ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 815|ตอบกลับ: 0

คนเป็นกะเทยได้อย่างไร (ตอนที่๓)

[คัดลอกลิงก์]

92

กระทู้

9

ตอบกลับ

2528

เครดิต

ผู้ดูแลระบบ

เครดิต
2528

คนเป็นกะเทยได้อย่างไร

โดย. ท่านอาจารย์บุญมี เมธางกูร




ตอนที่ (๒) อ่านที่นี่

ท่านสาธุชนทั้งหลาย เรื่องของชีวิตจิตใจนั้นมีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนอย่างที่สุด ดังนั้น จึงควรจะศึกษาไม่ว่าจะเป็นของครูบาอาจารย์คนไหน ขออย่างเดียวอย่าได้ลืมศึกษาพระอภิธรรมเสียด้วยก็แล้วกัน

ในโลกนี้ ไม่มีอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียวที่มันจะเกิดขึ้นมาได้โดยโดดเดี่ยวแต่ลำพัง ไม่ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ หรือจะเป็นสิ่งของอะไรทุกๆ อย่าง หรือจะพูดว่า รูป-นามทั้งสิ้นก็ตาม กระดาษที่ท่านถืออยู่ในมือนี้ มันก็ประกอบไปด้วยเซลลูโรส อันเป็นเยื่อ ใยของไม้ชนิดต่างๆ วัตถุเคมีอีกหลายอย่างและหมึกพิมพ์ ชอล์คที่ครูใช้เขียนกระดานดำ มันก็มีแคลเซี่ยมซัลเฟต แคลเซี่ยมคาบอเนต และวัตถุเคมีอีกหลายอย่างเหมือนกัน

เราจะค้นหาอย่างไรก็ไม่พบว่ามีอะไรที่เกิดขึ้นมาโดดเดี่ยวแต่ลำพังได้ กระดาษและชอล์คที่ยกขึ้นมา ในทางธรรมเรียกว่า รูป หรือจะพูดว่าสสารและพลังงาน ในทางธรรมะก็จะต้องมีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ สี กลิ่น รส และโอชะ เรียกว่า อวินิพโภครูป ๘ อยู่เป็นประจำ ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้เลยเป็นอันขาด

ด้วยเหตุที่ธรรมชาติทั้งหลายต้องอยู่รวมกันหลายอย่างดังนี้ ท่านผู้ใดเข้าใจว่า จิตนั้นเกิดขึ้นมาโดดเดี่ยวแต่ลำพังจึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูก และไม่ถูกต้องอย่างก่อความเสียหายให้มิใช่น้อย เพราะถ้าเข้าใจว่าจิตนั้นโดดเดี่ยวมั่นคงถาวร ความเข้าใจผิดดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสกัดกั้นปัญญาความเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา มิให้ปรากฏเมื่อเวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แล้วหนทางเดินไปสู่ความพ้นทุกข์ก็ถูกอุดตัน

ในมหาตัณหาขยสูตร ครั้งพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตำหนิพระสาติเป็นอันมาก ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ เพราะพระสาติมีความเข้าใจในเรื่องวิญญาณเหมือนศาสนาพราหมณ์ คือเข้าใจว่า วิญญาณเที่ยง วิญญาณย่อมแล่นไปโดยเข้าใจว่า คนตายแล้ววิญญาณนั้นเป็นสิ่งกายสิทธิ์ มีอำนาจล่องลอยไปเกิดใหม่ได้ตามบุญและบาป ที่ตนได้ทำเอาไว้

ในโลกนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่เกิด ไม่ดับ และตั้งอยู่โดดเดี่ยวแต่ลำพัง หากแต่จะต้องเกิดดับแล้วยังรวมกันอยู่หลายๆ อย่าง เหตุผลที่ควรจะทำความเข้าใจก็คือ มันรวมกันอยู่หลายอย่างทำไม ธรรมชาติเลือกคัดให้มันเกิดขึ้นมาหลายอย่างแล้ว ถ้าไม่มีประโยชน์อะไรเลยก็ย่อมจะไม่ใช่ฝีมือของธรรมชาติเป็นแน่

ธรรมชาติทั้งหลาย มันเกิดขึ้นมารวมกันหลายอย่าง ก็เพราะแต่ละอย่างมันมาช่วยกันทำงานเพื่อให้งานที่ทำนั้นสำเร็จไป

เมื่อมีผู้ใดผู้หนึ่งพูดว่า "บ้าน" ออกไป คนไทยทั้งหลายก็พากันเข้าใจว่า "บ้าน" นั้นคืออะไร แต่ว่าบ้านจะมีของชิ้นเดียวอย่างเดียวได้หรือ แน่นอน บ้านมันก็จะมีเสา มีพื้น มีหลังคา มีข้างฝา มีประตู หน้าต่าง และน๊อตหรือตะปู
ชิ้นส่วนต่างๆ ที่มารวมกันเป็นบ้านนั้น มันล้วนแต่มีงานของมันทั้งสิ้น เพราะเสามันก็ทำงานค้ำยันให้บ้านตั้งเป็นรูปทรงอยู่ได้ มีพื้นจะได้เป็นที่อาศัยของคน มีหลังคาเอาไว้กันแดดกันฝน มีข้างฝาเอาไว้กันขโมย และกันแดด กันฝน กันลม มีหน้าต่างก็จะได้ใช้ให้อากาศถ่ายเท มีประตูก็จะใช้เข้าออกได้ มันเกิดขึ้นมาช่วยกันทำงานทั้งนั้น และแต่ละชิ้นส่วนรวมกันเราจึงสมมุติเรียกว่าเป็นบ้าน แต่ว่าบ้านจริงๆ หาได้มีไม่ เพราะถ้าชิ้นส่วนต่างๆ มากองกับพื้น บ้านก็จะหายไป

เราพูดคำว่า "คน" ก็เหมือนกัน มันก็จะต้องมีหน้าตา ร่างกาย เขน ขา กระดูก อวัยวะภายใน และจิตใจ แต่ละชิ้นส่วนมันมีงานทำกันทั้งนั้น แต่ละชิ้นส่วนมารวมกันเราจึงเรียกว่า คน ชิ้นใดชิ้นหนึ่งหาเป็นคนได้ไม่

จิตก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นนามธรรมก็ตามที่เกิดขึ้นมาโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องมีการประชุมที่มาเกิดร่วมกันก็เพื่อจะทำงาน ตัวที่มาประชุมร่วมกันเหล่านี้เรียกว่า เจตสิก
มีอย่างเดียวมันก็ผิดธรรมชาติเป็นบ้านหรือเป็นคนไม่ได้ และไม่ใช่ฝีมือของธรรมชาติเป็นแน่

เมื่อตั้งคำถามว่า เจตสิกคืออะไร ก็ได้คำตอบว่าเจตสิกคือธรรมชาติที่ประกอบกับจิต เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต และที่ตั้งที่อาศัยก็อยู่ในที่เดียวกันกับจิต

เจตสิกที่ประกอบกับจิตนั้น เรียกว่า เจโตยุตฺตลกฺขณํ คือการประกอบที่บริบูรณ์ด้วยลักษณะ ๔ ประการคือ


๑. เอกุปฺปาท เกิดพร้อมกับจิต
๒. เอกนิโรธ ดับพร้อมกับจิต
๓. เอกาลมฺพน มีอารมณ์อันเดียวกับจิต
๔. เอกวตฺถุก อาศัยวัตถุอันเดียวกับจิต


เพราะว่าชิ้นส่วนต่างๆ ที่มาร่วมประชุมกันเป็นบ้านนี้เองที่ทำให้บ้านมีรูปแบบต่างกันออกไป เช่น หน้าจั่ว ขื่อ แป ข้างฝา เป็นต้น แล้วก็สมมุติชื่อขึ้นมาใหม่เพื่อเรียกขานกันให้เข้าใจ เช่น บ้านปั้นหยา บ้านไทย บ้านแแบฝรั่ง บ้านบังกะโล ไปจนถึงกระท่อมห้องหอ หรือห้องแถว

เพราะชิ้นส่วนที่มารวมกันเป็นคน ก็มีความแตกต่างกันไปจึงได้ชื่อว่าเป็นคนเหมือนกัน แต่คนทั้งหลายหาได้เหมือนกันไม่ บางคนเตี้ย บางคนสูง บางคนตาโต บางคนตาเล็ก

เพราะชิ้นส่วนต่างๆ มารวมกันจึงได้เป็นบ้าน และเพราะชิ้นส่วนต่างๆ มารวมกันจึงได้เป็นคน แม้จะชื่อว่าเป็นบ้าน เป็นคน ก็หาได้เหมือนกันไม่ ย่อมต่างๆ กันออกไปก็แล้วแต่หรือตามที่ชิ้นส่วนที่มาประชุมกันเหล่านั้นว่าเป็นอย่างไร
ที่ชื่อว่า "จิต" เป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ก็เหมือนกัน เพราะมีเจตสิกมาร่วมประชุมกันจึงได้เป็นจิต และเพราะมีเจตสิกมาร่วมช่วยกันปรุงแต่ง ดังนั้นจิตจึงเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง ซึ่งเป็นบาป และอโลภะบ้าง อโทสะบ้าง ซึ่งเป็นบุญ เป็นต้น

ถ้าบ้านพังลงไป ชิ้นส่วนต่างๆ ของบ้านก็ทลายลงไปด้วย คำว่าบ้านก็หายไป ถ้าชิ้นส่วนต่างๆ ของบ้านประชุมกันขึ้นมาใหม่ บ้านก็เกิดขึ้นใหม่ คนก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจไม่มีเขาก็เรียกว่าศพ หาเป็นคนได้ไม่

ธรรมชาติของจิตก็เหมือนกัน ถ้าเราจะอธิบายเหมือนกับจุดไฟขึ้นที่เทียนก็ได้ เมื่อจุดไฟแล้ว ไฟก็เกิดขึ้น แสงสว่างก็เกิดขึ้น ความร้อนก็เกิดขึ้น พลังงานจากความร้อน และพลังจากแสงสว่างก็เกิดขึ้น ถ้าไฟเกิดขึ้นมันก็เกิดขึ้นพร้อมกัน ถ้าไฟดับมันก็ดับพร้อมกัน ทั้งมันก็อยู่ในที่เดียวกันด้วย

เจตสิกที่รวมกันทั้งหมดนั้นมีอยู่ ๕๒ ประเภท เป็นเจตสิกที่เป็นกลางๆ สามารถเกิดร่วมกับบาปก็ได้ กับบุญก็ได้ และไม่บาปไม่บุญก็ได้ ประเภทหนึ่ง อกุศลเจตสิกจะประกอบกับเฉพาะจิตที่เป็นอกุศลจิตเท่านั้นประเภทหนึ่ง และโสภณเจตสิกจะประกอบกับเฉพาะจิตที่เป็นโสภณจิตเท่านั้นอีกประเภทหนึ่ง

ก็น่าอัศจรรย์ เมื่อผู้ใดเกิดจิตคิดหรือทำไปในฝ่ายอกุศล เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น เจตสิกที่เป็นกลางๆ กับเจตสิกฝ่ายที่เป็นอกุศลก็จะเข้ามาเกิดร่วมกัน เราก็เรียกผู้นั้นว่า ได้กระทำบาป หรือพูดว่าอกุศลจิตเกิดขึ้น

เมื่อผู้ใดมีจิตคิดหรือทำไปในฝ่ายกุศล เช่นทำบุญให้ทาน เมตตากรุณา เป็นต้น เจตสิกที่เป็นกลางๆ กับเจตสิกเป็นฝ่ายโสภณก็จะเข้ามาเกิดร่วมกัน เราก็เรียกผู้นั้นว่า ได้กระทำบุญหรือพูดว่า กุศลจิตเกิดขึ้น

