ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 1329|ตอบกลับ: 6

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้อย่างไร

[คัดลอกลิงก์]

29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917





ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้อย่างไร
ธรรมะบรรยายโดย หลวงพ่อเสือ.

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า “ตนนั่นแลเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครเล่าจะมาเป็นที่พึ่งได้” ดังพระบาลีที่ว่า อตฺตา หิ อตฺตาโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา

ถาม แล้วตนอยู่ที่ไหน? แล้วเราจะพึ่งตนได้อย่างไร?

ตอบ ก็ให้คิดถึงสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตอนเสด็จออกบรรพชา เงินทองสักเฟื้องหนึ่งก็ไม่ได้มีติดพระองค์ไป ทรงอดทนต่อความลำบากยากเข็ญนานาประการ ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงแน่พระทัยแล้วว่า ถ้าขืนจมอยู่ในกองสมบัติอย่างโลกๆ แม้จะเป็นจักรพรรดิ์สมบัติก็ยังต้องดักดานอยู่ในตะรางวัฏฏะอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่เพราะพระองค์เป็นผู้ที่สร้างบารมีได้เต็มเปี่ยมแล้ว จึงสามารถดิ้นรนออกจากบ่วงมารโดยไม่กลัว และไม่กลับมาเผชิญกับวัฏฏะอีกต่อไป คือไปแล้วก็ไปพ้นเลย

แต่เราท่านทั้งหลายยังมีปัญหาอีกมากมาย เรามักจะเปล่งวาจาว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรม สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระสงฆ์ เป็นธรรมเนียมจนชิน แต่คำว่า “ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ” ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรมเป็นที่พึ่งนั้น ถามว่า พระธรรมคืออะไร พระธรรมอยู่ที่ไหน ?

ตอบ ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกาตอนต้นที่ว่าด้วยเรื่อง “ธรรมรัตนะ” ท่านขยายความไว้ว่าพระธรรมมีคุณ ๑๐ อย่างที่จะพึ่งได้ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และปริยัติธรรม ๑ ถ้าหากเราจะมาวิเคราะห์กับตัวเองแล้ว มรรค ๔ เราก็ยังไม่ได้ (โสดาปัตติมรรคเป็นต้นไป) ผล ๔ ก็ไม่ได้แน่นอน เพราะมรรคจิตต้องเกิดก่อนผลจิตเสมอ ส่วนพระนิพพานก็หมดสิทธิ์ ก็เหลืออยู่อย่างเดียวคือ “ปริยัติธรรม” คือการเรียนพระบาลีพร้อมทั้งอรรถกถาและพุทธาธิบายเท่านั้นเอง และการร้องขอถึงมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ เราต้องสร้างเหตุจึงจะถึงได้

เรานั้นเกิดมาก็มีทุกข์ทันที คือ มีทุกข์ประจำ ๓ คือ เกิด แก่ ตาย และทุกข์จรอีก ๘ รวมเป็นทุกข์ ๑๑ อย่างที่เป็นของคู่กับชีวิตและมีมาแต่อดีตชาติ เมื่อมาถึงปัจจุบันชาติก็สืบสาวทุกข์ต่อไป แต่พระนิพพานเป็นธรรมที่บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสโดยสิ้นเชิง มีอยู่จริง แต่เราไม่เคยทำ


29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-8 19:19:31 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ความเข้าใจในปริยัติศาสนาจะสามารถนำมาปฏิบัติให้ถูกต้องได้ที่ตนเอง ก็มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ แต่ก็ไม่ค่อยจะมีใครมาสนใจเท่าไหร่ คนที่เรียนปริยัติไม่เข้าใจ เวลาใครมาชักจูงหรือมาพูดเอาของถูกใจมาล่อ ก็จะเปลี่ยนนิสัยไปง่ายๆ ทิฎฐิวิบัติไปง่ายๆ คนมีชื่อเสียงบางท่านถึงกับยอมลงทุนไปช่วยงานตรงกันข้ามกับพระพุทธศาสนาอย่างชนิดเอาชีวิตเข้าแลกก็มีเช่น เมื่อไปขึ้นศาล ก็ไปขึ้นศาลกับเขาด้วย ไปไหนไปด้วย ก็เลยจัดเป็นลูกทรพีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเยอะแยะ ทั้งๆ ที่ตัวเองปวารณาเป็นพุทธมามกะ แต่ทำชีวิตเกะกะ ไปรับสังคมนิยม และศาสนนิยมเข้ามามีบทบาทมากมาย

