ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 914|ตอบกลับ: 4

ทรัพย์สมบัติ

[คัดลอกลิงก์]

238

กระทู้

231

ตอบกลับ

4138

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
4138


การทำความเข้าใจในความหมายของสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องอย่างถ่องแท้ ตามคำบัญญัติของพระบรมครู ท่านผู้รู้ และนักปราชญ์ราชบัณฑิตนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเมื่อใดที่มีความเข้าใจไม่ถูกต้อง การนำไปใช้ก็จะผิดเพี้ยน ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซ้ำยังเกิดโทษต่อตนเองตั้งแต่ระดับต่ำไปจนถึงระดับสูงที่ยากจะแก้ไข

อย่างเช่นคำว่า สมบัติ ที่คนทั่วๆไป มักจะเข้าใจกันว่าหมายถึงทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของมีค่า และสำหรับคนที่มีความรู้ขึ้นมาอีกระดับหนึ่งก็อาจเข้าใจไปถึงสิ่งที่เป็นสิ่งนามธรรม เช่น กิริยามารยาท หรือสมบัติผู้ดี เป็นต้น

แต่โดยแท้จริงแล้ว ความหมายตามคำบัญญัติในภาษาบาลีนั้นท่าน กำหนดไว้ว่า สมบัติ แปลว่าถึงพร้อม ซึ่งความถึงพร้อมนี้ ก็มีความหมายหลายด้าน เช่น ตั้งแต่ทรัพย์สินและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกามสุขต่างๆ หรือ ความถึงพร้อมขององค์ประกอบต่างๆ ในการทำกุศล และการประกอบสังฆกรรม หรือความถึงพร้อมเกี่ยวกับมนุษย์สมบัติ เทวสมบัติ และนิพพานสมบัติ

จะเห็นว่า หากไม่ศึกษาให้เกิดความเข้าใจในความหมายอย่างแท้จริงแล้ว เราก็อาจเลือกปฏิบัติเพื่อให้ถึงพร้อมเพียงเรื่องเดียว หรือกระทำไปในส่วนที่เป็นโทษมากกว่าคุณประโยชน์ เช่น การใช้ชีวิตอย่างทุ่มเทเพื่อแสวงหาทรัพย์มาปรนเปรอความสุขของตนและวงศ์ตระกูลเพียงอย่างเดียว อันเป็นประโยชน์ในปัจจุบันชาติเท่านั้น

อันที่จริง แม้เราจะไม่ได้ประกอบอาชีพใดในขณะนี้ เราทั้งหลายก็จัดว่าเป็นผู้มีสมบัติติดตัวกันไม่น้อยเลย เพราะหากนำเรื่องสมบัติ ๖ ในพระพุทธศาสนามาตรวจสอบแล้วก็จะพบว่า เรานั้นมีสมบัติติดตัวกันหลายอย่างทีเดียว ดังนี้

สมบัติ ๖

๑. คติสัมปัตติ ถึงพร้อมด้วยคติ คือ การได้เกิดเป็นมนุษย์

๒.กาลสัมปัตติ ถึงพร้อมด้วยกาล คือ การได้เกิดในยุคที่มีคำสอนของพระพุทธเจ้า

๓.ปเทสสัมปัตติ ถึงพร้อมด้วยประเทศ คือ การได้เกิดในประเทศที่นับถือพระพุทธเจ้า

๔.กุลสัมปัตติ ถึงพร้อมด้วยสกุล คือ การได้เกิดในตระกูลที่นับถือพุทธศาสนา

๕. อุปธิสัมปัตติ ถึงพร้อมด้วยร่างกาย คือ การได้เกิดและมีร่างกายสมประกอบ

๖.ทิฏฐิสัมปัตติ ถึงพร้อมด้วยความเห็น คือ เป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล

เพียงแต่ที่หลายคนนั้นแม้จะมีสมบัติอยู่กับตัว แต่ก็ไม่รู้วิธีการนำไปใช้ หรือมองไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนมี หรือจะเรียกว่า ร่ำรวยทรัพย์แต่อับปัญญา จึงใช้ความเป็นมนุษย์ประกอบแต่กรรมชั่วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นการทำความขาดทุนให้เกิดขึ้นกับชีวิต

เพราะเป็นการกระทำที่สวนทางกับกุศลในอดีตที่ส่งอารมณ์มาให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ และการประกอบกรรมชั่วนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่า ธรรมดาของปุถุชนนั้นย่อมมีจิตบุญและบาปเกิดขึ้นสลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา ต่างจากพระอรหัตน์ที่จิตของท่านเป็นกิริยาจิตที่ไม่ก่อให้เกิดผลคือวิบากใดๆ อีกแล้ว