ขอยกตัวอย่างขึ้นมาให้ท่านได้เห็นหน้าตาบ้างเล็กน้อยพอจะได้มีความเข้าใจ แต่ถ้าศึกษาเล่าเรียนจริงๆ แล้วก็มีความละเอียดลึกซึ้งมาก เพราะจะแสดงถึงจิตประเภทไหนเกิดขึ้นมีเจตสิกอะไรบ้าง เข้ามาร่วมกันทำงานและทำงานกันอย่างไร เก็บอารมณ์ เก็บบุญ เก็บบาปเอาไว้ที่ไหน และบุญบาปที่เก็บเอาไว้เหล่านั้นสามารถแสดงออกคือ ให้ผลได้อย่างไร เหตุใดคนทำความดีจึงมองเห็นกันอยู่ทั่วไปว่าไม่ได้รับผลดี และคนชั่วร้ายกลับมีความร่ำรวยหรือมีความสุข ความสบาย

ตัวอย่างที่จะยกขึ้นมาให้ท่านได้พิจารณานั้น เป็นตัวอย่างที่จะทำให้พอมองเห็นหน้าตาบ้างเท่านั้น เพราะเรื่องเจตสิกนั้นผมบรรยายอยู่ที่อภิธรรมมูลนิธิสัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง ก็ต้องใช้เวลาปีเศษสำหรับเพียงเพื่อจะได้อาศัยเป็นพื้นฐานในการศึกษาสูงขึ้นไป

เมื่อเวลาจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ จิตกับเจตสิกก็จะเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ เพราะจิตเกิดขึ้นที่ไหนเจตสิกก็จะอยู่ในที่นั้น จิตรับอารมณ์อะไรเจตสิกก็ร่วมรับอารมณ์อย่างเดียวกัน เหมือนพูดว่ามีครูก็ต้องมีศิษย์ พูดว่าพ่อแม่ก็ต้องมีลูก พูดว่าสามีก็ต้องมีภรรยา ชิ้นส่วนของไม้มาประชุมกันให้ถูกต้อง บ้านนันก็เกิดขึ้น เจตสิกร่วมประชุมกันจิตก็เกิดขึ้น ไม่ใช่มีเจตสิกต่างหากแล้วก็เอามารวมกับจิตอีกทีหนึ่ง ผมจึงขอเขียนรูปให็ดูเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ คือ วงกลมใหญ่สมมุติว่าเป็นจิต และวงกลมเล็กๆ สมมุติว่าเป็นเจตสิก


เจตสิกตามรูปที่ท่านได้เห็นนั้นอยู่ในพวกที่เรียกว่า อัญญสมานาเจตสิก ซึ่งหมายถึงเจตสิกที่ร่วมประกอบกับจิตที่เป็นอกุศล หรือที่เป็นกุศลก็ได้ มีจำนวน ๑๓ แล้วได้แยกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ประเภท ซึ่งหมายถึงเจตสิกที่ประกอบกับจิตทั้งหมดทุกๆ ประเภท ซึ่งผมขอยกขึ้นมาให้เป็นตัวอย่างให้ท่านได้พิจารณา ส่วนปกิณกเจตสิกอีก ๖ ประเภทจะของดเอาไว้ ส่วนอกุศลหรือโสภณเจตสิก ก็จะเสนอต่อท่านบ้างนิดหน่อย ขอท่านทั้งหลายได้โปรดศึกษาให้จริงจังต่อๆไป ผลที่ได้นั้นมิใช่เล็กน้อยเลย
เมื่อเวลาเราจะทำการงานอะไร การงานที่ทำนั้นมันก็มีขั้นมีตอน การงานที่ทำบางทีก็สลับซับซ้อน แต่ผู้ที่มิได้คิดพิจารณา ผู้ที่มิได้ประกอบการงานนั้นมาก็ไม่อาจจะทราบได้ถึงเรื่องอะไรที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ ดังนั้น จึงพูดออกไปอย่างง่ายๆ ตามประสาของคนที่ไม่มีความเข้าใจ แต่ช่างคิดช่างพูดช่างออกความเห็น


ตัวอย่างเช่น นายช่างทำบ้านเรือนสักหลังหนึ่ง เขาจะต้องรู้จักตัวไม้ที่จะทำบ้านเรือนนั้นทุกๆ ชิ้น ว่ามันมีรูปร่างอย่างไร หนาบางแค่ไหน กว้างและยาวมากน้อยเท่าใด จะใช้ตัวยึดโยงอันได้แก่น๊อตหรือตะปูขนาดไหน ใครจะเป็นผู้ตกแต่งตัวไม้แล้วประกอบมันขึ้นอย่างไรจึงจะได้ผลดี

ช่างไม้ก็ต้องรู้เรื่องของช่างไม้ให้ดีเป็นพิเศษ เพราะเกี่ยวกับผลได้ผลเสียของตนเอง ด้วยเหตุดังนี้ ผู้ไม่เคยศึกษาเรื่องของช่างไม้ ก็ย่อมจะปลูกบ้านสร้างเรือนไม่ได้ อย่างน้อยก็จะต้องมีความเข้าใจบ้าง สำหรับตัวของเราเองก็เหมือนกัน จะต้องรู้เรื่องจิตใจของเราเป็นพิเศษ หาไม่แล้วจะแก้ปัญหาให้แก่ชีวิตของเราได้อย่างไรเล่า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแยกแยะเจตสิกแต่ละตัวให้ศึกษาเหมือนแยกชิ้นไม้แต่ละชิ้นส่วนมากมายที่ใช้ทำบ้านออกมาให้เข้าใจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายถึงหน้าที่การงานของเจตสิกแต่ละตัวให้ทราบว่ามันทำหน้าที่การงานอย่างไร เหมือนอธิบายชิ้นไม้ที่จะทำบ้านแต่ละชิ้นให้รู้หน้าที่การงานของมัน

และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเอาเจตสิกทั้งหมดมาประชุมกันให้เราได้ศึกษา จะได้ทราบว่าจิตโลภะ โทสะ โมหะ หรือจิตอโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดนั้น รวมเจตสิกประเภทต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างไร เหมือนเรียนชิ้นไม้ทำบ้านเสร็จแล้ว ก็สอนให้ประกอบบ้านเป็นรูปบ้านแบบต่างๆได้ทุกๆ แบบไม่ว่าจะปลูกแบบไหน เมื่อนเรียนเจตสิกแล้วก็จะเข้าใจเรื่องของจิตทุกประเภท

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้สอนให้มีความรู้แต่เพียงเท่านั้น หากแต่สอนให้กำหนดพิจารณาในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อไปด้วย เพื่อให้เป็นบทพิสูจน์ เมื่อผู้ปฏิบัติได้ผลดีก็มีความสามารถรู้เห็นจิตและเจตสิกเหล่านี้ได้เหมือนเรียนช่างไม้รู้จักไม้ทุกชิ้นที่จะประกอบเป็นบ้านแล้วก็ปลูกบ้านสำเร็จจนเห็นบ้านทั้งหลังตลอดจนชิ้นส่วนต่างๆ ได้ด้วยสายตาของตนเอง

ผัสสะเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับกระทบอารมณ์ต่างๆ ทางทวารทั้ง ๖ เมื่ออารมณ์ทางทวารไหนเกิดขึ้นก็เข้ารับอารมณ์ทางทวารนั้นๆ

เช่นเมื่อรูปารมณ์อันได้แก่คลื่นของแสงสะท้อนจากวัตถุเข้ามากระทบกับจิตที่ประสาทตา ผัสสะเจตสิกก็เป็นตัวรับกระทบทำให้รู้สึกเห็น เมื่อสัททารมณ์อันได้แก่คลื่นของเสียงคือความสั่นสะเทือนของอากาศเกิดขึ้น แล้วมากระทบกับจิตที่ประสาทหู ผัสสะเจตสิกก็เป็นตัวรับประทบทำให้รู้สึกได้ยิน และเมื่อเรื่องราวที่คิดนึกมากระทบใจ เช่นเรื่องทะเลาะเบาะแว้งเมื่อวานมากระทบใจก็ทำให้รู้สึกไม่สบายใจเป็นต้น

ผัสสะเจตสิกก็รับประทบเรื่องราวต่างๆ ดังกล่าวเหล่านั้นทุกๆ ทวาร แม้เวลานอนหลับสนิท ผัสสะเจตสิกนี้จะรับประทบอารมณ์ที่เป็นบุญเป็นบาป หรือจะไม่บาปไม่บุญก็ตามก็ได้ทั้งหมด เพราะเป็นกลุ่มของอัญสมานาเจตสิกที่เป็นกลาง ซึ่งหมายถึงรวมกับอย่างอื่นได้

เวทนาเจตสิก เป็นเจตสิกที่มีหน้าที่เสวยอารมณ์ หรือกินอารมณ์ อารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบก็ทำให้เกิดเวทนา คือเป็นสุข เป็นทุกข์ และเป็นอุเบกขา คือเฉยๆ ทุกๆ อารมณ์ไปไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

การงานของจิตนั้นสลับซับซ้อน และจิตก็เกิดดับต่อๆ กันไปโดยรวดเร็วมาก ฉะนั้นจึงมิใช่ว่าเวทนาเจตสิกนี้จะปรากฏชัดแจ้งหรือจะทำให้มีความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์เสมอทุกครั้งไป

สัญญาเจตสิก คำว่าสัญญานี้มิใช่ทางโลก แต่ทางโลกเอาไปใช้ เช่นสัญญากู้ยืมเงิน หรือสัญญาว่าจะรักและจะแต่งงานกัน

หากแต่สัญญานี้แปลว่าเก็บหรือประทับอารมณ์เอาไว้ในจิตใจไม่ว่ารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายและความคิดนึกใดๆ เกิดขึ้น สัญญาเจตสิกนี้ก็ทำหน้าที่เก็บอารมณ์ที่กระทบเอาไว้ เช่น จำ ก.ไก่ ข.ไข่ได้ จำสีแดงสีเขียวได้ จำหน้าสามีภรรยาได้ แม้ความรู้ที่ออกมาเพื่อใช้ในการสอบไล่ ก็อาศัยสัญญานี้เป็นตัวเก็บเอาไว้

ส่วนการที่มันแสดงออกมาได้อย่างไร และทำไมจึงจำเก่ง หรือลืมไปเสียได้ง่ายๆ นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีคำอธิบายละเอียดเมื่อได้ศึกษาต่อไป

เจตนาเจตสิก หมายถึงตัวการที่ก่อให้เกิดความจงใจ ความตั้งใจ ถ้าไม่มีเจตนาเจตสิกแล้วจะเห็น ได้ยิน หรือคิดนึกไม่ได้เลยเป็นอันขาด ความตั้งใจจึงเกิดขึ้นทุกอารมณ์ไป

บางท่านอาจจะคิดว่าถ้าเสียงดังเกิดขึ้น เช่นเสียงยางรถระเบิดดังสนั่น เรามิได้ตั้งใจจะได้ยิน ก็ได้ยินเหมือนกัน ในข้อนี้คำตอบก็มีพร้อมบริบูรณ์ว่า ในขณะที่ได้ยินนั้น เจตนาเจตสิกก็เกิดขึ้นมาแล้ว พร้อมกันกับจิตได้ยิน หากแต่ในขณะที่ได้ยินเกิดขึ้นมานั้น มิได้มีบุพพเจตนา คือมิได้มีความตั้งใจเอาไว้ก่อนว่าจะได้ยินเสียงระเบิดเท่านั้นเอง