บางครั้งเห็นแล้วอนาถใจ บางคนบาลียังไม่กระดิกหูเลยก็ยังอุตส่าห์แปลอังกฤษเป็นไทย ไทยเป็นอังกฤษ แต่ผิดหลักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่า “ทำตนเองให้ดีพร้อม แล้วค่อยแผ่ความพร้อมไปสู่ผู้อื่น” หนังสือนั้นคือครูใบ้ เมื่อไม่ซึ้งในคำสอนหรือการปฏิบัติไม่มีน้ำหนักก็ถ่ายทอดไปผิดๆ บางคนก็เอาพระธรรมไปขายกิน จบเปรียญธรรมต่างๆ แล้วลาสิกขาบทไปสมัครทำงานทางโลกเอาความรู้ไปรับจ้างแปลหนังสือ บางคนก็นำรูปพระพุทธเจ้าไปขายเป็นเครื่องรางของขลังหาเงินมาเลี้ยงชีพ ฉะนั้น ขอเตือนว่าแขวนพระธรรมดีที่สุด

คนโง่เขลาเบาปัญญาไม่รู้จึงหลงไปเคารพนับถือวัตถุ ซึ่งพระพุทธคุณนั้นมีอยู่ แต่ให้ความใส่ใจในวัตถุมากกว่า อันนี้ก็เป็นสาเหตุทำให้ศาสนาจึงอยู่ไม่ได้ส่วนหนึ่ง ตนเองก็ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร

ส่วนปัญหาที่ว่า “พระธรรมอยู่ที่ไหน” ถ้าตอบว่า พระธรรมอยู่ในตู้ก็เป็นความเข้าใจของชาวบ้าน ของสัตว์โลก เพราะอย่างไรเขาก็ไม่ค่อยสนใจต่อการเรียน แต่เราแต่ละคนเป็นนักศึกษาหาปัญญา ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจนเป็นครูบาอาจารย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีความรู้สึกแบบชาวบ้าน บางคนเป็นครูสอนธรรมะเก่งกาจสามารถ แต่ยังมีความคิดเหมือนชาวบ้าน ซึ่งน่าอายมาก

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีปัญญาสูงส่ง พระองค์ทรงใช้ปัญญาค้นหาสัจธรรมความจริงที่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ได้ทรงค้นพบมาแล้ว ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระชนมชีพนั้น พวกตำรับตำรา เช่นสังคหบาลีนั้นไม่มีเหมือนในสมัยนี้ เมื่อพระองค์ทรงสอนแล้วจำกันเอาไปทำ เมื่อทำแล้วถ้าติดขัดก็จะกลับมาทูลถาม ในสมัยนั้นเมื่อได้ฟังแล้วก็เอาไปทำก่อน ฉะนั้น คนที่เกิดร่วมสมัยกับพระองค์จึงต้องมีสติ มีสมาธิ มีความใส่ใจ แต่คนเดี๋ยวนี้นั่งฟังไปก็คุยไปหาวไป บางคนเอาเทปมาอัด พอถึงบ้านก็เอาเทปธรรมะเก็บใส่ตู้แล้วเปิดเพลงฟัง ทำอย่างนี้แล้วจะได้อะไร เมื่อเบี้ยวต่อทางความจริง ว่าซัก ๑๐๐ ชาติก็ว่าไม่หมดหรอก

