มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


เปลี่ยนทุนให้เป็นธรรม









เปลี่ยนทุนให้เป็นธรรม

โดย อาจารย์บุษกร เมธางกูร
บรรยายเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓


“ตัณหามหานที” เป็นแม่น้ำที่ไม่มีสายใดจะใหญ่เท่า หมายถึง การที่เราต้องเวียนว่ายตายเกิดเป็นไปด้วยความทุกข์ประจำและทุกข์จร ทุกข์ประจำก็คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์จรก็คือ ความพลัดพรากจากสิ่งที่ตัวเองรัก ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่สมความปรารถนา และพลัดพรากจากสิ่งที่ตัวเองปรารถนาและรักใคร่ สิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเป็นทุกข์

ทุกข์เหล่านี้เกิดขึ้นที่ไหน? เกิดขึ้นที่ชีวิตของเรา

ชีวิตของเราที่ตั้งอยู่ มีอยู่ และเป็นอยู่ ก็เพราะได้มาจากอดีตเหตุคือกรรมเก่า

ทำให้ชีวิตเราเริ่มต้นในชาติหนึ่งชาติหนึ่งเรียกว่า วิบากขันธ์

เราก็ต้องอาศัยวิบากขันธ์สร้างชีวิตด้วยการเรียนรู้ ดูจำ และทำได้


จะเห็นว่าในทางโลกเราเริ่มเรียนตั้งแต่เด็กเพื่อจะได้มีความรู้ เราต้องการความรู้เพื่อจะได้ทำงานเลี้ยงชีพและก็แสวงหาสิ่งต่างๆ ในโภคทรัพย์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวนเงินทอง เรือกสวนไร่นา ครอบครัว สามี ภรรยา บุตร ธิดา เราก็เอาเข้ามาแบกไว้ มายึดเอาไว้ ซึ่งในที่สุดไม่ว่าจะมีหรือไม่มี จะมีมากหรือมีน้อย ต่างก็ต้องไปมือเปล่าทั้งสิ้น นั่นคือความสิ้นภพหนึ่งภพหนึ่ง คือจุติจิตเกิดขึ้น

ตั้งแต่วันที่เราจำความได้จนมาถึงวันนี้ เราไม่เคยหยุดเลยที่จะต้องบริหารขันธ์ ต้องเดิน ยืน นั่ง นอน เหยียด คู้ ก้ม เงย มีการแก้ไข กินอาหารแล้วกินอาหารอีก เข้าห้องน้ำแล้วเข้าห้องน้ำอีก นอนหลับแล้วนอนหลับอีก เราทำจำเจ ซ้ำๆ ซากๆ กันมานาน ก็เพราะแม่น้ำตัณหามหานทีนี่แหละที่ทำให้เรานั้นมีความยินดี มีความข้องติดอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ทำให้ชีวิตพันผูกร้อยรัดไว้ด้วยกิเลสวัฏฎ์ กรรมวัฏฏ์ และวิบากวัฏฏ์

โดย น้องกิ้ฟ....นำมาฝาก [8 ม.ค. 2558 , 18:53:06 น.] ( IP = 171.96.176.107 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1




วันนี้ได้เขียนขึ้นบนกระดานไว้เกี่ยวกับวิปัสสนาญาณต่างๆ ก็เพราะเนื่องมาจากเมื่อวานนี้ได้เข้าไปดูงานธรรมะในเว็บไซด์ และได้ไปพบกับนักศึกษาท่านหนึ่งแสดงทัศนะเกี่ยวกับนิพพิทาญาณไว้แล้วก็ขอให้เข้าไปช่วยตอบ จึงได้ขมวดความรู้ทั้งหมดตอบไปแบบสั้นๆ แล้วก็บอกไปว่าให้มาถามในวันนี้เพราะเป็นกาลเทศะที่พร้อมจะให้ความรู้ได้อย่างละเอียด

ก่อนอื่นก็จะต้องขอพูดว่า ญาณต่างๆ ที่เขียนบนกระดานนี้เป็นผลของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หรือเอกายนมัคโคคือสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น ผลจึงออกมาเป็นลำดับๆ แบบนี้ ฉะนั้น ผู้ที่ไม่ปฏิบัติจึงไม่มีผลของการปฏิบัติ และผู้ที่จะปฏิบัติได้ก็ต้องมีความเข้าใจในวิธีปฏิบัติ

สำหรับผู้ที่เพิ่งมาใหม่ ขออธิบายให้ฟังย่อๆ ว่า การที่เราจะเข้าถึงธรรมได้ต้องเข้าใจเรื่องจิตว่า จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เช่น เห็นได้ ได้ยินได้ ได้กลิ่นได้ รู้รสได้ นึกคิดได้ เรียนให้รู้ว่าเจตสิกเป็นอย่างไร มีหน้าที่อะไร เกิดขึ้นที่ไหน และจิตกับ เจตสิกนั้นไม่ใช่อย่างเดียวกัน แต่จิตกับเจตสิกเกิดร่วมกัน ตั้งอยู่ที่เดียวกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน และสภาพของจิตนี้มีสามขณะคือ เกิดขึ้น (อุปาทะขณะ) ตั้งอยู่ (ฐีติขณะ) และดับไป(ภังคะขณะ)

จิตกับเจตสิกนี้ทำงานร่วมกัน เช่น ถ้าเราไปห้างสรรพสินค้า ได้เห็นของสวยๆ ก็มีความยินดี มีความพอใจ อยากได้แก้วแหวนเงินทอง การที่เห็นเป็นเรื่องเป็นราว เป็นชอบ เป็นชัง คือการทำงานของจิตกับเจตสิก เพราะจิตที่เห็นแล้วชอบนั้นก็คือ จิตโลภะเกิดขึ้น ถ้าเห็นแล้วไม่ชอบ เรียกว่าจิตโทสะเกิดขึ้น

