สังฆานุสสติ ๙ ประการ
สุปฏิปนฺโน หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ฟังพระโอวาทานุสาสนีของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยเคารพ มีการปฏิบัติดีคือตั้งอยู่ในมรรค ปฏิบัติชอบคือตั้งอยู่ในผล ปฏิบัติสมควรแก่พระนิพพาน ปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรม
อุชุปฏิปันโน หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติตรง ละเสียซึ่งลามกปฏิบัติทั้ง ๒ คือ อัตตกิลมภานุโยคและกามสุขัลลิกานุโยค ปฏิบัติโดยมัชฌิมปฏิบัติ คือพระอัษฏางคิกมรรค ละเสียซึ่งความคดอันประกอบในกายแลวาจาจิต
ญายปฏิปันโน หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทางเป็นไปเพื่อได้ให้สำเร็จพระนิพพาน
สามีจิปฏิปันโน หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติสมควรสามีกรรม คือ เป็นผู้น่านับถือ สมควรได้รับความเคารพ เพราะมีการปฏิบัติชอบอย่างยิ่ง
อาหุเนยโย หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่สิ่งของคำนับ(อาหุนะ) คือ ควรได้รับสิ่งของที่เขานำมาถวาย เพราะทำอาหุนะนั้นให้มีผลมาก ด้วยท่านมีคุณสมบัติ ๔ ประการดังกล่าวข้างต้นนั้น
ปาหุเนยโย หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เพราะแขกผู้ทรงคุณดังเช่นพระสงฆ์นั้นมิใช่จะหาได้ง่าย เพราะหนึ่งพุทธันดรจึงจะได้พบสักครั้ง และท่านเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมทั้งหลายที่ทำความที่เป็นที่รักที่ชอบใจจึงชื่อว่า ปาหุเนยยะ ผู้ปฏิบัติงามเช่นนี้เมื่อที่ใดก็ย่อมเป็นผู้สมควรแก่การต้อนรับ
ทักขิเณยโย หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา พระสงฆ์ผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวย่อมอยู่ในฐานะที่ควรแก่การรับทักษิณาทานที่เขาถวาย ควรแก่สิ่งของทำบุญ คือเพราะเกื้อกูลทักษิณานั้นให้มีผลมาก เพราะผู้ถวายทานแก่ท่านย่อมได้รับประโยชน์ตามที่ปรารถนา
อัญชลีกรณีโย หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ควรแก่การทำ อัญชลี คือ พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงนั้นย่อมมีคุณความดีอยู่ในฐานะที่ควร แสดงความเคารพด้วยการกราบไหว้ ทั้งเป็นการช่วยให้ผู้ไหว้เจริญด้วยพรทั้ง ๔ ประการ
อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเนื้อนาบุญของโลก คือ พระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ ทักษิณาที่บริจาคแก่พระสงฆ์ ย่อมมีอานิสงส์มาก บุญทั้งหลายอันเป็นเครื่องบันดาลประโยชน์เกื้อกูล และความสุขนานาประการของชาวโลกจึงได้งอกขึ้นเพราะได้กระทำกับพระสงฆ์นั้น
|