เอกัคคตา ก็ได้แก่เจตสิกที่ทำให้จิตมีความตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว เป็นขณะๆ ไป การที่เราเห็น ได้ยิน คิดนึกได้ จิตและเจตสิกมิได้เกิดขึ้นมาขณะเดียว หากแต่เกิดดับสลับซับซ้อนกันมากมายติดต่อกันไป

ดังนั้นเอกัคคตาเจตสิกเป็นตัวการที่ทำให้จิตตั้งอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ได้(สมาธิ) ถ้าเอกัคคตาเจตสิกไม่มีเสียแล้ว จะเห็น ได้ยิน หรือคิดนึกไม่ได้เลย

ชีวิตินทรีย์เจตสิก เป็นเจตสิกที่เป็นตัวการสำคัญในการรวบรวมหรือยึดโยงเจตสิกทั้งหลายที่มาร่วมประชุมให้ทำงานไม่ให้กระจัดกระจายแตกแยกออกจากกันไปเปรียบเสมือนนาฬิกาข้อมือ ต้องมีของหลายอย่างมารวมกันมันจึงจะเป็นนาฬิกา มันจึงจะทำงานได้

ของหลายอย่างที่มารวมกันเหล่านั้นวางอยู่เฉยๆ ก็ย่อมจะไม่ได้ มันจะต้องมีตัวควบคุมอยู่หรือยึดโยงส่วนต่างๆ ของนาฬิกาทุกๆ ชิ้น ไม่ให้กระจัดกระจายออกจากกัน แล้วทำงานของมันได้ ตัวยึดโยงนี้แหละถ้ามันทำงานให้กับนามธรรม คือจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับมันไม่ให้กระจัดกระจายออกจากกันไปเราเรียกว่า ชีวิตินทรีย์เจตสิก

มนสิการเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทำหน้าที่การงานสำคัญมาก เพราะจะทำให้จิตกับอารมณ์ตรงกัน หรือทำให้จิตเป็นไปในอารมณ์นั้น

เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น เช่น รูปหรือเสียงมากระทบตา กระทบหู และจิตก็เห็นและได้ยินได้นั้น ก็เพราะมนสิการเจตสิกตัวนี้เองที่ทำหน้าที่ให้จิตตรงต่ออารมณ์เห็น หรืออารมณ์ได้ยินไม่ไถลไปรับอารมณ์อื่น ก็แน่ละในบางครั้งก็มีอารมณ์อื่นที่มีกำลังมาก เช่น เสียงดังแรง หรือเรามีความสนใจมาก ทำให้จิตไม่จับอารมณ์ที่ตั้งไว้เดิมก็ได้ ก็แล้วแต่ความสนใจ แต่มนสิการเจตสิกก็ไปเกิดอยู่ในอารมณ์ใหม่ ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้ต่อไป

การเห็นรูปก็จะต้องมีเหตุ ๔ ประการด้วยกัน คือ รูปารมณ์อันได้แก่คลื่นของแสง อาโลกะ มีแสงสว่าง จักขุปสาทะ มีประสาทตา และมีมนสิการะ ทำให้จิตใจตรงต่ออารมณ์

มนสิการะ คือ เจตสิกที่เป็นตัวการทำให้จิตตรงต่ออารมณ์ไม่ไถลไปทางอื่นๆ เสียโดยง่าย เมื่อมีมนสิการะ ก็คือมีจิตนั่นเอง ฉะนั้น ในบางแห่งก็อาจจะไม่ได้ใช้คำว่า มนสิการะเจตสิก หากแต่ใช้ "จิต"เลยทีเดียว ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความมุ่งหมายของผู้อธิบายถ้าเน้นหนักในเรื่องตัวการที่ทำให้จิตตรงต่ออารมณ์ แล้วก็ใช้มนสิการเจตสิก

เจตสิกทั้ง ๗ ประการนี้ จะเกิดขึ้นกับจิตทั้งหมด ไม่ว่าจิตในขณะมีอารมณ์อันเป็นบาป บุญ หรือไม่บาปไม่บุญ และจะเป็นปัจจุบัน อดีต อนาคต

เช่นในขณะปฏิสนธิ คือการเกิดในภพชาติใหม่ ภวังค์องค์แห่งภพ คือรักษาภพชาติเช่นในขณะนอนหลับสนิทเป็นต้น และในขณะจุติ คือดับ หรือตายก็ตาม จึงได้เรียกชื่อว่าสัพพจิตตสาธารณเจตสิก

ยังมีเจตสิกอีกมากมายที่จะต้องศึกษา ผมก็เห็นว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการนำท่านทั้งหลายเท่านั้น จึงขอเชิญชวนท่านให้ลองศึกษาต่อไป แล้วท่านก็จะได้พบกับความประหลาดใจ แล้วก็จะทราบได้อย่างแน่นอนพร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วไม่มีผู้ใดใครที่ไหนในโลกนี้ที่จะมีความเข้าใจเจตสิกได้เลยเป็นอันขาด

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีเจตสิกที่จำเป็นจะต้องขอให้ท่านได้ทำความเข้าใจอีกสักเล็กน้อยว่า เจตสิกที่ได้แสดงไปแล้วนั้น เป็นตัวอย่างเพียงเพื่อให้ได้เห็นรูปร่างหน้าตาเท่านั้น ผู้ศึกษาจะต้องศึกษาอีกมากนัก เช่นเจตสิกที่เป็นฝ่ายอกุศล มีการฆ่าสัตว์ ลักทรพัย์ หรือฝ่านกุศลมีการบริจาคทาน รักษาศีล เจตสิกที่เข้าร่วมประชุมกันทำงานนั้นสลับซับซ้อนกันยิ่งนัก ผู้ศึกษาจะทราบโดยละเอียดว่า ในขณะฆ่าสัตว์ หรือในขณะบริจาคทานนั้น มีเจตสิกประชุมกันทำงานอย่างไรบ้าง บางทีเข้าร่วมประชุมกันทำงานมากมาย ๒๐ กว่า หรือ ๓๐ กว่าประเภทก็มี ผู้ศึกษาเรื่องเจตสิกมาเข้าใจแล้ว ก็จะหายสงสัยเรื่องของจิตที่เคยจ้องใจมาได้เป็นอันมาก
เมื่อจิตเกิดขึ้นจะเป็นบาปหรือเป็นบุญก็ตาม ก็จะมีเจตสิกอันเป็นตัวกลางที่เข้ากันได้กับจิตทั้งหมด คือสัพพจิตตสาธารณ ๗ ประเภทที่ได้แสดงผ่านมาแล้ว กับปกิณกะอีก ๖ ประเภทเท่าที่มันจะเกิดได้

และจิตใดที่เป็นบาป เจตสิกที่เป็นฝ่ายบาปอีกหลายตัวก็จะเข้าร่วมด้วย เจตสิกฝ่ายที่เป็นบุญประกอบไม่ได้เลย

แต่ถ้าจิตใดเป็นบุญ เจตสิกอีกหลายตัวที่เป็นบุญก็จะเข้าประกอบร่วมด้วยอีกเหมือนกัน เจตสิกที่เป็นฝ่ายบาปก็เกิดไม่ได้

ผู้ศึกษาก็จะมีความเข้าใจอันประกอบด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริงของเครื่องยนต์กลไกของจิตใจ ส่วนหนึ่งก็จะถูกตีแผ่ออกมาให้ได้เห็นหน้าตา

อย่างไรก็ดี เรื่องของจิตและเจตสิก ดังกล่าวมาโดยย่อนี้ มิใช่ว่าจะเป็นเรื่องลมๆ แล้งๆ ของคนช่างคิดช่างฝันแต่ประการใด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ซึ่งเป็นสัพพัญญูผู้ตรัสรู้ได้วางบทพิสูจน์เอาไว้ให้ทั้งนั้น รอคอยผู้มีความรู้มากๆ มีเหตุผลดีๆ อยู่เสมอ

แล้วในขณะนี้บรรดานักศึกษาพระอภิธรรมเป็นอันมาก บรรดาท่านชาวพุทธผู้เป็นสัมมาทิฏฐิก็มิใช่เล็กน้อย ได้จับกลุ่มกันขึ้นมาต่อต้านเพื่อทำลายล้างมิจฉาทิฏฐิ ผู้ทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงธรรมโดยคิดๆ เอาว่าการเวียนว่ายตายเกิดไม่มี เกิดเป็นผีสางเทวดาก็ไม่ได้ เพื่อดึงนำให้ไปสู่ทิศทางที่ตนต้องการ ปฏิจจสมุปบาทก็ว่าไม่คร่อมภพคร่อมชาติ

รูป คืออะไร


รูปคืออะไร รูปเป็นปรมัตถธรรมข้อที่ ๓ ในจำนวนทั้งหมด รูปในพระพุทธศาสนาก็ได้แก่สสารและพลังงานในวิชาการทางโลกทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง

รูปมีแสดงอยู่ในพระอภิธรรมปิฎกอย่างละเอียดพิสดารอย่างยิ่ง และมากมีเดียวที่วิชาการทางโลกทางวิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้ และไม่ได้แม้แต่จะย่างกรายเข้าไปใกล้ และเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของชีวิตจิตใจที่เกี่ยวกับรูป ผมบรรยายก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "รูปชีวิต" ซึ่งมิได้มีผู้ใดจะศึกษาค้นคว้าเข้ามาให้ถึงได้ และเรื่องอื่นๆ มากมายสำหรับจะได้ให้ผู้ศึกษาค้นคว้าต่อไปเท่านั้น ก็จะต้องใช้เวลาบรรยายนานไม่ต่ำกว่า ๑ ปี โดยบรรยายครั้งละ ๒ ชั่วโมง สัปดาห์ละครั้ง

ผู้ที่ไม่เคยได้ศึกษาพระอภิธรรมมักจะมีความเข้าใจผิด แล้วคิดว่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเรื่อง "รูป" หรือบรรยายคำว่า"รูป"เอาไว้ เป็นรูปที่ใช้เป็นอารมณ์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นต้นนั้น เป็นรูป คือร่างกาย แต่เพียงเท่านั้น ความจริงรูปมีถึง ๒๘ ประเภทด้วยกัน ผมเห็นเป็นการสมควรที่จะแสดงเรื่องรูปเอาไว้ย่อๆ พอให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า รูปเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ คือสสารและพลังงานในพระพุทธศาสนา

เมื่อผมบรรยายพระอภิธรรม ได้แสดงถึงเรื่องของคำว่า "ปรมาณู" เพราะจำเป็นต้องพูดพาดพิงเข้าไปถึง อาจารย์สอนวิชาวิทยาศาสตร์ได้ทักท้องว่า ไม่อยากให้แสดงธรรมะโดยใช้คำว่า ปรมาณู เพราะเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ ถ้าในอนาคตวิชาวิทยาศาสตร์มีอันต้องเปลี่ยนแปลงไป พระพุทธศาสนาก็จะเสียหาย ท่านทักท้วงขึ้นมาด้วยความปรารถนาดี

