มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


พระอภิธรรมสังเขป (๒๑)







พระอภิธรรมสังเขป และธรรมบางประการที่น่าสนใจ
โดย พระนิติเกษตรสุนทร


ตอนที่ (๒๐) อ่านที่นี่

ขันธ์ ๕


โดยมากเกือบทุกท่านที่ได้อ่านหนังสือธรรมหรือฟังธรรมเทศนา พอได้เห็นหรือได้ยินคำว่า เบญจขันธ์หรือขันธ์ ๕ ก็เข้าใจในทันทีว่า สังขารร่างกายของสัตว์ทั้งหลายย่อมประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

กล่าวคือรูปก็คือร่างกาย เวทนาก็คือความสุข ทุกข์ สัญญาก็คือความจำ สังขารก็คือการนึกคิดปรุงแต่ง วิญญาณก็คือใจ เช่นมนุษย์นี้ มีร่างกายเป็นรูปได้รับความสุข ความทุกข์เป็นเวทนา นึกได้จำได้เป็นสัญญา คิดนึกไปต่างๆ เป็นสังขาร และใจเป็นวิญญาณ

ความจริงที่มีความเห็นความเข้าใจในขันธ์ ๕ ดังกล่าวแล้วนั้น เป็นความเห็นความเข้าใจที่ถูกยังไม่สมบูรณ์ เป็นความเห็นความเข้าใจอย่างรวมๆ ไป มิได้แยกแยะออกให้ละเอียดเด่นชัด จึงเป็นการถูกที่ยังไม่ตรงต่อสภาวะความจริง เพราะรูปนามขันธ์ ๕ นี้หาใช่รวมกันเข้าเป็นเพียงสังขารร่างกายของสัตว์เท่านั้นไม่

ทุกครั้งที่เกิดอารมณ์เห็นรูป ได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ฯลฯ เป็นต้น ขันธ์ ๕ ก็เกิดทุกครั้ง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทุกครั้งเช่นกัน หาได้ยืนยงคงอยู่เป็นเวลาอันยาวนานไม่

โดย ศาลาธรรม [20 ต.ค. 2558 , 13:25:52 น.] ( IP = 1.20.132.46 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1

ในประการที่ถือว่า ร่างกายของสัตว์เป็นรูปขันธ์ และเห็นว่ายืนยงคงอยู่ได้นานนับเป็นวัน เดือน ปี ได้นั้น ถ้ากล่าวตามรูปสมุทเทสนัยและรูปกลาปแล้ว ก็เป็นความเห็นที่ผิดอยู่

เพราะร่างกายนี้มิใช่เป็นแท่งหรือก้อนเดียวไม่ แต่เป็นกลุ่มก้อนของมหาภูตรูป ๔ (ปถวี อาโป เตโช วาโย) ควบคุมรวมกันเข้า และกลุ่มก้อนของมหาภูตรูปนี้ก็ยังแยกย่อย เล็กลงไปอีกจนเป็นกลาป เป็นอวินิโภครูป (หรือปรมาณู) ซึ่งเห็นด้วยตาไม่ได้ อวินิโภครูปอันประกอบด้วยมหาภูตรูปนี้ ย่อมมีการเกิดดับอยู่ตามธรรมชาติ

ดังนั้นเมื่อร่างกายนี้เป็นแค่เพียงกลุ่มก้อนของมหาภูตรูปเล็กๆ รวมกัน ความไม่เที่ยงคือการเกิดดับของกลุ่มมหาภูตรูปนั้น ก็มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกแต่โดยเหตุที่การเกิดดับนั้นมีสันตติสืบเนื่องกันอยู่ จึงทำให้เห็นไปว่ารูปนั้นเป็นร่างกายเป็นก้อนเป็นแท่ง และยืนยงคงอยู่นานนับเป็น วัน เดือน ปี จนถึงแก่ความดับคือตาย ทั้งนี้เป็นความเห็นวิปลาสไปจากความจริง

เวทนาความเสวยสุขทุกข์นั้น ความจริงตามสภาวะแล้ว ความสุขไม่มี คงมีแต่ความทุกข์ (ทุกขสัจจะ) เป็นมูลฐานอยู่

