ต้องไปถึงอาทีนวญาณ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นเหตุผล ที่จะไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจผิดจากมัชฌิมาปฏิทาแน่นอน

และถ้าศึกษาแบบนี้จะไม่เข้าใจผิดไปจากมัชฌิมาปฏิปทา เพราะการที่จิตใจของเราจะเข้าถึงพระนิพพานได้นั้น จะต้องปฏิบัติไปจนได้อารมณ์แยกไปเป็นข้าศึกกัน คืออารมณ์เห็นโทษ กับอารมณ์รู้คุณ แล้วตัวรู้อยู่ตรงกลาง กลัวอารมณ์เห็นโทษก็แยกจากไป ไม่ต้องการโทษอารมณ์เห็นคุณนั้นก็ปรากฏชัด จิตถูกต้อน สองอารมณ์มาอยู่ตรงกลาง จะไม่คลาดจากมัชฌิมาปฏิปทา จิตจะบ่ายหน้าออกจากสังสารวัฏฏ์ มุ่งสู่พระนิพพานด้วยญาณที่ ๗

เพราะการแยกออกจากกันนี้อาศัยการเห็นทุกข์โทษของสังขาร นามรูปทั้งหลายจะยังเป็นของดีอยู่ ถ้ายังไม่เห็นทุกข์โทษของสังขาร ก็เที่ยงอยู่ เป็นสุข เป็นตัวตนอยู่ แต่เมื่อใดอำนาจญาณปัญญาที่มาปรากฏเป็นอารมณ์ที่เป็นตัวผลักดันให้มุ่งไปสู่สันติสุข คือออกจากวัฏฏสงสารไป ก็จะต้องเกิดขึ้นที่ญาณที่ ๗ นอกนั้นเป็นอารมณ์ของตัณหา

เราจะเห็นได้ว่า อารมณ์เราเป็นอารมณ์ของตัณหา แต่ในญาณที่ ๗ ตัณหาเกิดไม่ได้เลยเด็ดขาด จำต้องเดินบนทางเดียวเลยคือนำออกจากสังสารทุกข์ ฉะนั้น โยคาวจรผู้ปฏิบัติจะต้องทราบก่อนแล้วปฏิบัติก็จะประจักษ์แน่นอนเลยว่า การที่ชีวิตจะดำเนินไปถึงพระนิพพาน อันเป็นจุดหมายปลายทาง จะต้องถูกตีและต้อนด้วยความทุกข์ เห็นทุกข์มากเท่าใดก็อยากจะไปให้พ้นทุกข์ เร็วมากเท่านั้น

ไม่ใช่ถูกตีต้อนด้วยความสุขหมายความว่าอาศัยทุกข์สั่งไป ไม่ใช่อาศัยสุข ต้องไปด้วยปัญญาที่เห็นทุกข์ ไม่ใช่ไปด้วยสมาธิ เพราะสมาธินั้นให้สุข ฉะนั้น สมาธิไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ สมาธิไม่ได้นำถึงพระนิพพาน สมาธิไม่ใช่ทางสายเอก ที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์อาศัยสมาธิที่มีอยู่เป็นทางกระทำให้เกิดสุข และยังติดสุขเป็นตัณหาอยู่ ถึงญาณที่ ๗ แล้วประกาศดังๆ สมาธิทำให้เกิดการแยกหรือการกระจายของวิปลาสไม่ได้เลย

โปรดติดตามตอนต่อไป

โดย ศาลาธรรม [20 มิ.ย. 2557 , 09:08:25 น.] ( IP = 58.11.186.80 : : )


  สลักธรรม 6

กราบระลึกถึงหลวงพ่อเสือด้วยความเคารพและสักการะยิ่ง

ขอบพระคุณและอนุโมทนากับคุณศาลาธรรมด้วยค่ะ

โดย abctoy (abctoy) ดูรายละเอียดสมาชิกคนนี้ - [21 มิ.ย. 2557 , 20:20:35 น.] ( IP = 124.121.87.250 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org