แม้จริงคำว่า "ปรมาณู" แม้คำว่า "อณู" ก็เหมือนกัน เป็นภาษาบาลีต่างหาก แล้วนักวิทยาศาสตร์ได้เอามาใช้ในวิชาวิทยาศาสตร์ ผู้เอาคำว่าปรมาณูมาใช้ก็ไม่ได้เข้าใจพระพุทธศาสนา จึงได้กำหนดกฏเกณฑ์แตกต่างกับในพระพุทธศาสนา เมื่อเวลาบรรยายก็เกิดปะปนกันไป ผู้ฟังทั้งหลายก็พากันเข้าใจว่าเป็นปรมาณูในทางวิทยาศาสตร์ ทำให้บังเกิดความยุ่งยากอย่างเหลือเกิน เพราะจะต้องคอยบอกว่าเป็นปรมาณูในพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ เพราะนักศึกษามิได้เข้ามานั่งในชั้นเรียนพร้อมกัน เพราะศึกษาต่อๆ กันไปโดยตลอด มีคนใหม่เข้ามาศึกษาอยู่เรื่อยๆ
พระพุทธศาสนาแสดงเรื่องปรมาณูมากว่า ๒๕๐๐ ปี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงอะไรแล้ว ก็ไม่ได้ขอให้ใครเชื่อเฉยๆ หากแต่ได้วางบทพิสูจน์เอาไว้ให้ด้วย ทั้งทฤาฎีและปฏิบัติ แม้ในเรื่องการเกิดเป็นผีสางเทวดาก็เช่นเดียวกัน

เรื่องผีสางเทวดาที่บรรยายอยู่ในชั้นเรียน บรรยายครั้งละ ๒ ชั่วโมง สัปดาห์ละครั้ง ก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำหว่า ๑ ปี นั่นเป็นเพียงพื้นฐานรองรับ เพื่อจะได้ศึกษาเรื่องที่ละเอียดพิสดารต่อไปเท่านั้น เรื่องผีสางเทวดาก็จะต้องนำให้ผู้ศึกษามีความเข้าใจ คำว่าอณูและปรมาณูในพระพุทธศาสนเสียก่อน

ปรมาณู คืออะไร

ในทางโลกทางวิทยาศาสตร์ อธิบายว่า ส่วนที่เล็กที่สุดของธาตุใดๆ ก็ตาม ที่จะพึงมีอยู่ และยังรักษาลักษณะ คุณสมบัติของธาตุนั้นไว้ เราเรียกว่า ปรมาณูของธาตุนั้น ปรมาณูของธาตุต่างๆ เช่น hydrogen oxygen copper uranium เป็นต้น

ปรมาณูทั้งหลาย ประกอบด้วยแกนกลางที่แน่นทึบ และแกนกลางที่แน่นทึบนี้ เรียกว่า นิวเคลียส(neucles) มีอิเล็คตรอน (eletron) แวดล้อมนิวเคลียสอยู่

แกนกลางแน่นทึบที่เรียกว่านิวเคลียสนั้น ประกอบได้วยอนุภาค ๒ ชนิดด้วยกัน คือ โปรตอน (proton) และนิวตรอน(neutron) ซึ่งโปรตอนและนิวตรอนทั้ง ๒ ชนิดนี้ มีมวล(mass)เกือบเท่ากัน

สำหรับโปรตอนนั้นมีประจุไฟฟ้าบวก แต่ส่วนนิวตรอนนั้นเป็นกลาง มิได้มีประจุไฟฟ้า และรอบๆ นอกของนิวเคลียสมีอีเล็กตรอน ซึ่งเป็นประจุไฟฟ้าลบวิ่งวนอยู่เป็นวงๆ

ลักษณะของปรมาณูนั้น ก็มิได้แตกต่างกันไปกับจักรวาลของดวงดาวพระเคราะห์ทั้งหลายที่โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ก็เปรียบเหมือนเป็นนิวเคลียส ดาวพระเคราะห์ทั้งหลายก็เปรียบเหมือนอีเล็กตรอนที่วิ่งวนอยู่รอบนิวเคลียส ที่วนอยู่ใหล้บ้าง ไกลบ้าง แต่อย่างไรก็ดี ดวงดาวทั้งหลายก็ไม่พ้นไปจากความดึงดูดของนิวเคลียส


สารวัตถุทั้งหลาย ประกอบขึ้นด้วยอนุภาคที่เล็กที่สุดอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว อนุภาคที่เล็กที่สุดนี้เรียกว่า ปรมาณูและอนุภาคที่ว่าเล็กเหล่านี้ ก็สามารถแยกออกมาเป็นโปรตอน นิวตรอน และอีเล็กตรอน แต่อย่างไรก็ดี ปรมาณูทั้งหลายมิได้ตั้งอยู่ในฐานะที่มีเสถียรภาพ เพราะจะต้องเคลื่อนไหวไปมาอยู่ตลอดเวลา

ปรมาณูในพระพุทธศาสนา

คำว่า ปรมาณูนั้น เป็นภาษาบาลี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสงมาแล้วก๋อน ๒๕๐๐ ปี แต่นักวิทยาศาสตร์นำเอาคำนี้ไปใช้ ฉะนั้น เมื่อผมพูดถึงคำว่าปรมาณู ท่านผู้ฟังส่วนมากจึงคิดว่า เป็นปรมาณูทางวิทยาศาสตร์ แม้คำว่า อณู ก็เหมือนกัน

ความมุ่งหมายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการแสดงเรื่องนี้ แตกต่างกับที่ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันค้นคว้ากันอยู่ เพราะมุ่งที่จะเอาปรมาณูมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในยามสันติ และในยามสงคราม แต่พระพุทธองค์ทรงปรารถนาที่จะให้ผู้ศึกษามีความเข้าใจในเรื่องของชีวิตในส่วนที่เป็นรูป เพื่อให้เห็นความจริงของรูป ตั้งแต่เกิดไปจนกระทั่งถึงความตาย ทั้งรูปที่มองเห็นได้ด้วยตากับรูปที่มองเห็นไม่ได้ด้วยตา

เช่นรูปที่ปรากฏขึ้นมา ในขณะปฏิสนธิเป็นรูปมนุษย์ รูปเปรต รูปอสุรกาย และรูปเทวดา เป็นต้น กับทั้งเพื่อให้ผู้ศึกษาได้เห็นตามความเป็นจริงว่า คนหรือสัตว์ทั้งหลาย หรือไม่ว่าจะเป็นรูปอะไรๆ ที่เรามองเห็นกันได้อยู่ต่อหน้าต่อตาเป็นรูปหยาบๆ แล้วเห็นว่าสวยสดงดงามเกิดความพึงพอใจจนกลายเป็นความหลงใหลนั้น แท้จริงเป็นรูปของปรมาณูแต่ละหน่วยมาประชุมกัน แล้วปรมาณูเหล่านี้ไม่มีเสถียรภาพด้วย ทุกวินาทีที่ผ่านไป ย่อมจะตั้งมั่นไม่ได้ ย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ เป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ แปลว่า ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตา เพราะสักแต่ว่าเป็นรูปมาประชุมกันชั่วคราวหนึ่งๆ

หาได้มีตัวตน คน สัตว์ หญิงหรือชายประกาดใดไม่ ทั้งบังคับบัญชาอย่างไรก็ไม่ได้ด้วย เมื่อศึกษาเข้าใจในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แอบแฝงอยู่อย่างเร้นลับของสรรพสิ่งต่างๆ และของตัวเองแล้ว ปัญญาก็จะได้เกิดขึ้นเห็นหนทางที่จะพ้นไปจากความทุกข์ คือหนทางที่จะทำให้การเวี่ยนว่ายตายเกิดสะดุดหยุดลง มฤตยูจะได้ไม่มาคอยเฝ้าถามหาอยู่ทุกชาติๆ อีกต่อไป

ปรมาณูในพระพุทธศาสนาแยกจากเมล็ดข้าวเปลือกให้เล็กๆปเรื่อยๆ จนถึงเป็นปรมาณู

ดังคาถาจาปลินิคัณฑุ (อภิธานนัปปทีปิกา) คาถาที่ ๑๙๔ และคาถาที่ ๑๙๕ ในภูมิกัณฑ์ว่า


ฉตฺตึส ปรมาณูน เมโก ณุจ ฉตึ เต
ตชฺชรี ตาปี ฉตฺตึส รถเรณูจฺ ฉตึส เต
ลิกฺขา ตา สตฺต อูกา ตา ธญฺญมาโสติ สตฺเต
๓๖ ปรมาณู เป็น ๑ อณู
๓๖ อณูเหล่านั้น เป็น ๑ ตัชชารี
๓๖ ตัชชารีเหล่านั้น เป็น ๑ รถเรณู
๓๖ รถเรณูเหล่านั้น เป็น ๑ ลิกขา
๗ ลิกขา เป็น ๑ อูกา
๗ อูกาเหล่านั้น เรียกว่า ธัญญามาส

ถ้าจะกลับเสียก็ได้ดังนี้
๑ เม็ดข้าวเปลือก = ๗ อูกา
๑ อูกา = ๗ ลิกขา
๑ ลิกขา = ๓๖ รถเรณู
๑ รถเรณู = ๓๖ ตัชชารี
๑ ตัชชารี = ๓๖ อณู
๑ อณู = ๓๖ ปรมาณู

ท่านสาธุชนทั้งหลาย ถ้าคูณตัวเลขเหล่านี้ดูแล้วก็จะได้ถึง ๘๒ ล้านส่วน กับเศษอีกหลายแสน ท่นนก็จะเห็นได้ว่าใน ๑ ปรมาณูนั้น มาจากเม็ดข้าว ๑ เม็ด ซึ่งแยกออกเรื่อยๆ ไป แต่รูปปรมาณูทั้งหมดเหล่านี้ แม้เราจะเห็นหรือสัมผัสถูกต้องไม่ได้แล้ว ก็ยังจัดว่าเป็นรูปหยาบอยู่มาก เพราะยังมีรูปที่ละเอียดยิ่งกว่านี้อีกต่างหาก

รูปทั้งหมดมีอยู่ ๒๘ รูป เป็นรูปปรมาณู แต่เป็นรูปหยาบเสีย ๑๒ รูป เหลืออีก ๑๒ รูป เป็นรูปละเอียดประณีตยิ่งกว่าปรมาณูดังได้แสดงมาแล้ว

ทุกๆ ปรมาณู แม้จะเห็นไม่ได้ และสัมผัสทางกายไม่ได้ก็ดี แต่ประกอบไปด้วยปฐวี อาโป เตโช วาโย วัณณะ คันธะ รสะ โอชะ คือธาตุดิน น้ำ ไป ลม สี กลิ่น รส และโอชะ เรียกชื่อปรมาณูนี้ว่า อวินิพโภครูป ๘

อาโป = ธาตุน้ำ ไม่ใช่น้ำที่เราดื่มกัน วาโย=ธาตุลม ก็ไม่ใช่ลมที่พัดมา และโอชะ=ก็ไม่ใช่แปลว่า อร่อย ผู้ศึกษามีความเข้าใจแล้ว จะเห็นความพิสดารเป็นอันมาก

ปรมาณูทั้งหลายเหล่านี้ เรียกว่า อวินิพโภครูป และอวินิพโภครูปนี้จะต้องมีธาตุทั้ง ๘ เสมอไป จะไม่มีปรมาณูหนึ่งปรมาณูใดที่มีธาตุเกินกว่า ๘ หรือน้อยกว่า ๘ อย่างแน่นอน คือจะแยกอย่างไรก็จะต้องมี ๘ เสมอ เพราะธาตุทั้ง ๘ นี้แยกออกจากกันไม่ได้

แม้ว่า ปรมาณูนั้นจะเล็กน้อยกระจ้อยร่อยเพียงใดก็ตามแม้ว่าประมาณูนั้นจะเห็นไม่ได้ สัมผัสด้วยกายไม่ได้ก็ตาม แต่ถึงกระนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังแสดงว่า ทุกปรมาณูนั้นมิได้ติดกัน หากแต่มีช่องว่างระหว่างปรมาณู เรียกในภาษาธรรมะว่า ปริจเฉทรูป ซึ่งเป็นชื่อของรูปอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุที่มีปรมาณูขึ้นมาแล้ว มันจะต้องมีช่องว่างระหว่างปรมาณูเสมอไป