238

กระทู้

231

ตอบกลับ

4138

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
4138
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-4-3 10:45:36 | ดูโพสต์ทั้งหมด

ฉะนั้น เมื่อจิตของปุถุชนมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเช่นนี้ ก็ควรที่เราจะพึงระมัดระวังจิตไม่ปล่อยปละละเลยให้เหม่อลอย หรือฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ที่มากระทบโดยปราศจากความยั้งคิด

เพราะอารมณ์ที่มากระทบเหล่านี้หากขาดการศึกษาแล้วเราก็จะไม่ทราบเลยว่า เป็นเหตุให้เกิดการกระทำกุศลและอกุศลได้ เช่น เมื่อมองเห็นอาหารที่วางขายอยู่ ภาพอาหารที่เรารับรู้นั้นเป็นเครื่องเร้าให้เกิดการตอบสนองนับตั้งแต่จากทางใจไปจนกระทั่งถึงการแสดงออกทางกาย เช่น อยากรับประทานมาก ก็อดใจไม่ไหวจนต้องมีการเคลื่อนไหวกายไปซื้อหามารับประทาน ซึ่งหากเป็นการได้มาโดยสุจริตก็ไม่เป็นไร แต่หากมีการตอบสนองอย่างไม่สุจริตแล้ว ก็นับว่าใช้ชีวิตขาดทุนไปมากทีเดียว

หรือแม้จะเป็นการซื้อหาอาหารมาโดยสุจริตถูกต้อง แต่การกระทำนั้นก็เป็นไปบนพื้นฐานของตัณหาและอวิชชาที่ไม่ล่วงรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ มีความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผัก ผลไม้ หมู ปลา เป็ด ไก่ ซึ่งเป็นการใช้บัญญัติธรรม(อวิชชามานบัญญัติ)ให้ช่ำชองยิ่งขึ้น ฉะนั้น เมื่อใดที่กาย วาจา ใจของเราไม่อยู่ในกุศล เมื่อนั้น อกุศลก็เกิดขึ้นแก่เราโดยปริยาย

ความหมายของคำว่า สมบัติ ที่ยกมานี้ จึงเป็นเพียงตัวอย่างที่จะนำมาแสดงให้เห็นว่า หากขาดการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะพระอภิธรรมปิฎกแล้ว ชีวิตของเราท่านทั้งหลายก็ยากที่จะมีคำว่า ...ถึงพร้อม.. อย่างแท้จริง และก็ยากยิ่งที่จะสร้างประโยชน์อันสูงสุดให้แก่ชีวิตได้

เพราะหากเข้าใจว่า สมบัติเป็นเพียงทรัพย์สิน ก็จะทำให้หลายคนทิ้งโอกาสที่ดีของชีวิตไปด้วยความหลงเข้าใจผิดว่า ตนเป็นคนที่ไม่มีสมบัติติดตัว แต่หากมีความเข้าใจว่า สมบัติที่ตนมีอย่างน้อยก็คือมนุษย์สมบัติ และมีอวัยวะที่ไม่บกพร่อง ก็จะช่วยลดปมด้อยลงได้ และยังเป็นส่วนให้มีกำลังใจในการกระทำกรรมดีด้วยลำพังตนเองขึ้นมาได้ เช่น การประกอบอาชีพที่สุจริต การศึกษาพระธรรม การรักษาศีล หรือการเจริญภาวนา เป็นต้น

และเมื่อพูดถึง สมบัติแล้ว ก็จะขอพูดถึงคำว่า ทรัพย์ อีกนิดหน่อยว่า พระพุทธศาสนานั้น ให้ความสำคัญของอริยทรัพย์มากกว่าทรัพย์อื่นใด เพราะอริยทรัพย์นั้นนำพาให้เกิดสมบัติทั้งปวงที่มนุษย์พึงต้องการ อริยทรัพย์เปรียบเสมือนตัวขับเคลื่อนบริหารกิจการค้าให้เจริญรุ่งเรืองจนปรากฏผลมหาศาลเป็นสมบัติในโอกาสต่อมา

238

กระทู้

231

ตอบกลับ

4138

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
4138
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-4-3 10:46:37 | ดูโพสต์ทั้งหมด

อริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อันประเสริฐที่ไม่มีใครมาแย่งชิงไปได้นั้นก็ได้แก่