การที่จิตมีมากถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง เพราะจิตนั้นไม่เหมือนกัน ขณะที่โลภก็ไม่ใช่โกรธ ขณะที่โกรธก็ไม่ใช่โลภ เพราะจิตโลภมาจากเจตสิกที่มีโมจตุกะและมีโลภะเป็นประธาน ส่วนจิตโกรธก็คือการทำงานของกลุ่มโทจตุกะ หรือที่เรียกว่ามีกลุ่มโทสะเข้าไปปรุงแต่งเป็นจิตโกรธ เมื่อเจตสิกดี จิตจึงดี เป็นกุศล เมื่อเจตสิกไม่ดี จิตจึงไม่ดี



ในการศึกษานั้นอย่าไปสนใจในเรื่องปริมาณ แต่ขอให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็มาตามแกะรอยกันว่า อาการของจิตที่โลภมีอะไรไปร่วมบ้าง อาการของโกรธมีอะไรเข้าไปร่วมบ้าง อาการของความดีมีเจตสิกอะไรเข้าไปร่วมบ้าง ถ้าเป็นมหัคตจิตมีอะไรเข้าร่วมบ้าง มรรคจิตเป็นอย่างไรมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เป็นการทำความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับเจตสิก เหมือนเราที่รู้จักคุณพ่อคุณแม่ พี่น้องอย่างดี ใครคือพี่เรา ใครคือแม่เรา หรือพ่อเรา แต่เมื่อเราไปโรงเรียน เราก็ต้องรู้จักว่าใครเป็นครูบ้าง ใครเป็นครูประจำชั้น ส่วนใครเป็นเพื่อนก็เป็นเรื่องปลีกย่อยแล้ว

โดย น้องกิ้ฟ....นำมาฝาก [8 ม.ค. 2558 , 18:54:56 น.] ( IP = 171.96.176.107 : : )


  สลักธรรม 2




เราเรียนเรื่องจิตและเจตสิกเข้าใจแล้วก็จะรู้ว่า สภาวธรรมของเขาจริงๆ นี่ จัดเป็น นามธรรม และจิต เจตสิกก็ต้องมีที่อาศัยก็คือรูปธรรม เช่น จิตเกิดขึ้นทำหน้าที่เห็นก็ต้องใช้จักขุปสาท มีเสียงที่เกิดขึ้นมีจิตเป็นผู้ได้ยิน จิตต้องอาศัยโสตปสาท แต่ตัวที่ได้ยินก็คือโสตวิญญาณ เราจึงต้องศึกษาที่ตั้งที่อาศัยก็คือ รูป ที่มีถึง ๒๘ ชนิด ที่จะมาทำงานร่วมกัน

วันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาต้องล้างหน้าแปรงฟัน และก็แต่งตัวเพื่อจะไปว่ายน้ำในแม่น้ำตัณหา คือ ความยินดีที่มีงาน ที่ได้ทรัพย์ ยินดีที่สามารถเลี้ยงชีวิตได้ การที่มีวันหยุดสุดสัปดาห์ก็เพื่อให้เราไม่ต้องไปแหวกว่ายเช่นเดิม อย่างวันพระในอดีตโบราณปู่ย่าตายายพ่อแม่ก็จะจูงตัวเองไปวัด แล้วก็ยังจูงลูกๆ หลานๆ ไปด้วยเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับวัดด้วยการทำบุญ แต่เดี๋ยวนี้ยุคสมัยก็เปลี่ยนแปลงไป จิตใจของเราจึงมีเครื่องล่อคือวัตถุกามที่มากมาย ประกอบกับในจิตสันดานของเรานี้มากไปด้วยกิเลสกาม เมื่อมีกิเลสกามของส่วนตัวแล้วตาเราไปเห็นวัตถุกาม ก็เหมือนกับที่เขาเรียกว่าคู่ตุนาหงัน เจอกันแล้วก็เกิดความยินดีติดใจ

ฉะนั้น เราต้องรู้ก่อนว่า จิตคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ เฉยๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่มีตัวที่ทำให้มีจิตดีจิตชั่วเข้าไปปรุงแต่ง เช่นโลภมูลจิตดวงแรก มีโลภะเหตุ มีโมหะเหตุ และมีเจตสิกที่เหลืออีก ๑๗ เกิดร่วมด้วย เป็นธรรมที่เป็นเหตุด้วยและมีเหตุด้วย จิตตุปบาทนี้เมื่อปรากฏขึ้นมานั้นก็ชื่อว่า โสมมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกกัง หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความยินดี ประกอบไปด้วยความเห็นผิด โดยไม่มีใครชักชวน

ธรรมะของพระพุทธเจ้าลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพจึงต้องอาศัยความตั้งใจและการคุ้นเคยจึงจะเข้าใจ เมื่อเรียนจิต เจตสิก รูป แล้วก็เรียนหน้าที่การงานของจิตหรือกิจต่างๆ มี ๑๔ กิจ เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิไปจนถึงจุติ แล้วเราก็จะเรียนเรื่องฐานคือที่ตั้งที่จิตเกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง เพื่อจะให้เห็นว่าอยู่ดีๆ จิตไม่ได้พรวดมา แต่มีฐานการทำงานทั้งก่อนหน้าและภายหลัง

