มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


พระอภิธรรมสังเขป (๓๐)






พระอภิธรรมสังเขป และธรรมบางประการที่น่าสนใจ
โดย พระนิติเกษตรสุนทร


ตอนที่ (๒๙) อ่านที่นี่

หลักประกอบวิปัสสนากรรมฐานบางประการ (๒)


เหตุที่ไม่เห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็เพราะมีการปิดบังความจริงอยู่ กล่าวคือ

สันตติ ความเกิดสืบต่อเนื่องกันไปโดยรวดเร็วเป็นเครื่องบัง อนิจฺจํ ความไม่เที่ยง ทำให้เห็นไปว่า คงทนถาวรไม่มีการดับ สังขารทั้งหลายทั้งที่เป็นอุปาทินกมีใจครอง และอนุปาทินกไม่มีใจครอง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น หมดปัจจัยแล้วก็ดับ ไม่มีสังขารใดคงทนถาวรตั้งอยู่

เช่นจิตเมื่ออาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับ จิตอีกดวงหนึ่งก็เกิดขึ้นสืบต่อแล้วก็ดับ แล้วจิตอีกดวงหนึ่งก็เกิดขึ้นสืบต่อแล้วก็ดับ การเกิดดับเป็นสันตติสืบต่อกันดังนี้ เป็นไปตามสภาวะเรียกว่าจิตตนิยามเป็นอนันตรปัจจัย (เหตุ) และอนันตรปัจจยุบบัน (ผล) อาศัยซึ่งกันและกัน เกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอดเวลา นับแต่ปฏิบัติขณะไปจนถึงจุติขณะในภพหนึ่งๆ การเกิดดับสืบต่อเป็น ไปอย่างรวดเร็วยิ่ง จนไม่สามารถจะกำหนดนับหมายได้ ทำให้เข้าใจผิดมองไม่เห็นการดับหรือขาดในระหว่าง จึงคิดเห็นว่าจิตเที่ยงถาวรไม่มีการดับ

สันตติความสืบต่อจึงปิดบัง อนิจฺจํ ความไม่เที่ยง ทั้งเป็นธรรมชาติที่ทำลายไม่ได้ เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่สามารถเห็นความขาดของสันตติได้ด้วยอำนาจ ของการเพ่งวิปัสสนา กล่าวคือเอาสติกำหนดอยู่ที่นามรูปจนเกิดสติสมาธิปัญญาสมส่วนกัน ก็จะเห็นนามรูปเก่าที่ดับไปกับนามรูปใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นคนละส่วนต่างเหตุต่างปัจจัย ไม่สืบต่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่าสันตติขาด จะปรากฏขึ้นในอุทยัพพยญาณ

โดย ศาลาธรรม [27 พ.ย. 2558 , 15:37:28 น.] ( IP = 101.51.110.126 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1

อิริยาบถ การเคลื่อนไหวก็อีกอย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องปิดบังไม่ให้เห็นทุกข์ เช่น นั่งอยู่รู้สึกเมื่อย ก็เปลี่ยนไปยืนหรือเดินเสีย รู้สึกว่าสบายก็พอใจดีใจไม่ได้นึกถึงเมื่อนั่งเมื่อยนั้นเลย ครั้นรู้สึกว่ายืนเดินหรือนอนนั้นไม่สบาย ก็เปลี่ยนไปสู่อิริยาบถอื่น เกิดความสุขสบายก็ดีใจพอใจ ไม่ได้นึกถึงที่เป็นทุกข์ ไม่สบายในอิริยาบถก่อนนั้น เห็นเป็นธรรมดาอยู่ดังนี้ตลอดวันตลอดเดือนปี มิได้เอามาใส่ใจเลยว่าอิริยาบถนั้นเป็นทุกข์อยู่ทั้งนั้น

ความจริง ทุกข์บังคับให้เปลี่ยนอิริยาบถอยู่เรื่อยแต่โดยที่ไม่เข้าใจเหตุผล จึงนึกคิดไปว่าเราอยากเปลี่ยนเอง แท้จริงการเปลี่ยนอิริยาบถใหม่นั้น ก็เป็นเพียงแต่แก้ทุกข์เก่าได้สำเร็จลงเท่านั้น แล้วก็จะไปเจอเอาทุกข์ใหม่เข้าอีก การเปลี่ยนอิริยาบถนั้นหาใช่เปลี่ยนไปเพื่อจะได้ความสุขไม่ เพราะทุกข์ยังอ่อนอยู่จึงยังไม่กระเทือนใจ แต่ในไม่ช้าทุกข์ก็จะมากขึ้นจนเห็นชัดเจน แล้วทุกข์ก็บังคับให้เปลี่ยนไปสู่อิริยาบถอื่นอีกต่อไป