๑. ศรัทธา คือความเชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง รู้ในสิ่งต่างๆที่เราไม่รู้กัน เป็นความเชื่อที่มีเหตุผล ในเรื่องของกรรม วิบากรรม เป็นต้น

๒. ศีล การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม เป็นเจตนาที่ใจของเราไม่ไปล่วงละเมิดสิ่งอื่น หรือผู้อื่นให้เกิดความเดือดร้อน

๓. หิริ และ ๔. โอตตัปปะ หิริ ความละอายใจต่อการทำชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว ถ้าคนเราไม่มีความสะดุ้งละอายต่อความชั่ว ก็จะไม่ระมัดระวังความคิดของตัว จะกลายเป็นคนที่มีเล่ห์เหลี่ยมมีลับลมคมใน และฮึกเหิมกระทำการชั่วจนปะทุออกมาทางวาจา และทางกายได้ง่าย สำหรับในสองข้อนี้ให้มีข้อเตือนใจอยู่ว่า "ความลับไม่มีในโลก"

๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก ทำให้เป็นคนมีความรู้รอบ รู้ลึกซึ้ง รู้กว้างขวาง เมื่อได้รู้ได้ฟังได้ศึกษาเล่าเรียนมาก ก็เป็นพหูสูต ช่วยให้ประพฤติปฏิบัติชีวิตไปบนแห่งความเจริญได้อย่างปลอดภัย

๖. จาคะ ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน จาคะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ใจมีเมตตา รู้จักอภัย และก่อให้เกิดความสุขกับส่วนรวม

๗. ปัญญา ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณาและรู้ที่จะจัดทำ เป็นเครื่องคุ้มครองใจมิให้ใจรั่วไปรับอกุศลเข้ามาปนเปื้อน

238

กระทู้

231

ตอบกลับ

4138

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
4138
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-4-3 10:47:15 | ดูโพสต์ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น เมื่อทำอริยทรัพย์ให้เกิดขึ้นแล้ว ก็จะกลายเป็นเสบียงกรังที่ฝังติดอยู่ในจิตใจ ใครจะมาขโมยไปก็ไม่ได้ แม้จะจำภพชาติเก่าของเราไม่ได้ แต่ความชำนาญที่เคยสะสมไว้อริยทรัพย์ก็จะทำให้ เราจะได้มีตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

และเมื่อเราฝึกสติให้เกิดควบคู่ไปด้วย ก็จะเปรียบเสมือนเบรคหรือห้ามล้อที่ทรงคุณภาพไม่ปล่อยให้พาหนะพุ่งทะยานไปในทางหายนะ พ้นจากความวิบัติทั้งปวงได้

ท้ายนี้ นอกจากจะขอให้ผู้ที่มีโอกาสเข้ามาอ่านได้พิจารณาถึงความหมายของถ้อยคำทางธรรมให้ลึกซึ้งแตกฉานแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะให้ท่านได้สำรวจสมบัติของตนตามหลักพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นกำลังใจอีกครั้ง เพราะในบรรดาสิ่งที่หายาก ๔ อย่างนั้น เราท่านทั้งหลายก็ล้วนมีเป็นสมบัติของตนหลายประการแล้ว คือ

๑. พุทธุปปาโท จ ทุลลโภ ความเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า เป็นของหาได้ยากยิ่ง

๒. มนุสสัตตภาโว ทุลลโภ การได้อัตภาพเกิดมาเป็นมนุษย์ มีอวัยวะครบบริบูรณ์ ไม่บ้าใบ้เสียจริต

๓. ปัพพชิตภาโว ทุลลโภ การได้บวชเป็นภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา การได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่

๔. สัทธาสัมปันโน ทุลลโภ ความเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อต่อพระปัญญาความตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า และ ยินดีประพฤติปฏิบัติตาม

จึงขอส่งความปรารถนาดีมายังท่านทั้งหลายให้สามารถมีวิธีการใช้สมบัติของตนได้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยทั่วหน้ากันเทอญ .



4

กระทู้

52

ตอบกลับ

912

เครดิต

ผู้เยี่ยมชม

เครดิต
912
โพสต์ 2017-4-3 13:00:14 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ขอบพระคุณสำหรับความหมายของทรัพย์สมบัติที่เราๆท่านๆทั้งหลายพึงเข้าใจและสร้างสมให้มากๆค่ะ
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ข้อความล้วน|อุปกรณ์พกพา|ประวัติการแบน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-11-22 04:36 , Processed in 0.085771 second(s), 21 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.9

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้