แม้ว่า ปรมาณูนั้นจะเล็กน้อยกระจ้อยร่อยเพียงใดก็ตามแม้ว่าประมาณูนั้จะเห็นไม่ได้ สัมผัสด้วยกายไม่ได้ก็ตาม แต่ถึงกระนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังแสดงว่า ทุกๆ ปรมาณูจะได้หยุดนิ่งเฉยๆ มิได้ เคลื่อนไหวอยู่เสมอตลอดเวลาไม่หยุดพักเลยด้วยอำนาจของอุณหเตโช ธาตุไฟ คือ ความร้อน (สีตเตโช-เย็น ก็คิอ ร้อนน้อย)

แม้ว่าปรมาณูนั้นจะเล็กน้อยกระจ้อยร่อยเพียงไรก็ตาม แม้ว่าปรมาณูนั้นจะเห็นไม่ได้ สัมผัสด้วยกายไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อมันมารวมกันเป็นรูปต่างๆ เข้าแล้ว มันก็จะประจักษ์ต่อสายตาของบุคคลได้ เมื่อเหมาะสมก็สามารถรับการสัมผัสได้ มันจึงได้กลายเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย หรือเป็นบ้าน เป็นเรือน เป็นต้นไม้ใบหญ้า ไปตามสามัญสำนึกของบุคคลทั้งหลายที่ได้สมมุติขึ้น แล้วบุคคลทั้งหลายต่างก็พากันหลงใหลในรูปปรมาณูที่มีช่องโปร่งอยู่ทั่วไป หลงเตลิดเพลิดเพลินไปกับปรมาณูที่ขาดเสถียรภาพเอาเป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนสภาพอยู่ร่ำไป ดังนั้น ปรมาณูทั้งหลายย่อมเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (ทุกขังหมายถึงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้)

ไม่ใช่คนเกิด แก่ ตาย ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานแต่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นไปอยู่ทุกวินาที คือ อุปจยะ สันตติ ชรตา อนิจจตา คือ เกิดขึ้น สืบต่อ สลายตัว และเปลี่ยนสภาพไปไม่เหมือนเดิม แล้วก็เกิดขึ้นทดแทนใหม่ต่อไปภายใน ๑ วินาทีตั้งมากมาย

รูปปรมัตถ์

อภิธรรมมัตถะสังคหะ ปริจเฉทที่ ๖ พระอนุรุทธาจารย์ได้ประพันธ์เป็นคาถาสังคหะไว้รวม ๑๔ คาถา แต่เมื่อแปลออกมาเป็นภาษาไทย ก็ยากที่จะทำความเข้าใจได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาในตอนต้นๆ มาก่อน ยิ่งถ้าจะทำความเข้าใจในส่วนที่ละเอียดลออลึกซึ้งให้ได้ความเข้าใจดี และมีความกว้างขวางตามสภาวธรรมก็ยิ่งจะยุ่งยากขึ้นไปอีกกับผู้ศึกษายิ่งนัก ดังนั้นจึงต้องค้นหาคำอธิบายจากอรรถกถาและฏีกา เป็นต้นเข้ามาช่วย แต่ถึงกระนั้นก็ยากที่จะศึกษาด้วยตนเองได้ จึงจำเป็นต้องเอาวิชาการในทางโลก เฉพาะอย่างยิ่งวิชาวิทยาศาสตร์เข้ามาประกอบด้วย เพื่อหวังว่าจะให้ผู้ศึกษาเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ในเรื่องดังกล่าวนี้ ก็มักจะมีผู้ไม่เคยศึกษาพระพุทธศาสนา เฉพาะอย่างยิ่งอภิธรรมปิฎกมาก่อนเลย กล่าวหาว่า เอาเรื่องทางโลก ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาปะปนกับธรรมะทำไม


แต่อย่างไรก็ดี ขอให้ลองดูตัวบาลีกับคำแปลในอภิธรรมมัตถสังคหะปริจเฉท ๖ มี ๑๔ คาถา ก็จะเห็นว่า ถ้าไม่มีวิชาวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบายประกอบด้วยแล้ว จะศึกษาให้เข้าใจดีจริงๆ ได้อย่างไร เพียงแต่รู้บาลีและคำแปลเท่านั้นจะอธิบายได้หรือ แม้จะเอาวิชากรทางโลกทางวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบายประกอบด้วยแล้วก็ยังไม่ใช่ง่ายๆ ยังหนีความอึดอัดใจไปไม่พ้น และขอให้สังเกตดูว่า หนังสือเล่มนี้ทั้งเล่มขยายความจากคาถาสังคหะที่เป็นตัวบาลีไม่กี่คาถาเลย จากจำนวน ๑๔ คาถาด้วยกัน

คาถาสังคหะที่ ๑
เอตฺตาวตา วิภตฺหา หิ สปฺปเภทปฺปวตฺติกา
จิตฺตเจตสิกา ธมฺมา รูปนฺทาหิ ปวุจฺจติฯ


แปลเป็นใจความว่า ธรรมทั้งหลาย คือจิตและเจตสิกเป็นไปโดยประเภทและปวัติกาล ได้จำแนกแล้วโดยปริจเฉททั้ง ๕ มีประมาณเพียงเท่านั้น บัดนี้จักแสดงถึงรูปต่อไป

ปรมัตถธรรมนั้นมี ๔ ประการ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน ได้แสดงเรื่องจิตเจตสิกมาตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑, ๒, ๓, ๔ และ ๕ สำหรับในปริจเฉทที่ ๖ ซึ่งจะได้บรรยายต่อไปนี้เป็นเรื่อง "รูป" และเรื่อง "นิพพาน"ต่อไป

จากปรมัตถทีปนีฎีกาแสดงเอาไว้

รุปฺปตีติ รูปํ ธรรมชาติที่แตกดับหรือผันแปรไปนั้น เรียกว่า รูป

จากวิภาวนีฎีกาได้ขยายคำว่า รุปฺปน ไว้ดังนี้

รุปฺปนญฺเจตฺถ สีตาทิวิโรธิปจฺจยสมวาเย วิสทิสุปฺปติเยว
ลำดับรูปที่เกิดก่อนและเกิดทีหลัง ขณะมีปัจจัยอันเป็นข้าศึก คือความเย็น เป็นต้น ยังให้แตกดับนั้น ลำดับรูปนั้นชื่อว่า รุปฺปน (คำบาลีและแปลดังนี้ ถ้ามิได้มีคำอธิบายโดยพิสดารแล้วผู้ศึกษาจะมีความเข้าใจได้อย่างไร)
สรุปแล้วก็คือ รูป ก็ได้แก่ธรรมชาติที่ผันแปรแตกดับด้วยความเย็นหรือความร้อนนั่นเอง

สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าพื้นแผ่นดิน ภูเขา ต้นไม้ โต๊ะ เก้าอี้ ร่างกาย ของคนหรือสัตว์เดรัจฉาน ตลอดไปจนถึงรูปที่มองเห็นไม่ได้ด้วยสายตา ล้วนแต่อยู่ในฐานะเดียวกันอย่างหนึ่งก็คือ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนต้องแตกดับหรือผันแปรเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ

ที่ว่ารูปแตกดับหรือผันแปรไปด้วยความเย็นหรือความร้อนนั้น หมายถึงรูปทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไปจากรูปเดิม คือเปลี่ยนเป็นรูปใหม่เสมอไป แม้บางรูปจะเห็นมันเปลี่ยนแปลงไปต่อหน้าไม่ได้เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยๆ ก็จริง แต่มันก็จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

เพราะว่ารูปทั้งหลายถูกประชุมกันขึ้นมาจากรูปอันเป็นหน่วยเล็กๆ ที่เราเรียกกันว่า ปรมาณู และปรมาณูนั้นจะต้องมีความร้อน(เย็นคือร้อนน้อย) และความร้อนนี่เองที่ทำให้ปรมาณูมิได้อยู่นิ่งๆ ได้แม้แต่สักวินาทีหนึ่ง ดังนั้น รูปจึงได้ชื่อว่า แตกดับหรือผันแปรเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ

ในทางวิทยาศาสตร์ พลังงาน(energy) คือความสามารถที่จะทำงานได้ ในสมัยก่อนเราเรียนกันว่า พลังงานนั้นมิได้เป็นสสาร เพราะว่าพลังงานชั่งไม่ได้ ตวงไม่ได้ ไม่ต้องการที่อยู่ เช่น แสง เสียง ไฟฟ้า เป็นต้น

ปัจจุบันเราได้พบความจริงใหม่ เพราะแท้จริงนั้นมวล(mass) และพลังงานเป็นสิ่งเดียวกัน

Albert Einstein เป็นผู้ค้นพบในเรื่องมวลและพลังงานในการค้นพบครั้งนี้ถือกันว่า เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกทีเดียว ท่าน Einstein ได้แสดงว่า มวล ก็คือพลังงานที่ยึดกันอยู่เฉยๆ อย่างมั่นคง และในทางตรงกันข้าม พลังงานทั้งหลาย เช่นความร้อน ความเคลื่อนไหว ไฟฟ้าเหล่านี้ ซึ่งก็คือมวลนั่นเอง แต่เป็นมวลที่อยู่ในลักษณะที่สลายตัวแล้วเปรียบเหมือนน้ำแข็ง น้ำแข็งก็คือ น้ำที่หดตัวจนแข็ง และเมื่อละลายออกไป นั่นก็คือน้ำแข็งที่ละลายแล้วนั่นเอง

พลังงานที่ยึดเอาอนุภาคต่างๆ (โปรตอน, นิวตรอน) ให้รวมอยู่ด้วยกันได้ในตัวของปรมาณูนั้น มีพลังงานมากมาย ทั้งนี้ก็ได้จากการพิสูจน์ เมื่อปรมาณูแตกตัว (Fission) เช่นตัวอย่าง พลังงานที่ออกมาจากระเบิดปรมาณู เป็นต้น

ทฤษฎีปรมาณูในทางวิทยาศาสตร์นั้นน่าอัศจรรย์ เพราะว่าพลังงานจากมวลสลายตัวเพียง ๑ กรัมเท่านั้น จะเท่ากับพลังงานที่โรงไฟฟ้าธรรมดาขนาดกลางทำงานเต็มที่ได้ถึง ๒๐๐ ชั่วโมง

ทฤษฎีของ Einstein ดังกล่าวมาแล้ว ได้รับการพิสูจน์ได้รับการยืนยันจากบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วๆไป แต่ไม่มีใครได้คาดคิดว่าสูตรอันวิเศษของเขานี้ จะได้รับการพิสูจน์จริงๆ ให้ปรากฏแก่สายตาโลกในลักษณะของระเบิดปรมาณู ที่อเมริกันทิ้งลงในญี่ปุ่นเมื่อหลายสิบปีต่อจากนั้นมา

พลังงานของปรมาณูนั้นน่าพิศวงยิ่งนัก จึงอยู่ในความสนใจเป็นอันมากของบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย จากสูตรของ Einstein ทำให้สามารถคำนวณได้ว่าพลังงานที่อยู่ในตัวของปรมาณูเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็นมันนั้น มีกำลังอำนาจมหาศาลเพราะจากมวลหนักเพียง ๑ กรัม ถ้าเปลี่ยนมวล ๑ กรัมนี้เป็นพลังงาน ก็จะได้พลังงานถึง ๒๕ ล้านกิโลวัตต์
ความน่าอัศจรรย์ที่ยิ่งกว่าคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แสดงเรื่องปรมาณูมานานกว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว แต่ ๒๕๐๐ ปีแห่งความหลัง ซึ่งเราคิดกันว่าเป็นเวลายาวนานมากอย่างเหลือเกินนั่นก็คือ ได้เปิดช่องโอกาสล่วงหน้าให้อย่างกว้างขวางและยาวนานที่สุดแก่บรรดาชาวโลกทั้งหลายที่จะได้ค้นคว้าหาความจริงจากธรรมชาติเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปรมาณู แต่ในที่สุดก็มาลงในหลักการเดียวกันที่ว่ามวล(mass) และพลังงาน(energy) เป็นอันเดียวกัน โดยได้รับการพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลกเมื่อไม่นานมานี้เอง

แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนมานานกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ว่ามวลพลังงานนั้นเป็นอันเดียวกันโดยใช้คำว่า "เป็นรูป" เช่นแสงสว่างที่วิทยาการทางโลกทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นพลังงาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็น "รูป" เป็นต้น

นอกจากนั้นยังแสดงโดยพิสดารด้วยว่า แสงสว่างนั้นคืออะไร เกิดขึ้นมาจากอะไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีความเป็นไปประการใดบ้าง เป็นต้น

นั่นก็คืออำนาจของสัพพัญญูแท้ๆ ซึ่งคนที่มิได้ศึกษาพระพุทธศาสนาโดยละเอียด เข้าใจผิดคิดว่ารูปก็คือร่างกายและข้าวของต่างๆ เท่านั้น แล้วยังคิดเลยเถิดไปอีกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไปสู่ป่าแล้วไปนั่งคิด นั่งค้น เหมือนๆ กันกับนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายลูบคลำวิชาการของตนอยู่บนโต๊ะ

สภาวะลักษณะของรูปทั้ง ๒๘ นั้น เป็นเรื่องกว้างขวางจะต้องเป็นหนังสือเล่มหนาๆ เล่มหนึ่ง

ดังนั้น ผมจึงขอยกรูปทั้ง ๒๘ ขึ้นมาเพื่อให้ท่านได้พิจารณาทั้งหมด แต่จะแสดงเพิ่มเติมเล็กน้อยสำหรับบางรูปที่เห็นว่าเป็นการสมควรจะให้ท่านได้ทราบเอาไว้

มหาภูตรูป ๔ หมายถึงรูปที่ปรากฏชัดเจนเป็นประธานของรูปทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปของสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตามได้แก่ ปถวี อาโป เตโช วาโย คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม

ปถวีธาตุ คือธาตุดิน เมื่อเอาแต่ละหน่วยมารวมกันจนเป็นแท่งเป็นก้อน แล้วกระทบถูกร่างกาย ก็มีความแข็งและอ่อนเป็นลักษณะ และเป็นแม่ธาตุเพราะเป็นที่ตั้งอาศัยของธาตุอื่นๆ

อาโป ได้แก่ ธาตุน้ำ ไม่ใช่น้ำที่ดื่มหรือที่ซักผ้า ธาตุน้ำเป็นสุขุมรูป ละเอียดกว่าปรมาณูที่ได้กล่าวมาแล้วมากมองเห็นไม่ได้ สัมผัสไม่ได้ ชั่ง ตวง หรือวัดก็ไม่ได้ทั้งนั้น เป็นตัวยึดโยงธาตุดินมิให้กระจัดกระจายออกไปจากกัน(รูปอื่นๆ ที่เหลือของดไม่บรรยาย)

ปสาทรูป ๕ หมายถึงรูปอันเป็นที่ตั้งของจิต ก่อให้เกิดอารมณ์ทางปัญจทวาร ในที่นี้มิได้หมายถึงประสาทที่แพทย์อธิบายบางทีก็ดึงออกมาได้ หากแต่หมายถึงอำนาจของกรรมเป็นผู้ผลิตสร้าง นั่นก็คือเปลี่ยนแปลงจากรูปหนึ่งแล้วมาเป็นอีกรูปหนึ่ง จนรูปมีความสามารถรับสัมผัสคลื่นแสง คลื่นเสียง กลิ่น รส และเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ได้

ผู้ศึกษาจะทราบว่า ปสาทะทั้ง ๕ นี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ตั้งอยู่ที่ไหน และมันทำงานกันอย่างไร เช่น รูปารมณ์ อันได้แก่คลื่นแสง และสัททารมณ์อันได้แก่คลื่นเสียงนั้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เข้ากระทบกับปสาทะโดยตรงไม่ได้เพราะเป็นอสัมปัตตคาหกะรูปอย่างไร (เช่นเสียงจะต้องกระทบเยื่อหู-กระทบกระดูกรูปฆ้อนและต่อๆ ไปเป็นต้น) ในขณะที่กำลังเกิดอารมณ์เหล่านี้อยู่นั้น ทั้งรูป ทั้งจิต(นาม) มันทำงานกันอย่างไร

โคจรรูป ๔ หรือวิสัยรูป ๗ หมายถึงรูปที่เป็นอารมณ์ของจิต อันได้แก่การศึกษาถึงรูปารมณ์=คลื่นแสง สัททารมณ์=คลื่นเสียง คันธารมณ์=กลิ่น รสารมณ์=รส โผฏฐัพพารมณ์=ดิน ไฟ ลม ที่มากระทบกาย เพราะธาติน้ำเป็นสุขุมรูป ละเอียดมาก เป็นตัวยึดโยงธาตุดิน (ปรมัตถอาโป) กระทบกายไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ที่เราพูดกันว่าเราดื่มน้ำ ก็คือเราดื่มธาตุดิน เพราะกระทบน้ำแล้วรู้สึกอ่อน

ภาวรูป ๒ เมื่อเราตั้งคำถามว่า ความเป็นผู้หญิงผู้ชาย คำที่เราชอบพูดกันอยู่เสมอๆ นั้นอยู่ที่ตรงไหน คนส่วนใหญ่ก็ชี้ไปที่อวัยวะเพศ แต่ความจริงจะยึดเอามาเป็นหลักการนั้นไม่ได้ เพราะในพระพุทธศาสนาแสดงถึงคนเป็นกะเทยแบต่างๆ คนมีอวัยวะเพศทั้งสองเพศ คนมีอวัยวะเพศขาดตกบกพร่องและบางคนไม่มีอวัยวะเพสเลย มีแต่ช่องสำหรับถ่ายปัสสาวะเท่านั้น แล้วการชี้ลงไปที่อวัยวะเพศจะตัดสินว่าเป็นหญิงหรือเป็นชายได้อย่างไรกัน

ในพระอภิธรรมปิฎก แสดงเรื่องหญิงและชายเอาไว้ให้สังเกตหลายข้อ แล้วก็ไม่ได้ดูที่อวัยวะเพศอย่างเดียว เพราะเป็นผู้ใหญ่จะไปดูอวัยวะเพศของเขาได้อย่างไร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของรูปปรมาณูโดยพิสดาร แสดงเรื่องปรมาณูที่ถูกอำนาจของกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิเป็นจุดเล็กๆ ในครรภ์ของมารดา ด้วยเหตุนี้ รูปที่เป็นหญิงและรูปที่เป็นชายจึงอยู่ทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายนอกหรือภายใน

หนังสือเล่มนี้มิได้เป็นหนังสือเพื่อการศึกษาโดยตรง ดังนั้นผมไม่อาจที่จะขยายความให้ละเอียดได้ เพราะมีเรื่องมากมาย และบางเรื่องขัดแย้งกับความเห็นของแพทย์บางท่านด้วย เช่น นายแพทย์ว่าเพศหญิงหรือชายเกิดขึ้นภายหลังเมื่อเด็กโตขึ้นมาแล้ว (ในครรภ์) แต่ในพระพุทธศาสนา ความเป็นหญิงหรือเป็นชายเริ่มตั้งแต่ กลละ คือขณะแรกเกิดขึ้น เป็นต้น

อิตถีภาวรูป หมายถึง รูปปรมาณูทั่วร่างกายทั้งภายนอกและภายในที่แสดงความเป็นเพศหญิง ปุริสภาวรูป หมายถึง รูปปรมาณูทั่วร่างกายทั้งภายนอกและภายในที่แสดงความเป็นเพศชาย

หทยรูป ๑ เป็นรูปอันเป็นที่ตั้งอาศัยของจิตใจ เป็นรูปปรมาณูที่ไม่อาจจะเห็นหรือสัมผัสได้ ซึ่งก็มีการแสดงอันยิ่งใหญ่ให้ผู้ศึกษาได้มองเห็นสติปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้ศึกษาจะบังเกิดความโสมนัสยิ่งขึ้นเมื่อได้ศึกษาเรื่องการทำงานของจิต ณ หทยวัตถุนี้

ชีวิตรูป ๑ เป็นรูปอันเกิดจากอำนาจของกรรม เป็นตัวควบคุมยึดโยงให้รูปอันเกิดจากอำนาจกรรมทั้งหลายไม่ให้กระจัดกระจายหลุดออกไปจากกัน ไม่ว่ากรรมชรูปนั้นจะเป็นบาปหรือเป็นบุญก็ตาม ถ้าชีวิตรูปไม่มีก็เหมือนกับบ้านไม่มีน๊อต ไม่มีตะปู ไม่มีสลักไม้ บ้านก็คงพังทลายลงมา บ้านก็คงเป็นบ้านไม่ได้

อาหารชรูป ๑ มิได้เป็นตัวอาหารที่เรากินเข้าไปโดยตรง หากแต่เป็น โอชะ ในอาหารนั้น เพราะเมื่อปาจกเตโช ตัวการย่อยอาหารได้ย่อยแล้ว ก็จะมีตัวหนึ่งที่สามารถทำให้รูปอันเกิดจากอำนาจของกรรมเป็นต้นตั้งอยู่และเจริญไปได้ และรูปที่ว่านี้เองเมื่อมันเข้าไปทำความเจริญให้ดังกล่าวแล้ว เรียกว่า อาหารชรูป

ปริจเฉทรูป ๑ ได้กล่าวมาแล้วว่า รูปที่เห็นทั้งหลายไม่ว่าคนหรือสัตว์อะไรก็มาจากหน่วยเล็กๆ ที่มองเห็นไม่ได้ และในทางธรรมะเรียกว่า "ปรมาณู" แต่ปรมาณูทั้งหลายหาได้หยุดอยู่นิ่งๆ ไม่ แล้วมันมิได้อยู่ติดกันเพราะมีช่องว่างคั่นอยู่ทั่วไป ช่องว่างดังกล่าวเหล่านี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า "ปริจเฉทรูป" อันเป็นช่องว่างระหว่างประมาณู

วิญญัติรูป ๒ ได้แก่พฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย มีการเคลื่อนไหวกาย เรียกว่ากายวิญญัติรูป พฤติกรรมที่แสดงออกทางวาจา เช่น การพูดเรียกว่าวจีวิญญัติรูป

วิการรูป ๓ เป็นรูปที่แสดงอาการพิเศษ มี ๓ รูป คือ ลหุตา=เบา มุทุตา=อ่อน และกัมมัญญตา=รูปที่พอดี

ถ้าจะถามผู้ที่ศึกษาวิชาการในทางโลกทางวิทยาศาสตร์ว่า "ยืน เดิน นั่ง นอน ก้ม เงย" ได้อย่างไร ก็จะมีคำตอบที่ไม่ประกอบด้วยเหตุผล หรือจะให้เข้าถึงเหตุผลข้อเท็จจริงไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะทางโลกทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีความเข้าใจในเรื่องจิต เจตสิก ไม่เข้าใจเรื่องกรรม ไม่เข้าใจเรื่องรูปอันเกิดจากกรรม เช่นที่ผมได้กล่าวถึง กรรมชรูป จิตตชรูป และอาหารชรูป