การที่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถพยายามผ่อนคลายทุกข์อยู่เรื่อยๆ เช่นนี้ เหมือนดังคนไข้ที่ต้องรับประทานยาอยู่เรื่อย จะกล่าวว่าเป็นสุขได้อย่างไร

ท่านจึงให้มีมนสิการโดยแยบคายให้เห็นตามความจริงว่า ทุกอิริยาบถนั้นเป็นทุกขสัจอยู่ทั้งสิ้น การเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ไม่ใช่แก้ทุกข์ หากแต่อิริยาบถใหม่เกิดขึ้นปิดบังทุกข์เสีย และอิริยาบถใหม่ก็เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง

ดังนั้นอิริยาบถจึงเป็นสาระสำคัญที่จะต้องกำหนดพิจารณา เพราะเป็นเครื่องปิดบังทุกข์ ทำให้ไม่เห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง

โดย ศาลาธรรม [27 พ.ย. 2558 , 15:37:55 น.] ( IP = 101.51.110.126 : : )


  สลักธรรม 2

ฆนสัญญา ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ปิดบังไม่ให้เห็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ฆนสัญญานั้นได้แก่การกำหนดหมายเอาว่า รูปกายนี้เป็นก้อนเป็นแท่งเป็นตัวตนมีใจครอง สามารถนึกคิดประกอบกิจการงานต่างๆ ได้ตามประสงค์ เกิดสัญญายึดมั่นเป็นเราเป็นของเรา เป็นตัวตนในความเป็นก้อนเป็นแท่งนั้น ซึ่งตามความจริงแท้แล้ว รูปกายนี้เมื่อแยกออกไปจะเห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก เอ็น ไต ไส้ใหญ่น้อย น้ำเลือด น้ำหนอง เป็นต้น

และส่วนต่างๆ เหล่านี้ก็ประกอบด้วยปรมาณูชิ้นเล็กๆ อันมี ปถวี อาโป เตโช วาโย วัณณะ คันธะ รสะ โอชะ รวมกันอยู่เรียกว่า อวินิพโภครูป หามีตัวตนอยู่ตรงที่ใดไม่ ปรากฏแต่มีเกิดและดับอยู่ตามธรรมชาติ ไม่อยู่ในบังคับแต่ประการใด จึงเป็น อนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ตัวตนที่เราจะบังคับได้ เป็นแต่เพียงสภาวะมีอยู่

ฆนสัญญาที่ยึดเอาในความเป็นก้อนเป็นแท่ง ทำให้เกิดความหลงผิดถือเป็นตัวตนดังกล่าว เป็นเหตุปิดบังไม่ให้เห็น อนัตตา

โดย ศาลาธรรม [27 พ.ย. 2558 , 15:38:15 น.] ( IP = 101.51.110.126 : : )


  สลักธรรม 3

ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาต้องมีความเข้าใจดีว่า ขณะที่เอาสติกำหนดเพ่งนามรูปอยู่นั้น ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ได้เข้าอาศัยอยู่หรือเปล่า ถ้ามีอาศัยอยู่ วิปัสสนาปัญญาจะไม่เกิด เพราะไม่ใช่อารมณ์ที่แท้จริงตามสภาวะ

การที่ต้องใช้สติปัฏฐาน ก็เพื่อให้สติกำหนดอยู่ที่อารมณ์นั้น ป้องกันมิให้อภิชฌาความปรารถนาพอใจ และโทมนัสความยินร้ายเสียใจเข้าไปปรุงแต่งอารมณ์ ให้ผิดไปจากสภาวะความจริง คือเป็นการป้องกันอดีตสัญญาอันเนื่องด้วยอาสวะมิให้เข้าไปผสม ให้มีสติอยู่แต่ที่ปัจจุบันขณะ ต้องทำใจให้เหมือนกับดูละคร คือดูไปตามที่ตัวละครนั้นแสดง ดูอยู่แต่ตัวที่กำลังแสดงนั้น อย่าคิดว่าไม่ชอบตัวนี้อยากให้ละครตัวอื่นออกมา