เมื่อเรียนไปก็ได้รายละเอียดมากขึ้นๆ ว่าจิตเจตสิกรูปนี่นอกจากเป็นนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ยังมีเหตุปัจจัยให้เกิด ธรรมทั้งหลายนับเนื่องมาจากเหตุ หรือไหลมาจากเหตุ มีเหตุเป็นแดนเกิด จึงยิ่งกระจายให้เห็นว่า เราไม่มีสิทธิ์ไปบังคับบัญชาชีวิตเลย

ทุกวันนี้เราหาทุนกันมามากแล้วเพื่อเลี้ยงชีวิต เรามาเปลี่ยนทรัพย์ให้เป็นบุญ เปลี่ยนทุนให้เป็นธรรมกันบ้าง จะได้มีเสบียงชีวิตที่ดี ฉะนั้น เมื่อมาถึงวันเสาร์อาทิตย์เราจึงมาเพื่อเปลี่ยนทุนให้เป็นธรรมะฝ่ายกุศลคือเป็นสัมมาทิฏฐิ

โดย น้องกิ้ฟ....นำมาฝาก [8 ม.ค. 2558 , 18:56:42 น.] ( IP = 171.96.176.107 : : )


  สลักธรรม 3




ธรรมะของพระพุทธองค์นั้นมีมากมายเหมือนใบไม้ในราวป่า แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราตถาคตสอนเพียงใบไม้นี้เท่านั้น เพราะใบไม้ในป่าถึงจะมีมากอย่างไรก็ไม่ยังประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น” แล้วพระองค์ก็ทรงคลายมือออกจนใบไม้ในกำมือร่วงหล่นไปหมดสิ้น เหลือเพียง ๕ อย่างที่จะทรงสอนได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือเรื่องขันธ์ ๕ ที่จะทำให้สู่ความพ้นทุกข์

แล้วพระองค์ก็ทรงเข็นพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรปฐมที่เมื่อวงล้อเกิดขึ้นมาแล้ว ไปตลอดจนสิ้นพุทธกาล ก็ไม่มีใครสักคนเดียวในโลกนี้หรือโลกไหนที่จะหมุนวงล้อทวนกลับมาได้ ผู้ที่สามารถเข้าใจในธรรมจักรก็จะมีชีวิตที่ไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวไม่มีการถอยหลังหรือนั่งเก้าอี้โยกอีกแล้ว ฉะนั้น ตรงนี้ก็ตอบตัวเองได้เลยนะว่าเราอยู่กับธรรมจักรได้แล้วหรือไม่

มีพระพุทธวจนะกล่าวว่า “คนที่ใจบางหน้าหนา จะกล้าทำชั่วได้ง่าย แต่คนที่ใจหนาหน้าบาง จะไม่กล้าทำชั่ว” หมายถึงคนที่ใจเสาะ น้อยใจง่าย เสียใจง่าย บอบบางแบบคุณหนู กระทบไม่ได้ กระแทกไม่ได้ จัดอยู่ในส่วนของทำชั่วได้ง่าย เพราะถ้าหากถูกตำหนิปุ๊บก็ไม่พอใจ เกิดโทสะ อย่างนี้แสดงว่าใจบาง แต่คนที่ใจหนาหน้าบางจะทำชั่วได้ยาก เพราะใจมีความทนทานในการรับความจริง ยอมรับว่าในเรื่องกรรมเรื่องวิบากโดยดุษฎี

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ขึ้นชื่อว่าบาป ไม่ทำเลยดีกว่า” หรือขึ้นชื่อว่าบุญ ทำมากๆ ดี อย่ากลัวบุญ เพราะมีอยู่วันหนึ่งได้ฟังคำปรารภมาว่า “พอนั่งปุ๊บก็รู้สึกว่าสมาธิแนบแน่นไป” ก็เลยบอกไปว่า อย่ากลัวเลยว่าสมาธิมาก ขอให้มากเถอะ เพราะสมาธิเป็นบุญ และก็ขอโทษจริงๆ อย่างเราๆ ไม่ได้หรอกอุปจารสมาธิ เพราะวิถีที่มีบริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภูฯ นี้ใกล้จะเป็นพระโสดาบันไปแล้ว แต่ที่บอกมาว่าพอมีข่าวเกี่ยวกับพระที่เคยเคารพนับถือก็รู้สึกเสียใจมาก ผิดหวังมาก และเสียดายเงินที่ทำไปมาก แต่วิถีจิตของผู้ที่ใกล้จะเกิดบริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภูฯ นั้นเขาจะไม่ยุ่งเรื่องเหล่านี้แล้ว แต่นี่ยังแสดงว่ายังเป็นจิตที่ไม่ดีเป็นจิตโทสะ อยู่เป็นจิตที่หวงแหน เป็นจิตที่ปรารถนาและไม่สมควรปรารถนาเรียกว่าจิตของปุถุชน คนมีกิเลส ฉะนั้น อย่าไปกลัวเลยว่าทำวิปัสสนาแล้วสมาธิจะแนบแน่น

ผู้ที่จะถึงพระนิพพานคือ ผู้ที่สิ้นกิเลส พระโสดาบันท่านสิ้นกิเลสไปแล้ว ๕ ใน ๑๒ คือ โลภะที่สัมปยุตตด้วยทิฏฐิความเห็นผิดทั้ง ๔ ดวง และวิจิกิจฉา ๑ คือ ความสงสัยในบาปบุญ ชาติหน้า คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น โลภะที่ประกอบไปด้วยความเห็นผิดที่ถูกทำลายลงไปนั้นทำให้ระยะทางไปสู่จุดหมายของท่านต่างกับของเรา เพราะเราคือผู้ที่ว่ายน้ำอยู่ในตัณหามหานทียังเต็มไปด้วยโลภมูลจิต ๘