ผู้ที่ใช้เด็กออกไปใส่บาตร แล้วอธิบายให้เด็กฟังว่า ใส่บาตรได้บุญอย่างไรให้เด็กมีความเข้าใจจะได้มีความยินดี เด็กที่เดินออกไปใส่บาตรก็จะเดินไปด้วยกิริยาอาการที่นิ่มนวล ซึ่งจะแตกต่างกับเด็กอีกคนหนึ่งที่ถูกดุด่าว่ากล่าวแล้วเดินออกไป ย่อมจะเดินไปด้วยท่าทางที่แข็งกระด้าง ในขณะนั้น ร่างกายและจิตใจมันทำงานกันอย่างไร ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมจะตอบไม่ได้เลยเป็นอันขาด แต่ในพระอภิธรรมปิฎกแสดงเอาไว้อย่างละเอียดลออ เหตุที่ทำให้เดินได้อย่างย่อมี ๖ ประการ และมีอำนาจกรรม อำนาจจิต อำนาจอุตุ และอำนาจของอาหารเข้าร่วมกันอย่างไรบ้างโดยพิสดาร

ลักษณะรูป ๔ ได้แก่ รูปที่มีกาลเวลาเป็นเครื่องกำหนดวินิจฉัยได้มีอยู่ ๔ คือรูปที่เป็นเหตุแห่งการกำหนดวินิจฉัย สังขตธรรมนั้นย่อมได้แก่รูปที่แสดงกาลเวลา บอกอาการปรุงแต่งของสังขตธรรมนั้นมี ๔ อย่าง คือ อุปัจจยะ สันตติ ชรตา และอนิจจตา

อุปจยรูป ได้แก่รูปที่เกิดขึ้นมาจากกรรมชรูปในครั้งแรก
สันตติรูป รูปที่ถูกเปลี่ยนแปลงสืบต่อๆไป
ชรตารูป ได้แก่รูปที่เสื่อมโทรม
อนิจจตารูป ได้แก่รูปที่แตกสลาย คือเปลี่ยนสภาพไป

อำนาจกรรม

เมื่อผู้ใดตกทุกข์ได้ยากแสนสาหัส เมื่อผู้ใดมีความสุขความสบายอย่างล้นเหลือ เมื่อผู้ใดได้รับเคราะห์กรรมอย่างร้ายแรงขึ้นมาในปัจจุบัน เมื่อผู้ใดมีลาภผลขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ และเมื่อผู้ใดรับเคราะห์ร้ายอย่างมหันต์ในทันที ก็มักจะมีผู้พูดกันโดยทั่วไปว่า กรรม ของเขาไม่ดีจึงได้รับเคราะห์ร้ายหนัก และกรรมของเขาดีจึงมีโชคลาภมหาศาล

มีผู้พูดเรื่องของกรรมกันอยู่ทั่วไปในประเทศไทย แต่มีผู้ที่จะเข้าใจเรื่องของกรรมได้ดีจริงๆ นั้นมีน้อย ทั้งนี้ก็เพราะไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระอภิธรรมปิฎก ด้วยเหตุดังนี้เอง จึงมีมากท่านเหมือนกันที่กล่าวมา คนทำชั่วทำไมจึงได้ดี แต่คนทำดีเหตุใดจึงได้รับผลร้าย

เคยมีผู้ถามผมว่า ถ้ากรรมที่ได้กระทำไปให้ผลได้จริงๆ แล้ว ทำไมมันจึงไม่ลงโทษผู้กระทำชั่วให้ชักดิ้นชักงอ ลงไปได้ต่อหน้า ท่านผู้พูดอยากจะให้เห็นผลทันตา แล้วคนที่ชอบประพฤติตัวชั่วช้าจะได้ไม่กล้ากระทำชั่ว เมื่อผลของกรรมไม่ปรากฏเห็นทันตา ฉะนั้น จึงกระทำอะไรๆ ก็ได้ทุกอย่าง ขอให้ได้ผลตามที่ต้องการก็แล้วกันโดยระวังมือของกฎหมาย และมิให้ใครได้รู้ได้เห็นเท่านั้น

ท่านเพียรพยายามที่จะให้เด็กเล็กๆ อ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ ซึ่งเป็นเหตุ แล้วจะให้บังเกิดผลทันใจ คืออ่านหนังสือออกได้ภายในวันเดียว

ท่านเพียรพยายามที่จะทำเหตุ คือปลูกต้นมะม่วงวันนี้ แล้วจะให้มันออกผลในวันพรุ่งนี้ โดยไม่ต้องคอยเป็นปีจะได้หรือแม้จะรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยวันละร้อยครั้งก็ตาม

เรื่องกรรมนั้นมีขั้นตอนการให้ผล และเป็นไปด้วยอำนาจของเหตุผลที่ละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะมิได้อยู่ในอำนาจของเหตุผลที่ละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะมิได้อยู่ในอำนาจดลบันดาลของผู้ใด ผู้ศึกษามีความเข้าใจแล้วก็จะหายสงสัย แล้วจะมีความสุขกาย สุขใจเพิ่มขึ้น เพราะทราบดีว่าเมื่อกระทำกรรมลงไปแล้วมันจะต้องให้ผลอย่างแน่นอนโดยขอเวลาให้มันเท่านั้น

เรื่องของกรรมนั้นเป็นเรื่องใหญ่ในพระพุทธศาสนา แต่แม้จะยิ่งใหญ่หรือจะลึกซึ้งประการใด พระสัมมาสัมพพุทธเจ้า ก็สามารถที่จะแสดงได้ และมีบทพิสูจน์อยู่ทั่วไปทั้งในภาคทฤษฎี และในภาคปฏิบัติ


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มิได้เกรงผู้ใดที่จะเข้ามาค้นคว้าศึกษาหาความจริงแล้วไม่พบความจริง แต่พระองค์ก็เกรงอยู่บุคคลหนึ่งเหมือนกัน คือผู้ที่ช่างพูดช่างเจรจา แต่ไม่ยอมศึกษาหาความรู้จริงจัง แม้ในครั้งพุทธกาล พระองค์ตรัสว่า พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ ก็ยังมีบุคคลแลบลิ้นให้ เพราะไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงไปได้อย่างไร แน่นอนทีเดียว พระอภิธรรมปิฎกนั้น ผู้ไม่ตั้งใจศึกษาหรือมิได้วางตำราทางโลกเอาไว้ก่อนเฝ้าแต่คิด เฝ้าแต่คัดค้าน ทั้งๆ ที่ยังศึกษาไปได้ไม่ถึงไหนแล้วจะให้เข้าใจถึงความลึกซึ้งได้อย่างไร

ธรรมชาติของจิตนั้น ย่อมเห็น ย่อมได้ยิน ย่อมสั่งสมบาปและบุญต่างๆ เอาไว้ แต่บาปและบุญที่เก็บสะสมเอาไว้เหล่านั้น เมื่อได้โอกาส ได้เหตุ ได้ปัจจัยมันก็แสดงออกมาได้ และแสดงออกมาอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่ศึกษาและพิจารณาด้วยดีก็จะพิสูจน์ได้

คำว่า "กรรม" ได้แก่การกระทำ หรือพฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย ทางวาจา และทางใจ หรือการกระทำคือ เห็น, ได้ยิน, ได้กลิ่น, ได้ลิ้มรส, ได้สัมผัสทางกาย และได้คิดนึก

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ซึ่งแปลว่า ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนา ก็คือกรรม


เจตนา ก็ได้แก่เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตตามอารมณ์ต่างๆ โดยมากก็แปลความตั้งใจ หรือความจงใจ

เจตนานั้นเกิดกับจิตทุกประเภท แต่จิตที่เกิดขึ้นมาทุกประเภทหาได้เป็นกรรมไปทั้งหมดไม่ คือจิตที่เป็นบาปได้แก่โลภมูล ๘ โทสมูล ๒ โมหมูล ๒ จิตที่เป็นบุญได้แก่มหากุศลจิต ๘ มีการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา จิตที่ทำสมาธิโดยเพ่งรูปได้ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ขึ้นไปถึงฌานที่ ๕ และจิตที่ทำสมาธิโดยไม่เพ่งรูป แต่เพ่งความว่าง เช่นเพ่งอากาศเป็นอารมณ์เป็นต้น อีก ๔ รวมเป็น ๒๙ ประเภท

เจตนาเกิดในจิตทุกประเภท แต่เจตนาในจิตทั้ง ๒๙ นี่เองที่ได้ชื่อว่า เป็นกรรม คือการกระทำ ที่เหลือนอกนั้นก็เป็นจิตที่เกิดขึ้นมาเป็นผลของกรรมบ้าง เป็นกิริยาบ้าง เป็นจิตที่ปราศจากกิเลส คือจิตของพระอรหันต์บ้าง

รายละเอียดเรื่องของกรรมทั้ง ๒๙ นั้นเป็นเรื่องใหญ่ ต้องศึกษากันนาน จะอธิบายโดยใช้หนังสือเล่มนี้คงจะไม่ได้

เมื่อกรรมคือการกระทำ หรือเจตนา ได้เกิดขึ้นมา หรือจะพูดง่ายๆ ว่า อารมณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาก็จะเก็บสะสมเอาไว้ในจิตใจ เมื่อได้โอกาสเมื่อใด อำนาจของกรรมที่เก็บเอาไว้นั้นก็ย่อมจะแสดงออกมาได้เสมอ ขอให้มีกำลังอำนาจและมีเวลาเพียงพอเท่านั้น

เมื่อเราเหวี่ยงก้อนเดินขึ้นไปบนอาหาศ ก้อนดินก็จะลอยสูงขึ้นไปตามแต่กำลังอำนาจคือแรงเหวี่ยงของเรามากหรือน้อย ถ้าแรงเหวี่ยงมากก้อนดินก็ลอยขึ้นไปสูง ถ้าแรงเหวี่ยงน้อยก้อนดินก็ลอยขึ้นไปไม่สูง

ขอได้โปรดพิจารณาว่า ในขณะที่เราเหวี่ยงก้อนดินขึ้นไปบนอากาศนั้น เป็นตอนที่เราออกแรง แต่เมื่อดินหลุดจากมือของเราไปแล้ว เหตุไฉนก้อนดินจึงได้ลอยขึ้นและลอยขึ้นไปอยู่อีกเรื่อยๆ ไปเล่า ทั้งๆ ที่เราปล่อยก้อนดินให้หลุดออกจากมือไปแล้ว เมื่อมันลอยขึ้นไปจนถึงที่สุดจนหมดแรงเหวี่ยงแล้วมันจึงตกลงมา

แน่นอนทีเดียว มันจะต้องมีแรงที่เราเหวี่ยงในครั้งแรกช่วยผลักดันให้มันลอยขึ้นไปได้ แม้ความดึงดูดของโลกก็ยังยับยั้งมันไม่ไหว แต่ถ้าหมดแรงดันส่งเมื่อใดมันจึงจะตกลงมาได้เมื่อนั้น

แต่เรามองเห็นแรงที่ส่งมันขึ้นไปหรือ เรามองไม่เห็นแรงที่ส่งก้อนดินขึ้นไปเลยแม้แต่น้อย ถึงกระนั้นเราก็ตัดสินใจได้ว่า แรงส่งครั้งแรกเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดอำนาจจะผลักดันกันต่อไปจนถึงที่สุด ตามอำนาจกำลังแรงของมือที่เหวี่ยง ดังนั้น การดูหมิ่นอะไร ๆ ที่เรามองไม่เห็นตัวเป็นการสมควรหรือ

ท่านสาธุชนที่เคารพ แล้วความรักเล่า มันมีตัวมีตนหรือ ความรักรูปร่างหน้าตามันเป็นอย่างไร เราก็อธิบายไม่ได้ แต่ความรักมันก็มีอำนาจมากอย่างเหลือเกิน มันสามารถทำให้โลกหวั่นไหวสั่นคลอนได้ และแม้จะทำให้โลกทลายลงไปเป็นพัทธุลีก็ตาม

