ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 840|ตอบกลับ: 3

สังฆานุสสติ

[คัดลอกลิงก์]

42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901

สังฆานุสสติ
จิตนั้นเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ต่างๆ ที่มีเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาตามเหตุปัจจัย ความฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปในอารมณ์ทั้งหลายที่มากระตุ้นจึงเป็นปัญหาเสมอกับผู้ที่ไม่รู้จักควบคุมจิต เพราะเมื่อกระทบกับอารมณ์เหล่านั้นแล้วก็มักจะขาดหลักในการพิจารณาที่ดีทำให้เกิดการกระทำที่คล้อยตามหรือขัดขืนไปในทางที่ดีและไม่ดีตามความเคยชิน

หลายครั้งที่เราอาจจะได้รับฟังเรื่องราวที่พรั่งพรูออกมาด้วยความไม่พอใจในเรื่องของพระสงฆ์ในสมัยนี้ จนกระทั่งบางคนถึงขนาดออกปากว่า จะไม่ทำบุญตักบาตรอีกต่อไป เพราะไม่ศรัทธาในพระสงฆ์ที่มีข้อวัตรปฏิบัติรุ่มร่ามไม่เรียบร้อย บางรายถึงกับทำผิดวินัยอย่างไม่สะทกสะท้าน สถานการณ์เหล่านี้เป็นวิกฤติศรัทธาอย่างหนึ่งที่สั่นคลอนความมั่นคงของพระพุทธศาสนา เพราะผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็จะพากันจ้วงจาบกล่าวตำหนิ ลบหลู่ดูหมิ่นพระสงฆ์ไปเสียทั้งหมด ทั้งๆ ที่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีก็มีอยู่มาก

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพุทธศาสนิกชนบางคนมีการกำหนดใจไว้ผิดที่ ยึดมั่นเฉพาะภาพที่ไม่งามของพระสงฆ์ที่ปรากฏในปัจจุบัน โดยขาดความรอบคอบที่จะพิจารณาถึงคุณที่แท้จริงของคำว่า "พระสงฆ์" ตามที่มีปรากฏในคำสอนของพระพุทธองค์ แล้วก็เกิดความเศร้าหมองใจติดตามมาด้วยการระลึกถึงอารมณ์ที่ไม่ใช่อนุสติ จึงพลอยทำให้กุศลของตนต้องเสียหายไปอย่างไม่สมควร และนี่ก็เป็นโทษอย่างหนึ่งของความยึดติดในบุคคล

ความมีสติจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ฝักใฝ่ในกุศลเพื่อความเจริญคือมุ่งตรงต่อความสุขอันประณีต เพราะความมีสติที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จะทำให้เกิดความเคยชินในการนำสติมาคุ้มครองใจได้ง่ายและรวดเร็ว

พระพุทธองค์ตรัสว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจะเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายจะบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว ”

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมที่เป็นไปในส่วนอกุศล ที่เป็นไปในฝักฝ่ายอกุศลทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรมเกิดขึ้นทีหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมที่เป็นไปในส่วนกุศล ที่เป็นไปในฝักฝ่ายกุศลทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น กุศลธรรมเกิดขึ้นทีหลัง "

42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-3 13:24:06 | ดูโพสต์ทั้งหมด

ในพระพุทธศาสนานั้นมีการสอนวิธีอบรมจิตให้มีสติอยู่หลายวิธี ทั้งในด้านสมถะและวิปัสสนา ซึ่งวิธีการและคำอธิบายทั้งหลายที่นำความรู้ความเข้าใจมาสู่พุทธศาสนิกชนในวันนี้ล้วนได้รับความอนุเคราะห์จากพระสงฆ์สาวกผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ที่ได้จัดทำพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และตำราต่างๆ เพื่อขยายความให้ผู้ที่มีปัญญาน้อยได้เข้าใจในอรรถะและพยัญชนะแห่งธรรมของพระบรมศาสดา

นอกจากพระสงฆ์จะเป็นผู้สืบทอดพระธรรม และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจมาสู่พุทธสาสนิกชนแล้ว ท่านยังเป็นเนื้อนาบุญอันเอกเหมาะแก่การเพาะปลูกกุศลกรรมของปุถุชนอย่างเราๆ การระลึกถึงพระคุณแห่งสงฆ์จึงเป็นอารมณ์แห่งกุศลที่จะนำพาจิตใจให้มีความอ่อนโยนและน้อมไปในการปฏิบัติธรรมให้เจริญยิ่งขึ้น

อนุสสติ คือ ความระลึกถึงอารมณ์ที่ควรระลึกถึงบ่อยๆ และในอันดับต่อไปนี้ คือ สังฆานุสติ คือ สติอันปรารภพระสังฆคุณให้เกิดขึ้น มีสติเจตสิกอันมีพระสังฆคุณเป็นอารมณ์

ในปัจจุบันนี้ได้มีผู้อธิบายถึงสังฆคุณไว้ตามมติของตนเองว่า เป็นการระลึกถึงคุณพระสงฆ์ที่หมายถึง สมมติสงฆ์ และพระอริยสงฆ์ ที่มีพระคุณ ๙ ประการ คือ สุปฏิปนฺโน, อุชุปฏิปนฺโน , ญายปฏิปนฺโน, สามีจิปฏิปนฺโน, อาหุเนยฺโย, ปาหุเนยฺโย, ทกฺขิเณยฺโย , อญฺชลีกรณีโย , อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส

สมมติสงฆ์ เป็นกัลยาณปุถุชน คือปุถุชนผุ้มีกัลยาณธรรมงามเรียบร้อยทุกสิ่งทุกอย่าง ถือพระวินัยตามสิกขาบทนั้น ๆ ตามสมควร กิริยามารยาทภายนอกงามทุกสิ่งทุกประการ ถึงแม้ไม่เป็นอริยบุคคล แต่เป็นคนงาม เรียกว่า กัลยาณปุถุชน

พระอริยสงฆ์ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ และในสมมติสงฆ์ผู้ที่มีข้อวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสศรัทธา ก็ให้อนุโลมตามคุณของพระอริยสงฆ์ได้

42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-3 13:24:34 | ดูโพสต์ทั้งหมด

สังฆานุสสติ ๙ ประการ

สุปฏิปนฺโน หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฟังพระโอวาทานุสาสนีของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยเคารพ มีการปฏิบัติดีคือตั้งอยู่ในมรรค ปฏิบัติชอบคือตั้งอยู่ในผล ปฏิบัติสมควรแก่พระนิพพาน ปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม

อุชุปฏิปันโน หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติตรง ละเสียซึ่งลามกปฏิบัติทั้ง ๒ คือ อัตตกิลมภานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยค ปฏิบัติโดยมัชฌิมปฏิบัติ คือพระอัษฏางคิกมรรค ละเสียซึ่งความคดอันประกอบในกายแลวาจาจิต

ญายปฏิปันโน หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทางเป็นไปเพื่อได้ให้สำเร็จพระนิพพาน

สามีจิปฏิปันโน หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติสมควรสามีกรรม คือ เป็นผู้น่านับถือ สมควรได้รับความเคารพ เพราะมีการปฏิบัติชอบอย่างยิ่ง

อาหุเนยโย หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่สิ่งของคำนับ(อาหุนะ) คือ ควรได้รับสิ่งของที่เขานำมาถวาย เพราะทำอาหุนะนั้นให้มีผลมาก ด้วยท่านมีคุณสมบัติ ๔ ประการดังกล่าวข้างต้นนั้น

ปาหุเนยโย หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เพราะแขกผู้ทรงคุณดังเช่นพระสงฆ์นั้นมิใช่จะหาได้ง่าย เพราะหนึ่งพุทธันดรจึงจะได้พบสักครั้ง และท่านเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมทั้งหลายที่ทำความที่เป็นที่รักที่ชอบใจจึงชื่อว่า ปาหุเนยยะ ผู้ปฏิบัติงามเช่นนี้เมื่อที่ใดก็ย่อมเป็นผู้สมควรแก่การต้อนรับ

ทักขิเณยโย หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา พระสงฆ์ผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมอยู่ในฐานะที่ควรแก่การรับทักษิณาทานที่เขาถวาย ควรแก่สิ่งของทำบุญ คือเพราะเกื้อกูลทักษิณานั้นให้มีผลมาก เพราะผู้ถวายทานแก่ท่านย่อมได้รับประโยชน์ตามที่ปรารถนา

อัญชลีกรณีโย หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การทำ อัญชลี คือ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงนั้นย่อมมีคุณความดีอยู่ในฐานะที่ควร แสดงความเคารพด้วยการกราบไหว้ ทั้งเป็นการช่วยให้ผู้ไหว้เจริญด้วยพรทั้ง ๔ ประการ

อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเนื้อนาบุญของโลก คือ พระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ ทักษิณาที่บริจาคแก่พระสงฆ์ ย่อมมีอานิสงส์มาก บุญทั้งหลายอันเป็นเครื่องบันดาลประโยชน์เกื้อกูล และความสุขนานาประการของชาวโลกจึงได้งอกขึ้นเพราะได้กระทำกับพระสงฆ์นั้น

42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-3 13:25:06 | ดูโพสต์ทั้งหมด

เมื่อพระโยคาวจรผู้นั้นระลึกถึงพระสังฆคุณทั้งหลายแล้วจิตย่อมไม่มีราคะโทสะโมหะกลุ้มรุม ย่อมดำเนินไปตรงแน่วแน่ในการปรารภพระคุณมีประการต่างๆ จนกระทั่งความสงบเกิดขึ้นอุปจารฌานที่เกิดขึ้นนี้ก็ถึงซึ่งความนับชื่อว่า สังฆานุสสติเพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงพระสังฆคุณ

อานิสงส์เจริญสังฆานุสสติ

ผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งสังฆานุสสตินี้ ย่อมเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ได้ความไพบูลย์แห่งคุณมีศรัทธาเป็นต้น เป็นผู้มากไปด้วยปีติและปราโมช ทนต่อความกลัวและความตกใจ สามารถอดกลั้นทุกข์ มีความรู้สึก เสมือนว่าได้อยู่กับพระสงฆ์

แม้ร่างกายของผู้มีสังฆคุณานุสสติประทับอยู่นั้น ย่อมเป็นร่างควรแก่การบูชา ดุจโรงอุโบสถ อันมีสงฆ์ประชุมกันอยู่ฉะนั้น หากเมื่อมีการประจวบ เข้ากับวัตถุที่จะพึงล่วงละเมิดศีลเมื่อใด หิริโอตตัปปะย่อมจะปรากฏให้รู้สึกราวกับเห็นพระสงฆ์อยู่ต่อหน้า

อนึ่งเล่า เมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่งขึ้นไป ย่อมเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาดี พึงทำความไม่ประมาทในสังฆานุสสติ อันมีอานุภาพมากอย่างนี้ทุกเมื่อเทอญ


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ข้อความล้วน|อุปกรณ์พกพา|ประวัติการแบน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-11-24 10:02 , Processed in 0.105187 second(s), 30 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.9

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้