สำหรับการอยู่จำพรรษานี้ เป็นพุทธบัญญัติที่พระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม คือ ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ ในระหว่างฤดูฝน เป็นเวลา 3 เดือน ยกเว้นมีกิจจำเป็นจริงๆ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ประทานอนุญาตให้ไปค้างแรมที่อื่นได้ คราวละไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ถือว่าอาบัติ เรียกว่าเป็นเหตุพิเศษ หรือ “สัตตาหกรณียกิจ” ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ
โดยจะต้องไปเพื่อยับยั้งเพื่อนสหธรรมิก เช่น ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรีที่อยากสึก ไม่ให้สึกได้ หรือไปเพื่อพยาบาลบิดามารดา หรือเพื่อนสหธรรมิกที่ป่วยได้ ไปเพื่อกิจของสงฆ์เช่น หาอุปกรณ์มาซ่อมวิหารที่ชำรุดได้ และไปเพื่อฉลองศรัทธาที่เขามานิมนต์ไปร่วมบำเพ็ญบุญได้
เหตุที่พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาในฤดูฝนนี้ สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันเมืองราชคฤห์ พอถึงฤดูฝนพระภิกษุส่วนใหญ่ มักจะอยู่ประจำที่เช่นเดียวกับนักบวชนอกพุทธศาสนา ในขณะนั้นแต่ปรากฎว่า ในครั้งนั้นมีพระภิกษุกลุ่มฉัพพัคคีย์ และบริวารราว 1,500 รูป เที่ยวจาริกไปที่ต่างๆ ด้วยว่าตอนต้นพุทธกาลไม่มีพุทธบัญญัติ ให้พระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นเหตุให้ชาวบ้าน พากันติเตียนถึงการจาริกของกลุ่มพระภิกษุดังกล่าว เนื่องจากไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนา และพืชผลเสียหาย เมื่อรู้ไปถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ สอบถามข้อเท็จจริง แล้วทรงกำหนดเป็นพุทธบัญญัติ ให้พระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นเวลา 3 ดือนในช่วงฤดูฝน
|