ถ้าชายหนุ่มไปผูกสมัครรักใคร่หญิงสาวสวยจริงๆ แล้ว อำนาจของความรักที่มองไม่เห็นตัวนั้น มันก็จะแสดงบทบาทของมันทันที มันจะบังคับเจ้าหนุ่มให้เดินผ่านหน้าบ้านหญิงสาวที่ตนรักบ่อยๆ มันจะบังคับให้ตามไปโรงเรียน ตามไปที่ทำงานและพยายามสร้างคำหวานหรือสรรค์หาหนทางที่จะทำให้พูดคุยกับคนที่ตนรักให้ได้ ถ้าไปถึงบ้านคนที่แสนรักได้ก็ต้องไป แม้ตะพดอันใหญ่ๆ ของพ่อตาในอนาคตก็ไม่มีความหวั่นไหว ถ้ามีเจ้าหนุ่มหน้าใหม่เข้ามาขวาง ดีไม่ดี ก็อาจจะฆ่ากันตายก็ได้

ความรักที่มองไม่เห็นตัว แต่มีอำนาจมากนี้ ได้ฝังมั่นอยู่ในจิตใจ แล้วอำนาจของความรัก มันจึงบงการหรือชี้นิ้วให้กระทำและให้กระทำทุกอย่างตามที่มันปรารถนา คนโบราณเขาจึงได้กล่าวว่า แม้ขอบฟ้ามาป้องป่าไม้มาบัง ก็ยังจะฟันฝ่าไป

แต่ละคนเมื่อเติบโตขึ้นมาก็มีความรัก "เงิน" เป็นชีวิตจิตใจ ทุ่มโถมตัวเองลงไปทุกๆ ทางที่จะหาเงินมาใช้จ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อย่างชนิดที่พูดกันว่า ยอมเป็นยอมตาย

เมื่อแต่ละคนต่างก็มีความปรารถนาเหมือนๆ กัน จึงยื้อแย่งแข่งดีและช่วงชิงผลประโยชน์กันอย่างหนักหน่วงรุนแรง ทั้งโดยทางตรง ทางอ้อม ทางซื่อ หรือทางคด กล้าที่จะทำได้ทั้งนั้น จึงก่อให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนกันไปทั้งประเทศ และบางทีก็ทั้งโลก เมื่อสงครามเศรษฐกิจเกิดกำเริบมากขึ้นจนระงับยับยั้งไม่ไหว สงครามมหาประลัย สงครามล้างโลกก็จะติดตามมา

ในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงว่า ความโลภ ได้แก่ความยินดีติดใจในอารมณ์ต่างๆ ทั้ง ๖ ทวาร ความรักดังที่ได้ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างนี้ก็เป็นความโลภ ในที่บางแห่งก็ใช้คำว่า ตัณหา แต่องค์ธรรมก็ได้แก่โลภเจตสิก

พระองค์ได้เน้นหนักในเรื่องของโลภะ ตัณหา นี้มาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ เพราะเป็นตัวการก่อให้เกิดความวุ่นวายสารพัดอย่างเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดจนถึงสงครามมหาประลัย ที่จะทำให้โลกทลายเป็นตัวก่อทุกข์โทษภัยอย่างร้ายแรงให้แก่ชีวิตทุกๆ ชีวิต สุดที่จะพรรณนาได้

นอกจากนี้แล้ว มันจะเป็นตัวการก่อให้เกิดภพชาติหน้าและชาติหน้าเรื่อยๆ ไป มันเป็นตัวการทำให้เราต้องแก้ปัญหาไม่รู้จักจบสิ้นลงได้ชาติแล้วชาติเล่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้แสดงว่า มันเป็นต้นเหตุของทุกข์ เป็นตัวสมุทัยเป็นสมุทยสัจจะ ความจริงที่สำคัญประการหนึ่งคือความทุกข์

เท่าที่ผมได้แสดงมาเล็กๆ น้อยๆ ก็เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายได้มองเห็นอำนาจของกรรม อำนาจของเจตนาที่เกิดขึ้นมาวันละนับไม่ไหว ว่าเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็จะประทับสั่งสมเอาไว้ในจิตใจ แล้วกรรมที่ได้เก็บเอาไว้เหล่านั้นก็แสดงตัวออกมาได้เพราะมันมีอำนาจอย่างไร


การที่เราทราบว่าเป็นสีแดงได้ ก็เพราะยกเอาของเก่าที่ฝังประทับอยู่ในจิตใจเอามาเปรียบเทียบเพื่อการตัดสินใจ การที่เราจำหน้าสามี ภรรยา บุตร ธิดา และจำบ้านที่อาศัยของตนเองได้ก็เพราะได้เก็บเอาสิ่งเหล่านั้นไว้ในจิตใจ แล้วเอาออกมาเปรียบเทียบตัดสิน และการที่เราสอบไล่ได้ ก็เพราะเราเอาวิชาเก่าๆ ที่เราเก็บเอาไว้ในใจออกมาตอบ แม้แต่ตัว ก.ไก่ ข.ไข่ เป็นอย่างไรเราก็เคยเก็บเอาไว้ตั้งแต่ยังเด็กๆ แล้วเอาออกมาใช้บ่อยๆ

ถ้าดังนี้แล้ว ยังจะมีท่านผู้ใดอีกหรือ ที่เชื่อถืออย่างมั่นคงว่ากรรมที่ได้ทำลงไปแล้ว คือทั้งบุญและบาปเก็บเอาไว้ในจิตใจไม่ได้ แล้วแสดงออกมาไม่ได้ด้วย บางคนพูดล้อๆ ว่ากรรมมองไม่เห็นตัวทำแล้วก็แล้วกันไป บางคนก็ว่า กำมือ แบมือ

ถ้าเขาไม่เชื่อเรื่องกรรมที่ทำไปแล้วเก็บเอาไว้ และให้ผลได้ก็ขอให้เขาลองยกตัวอย่างขึ้นมาสักอารมณ์หนึ่งจะได้ไหม เพราะจิตเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสทางกาย และจิตที่คิดนึกจะเกิดขึ้นมาได้นั้น จะต้องมีอดีตกรรมร่วมด้วยเสมอไป

เมื่อเกิดอารมณ์ขึ้นแล้ว ก็จะต้องมีเวทนาเจตสิก คือรู้ทุกข์ สุข หรือไม่ทุกข์ ไม่สุข จะไม่มีเวทนาเลยจะได้หรือไม่ แล้วเวทนาเจตสิกนั้นมาจากไหน


เมื่อรับอารมณ์แล้วจะต้องเก็บอารมณ์เอาไว้เสมอไป เราจึงจำอะไรๆ ได้ ถ้ารับอารมณ์แล้วจำได้เช่นนี้ ไม่มีสัญญาเจตสิกแล้วจะจำได้อย่างไร แล้วสัญญาคืออะไร อธิบายได้ไหม

และเมื่อรับอารมณ์แล้วก็จะต้องเกิดยินดีติดใจอันเป็นโลภะ ไม่ชอบใจก็เป็นโทสะ และเฉยๆ ก็จะเป็นโมหะ อันเป็นฝ่ายอกุศล หรือจิตจะเป็นฝ่ายกุศลก็ได้ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ความโลภ โกรธ หลง และไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เล่านี้มาจากไหน พ่อแม่เคยสอนตั้งแต่อยู่ในท้องหรือจึงแสดงออกมาได้ ถ้ามันไม่ได้ติดตามมาตั้งแต่อดีตชาติ แล้วมันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ตั้งแต่ยังเด็กเล็กๆ ก็ชอบดนตรี ชอบช่างเขียน ช่างปั้น ชอบร้องรำทำเพลง ชอบการแสดงละเม็งละคร ตลอดจนสัญชาตญาณต่างๆ มีรู้จักรัก รู้จักโกรธ รู้จักหลบหลีกภัย ถ้าไม่ใช่ความสันทัดจัดเจนที่เคยสั่งสมอบรมมาแต่ในชาติอดีตแล้ว มันจะเกิดขึ้นมาเองได้อย่างไร ผู้ใดเล่าเป็นคนสั่งสอน พ่อแม่สั่งสอนลูกในท้องได้หรือ หากจะแก้ว่าถ่ายทอดตามสายเลือด สายเลือดมันก็เป็นรูปเป็นสสารจะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดได้อย่างไร

การหมิ่นประมาท คนโบราณว่าเพ้อฝันในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และผีสางเทวดานั้นก็เป็นการหมิ่นประมาทความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

เพราะพระองค์ได้แสดงเอาไว้ในทั้ง ๓ ปิฎก และไม่ใช่ ๑๐๐ หรือ ๒๐๐ เรื่อง และถ้าท่านผู้นี้เป็นพระในพระพุทธศาสนาก็จะเป็นพระในพุทธศาสนาไม่ได้

พระบางท่านพยายามอธิบายว่า เปรตก็คือพวกมนุษย์ที่อดๆ อยากๆ แล้วประพฤติไม่ดี และเทวดาก็ได้แก่พวกมนุษย์ที่ดี มีศีลธรรม เปรตและเทวดาจริงๆ ไม่มี พูดดังนี้ก็เพราะศึกษาเรื่องลึกซึ้งเข้าไปไม่ไหวนั่นเอง จึงตัดสินเอาง่ายๆ


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า มีธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่งที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่อย่างลึกลับ ไม่มีผู้ใดมองเห็นได้นอกจากผู้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณทั้งหลายเท่านั้น ธรรมชาตินี้มันสงบนิ่งเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย ถ้ามิได้มีเหตุปัจจัย คืออารมณ์มากระทบแล้วมันจะเกิดขึ้นมาเองหาได้ไม่

ธรรมชาติที่ว่านั้นเกิดขึ้นมาจากการกระทำ หรือการแสดงออกของสัตว์ทั้งหลายอันเกิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วก็ฝังจมอยู่ยังก้นบึ้งของจิตใจ เมื่อมีเหตุอันสมควรจึงจะเกิดขึ้นมาได้ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า "อนุสัย"

อำนาจของกรรม นำผลให้บังเกิดขึ้นให้เห็น ได้ยิน ที่ดีๆ หรือไม่ดี เป็นสุข เป็นทุกข์ ร่ำรวย ยากจน อายุยืน อายุสั้น รูปสวย ขี้ริ้ว ขี้เหร่ ก็ได้ทุกอย่าง ผู้ศึกษามีความเข้าใจก็จะหายสงสัยได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ดี ผมก็ต้องขอเน้นความสำคัญของกรรมที่ทำแล้วในอดีตแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นให้ผลไม่ได้ และกรรมในปัจจุบันอย่างเดียวก็เกิดขึ้นไม่ได้เหมือนกันด้วยเหตุดังนี้เอง เมื่อเราแก้กรรมในอดีตไม่ได้ เราก็ต้องทำกรรมในปัจจุบันให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้เพราะว่าถ้าได้รับกรรมที่ดีก็จะได้ผลดีมากขึ้น แต่ถ้าได้รับผลร้ายก็จะได้ไม่ร้ายแรงจนเกินไป

อำนาจของกรรมเป็นตัวการที่จะทำให้รูปเกิดขึ้นมาได้และรูปที่เกิดขึ้นมาจากรรมนั้นมี ๑๘ ประเภท เรียกว่า กรรมชรูป

โปรดติดตามตอนต่อไป



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ข้อความล้วน|อุปกรณ์พกพา|ประวัติการแบน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-11-22 00:18 , Processed in 0.089773 second(s), 21 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.9

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้