เมื่อเราเรียนรู้แล้วก็จะทราบว่าพระพุทธองค์ทรงสอนทางขึ้นฝั่งไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านได้วางทางไว้เลยว่าต้องเดินทางแบบนี้ จะต้องอาศัยสติมา สัมปชาโน และอาตาปี ด้วยการระลึกรู้ ทำความรู้สึก หรือมีสติสัมปชัญญะในชีวิตอยู่ตลอดเวลา เว้นกั้นอาศัยชีวิตด้วยตัณหาและอวิชชา นี่คือพื้นฐานที่ทรงวางทางไว้ให้เดิน แล้วเราก็ได้รับพระคุณจากพระอนุรุทธาจารย์ที่มากระจายความรู้มาเป็นปริจเฉทต่างๆ ให้เรามาเก็บรายละเอียดด้วยการทำความเข้าใจ แล้วก็ต้องมีความเพียร ทำจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสจากเครื่องเศร้าหมองเสีย เมื่อทำได้ผลก็ปรากฏ

โดย น้องกิ้ฟ....นำมาฝาก [8 ม.ค. 2558 , 18:58:26 น.] ( IP = 171.96.176.107 : : )


  สลักธรรม 4




ขอย้อนกลับไปที่คำถามเกี่ยวกับวิปัสสนาญาณที่บอกว่าขณะนี้กำลังเรียนถึงสังขารุเปกขาญาณคือการวางเฉย และเรียนถึงนิพพิทาญาณคือความเบื่อหน่ายรูป ความเบื่อหน่ายนาม ก็จะอธิบายให้ว่า ชีวิตของคนเรานี้ ทำงานและก็มีผลงาน ถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีผลงาน อย่างเวลาหลับเราก็ไม่มีผลงานเกิดขึ้น มีแต่อาศัยวิบากขันธ์เท่านั้นเอง แต่เช้าขึ้นมา เราก็ออกไปทำงาน เราก็มีผลงานและผลงานนั้นก็คือ ผลเงินเดือน

การงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดผล และการงานของพระพุทธศาสนา เรียกว่า วิปัสสนาธุระ ก็จะเกิดผลขึ้นมาจากการงานให้แก่จิต และงานนั้นมีผลดีกับผลประเสริฐ คือทำแล้วดีกับทำแล้วประเสริฐ

ทำแล้วดี เช่น เราสามารถหางานทำจนจิตของเราหยุดความฟุ้งซ่านซัดส่าย สามารถทำลายกามราคะ พยาปาทะ ถีนะมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ และวิจิกิจฉา นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ งานที่ทำนั้นจัดว่า ทำให้เราจิตดี ได้ดี เรียกว่าเป็นการทำสมาธิ

แต่พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า มีงานอีกชนิดหนึ่งที่ทำแล้วให้ผลประเสริฐเป็นพระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล และพระ อรหันต์บุคคลที่ทำให้สิ้นสุดและอวสานหยุดว่ายน้ำในแม่น้ำตัณหาเสียที

โอฆะสงสารนี้น่ากลัวมากและไม่รู้ว่าวันไหนที่เราจะได้ขึ้นฝั่ง ชาตินี้เรามีวันเวลาที่จำกัดอยู่กันสองสามพันวันก็ตาย แต่วันที่สิ้นสุดทุกข์นั้นเรายังไม่รู้ว่าจะเป็นวันไหน ชีวิตจึงยังต้องตกอยู่ในคำว่า สัมภเวสี คือ ผู้ท่องเที่ยวแสวงหาที่เกิดอยู่ร่ำไป คือพวกเราทั้งหลาย แม้จะทำฌานไปเกิดเป็นพรหม จิตที่กำลังทำนั้นคือแสวงหาที่เกิดแสวงหาที่ไป การอยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้กลิ่น ก็เป็นการปรารถนาเกิดเพื่อที่จะมีขันธ์ ๕ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งก็ไม่พ้นเป็นพวกสัมภเวสีที่ยังท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่

ภพใหญ่ก็คือคนส่วนใหญ่ไปมาแล้วบ่อยๆ ท่านเปรียบการเกิดในสุคติและทุคติเสมือนเขาวัวกับขนวัว ตายแล้วไปสุคติสวรรค์ก็เปรียบเสมือนเขาวัวที่มีอยู่น้อยเพียงสองเขาเท่านั้น แต่ถ้าไปเกิดในอบายก็จะเหมือนขนวัว ก็ลองพิจารณาดูว่าอะไรมีมากกว่ากัน คนส่วนใหญ่หรือชีวิตส่วนใหญ่ ไปเกิดในภพใหญ่คืออบาย ๔ แต่ภพที่ไปน้อยคือสวรรค์ พรหม ซึ่งไปได้ยาก

ท่านจึงให้มีการเจริญสติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเนเรื่องของปัญญาที่ใช้ความจริงมาเป็นอารมณ์คือเอานามหรือรูปมาเป็นอารมณ์ นำมาทำความเพียรหมั่นระลึกว่า เป็นรูปเป็นนามเหมือนเป็นการปฏิเสธตัวตนคนสัตว์นั่นเอง

โดย น้องกิ้ฟ....นำมาฝาก [8 ม.ค. 2558 , 19:00:58 น.] ( IP = 171.96.176.107 : : )


  สลักธรรม 5




วันนี้จึงขอเขียนคำว่า “วิปลาส” แปลว่า โง่ ทำไมถึงโง่ ทำไมถึงบ้า ทำไมถึงหลง อะไรเป็นเหตุที่ทำให้วิปลาส? คำตอบก็คือ บัญญัติทั้งหลาย เพราะบัญญัติเป็นของไม่จริง เช่น สีเหลือง สีแดง เมื่อบัญญัติเกิดขึ้น ทิฏฐิคือความเห็นผิดว่าดี มันก็จะเกิดขึ้น จิตวิปลาสจึงยินดีเข้าไป สัญญาวิปลาสจึงตามมา เนื่องจากบัญญัติ

