ศาลาธรรม โพสต์ 2018-11-30 08:44:26

การทำงานของจิต (๑)


https://webboard.abhidhammaonline.org/old/picdb.thaimisc.com/d/dokgaew/9289-12.gif@n

https://webboard.abhidhammaonline.org/old/i554.photobucket.com/albums/jj409/somjai100/rose%20set/bara-gli1.gif@t=1254486543

การทำงานของจิต (๑)
ธรรมะบรรยายโดย หลวงพ่อเสือ

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นการปฏิบัติสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิบัติเพื่อให้สัตว์หลุดรอดไปจากความทุกข์ทั้งปวง ซึ่งมีทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จร ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องตั้งความปรารถนาให้ตรงว่าทำเพื่อพ้นทุกข์ จึงจะถูกต้องและสมบูรณ์

ต้องคอยถามตนเองว่า เราจะเดินไปทางไหน? เราจะทำเพื่ออะไร? ถ้าทำหรือเดินโดยไม่มีจุดหมาย ก็ใช้เวลาหมดเปลืองเปล่า ฉะนั้น การปฏิบัติจึงเป็นการสร้างชีวิตให้พ้นจากการมีชีวิต ความโลภคือ ความยินดีติดใจในอารมณ์ทางทวารต่างๆ นั้น เป็นตัวบีบคั้น เคี่ยวเข็ญ และบังคับบัญชาให้เราอยู่ใต้อำนาจอยู่เสมอมา

ตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่อดีตชาติทำให้เราต้องกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อสนองความทะยานอยากของมัน ทำให้จิตใจของเราต้องร้อนรนกระวนกระวาย กระเสือกกระสน หยุดนิ่งไม่ได้ด้วยความไม่รู้จักพอ และกิเลสตัณหาเหล่านี้เป็นผู้จูงเราไปสู่หุบเหวแห่งความหายนะทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะว่าทุกคนต่างพากันไหลไปสู่ทางเดียวกันคือ ความทะยานอยากไม่รู้จักอิ่ม

ทางสายนี้จึงได้คร่ำคราไปด้วยผู้คนที่เบียดเสียดยัดเยียดกัน เช่น ภูมิเปรตหนาแน่นมาก เพราะคนไม่รู้จักพอตายไปอยู่เสมอๆ ฉะนั้น เราต้องหันหน้ามาแล้วศึกษา ไม่ใช่เรียนผ่านๆ เรียนส่งๆ


ศาลาธรรม โพสต์ 2018-11-30 08:45:43


ส่วนทุกขเวทนาคือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นไปในทางโดยตรง แต่เป็นไปโดยอ้อม

เหตุใดเล่าเมื่อเกิดทุกขเวทนาทางกายทางใจจึงเป็นเหตุให้เกิดตัณหา เช่น เมื่อไปโรงพยาบาลตรวจเจอโรคต่างๆ ผู้ใดก็ตามที่กำลังเจ็บอยู่ในขณะนั้นเรียกว่า ความทุกข์ทางกาย หรือกำลังเจ็บใจอยู่ก็เรียกว่าความทุกข์ทางใจเกิดขึ้น เนื่องจากการป่วยเจ็บและประสบกับอารมณ์ที่ไม่พอใจมา

คนป่วยคนเจ็บที่กำลังทุกข์กายทุกข์ใจมีความรู้สึกเหมือนกันหมดคือ อยากหายอยากสบาย แล้วลองตั้งคำถามว่า ทำไมจึงอยากหายป่วยหายเจ็บ อยู่ที่โรงพยาบาลดีแล้วมีคนพยาบาลก็จะได้รับคำตอบว่า อยากกินอยู่นอนหลับอย่างสบาย บางคนป่วยเจ็บก็มีคำพรรณนาอยากหายป่วยรวมความก็คืออยากจะไปหาตัณหาความสบายกายสบายใจนั่นเอง

ฉะนั้น ความทุกข์เป็นเหตุให้เกิดตัณหาได้เหมือนกัน เพราะจิตดิ้นรนกระสับกระส่ายโดยมีอำนาจตัณหาหนุนหลัง มีตัณหาซึ่งสามารถทำให้ยินดีติดใจในอารมณ์ก็ชักชวนไปในทางของมัน

อุเบกขาเวทนาคือ ความรู้สึกเฉยๆ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้เหมือนกัน เช่น คนทำสมาธิแล้วมีจิตที่สงบ มีความรู้สึกเฉยๆในขณะนั้น จะระแวงระวังว่าความเฉยของตัวจะตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อประคองจิตได้สงบแล้ว ก็ยินดีติดใจแล้ว เมื่อทำสมาธิอีกก็กลัวจิตไม่สงบ พยายามใช้คำภาวนาเพราะกลัวจิตไม่สงบ

ความเฉยๆ นี้หันเหเข้าไปสู่สุขเวทนานิดหน่อยเพราะสงบ อุเบกขาเวทนาได้แก่เวทนาเจตสิก ไม่ทุกข์ไม่สุขในเวทนา ๓ และ ๕ มีความรู้สึกชอบใจและคอยระวังรักษาความเฉยๆ ด้วยความตั้งใจ เพราะกลัวจะหนีไป จึงอาศัยสิ่งที่เราคิดว่าดีมาบริกรรม ตัณหาอุดหนุนแล้วก็มีความพยายามทำให้สงบยิ่งขึ้นไปจากขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จนกระทั่งได้ฌาน ความพยายามนี้เองคืออุเบกขาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้เหมือนกัน

ฉะนั้น ชีวิตของเราตั้งแต่ตื่นจนหลับตาทุกๆ วัน เราพัวพันกับสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้างตลอดทั้งวัน และเมื่อเราจะรับสุข ทุกข์ อุเบกขา เราก็หนีไม่พ้นความยินดีติดใจในอารมณ์อันเป็นตัณหา เมื่อตัณหาเกิดขึ้นแล้วไม่ได้หยุดนิ่งเฉยๆ แต่เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานต่อไป คือ ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ ๔ ประการ

https://webboard.abhidhammaonline.org/old/i554.photobucket.com/albums/jj409/somjai100/line/882424051988164824.gif

ยังมีต่อ ขออนุโมทนากับน้องนวลผู้พิมพ์

หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: การทำงานของจิต (๑)