29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-8 19:19:54 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ส่วนบางพวกก็ประกาศว่ารักพระพุทธศาสนามาก รักจับใจเลย สวดมนต์ท่องบ่นทุกวัน กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา... แต่เมื่อเห็นสาวๆ เดินผ่านมาก็แซวบอกรัก อยู่ดีๆ ก็ไอเลิฟยู นี่มันเป็นอย่างนี้ ปากว่าตาขยิบ สารพัดสารเพ โลกมันเละฟอนเฟะกันหมด ต่อเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงประกาศสัจธรรมต่างๆ ออกมาเป็นหลักในการดำรงชีวิตบ้าง อะไรบ้าง ทรงประกาศพระสัจธรรมแก่มวลชนจำนวนมาก ผู้ที่มีวาสนาบารมีจึงสามารถรู้ตามพระองค์ไปได้

ก็มีปัญหาอีกว่า พระองค์ทรงตรัสรู้สัจธรรมความจริง มีผู้รู้ตามมาก ปัญหาก็คือเมื่อเป็นเช่นนี้ “สัจธรรมอยู่ที่ไหน” เราท่านทั้งหลายฟังจนชินหูว่า สัจธรรมคือ ทุกข์ สมุทัยคือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นิโรธคือธรรมที่ดับทุกข์ มรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมที่ดับทุกข์ ถ้าเป็นเช่นนั้นทุกข์กับเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นอยู่ตรงไหน ถ้า ๒ ข้อข้างต้นยังไม่รู้ ไม่ต้องไปพูดถึง ๒ ข้อท้ายหรอก เพราะ ๒ ข้อข้างต้นไม่รู้ ๒ ข้อท้ายก็ทำไม่ได้

ฉะนั้น จึงต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ความจริง ต้องหมั่นคิดพิจารณาในชีวิตของเราเอง “ที่จริงทุกข์ก็อยู่ที่รูปร่างกายและจิตใจของเราเอง” ที่ได้อาศัยคิดนึกอยู่ทุกวันนี้ ชีวิตคือร่างกายและจิตใจเป็นตัวทุกข์ แต่แทบทุกคนไม่เคยสังเกตว่ามันเป็นทุกข์หรือไม่ ไม่เคยสังเกตกันเลย เพราะทุกคนโดยส่วนใหญ่ ไม่มีใครนึกถึงตัวเอง พอรุ่งขึ้นวันใหม่ต่างคนต่างนึกถึงสิ่งอื่นคนอื่นทั้งสิ้น เช่น วันนี้นายจะมาเร็วไหม ลูกจะไปติวแล้ว ครูสอนดีไหม กลางวันจะกินอะไร ไปนึกถึงเรื่องอื่นหมดเลย ไม่เคยนึกถึงตัวเอง

ยามตื่นนอนตอนเช้าก็ไม่เคยมีสติระลึกรู้ว่าตัวเองตื่น ทั้งนี้เพราะต้องการทำให้คนอื่นหรือสิ่งอื่นมาบำรุงความสุขให้ตนเอง ด้วยความต้องการให้สมความปรารถนา เพราะอะไร เพราะมีความเห็นว่า ถ้าจะมีความสุขได้ต้องอาศัยสิ่งนั้น คนนั้น จึงต่างดิ้นรนขวนขวายเพื่อสิ่งอื่นและคนอื่น ให้สิ่งเหล่านั้นบันดาลความสุขให้ตนเอง เช่น มีการประจบประแจง ตื่นแต่เช้าไปนั่งเฝ้าคอยปรนนิบัติ เพื่อให้เขารักเรา ให้สินบนเรา วิ่งไปหาเพื่อนำสุขมาให้ตัวเรา โดยหารู้ไม่ว่าตัวเองนั่นแหละกำลังเป็นทุกข์ เมื่อตัวเองเป็นทุกข์ ขณะนั้นตัวเองเป็นสัจธรรมที่พระสอน เพราะสัจธรรมสอนเรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ถาม พระสัจธรรมอยู่ที่ไหน