ฉะนั้น การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการหมั่นระลึกในปรมัตถ์เพื่อต่อสู้ชิงแชมป์เปี้ยนกับบัญญัติ บางครั้งเราก็โดนบัญญัติอัพเปอร์คัทหงายท้อง หรือไม่เราก็เอาปรมัตถ์ฟาดหางไปบ้าง เมื่อสู้กันสู้บ่อยๆ ก็คือหมั่นระลึกบ่อยๆ จนจิตนั้นมีความคล่องและชำนาญด้วยสติสัมปชัญญะและความเพียร ก็ไม่ต้องกลัวว่าพลาดผิดไป เหมือนเป็นผู้หัดถีบจักรยาน เมื่อจักรยานล้ม ไม่ต้องไปดูเลยว่ามันสะดุดอะไร ยกจักรยานตั้งขึ้นแล้วถีบต่อ เมื่อล้มอีกก็ยกขึ้นมาอีก มีความเพียรเท่านั้น ระลึกอยู่ในรูปในนาม พอเราเพียรได้แล้วมันก็ไม่ล้มเอง

บางคนรู้จักว่า “จักรยาน” แต่ยังไม่ออกไปซื้อเลย และก็ยังไม่เคยถีบเลย แต่ก็อยากจะรู้ผลของการถีบว่ามันพลิ้วขนาดไหน ซึ่งตอบไปก็ไม่เข้าใจอยู่ดี จึงต้องปฏิบัติต้องถีบเอง และจะได้รู้ว่าสองล้อนี่มันตั้งได้อยู่ยังไง ต้องมีความระมัดระวังสำรวมประคองให้ถูกต้อง สำรวมก็คือสังวรนี่เอง บางคนยังไม่เคยถีบและไม่คิดจะถีบ แต่อยากจะรู้ว่ามันไปได้ยังไง หรือไม่ก็เป็นพวกชอบซ้อนท้าย ก็คือซ้อนความรู้นั่นเอง

การถีบจักรยานก็เหมือนการใช้ชีวิตอยู่กับรูปอยู่กับนาม ซึ่งชีวิตหนึ่งประกอบไปด้วย จิต เจตสิก รูป จิตเป็นนาม เจตสิกเป็นนาม รูปเป็นรูป และรูปในที่นี้ก็เช่น ปสาทรูปทั้งหลาย รูปที่แสดงบ่งบอกความเป็นหญิงเป็นชาย เป็นต้น ที่เราเห็นแต่ข้างนอก เราไม่เคยมาเห็นข้างใน ซึ่งมันมีจริงๆ แต่เรานึกว่าเป็นตัวเราทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วท่านบอกว่าเป็นรูปเป็นนาม เราจึงต้องหมั่นเอาไประลึกและแก้ไขคือ ตรงดิ่งแห่งการมอง

ขณะนั่งก็ต้องตรงดิ่งแห่งการมองว่าเป็นรูปนั่ง ขณะรู้สึกก็จะต้องเป็นนามรู้สึก ไม่ใช่เรา จึงต้องปฏิเสธสู้กับบัญญัติ หมั่นระลึกแทนบัญญัติ หรือแทนความเห็นผิดนั่นเอง เมื่อระลึกๆ ไป ทำไปก็จะรู้ว่า รูปกับนามไม่ใช่อย่างเดียวกัน แต่ทำงานเกื้อกูลกันเหมือนจิตกับเจตสิกที่ทำงานร่วมกัน และจิตเจตสิกนี้อาศัยเกิดที่รูป เช่น จักขุวิญญาณอาศัยจักขุประสาทเกิด ต่างก็ทำหน้าที่และเมื่อจบหน้าที่ก็จบลง

โดย น้องกิ้ฟ....นำมาฝาก [8 ม.ค. 2558 , 19:03:07 น.] ( IP = 171.96.176.107 : : )


  สลักธรรม 6




ในชีวิตคนๆ หนึ่งนี่มีหมดแล้วในนามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคหญาณ และสัมมสนญาณ คือ เรามีแล้วนามรูปซึ่งทำงานสัมพันธ์กันและก็ทำหน้าที่แต่ละหน้าที่จบลง ผู้ปฏิบัติที่มีความเพียรพอดี เรียกว่ามีจิตที่เป็นมัชฌิมา มีอารมณ์ปัจจุบัน มีสติสัมปชัญญะ โดยอาศัยการทำบ่อยๆ ถีบจักรยานบ่อยๆ ตรงต่อความจริง สิ่งที่เคยมีก็ปรากฏเห็นชัดขึ้นมาด้วยปัญญา นามรูปธรรมดานี้จึงเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ คือการเห็นชีวิตด้วยญาณปัญญาเข้าไปเห็น

และรูปนามนี่ไม่ใช่เราจริงๆ รูปที่ปรากฏอยู่เป็นรูปปรมัตถ์จริงๆ นามปรมัติจริงๆ และรูปนามนี้ก็เห็นอยู่บ่อยๆ คำว่าบ่อยๆ ในที่นี้คือมีสติสัมปชัญญะและความเพียรบ่อยๆ มีสติมา สัมปชาโณ อาตาปี อยู่บ่อยๆ สิ่งที่คุณๆ เห็นๆ นี่แหละเขาจะแสดงให้เห็นเองว่า เขาเป็นมีปัจจัยเกื้อหนุนกันและกัน เป็นปัจจัยให้แก่กันและกัน ญาณตรงนั้นที่เกิดขึ้นท่านจึงเติมลงไปจากปัจจัย เป็นปัจจยปริคหญาณ เป็นญาณที่ ๒