ที่เห็นกันว่าเป็นสุขก็เพราะเวทนาอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเหมาะสมกับความพอใจ ชอบใจ ปิดบังความทุกข์ชั่วขณะจิตหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ความสุขหรือทุกขเวทนานี้ไม่เที่ยง มิได้ยืนยงคงอยู่ได้เป็นเวลานาน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งสิ้น เมื่อจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์เวทนา ความเสวยอารมณ์สุขทุกข์เกิดขึ้นและดับไปพร้อมกับจิตดวงนั้น

การที่เข้าใจว่าได้รับความสุขทุกขเวทนาอยู่เป็นเวลานานๆ นั้น มิใช่ความจริงตามสภาวะ (ขอได้พิจารณาให้เห็นความต่างของสุขเวทนา ทุกขเวทนา ทุกขสัจจะ ส่วนสุขสัจจะนั้นไม่มี)

โดย ศาลาธรรม [20 ต.ค. 2558 , 13:26:25 น.] ( IP = 1.20.132.46 : : )


  สลักธรรม 2

ส่วนสัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็มีการเกิดขึ้นและดับเช่นกัน กล่าวคือ เกิดขึ้นชั่วขณะจิตหนึ่งแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นในขณะจิตใหม่และดับไปอีก

รูปนามคือขันธ์ ๕ นั้น เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์แล้วก็ได้ แก่ จิต เจตสิก รูป ทุกครั้งที่อารมณ์เกิดขึ้นกับจิต ขันธ์ ๕ ก็เกิด

เช่น ในขณะที่ตา (จักขุปสาท) กระทบกับรูป (รูปารมณ์) จักขุวิญญาณก็เกิดเห็นรูปนั้น

ตากับรูปเป็น รูปขันธ์

จักขุวิญญาณที่เห็นนั้นเป็น วิญญาณขันธ์

ในขณะที่เห็นนั้นถ้าเป็นรูปดีสวยงามก็เกิดความสบายใจพึงพอใจ หากเป็นรูปไม่ดีไม่สวยงามก็ไม่ชอบไม่พึงพอใจ ความสบายใจพอใจหรือความไม่ชอบใจนี้เรียกว่า เวทนาขันธ์

และในขณะเดียวกันนี้การเห็นนั้นก็ยังให้เกิดความนึกได้ว่ารูปนั้นเป็นอะไร ความนึกได้จำได้ (หรือจะนึกไม่ออกก็ตาม) นี้เรียกว่า สัญญาขันธ์

ถ้ารูปที่เห็นในขณะนั้นเป็นที่พึงใจชอบใจ ก็ทำให้เกิดโลภะนึกคิดปรารถนาใคร่ได้ ถ้ารูปนั้นไม่เป็นที่พึงใจไม่ชอบใจ ก็ทำให้เกิดโทสะ ไม่ชอบใจไม่ปรารถนาอยากได้ การปรุงแต่งให้เป็นไปต่างๆ นานาในขณะนั้นเรียกว่า สังขารขันธ์

โดย ศาลาธรรม [20 ต.ค. 2558 , 13:26:51 น.] ( IP = 1.20.132.46 : : )


  สลักธรรม 3

กล่าวตามสภาวะแล้ว ขันธ์ ๕ นี้ เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะจิตเดียวกัน แล้วก็ดับไปพร้อมกับจิตดวงนั้น หาได้มีระยะเวลายาวนานไม่ การที่ขันธ์ ๕ เกิดดับอยู่มากมายก่ายกองตามอารมณ์ที่มากระทบกับจิต เป็นอยู่ในทำนองนี้ และด้วยการรู้เท่าไม่ถึงความจริงอันเป็นสภาวธรรม หลงยึดถือเอาไว้จึงเรียกว่าโมหะ

ดังกล่าวแล้ว การเห็นรูปครั้งหนึ่งๆ ขันธ์ ๕ ก็ย่อมเกิดพร้อมบริบูรณ์ ทั้งประกอบไปด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง ในทำนองเดียวกันอารมณ์ของเสียง กลิ่น รส สัมผัส และความนึกคิดก็ย่อมเกิดเป็นขันธ์ ๕ ได้ในลักษณะเหมือนกัน

เบญจขันธ์ที่ปรากฏตามอารมณ์ดังกล่าวนี้คือ รูปนามอันมีปรมัตถสภาวะ และนำมากำหนดเพ่งพิจารณาในวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อเห็นไตรลักษณ์



ขอนุโมทนากับคุณนวลพรรณ รามวณิช ผู้บันทึกข้อมูล

โดย ศาลาธรรม [20 ต.ค. 2558 , 13:27:14 น.] ( IP = 1.20.132.46 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org