ตอบ อยู่ที่ตัวเอง

ถ้าไม่มีตัว แล้วทุกข์จะมาจากไหน ใครเคยเห็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตร้องว่าทุกข์ ปวด แน่น เมื่อยบ้าง ก็ไม่มี ฉะนั้น แต่ละวันที่เราทำอะไรลงไป โดยไม่รู้ว่าตัวเองทำ ขณะนั้นเป็นทุกข์ และตัวเป็นทุกข์ในขณะนั้นจึงเป็นสัจธรรมที่พระสอน เช่น ขณะเมื่อยตรงนั้นคือสัจธรรม ขณะปวดตรงนั้นคือสัจธรรม ขณะง่วงตรงนั้นคือสัจธรรม ทุกขณะนั่นแหละที่ทุกข์มาเบียดเบียนตรงนั้นคือสัจธรรม จึงบอกว่าถ้าไม่มีตัวตนแล้ว จะเอาทุกข์มาจากไหน

29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-8 19:20:22 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ถาม ทำไมรักตัวรักยาก ทำไมวัฏจักรของชีวิตจึงเป็นเช่นนี้

ตอบ เพราะว่าไม่ได้พิจารณาตัว ไม่รู้จักตัวว่าเป็นอะไร จริงแท้ในตัวมันเป็นอะไร ตามที่เข้าใจว่าตัวเรามีความสุข จึงไม่เห็นทุกข์ ทุกข์ก็แอบแฝงอยู่ นั่งนานๆ ก็ทุกข์ ต้องยืดตัวนิดหนึ่งทำให้สบายแล้วนี่ล่ะเราไม่เคยไปสังเกตตัว จึงเข้าใจว่าตัวเองมีสุขเป็นสุข

ถาม ถูกไหม

ตอบ ไม่ถูก ฉะนั้น ถ้าเรายอมรับเองอย่างนี้ว่าเราคิดผิดแล้ว สิ่งที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นของไม่ดี ไม่เป็นสุข เปรียบเหมือนเรากินข้าวบูด ก็ไม่เป็นสุข ถ้ามีสุขจริงแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงทำไม เช่น นั่งเป็นสุข เดินเป็นสุข นอนเป็นสุข กินข้าวกับน้ำพริกเป็นสุข แล้วลองอยู่ในอิริยาบถเดียวไม่ต้องเปลี่ยน หรือกินอย่างที่ชอบอย่างเดียวไม่ต้องเปลี่ยน ก็ไม่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนเป็นปลาทูบ้าง ชะอมบ้าง เปลี่ยนอยู่นั่นแหละ เพราะมีเบื่อและไม่สุขจริง แต่เพราะเราไม่เข้าใจตัวเอง ไม่รู้จักตัวเอง จึงเข้าข้างตัวเองตลอดเวลา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย แต่เราท่านทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดก็ไม่สนใจ แต่กลับไปสนใจคนอื่น ใครเก่ง ใครดี ใครดัง และมีการโหวตคะแนนกัน        เมื่อไม่เคยรู้จักตัวเอง และคิดไปว่าตัวเองสุขสบายจะไม่อยากจะจากตัวไป เช่น ไม่อยากดำ ไม่อยากมีสิวฝ้า อยากสวย เป็นต้น ก็อุปาทานว่าดี เราไม่อยากปราศจากตัวเองไป ยอมร่วมหัวจมท้ายจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้นกับกิเลสตัณหา จนกระทั่งผ่านพ้นวัยมาจนถึงวัยสุดท้าย