เมื่อผู้ปฏิบัติมีความสำเหนียกและมีสติมา สัมปชาโณ อาตาปี อยู่ไม่วางเว้น เมื่อเราเห็นรูปเห็นนามที่ไม่ใช่อย่างเดียวกันและเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ต่างก็ทำหน้าที่แล้วก็ดับต่อหน้าต่อตาลงเรียกว่า สัมมสนญาณ ท่านจึงใช้เรียกการเห็นด้วยปัญญาที่เห็นเข้าไปในชีวิตว่าเป็นญาณปัญญา และญาณที่ ๑ ๒ ๓ นั้นจัดว่าเป็นปัญญาที่เริ่มดีแล้วแต่เหมือนเพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นมา ท่านจึงบอกว่าไม่ใช่วิปัสสนาแท้ แต่เมื่อทั้งสามญาณนี้เกิดขึ้นแล้วปฐมญาณแห่งปัญญาก็คือญาณที่ ๔ ก็จะเกิดขึ้นได้

สามญาณแรกนี้จะเกิดขึ้นบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้แก่ญาณที่ ๔ เรียกว่า อุทยัพพยญาณ คือญาณที่รู้การเกิดดับอย่างแก่ๆ อย่างจริงๆ แต่สามญาณแรกนั้นยังเห็นเพียงลางๆ เปรียบได้กับการใส่แว่นตาที่ยังมีฝ้ามัวๆ อยู่ แล้วเราก็เอามาขัดเอามาล้าง มันก็จะใสขึ้นชัดขึ้น จากความเห็นรูปนามนี่แหละป็นปัจจัยและต่างก็เกิดและดับ ก็จะมาเห็นชัดๆ มากขึ้นด้วยญาณปัญญา เห็นความชัดของการเกิดและการดับของนามรูป

โดย น้องกิ้ฟ....นำมาฝาก [8 ม.ค. 2558 , 19:05:31 น.] ( IP = 171.96.176.107 : : )


  สลักธรรม 7




ญาณที่รู้การเกิดดับของนามรูป ก็คือรู้เรื่องรูปกับนาม แต่ยังไม่รู้ผู้รู้ ญาณที่ ๔ นี้ก็คือ จิตที่เข้าไปรู้นี้ก็ดับด้วย ทั้งสิ่งที่ถูกรู้และตัวรู้ต่างก็ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แล้วก็ต้องดับลง หลวงพ่อเสือท่านเปรียบการเกิดการดับไว้ว่า ยกตัวอย่าง หมออุ๊มาที่นี่แล้วก็มีคนโทรศัพท์มาบอกว่า สามีถูกรถชน หมออุ๊ก็อยู่ไม่ได้แล้ว ต้องไปโรงพยาบาลที่รับสามีไปรักษา ระหว่างที่นั่งรถไปก็มีโทรศัพท์อีกสายหนึ่งเข้ามาบอกว่าลูกป่วยหนักแต่อยู่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง หมออุ๊ก็เริ่มกระวนกระวายไปไม่ถูกแล้ว แต่ก็ต้องตัดสินใจที่จะไป และธรรมชาติของคนเราจะรักลูกมากกว่าสามี หมออุ๊ก็เลือกไปดูลูกก่อน ระหว่างนั่งรถไปหาลูกก็มีโทรศัพท์เข้ามาบอกว่าพ่อตาย ก็จะเห็นว่าสามจุดแล้วนะที่เห็นความดับไปที่มีแต่ความน่ากลัว การเห็นความดับนี้เหมือนความตายมันมาปรากฏต่อหน้าต่อตา มีแต่เรื่องที่ดับๆๆๆ อำนาจของการเกิดดับนั้นปรากฏไปทั่วหมดทั้งรูปและนามก็ดับ แม้กระทั่งสติปัญญาก็ดับ หยุดไว้ไม่ได้ ที่เคยยึดไว้ว่าญาณปัญญาดี แม้แต่กระทั่งญาณเองก็ดับ จิตนั้นก็ดับ

เมื่อเห็นความดับอย่างนี้ก็ไปไม่ถูกเลย จะยึดอะไรก็ไม่ได้ เมื่อสามีก็จะตาย ลูกก็จะตาย พ่อก็ตาย ไม่เหลืออะไรเลย หลวงพ่อท่านก็เรียกหมออุ๊เข้ามาบอกว่า “จะให้ดอกบัวแก่ลูก” หมออุ๊ก็คลานเข้าไปหาหลวงพ่อ ท่านก็ยื่นดอกบัวให้หนึ่งกำ พอหมออุ๊มาใกล้ๆแล้วท่านก็อธิบายว่า “ดอกบัวนี่เดี๋ยวลูกนำไปไหว้พระนะ และอธิษฐาน”

ในขณะที่กำลังทุกข์นั้นก็มีหลวงพ่อมาบอกว่าจะให้ดอกบัวไปไหว้พระ หมออุ๊ก็ก้าวเข้าไปใกล้หลวงพ่อ พอจะไปถึงแล้วหลวงพ่อก็หักดอกบัวทิ้งกระจายเลย หมออุ๊จึงไม่เหลืออะไรร จะไปจับอะไรจะไปยึดอะไรไม่ได้เลย ทุกอย่างถูกทำลายต่อหน้าต่อตา นี่ท่านเปรียบการเห็นความดับไว้แบบนี้