การเอาสติกำหนดอยู่ที่อารมณ์ในปัจจุบันก็เช่นกัน ให้กำหนดอยู่เฉยๆ คือให้เพียงมีสติกำหนดอยู่ อย่าไปอยากได้อย่างนั้นไม่ชอบอย่างนี้ จึงจะเป็นการกำหนดที่ถูกต้อง

โดย ศาลาธรรม [27 พ.ย. 2558 , 15:38:35 น.] ( IP = 101.51.110.126 : : )


  สลักธรรม 4

อัตตวิปลาส

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนามีสติกำหนดเพ่งอยู่ย่อมเห็นทุกข์และกำจัดความเห็นที่ว่าเป็นสุข (สุขวิปลาส) ออกไปได้ แต่อัตตวิปลาสที่เห็นผิดว่าเป็นตัวตน อาจยังเอาออกไม่ได้ ฯลฯ

เพราะทุกครั้งที่เห็น ได้ยิน ยืน นั่ง นอน เดิน ฯลฯ ยังมีความสำคัญหมายว่า เราเห็น ได้ยิน นั่ง นอน เดิน ฯลฯ อยู่ทิ้งอัตตาตัวตนไม่ได้ ถ้าเป็นดังกล่าวนี้ วิปัสสนาปัญญาย่อมไม่เกิด

จึงต้องทำความเข้าใจให้ถูกในอารมณ์ว่า เป็นเพียงนามรูป เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน เรา เขา อะไรทั้งนั้น

เช่นการเห็นเกิดขึ้นก็โดยรูปารมณ์กระทบกับจิตที่จักขุปสาท หาใช่เราเขาไม่ หรือการนั่งเกิดขึ้น ก็เพราะจิตต้องการจิตตชวาโยธาตุจึงเกิดทำรูปนั่งให้เกิดขึ้น หาใช่เรานั่งหรือใครนั่งไม่ กระทำความรู้ความเข้าใจให้ตรงตามสภาวะอยู่ดังนี้ ย่อมจะถอนอัตตวิปลาสออกได้

โดย ศาลาธรรม [27 พ.ย. 2558 , 15:39:01 น.] ( IP = 101.51.110.126 : : )


  สลักธรรม 5

อารมณ์ปัจจุบัน

คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในปัจจุบัน ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาต้องอาศัยอารมณ์ในปัจจุบัน ให้สติกำหนดเพ่งอยู่ในอารมณ์ปัจจุบัน ซึ่งย่อมมีปรากฏการณ์แสดงสภาพความจริงตามธรรมชาติ ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาต้องมีสติกำหนดรู้ความจริงของอารมณ์นั้นๆ

ถ้าเป็นอารมณ์เกิดขึ้นโดยไม่ได้อาศัยตัณหาความปรารถนาอยากได้อยากเป็นปัจจัยแล้ว ย่อมจะกั้นกิเลสมิให้อภิชฌา และโทมนัสอันเนื่องแต่อดีตสัญญาเข้าเจือปนปรุงแต่ง ต้องเพ่งตามดูสภาวะความจริงในอารมณ์ปัจจุบันโดยจิตจดจ่อตามไป

แต่ถ้าอารมณ์นั้นเกิดขึ้นโดยตัณหาความปรารถนาแล้ว ก็ย่อมเจือปนไปด้วยกิเลส แม้จะเอาสติเพ่งกำหนดอยู่ วิปัสสนาปัญญาที่จะเห็นความจริงแท้ย่อมไม่เกิด อารมณ์ปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญในวิปัสสนา

ผู้ปฏิบัติต้องมีกำหนดสติให้ทันปัจจุบันอารมณ์ให้มากที่สุด เพราะการพิจารณาเห็นทันในปัจจุบันอารมณ์ ย่อมทำให้สันตติของนามรูปขาดจากกันและไตรลักษณ์ก็จะปรากฏขึ้น อารมณ์อดีตที่ล่วงไปเป็นอารมณ์ที่พ้นไปแล้ว ไม่มีอยู่ในปัจจุบัน สติก็ย่อมไม่สามารถเข้าไปตั้งกำหนดความจริงได้ หรืออนาคตอารมณ์ที่ยังมาไม่ถึง ก็ย่อมไม่มีความจริงที่จะให้สติกำหนดได้เช่นกัน

โดย ศาลาธรรม [27 พ.ย. 2558 , 15:39:21 น.] ( IP = 101.51.110.126 : : )