วัยของเรานี้ก็ไม่ใช่วัยบุกเบิกหรือวัยตั้งตัวแล้ว แต่เป็นวัยสุดท้ายที่ควรจะเตรียมตัวเดินทางต่อไปในชาติหน้าแล้ว และพระธรรมอยู่ไม่ห่างไกลเราด้วย เราเรียนแต่ธรรมะข้างนอก เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้นสิ่งนี้ เช่น เปรียญธรรมประโยคต่างๆ เพื่อให้ได้มาโดยมีความต้องการเป็นตัวผลักดัน แต่การเรียนธรรมะข้างในตัวเรานี้ไม่ค่อยมีใครสนใจ จึงต้องมืดมองไม่เห็นตัวเอง และมองตัวเองไม่ออก เพราะมัวแต่มองข้างนอก ฉะนั้น มีอย่างเดียวเท่านั้นที่จะมองข้างในคือ วิปัสสนากรรมฐาน

เมื่อไปมองข้างนอกแล้วจึงพึ่งตนเองไม่ได้ และคำว่า ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรมเป็นที่พึ่งนั้น คำนี้ก็เป็นหมันไปไม่ถึงหรอก แม้ว่าจะเปล่งวาจาว่า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ไปตลอดชีวิตก็ไม่มีทางได้        ดังนั้น อตฺตาหิ อตฺตาโน นาโถ แปลว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั้นก็คือการกลับมาศึกษาเอาปัญญามาค้นหาในตัวเอง กลกรรมเป็นอย่างไร กลไกของชีวิตเกิดเพราะอะไร แล้วเราก็เลือกวางใจให้กับกลกรรมคือวิบาก แล้วใช้กลไกชีวิตคือการสร้างเหตุให้ดี พึ่งธรรมะนั่นเอง พึ่งการทำดี หนีการทำชั่ว

29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-8 19:20:50 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ถ้ามองชีวิตตัวเองไม่ได้ มองชีวิตตัวเองไม่ออก มองชีวิตตัวเองไม่ถูก ก็ไม่สามารถถึงซึ่งธัมมัง สรณัง คัจฉามิได้ และชีวิตของเราไม่ได้มองกันด้วยสัญญาความทรงจำ และไม่ได้มองด้วยปัญญาที่เกิดจากการฟังและคิดเท่านั้นนะ แต่เราต้องมองกันด้วยวิปัสสนาปัญญา

หากว่าวิปัสสนาปัญญาไม่เกิด ก็ไม่สามารถจะมีโอกาสรู้จักตัวเองได้ เหมือนว่าตราบใดที่ความรู้ทางลิ้นยังไม่รู้รสเกลือว่าเค็มด้วยตัวเอง ก็คาดเดาเอาเท่านั้นเอง แต่เมื่อใดเราเอาเกลือมาชิม ก็ไม่ต้องอธิบายอีกต่อไปแล้ว รู้ชัดเลย จะรู้ด้วยตัวเอง ถ้าจำเป็นต้องคิดว่าเกลือมีรสเค็มขนาดไหน ไม่มีทางคิดออก และความคิดก็ตัดความสงสัยไม่ได้อยู่ตราบนั้น        ฉะนั้น บุคคลใดยังไม่เกิดปัญญาบารมี แล้วบอกว่าเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ไม่จริง แต่นับว่าเขาเป็นผู้ที่มีแต่ศรัทธาน้อมใจจะเชื่อเท่านั้น บุคคลที่เชื่ออย่างมั่นคงไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ต้องเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป

เพราะอะไร เพราะพระอภิธรรมหรือความจริงในสัจธรรมนั้นไม่มีผู้สนใจเรียนด้วยความบริสุทธิ์ใจ เมื่อพระเณรและครูบาอาจารย์ไม่ได้ให้ความบริสุทธิ์ใจสนใจอย่างจริงๆ จังๆ แล้วจะมีใครล่ะจะอาจเอื้อมไปพูดเรื่องวิปัสสนาธุระได้ เมื่อพูดเรื่องวิปัสสนาธุระ ก็โอ๊ยไม่ต้องหรอกเป็นเรื่องของพระ ต้องไปที่สำนักวิปัสสนาอ้อมน้อย สำนักวิวัฏฏะที่หัวหิน แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ได้อยู่ที่โน้นเลย อยู่ที่นี่...ที่ปัจจุบัน