และด้วยอำนาจญาณปัญญานี่เองจึงเห็นภัย คือเห็นว่าความดับเป็นภัย ตอนแรกเห็นแต่ความดับๆๆๆ ของทุกสิ่งทุกอย่างก็คือ รูป นาม และสติสัมปชัญญะ จิตตรงนั้นดับ ก็แสดงออกซึ่งภัย เห็นภัยของชีวิตที่พึ่งอะไรไม่ได้เลย รูปที่ตั้งอยู่ก็ดับ นามที่รู้อยู่ก็ดับ เหมือนเรามีบ้านแล้วไฟไหม้บ้านหมด เราจึงเห็นว่าไฟเป็นภัยทำลายทุกอย่างได้ จากอำนาจของการที่เห็นไตรลักษณ์ในญาณที่ ๓ ที่มาปรากฏโฉมที่รูป ที่นาม ที่ผู้รู้ ก็รู้ว่าภัยของนามรูปนี้มีอยู่

ฉะนั้น การที่เห็นไฟไหม้นี้เป็นการเห็นโทษ และขณะที่เห็นภัยเห็นโทษนี่ก็รู้เลยว่า ไม่มีอะไรจะเหลือทิ้งไว้ให้เราเลย เมื่อเห็นภัยของนามรูปอยู่บ่อยๆ จิตตรงนั้นคลายจากความกำหนัด ที่เคยยินดีกับรูปกับนาม ซึ่งอย่างเราๆ นี่ ไม่มีหรอกกับการเห็นภัยอันนั้น เรายังยินดี หวีผม แต่งหน้า อาบน้ำ แต่การที่เห็นรูปนามนั้นทำให้จิตอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีที่เราเกิดขึ้นเป็นความไม่ยินดี คลายจากความกำหนัด

โดย น้องกิ้ฟ....นำมาฝาก [8 ม.ค. 2558 , 19:08:15 น.] ( IP = 171.96.176.107 : : )


  สลักธรรม 8




คำว่า “คลายจากความกำหนัด” ท่านใช้เมื่อปัญญาญาณที่กำหนดรู้ถึงใจของตัวเองที่เกิดความไม่ยินดี ความเบื่อหน่ายนั่นเองในนามรูปนั้น และจะเห็นซ้ำอยู่อย่างนั้น รูปนามต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน รูปนามต่างเกิดและดับ รูปนามต่างมีโทษ ต่างมีภัย เห็นอยู่อย่างนี้ ฉะนั้น เมื่อความไม่ยินดี จิตคลายจากความกำหนัด มันก็จะสำรอกความที่เคยยินดีออกไป เหมือนคนอาเจียนเอาของออก ให้ท้องโล่ง การกินอะไรเข้าไปก็เหมือนเราเสพกามความยินดีเข้าไป แต่พออาเจียนออกมานี่ สิ่งที่เสพเข้าไปก็ออกมาหมด จิตที่เคยต้องการปรารถนาเคยดื่มด่ำก็สำรอกออกมา ก็คือทำให้เกิดอาการพะอืดพะอมอยากจะอาเจียนออกให้หมดๆ ไป เมื่อความเบื่อหน่ายมันมีอิทธิพลต่อจิตใจมากก็อยากจะไปให้พ้น เพราะเห็นนี่ว่าสิ่งที่เห็นมันเป็นโทษไม่ใช่ที่อื่นเลย ก็ที่รูปและที่นามนี่แหละ จึง อยากจะไปให้พ้นจากนามรูปนั้น แต่ไปไม่พ้นเหมือนคนจะหนีแต่หนีไม่พ้น เมื่อไปไม่พ้นก็ยอมรับความจริงเกิดการวางเฉย

ความอยากจะไปให้พ้นนามรูปนี้คือ ธรรมฉันทะ ส่วนตรงที่รู้ว่าไปไม่พ้นแล้ววางเฉยนี่เป็นปัญญาล้วนๆ แล้วปัญญาญาณก็มาทบทวนคือทวนไตรลักษณ์อีกครั้งคือธรรมชาติของรูปของนาม ว่า ล้วนเป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏอย่างแก่กล้าขึ้นมา บางคนเห็นทุกข์ชัด บางคนเห็นความไม่เที่ยงชัด บางคนเห็นอนัตตาชัด แต่ทั้ง ๓ อันนี้มีอยู่ แต่จะชัดอันใดอันหนึ่งเท่านั้นเอง

ฉะนั้น การทบทวนไตรลักษณ์ที่รูปนามนี้ ที่เกิดซ้ำๆ ที่รูปนาม การเห็นไตรลักษณ์ซ้ำๆ ก็คือการเห็นการเกิดดับ เห็นภัย เห็นโทษ เห็นความน่าเบื่อหน่าย นี่แหละซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ยอมรับความจริงว่า ชีวิตต่อไปข้างหน้าก็ยังมีไตรลักษณ์ติดตามอยู่อย่างนี้ จิตจึงไม่ทุรนทุราย

จิตทุรนทุรายนี้จึงไม่ใช่เจตนาในอกุศล เปรียบเหมือนกับพ่อแม่ที่ดึกแล้วลูกยังไม่กลับบ้าน เป็นห่วงว่าลูกไปไหนก็ไม่รู้ จึงกระวนกระวายคอยอยู่ ถามว่าพ่อแม่เป็นภัยต่อลูกไหม? ไม่เป็น จิตที่ทุรนทุรายตรงนี้ก็เหมือนกับพ่อแม่ที่รอแล้วรอเล่าด้วยความเมตตา จิตทุรนทุรายเพราะปัญญาที่นำไตรลักษณ์มาปรากฏอยู่ตลอดเวลา จึงทุรนทุรายอยากจะหนี แต่หนีไม่พ้น ก็เลยวางเฉย หยุดทุรนทุราย