  สลักธรรม 6

ทุกขเวทนา

เกิดในขณะปฏิบัติวิปัสสนา เช่น ปวดเจ็บในร่างกาย อย่ารีบเปลี่ยนอิริยาบถหรือกระทำอย่างใดเพื่อให้เจ็บปวดนั้นหายไป

ควรเอาสติไปกำหนดดูที่ความเจ็บปวดนั้น ทำความรู้สึกว่ากำลังดูนามเวทนา เพื่อจะได้เห็นสภาวะความจริง คือไตรลักษณ์

ระหว่างกำหนดดูต้องระวังอย่าให้มีจิตปรารถนาอยากให้เจ็บปวดนั้นหายไป คงวางเฉยดูอยู่ ดูไปตามที่เวทนานั้นแสดง

แท้จริงเมื่อทุกขเวทนาเกิดขึ้น ตัณหาความปรารถนายินดีย่อมออกไป และโทสะความไม่ชอบย่อมเข้าแทน ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาจำต้องมีมนสิการโดยแยบคาย วีธีที่ดีก็คือเอาสติเข้าไปกำหนดดูอยู่ที่ทุกขเวทนานั้น

แต่เอาสติกำหนดความเจ็บปวดนั้นอยู่เฉยๆ เช่น กำหนดว่า “ปวดหนอๆ” ว่าในใจไปเฉยๆ โดยไม่มีมนสิการ ให้ถูกต้องตามสภาวะความจริง การกำหนดนั้นก็กลายเป็นสมถะไปสมาธิจิตก็จะเกิดมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนั้นการเจริญวิปัสสนา ก็มีส่วนจะดูทุกขสภาวะให้เห็นประจักษ์ ไม่ใช่เพื่อหลีกหลบหนีไปให้พ้น (คือไม่หลีกหนีไปเสียง่ายๆ) ไม่ยินดีเผชิญต่อทุกข์ ถ้าคอยหลีกหลบอยู่ ปัญญาความรู้ในเรื่องความจริงของทุกข์จะปรากฏขึ้นไม่ได้ จึงจำต้องมีสติกำหนดอยู่ที่ทุกขเวทนานั้นจนถึงขนาดที่จะอดทนไม่ได้ จึงเปลี่ยนอิริยาบถ หรือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้คลายจากเวทนานั้น

แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปในลักษณะ ทุกข์บังคับให้เปลี่ยน ไม่ใช่เพราะความปรารถนาอยากเปลี่ยน แต่ถ้าหากจะอดทนต่อทุกขเวทนานั้น แม้จะสาหัสแรงกล้าปานใด ก็ไม่ยอมท้อถอยเปลี่ยนแปลง พยายามเอาชนะทุกขเวทนานั้นให้ได้ ดังนี้ก็กลายเป็นอัตตกิลมถานุโยค คือเป็นการทรมานกาย เปล่าประโยชน์ และหาใช่วิปัสสนาไม่

โดย ศาลาธรรม [27 พ.ย. 2558 , 15:39:40 น.] ( IP = 101.51.110.126 : : )


  สลักธรรม 7

อารมณ์ฟุ้งซ่าน รำคาญใจต่างๆ

เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติวิปัสสนา ก็ให้มีสติกำหนดพิจารณาดูทำนองเดียวกับที่กล่าวในทุกขเวทนาข้างต้น กล่าวคือเมื่อความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นจิตใจไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวได้ ก็ให้มีสติกำหนดดูอยู่ที่ความฟุ้งซ่านนั้นโดยอาศัยความฟุ้งซ่านนั้นเป็นอารมณ์ให้สติกำหนด

ไม่ควรรีบทิ้งไปหาอารมณ์ใหม่ ควรเอาสติกำหนดอยู่ที่อารมณ์ฟุ้งซ่านนั้นให้เกิดประโยชน์ เพราะถ้าจะคอยหลบหลีกอยู่เรื่อยไป ก็จะไม่พบสัจธรรมความจริงได้ แม้ในอารมณ์เช่นกลุ้มใจ เบื่อหน่ายก็เหมือนกัน

โดย ศาลาธรรม [27 พ.ย. 2558 , 15:40:31 น.] ( IP = 101.51.110.126 : : )


  สลักธรรม 8

การเพ่งอิริยาบถ

การปฏิบัติวิปัสสนาก็เพื่อเห็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จึงจำเป็นต้องเพ่งกำหนดดูที่อิริยาบถด้วย เพื่อให้การปิดบังทุกข์นั้นหมดไป จะได้มองเห็นทุกข์ตามสภาวะความเป็นจริง การกำหนดที่อิริยาบถต้องกำหนดในขณะนั่ง นอน ยืน เดิน อันเป็นอิริยาบถใหญ่

เช่นขณะนั่ง กำหนดอาการนั่ง หรือในท่าที่นั่ง ให้ทำความรู้สึกในท่าที่นั่งนั้น ตั้งกายด้วยอาการอย่างใด ก็ให้รู้สึกในอาการอย่างนั้น ไม่ใช่ตรวจดูทั้งกายและเห็นทั่วไปเป็นรูปนิมิต

ต้องระวังให้ดู (เห็นทางใจ) อยู่ที่รูปนั่งจริงๆ ไม่ใช่รูปกระทบถูก รูปนั่งกับรูปกระทบถูกต่างกัน รูปกระทบถูกรู้ได้ทางกายทวาร แต่รูปนั่งรู้ได้ทางมโนทวาร ต้องมีมนสิการ ทำความรู้สึกว่า กำลังดูรูปนั่ง ต้องรู้อยู่เสมอว่ากำลังดูรูปนั่ง ไม่ใช่กำหนดว่านั่งหนอๆ เฉยๆ ไปเรื่อยๆ ถ้ากำหนดว่านั่งหนอๆ เฉยๆ ก็ไม่รู้ว่านั่งเป็นรูป เรานั่งก็จะเกิดขึ้น

ขณะสติกำหนดดูอยู่ที่รูปนั่งนั้น เมื่อยหรือปวดเกิดขึ้น ตัณหาความชอบใจย่อมผละออกไป โทสะความไม่ชอบเข้าแทน เมื่อโทสะเกิดขึ้นก็จะเป็นปัจจัยให้ตัณหาเกิด ตัณหาก็จะไปแสวงหาอิริยาบถใหม่ เช่น อิริยาบถเดินเพราะเคยเข้าใจหรือรู้มาแล้ว ว่าเดินนั้นสบาย

ดังนั้น ในอิริยาบถทั้ง ๒ นั้นจึงมีทั้งตัณหาและโทสะ กล่าวคืออิริยาบถใหม่คือเดิน มีตัณหา (โลภะ) เข้าประกอบ ส่วนอิริยาบถเก่า คือนั่งมีโทสะ (โทมนัส) เข้าประกอบ อิริยาบถอื่นคือ ยืน เดิน นอน ก็อนุโลมทำนองเดียวกัน

ไม่ควรบังคับอิริยาบถว่า ต้องนั่งให้ได้เวลาเท่านั้นชั่วโมงหรือยืนให้ได้เวลาเท่านี้ชั่วโมง จึงจะเลิกหรือเปลี่ยนอิริยาบถเพราะจะกลายเป็นบังคับบัญชาได้ และคำว่า เรา ก็จะเกิดขึ้นควรจะดูเท่านั้น มีอะไรเกิดขึ้นก็มีสติรู้อยู่รู้ทัน และถ้าการนั่งหรือยืนนั้นเกิดทุกขเวทนากล้าแข็งขึ้น และไม่ยอมเปลี่ยนโดยยังไม่ถึงกำหนดเวลา พยายามยืนหยัดอดทนต่อไป ดังนี้เป็นการทรมานกาย หาใช่ทางของวิปัสสนาไม่

อนึ่ง การกินอาหารก็ควรทำความเข้าใจให้ถูก คืออย่ากินด้วยตัณหาความอยากมีรสเอร็ดอร่อยแล้วติดใจ หรืออย่ากินด้วยโทสะความไม่ชอบไม่เอร็ดอร่อย ถ้าเกิดขึ้นก็ต้องกำหนดรู้ทันเสีย ควรทำความเข้าใจให้ถูกว่า จำเป็นต้องกินเพื่อบำบัดทุกข์ ที่จะเกิดขึ้นทำให้นามรูปเดือดร้อนกระวนกระวาย เพราะอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รูปทรงอยู่เป็นปกติตามธรรมชาติ.



ขอนุโมทนากับคุณนวลพรรณ รามวณิช ผู้บันทึกข้อมูล

โดย ศาลาธรรม [27 พ.ย. 2558 , 15:40:51 น.] ( IP = 101.51.110.126 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org