เมื่อวางเฉยวิปัสสนาก็ยังเจริญอยู่ สติมา สัมปชาโณ อาตาปี ก็ยังเจริญๆๆๆ อยู่ ตรงนี้เท่ากับจิตไม่ได้นิ่ง จิตมีงานทำ เห็นไตรลักษณ์นั่นเอง เมื่อวางเฉยเกิดขึ้นก็คือ เพ่งดู ยอมรับ และปัญญาที่เห็นอยู่เรื่อยๆ อย่างเรามองภัยชนิดนี้ อำนาจความนิ่งด้วยปัญญา เป็นปัจจัยให้เห็นอริยสัจจธรรม อนุโลมเหมือนกับว่า เราจะตักปลาหางนกยูงตัวหนึ่งที่ว่ายรวมอยู่กันในอ่างประมาณ ๑๐๐ ตัว แต่เราเป็นผู้ซื้อ เราบอกว่าต้องการซื้อปลาหางนกยูงที่มีลายจุดเขียวที่หางข้างซ้าย ซึ่งในอ่างนั้นปลาก็ว่ายวนกันอยู่ คนขายก็เลยยังจับไม่ได้ แต่เมื่อใดที่ปลาหยุดนิ่งลอยตัวเราก็จะเห็นแล้วก็ตักปลานั้นได้ จิตเราก็ไม่วุ่นวายไปด้วย มันนิ่งเราก็นิ่ง เพ่งดู พอตักปุ๊บ มาใส่อีกอ่างหนึ่ง ที่คนจะซื้อ นี่ก็คือการอนุโลมให้ข้ามโคตรข้ามอ่าง จากที่มีปลาอยู่หลายตัวนี้ในอ่างปุถุชนก็ย้ายมาสู่อริยชน เมื่ออริยมรรคเกิดขึ้น อริยะผลก็เกิดขึ้นตามมาเป็นของคู่กัน

โดย น้องกิ้ฟ....นำมาฝาก [8 ม.ค. 2558 , 19:11:16 น.] ( IP = 171.96.176.107 : : )


  สลักธรรม 9




นี่คือความต่อเนื่องของสติสัมปชัญญะ โยคาวจรผู้ปฏิบัติ สติมา สัมปชาโณ อาตาปี เขาเห็นการเกิดดับอยู่อย่างนี้ พอเห็นอย่างนี้แล้ว ก็เท่ากับรู้ภัย และก็รู้โทษ เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาเป็นปัจจัย จิตก็อยากจะพ้นไปจากสิ่งที่เราเห็นอย่างนั้น ไตรลักษณ์ที่มาทบทวนอยู่นี้ก็เกิดขึ้น และก็เกิดการวางเฉย จิตตรงนี้พ้นโคตร อนุโลม ให้พ้นโคตร อริยมรรคเกิด อริยผลเกิด และก็ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น

เหมือนกับเราเป็นเด็กนักเรียน พอโรงเรียนเลิกก็เก็บหนังสือวิ่งไปเล่นต่อ ต่างจากนักเรียนเรียนดีพอโรงเรียนเลิกก็กลับไปบ้านอ่านทบทวน ทำให้ความรู้นั้นชัดขึ้นๆๆ จิตที่เกิดตรงนั้น จึงเป็นจิตที่สวยงามแล้ว เป็นจิตที่มีผลคือจิตที่ประเสริฐเกิดมรรคจิต ดวงที่ ๑ และในดวงที่ ๒ ก็อาศัยแบบนี้ แต่รวดเร็วกว่าเดิม แทนที่จะไปเห็นนานๆ เห็นที พอเห็น อ๋อ! แล้วก็พรวด เกิดมรรคจิตครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ พ้นทุกข์ได้

ทุกอย่างนั้นเป็นผลของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สรุปทั้งหมดคือต้องถีบจักรยานเสียที เพื่อจะได้เกิดผล แล้ววันนี้ก็สอนแล้วว่า เรียนอย่างไรถึงจะเป็นผู้ที่เรียนได้ เข้าใจและจะได้นำความเข้าใจไปตรงนี้ จิตมีหน้าที่รู้อารมณ์ เจตสิกคือประกอบกับจิต รูปเราก็รู้จักแล้ว ฉะนั้น วันเสาร์วันอาทิตย์เราเปลี่ยนทรัพย์ให้เป็นบุญ เปลี่ยนทุนให้เป็นธรรม

ชีวิตของเรามีหน้าที่ ทำอริยทรัพย์และก็นำทุนชีวิตนี้ บาปบุญก็อยู่ที่เรา ถ้าเผื่อเราพูดดี ใช้ชีวิตดี ทุนชีวิตเรานี้เป็นธรรม เรามีหน้าที่เปลี่ยนทรัพย์ให้เป็นบุญ เปลี่ยนทุนให้เป็นธรรม เราไม่เร่งมีหน้าที่ที่จะไปรู้มากมาย เยอะแยะไปหมด รู้แบบเข้าใจ ก็คือรู้ธรรมนั่นเอง และรู้ธรรมเพื่อนำไปทำได้ ฉะนั้น เราทุกคนมีชีวิตในวันหยุดราชการเพื่อเปลี่ยนทรัพย์ให้เป็นบุญ เปลี่ยนทุนให้เป็นธรรม

อนุโมทนา ขอให้ทุกคนทำได้ ขอความสุขความเจริญความมีสติ ความมีปัญญา จงเกิดขึ้นแก่ทุกๆ คน โดยทั่วหน้ากัน สวัสดีค่ะ



โดย น้องกิ้ฟ....นำมาฝาก [8 ม.ค. 2558 , 19:12:50 น.] ( IP = 171.96.176.107 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org