คนทุกวันนี้พากันแสวงหาความสุข จึงดิ้นรนขวนขวายไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไปไหนล่ะ ไปเที่ยวตามวัดวาอารามที่บ้านนอก เพื่อปรับปรุงบรรยากาศที่จำเจ อยู่บ้านกินข้าวโต๊ะเดิมๆ เบื่อ ต้องชวนกันไปกินที่ห้องอาหารภัตตาคารดังๆ เพราะเบื่อความจำเจ ในวัดก็เหมือนกัน อยู่กุฏิเดิมๆ เบื่อ ก็ไปนอนที่อเมริกาบ้าง เยอรมันบ้าง พูดไทยเบื่อแล้ว ก็ไป Speak English...The Buddha said อยู่นั่นแหละ แต่ภาษาบาลี ภาษาไทยไม่สนใจ

และเคยคิดไหมว่า สิ่งที่ตนเองทำนั้นจะเป็นไปตามที่ตนเองคาดคิด เพราะพระก็สอนไว้แล้วว่า รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกายที่เป็นฝ่ายที่ดีถูกใจ ก็เป็นรูปธรรมที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นของธรรมดา เพราะผู้แสวงหาเข้าใจผิดคิดว่าเป็นสุขนั่นเอง เป็นความเข้าใจผิดที่เป็นปัจจัยให้เกิดความวิปลาส ความโง่ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เมื่อเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นสุขจริง แล้วเรามาเปลี่ยนแปลงแก้ไขอยู่ทำไม ต้องหมั่นพยายามคิด เพราะเรายังไม่เกิดวิปัสสนาปัญญาที่จะล่วงรู้ไปถึงความจริงนี้แล้ว จึงยังไม่ยอมรับและปฏิบัติตามปฏิปทาที่สมเด็จพระชินสีห์ตรัส ผลสุดท้ายก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากพระพุทธศาสนาเลย

29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-8 19:21:16 | ดูโพสต์ทั้งหมด
การเกิดเป็นมนุษย์นี้ยากที่สุดแล้วนะ แล้วมีโอกาสเกิดภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนานี้ยากยิ่งกว่า และมีโอกาสเกิดเป็นคนไทย นับว่ามี ๓ ร่มคุ้มครองอยู่ มีทั้งร่มเงา คือเงาพระพุทธศาสนา ร่มฉัตรคือชาติ เป็นฉัตรชัยคุ้มครองอยู่ ร่มเกล้าก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้น โอกาสอย่างนี้ไม่ได้มีได้ง่ายๆ เราจะมั่นใจหรือว่าชาติหน้าจะได้เกิดเป็นชาวพุทธ ก็ไม่แน่ใจ อาจจะเกิดในเมืองพุทธ แต่ไม่รู้พุทธก็ได้ เพราะเกิดเป็นนกกางเขนบินอยู่ไปมา

ฉะนั้น ขณะที่รู้ๆ อยู่นี้ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ทีเดียว ใครไม่รู้ก็ช่าง ฉันคนหนึ่งล่ะจะไม่โง่อีกต่อไป หมั่นเตือนตนเอง หากเกิดมาชาติหนึ่งแล้วไม่ได้อะไรจากพระพุทธศาสนาก็เปรียบเหมือนคนที่ตัวเปื้อนสิ่งโสโครกแล้วกระหายน้ำ แต่พอมาเจอน้ำก็ดูน้ำไม่ออก กลับเห็นเป็นทะเลทราย เหมือนกับเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารฉะนั้น

ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีเปรตหิวน้ำ แล้วไม่สามารถใช้น้ำอาบน้ำดื่มได้ ซึ่งไม่ต่างกันเลยกับชาวพุทธที่ปล่อยให้พระธรรมหลุดมือไป ฉะนั้น พวกเราโชคดีนักหนา อย่าไปหวังเลยว่าสักวันหนึ่งขอถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ แต่พระธรรมเป็นยิ่งกว่ารางวัลที่ ๑ หลายครั้ง ชีวิตชาติหนึ่งใน ๓๑ ภูมิ ขณะนี้ใครบ้างที่กำลังศึกษาพระอภิธรรมขนาดลึกซึ้งด้วยการมองชีวิตตนเองอยู่ เราเป็น ๑ ในหลาบสิบล้านคนที่อยู่ภายใต้ ๓ ร่ม คุ้มแล้วกับชาติเกิด กำเนิดที่ไม่ชั่วและไม่ปล่อยตัวให้โมฆะด้วยการศึกษาเรื่องราวของตัวเอง

ดังนั้น ชีวิตของเราทุกวันนี้จะมีความสุขได้ก็ต้องมีความสังวรระวัง เพราะอะไร เพราะต้องการสิ่งใดไมได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ จึงต้องเพียรระงับดับความต้องการอยู่บ่อยๆ ด้วยการถามตัวเองว่า จำเป็นไหม มีประโยชน์ไหม เมื่อได้มาแล้วเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ หรือได้มาแล้วเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ เช่น ได้ภรรยาหรือสามี ได้บุตรธิดา ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะว่ามีลาภ ต้องเสื่อมลาภ มียศ ต้องเสื่อมยศ มีสรรเสริญ ก็มีนินทา มีสุข ก็มีทุกข์ ไม่มีใครหรอกที่จะดีกับเราเท่ากับตัวเราเอง

นักปราชญ์ท่านได้แสดงชีวิตไว้ ๒ อย่างคือ ชีวิตที่มีค่าอย่างหนึ่ง กับชีวิตที่ไร้ค่าอย่างหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องคิดว่า ค่าของชีวิตนั้นท่านหมายถึงอะไร

คำว่า “ค่า” แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ คุณค่า และมูลค่า

29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-8 19:22:23 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ชีวิตในทางโลกที่มีการสู่ขอเรียกสินสอดทองหมั้นกันจัดว่ามีมูลค่า หรือชีวิตสัตว์บางพวก ธรรมชาติได้สร้างค่าให้ตั้งแต่เกิด เช่น ช้างมีงาราคาแพง ค่าตัวหลายแสน ม้าก็มีราคาค่างวด หมู เป็ด ไก่ วัว ควาย เป็นต้น สัตว์เหล่านี้ร่างกายของมันมีค่า มีราคาตั้งแต่วันที่เกิดมาแล้ว เนื่องจากสังคมมนุษย์นิยมใช้อวัยวะร่างกายของมันเอาไปกินไปใช้ จึงได้ตั้งมูลค่าตามน้ำหนักเป็นกิโลกรัม และตั้งมูลค่าตามความสวยงาม เช่น หมา แมว

ส่วนชีวิตมนุษย์เรานั้น ถ้าดูตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ไม่เห็นจะมีส่วนใดเลยที่สังคมมนุษย์เอาไปกินเอาไปใช้ ไม่เหมือนกับอวัยวะของสัตว์บางชนิดที่มีราคา แต่ร่างกายมนุษย์เมื่อตายแล้ว เป็นที่รังเกียจน่ากลัว ไม่มีใครสนใจอยากเอาไปกินไปใช้ จะให้รักกันอย่างไร ไม่เลิกกัน แต่พองานศพก็เลิกกันแน่นอน ฉันไม่รักเธอแล้ว ฉันไม่ตามลงไปในโลงด้วยหรอก

ให้ดีกันขนาดไหน ความดีก็มีอวสานแค่ความตายนั่นแหละ ไม่มีใครสนใจ แม้กระทั่งสามีภรรยาที่รักใคร่กัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายไป ก็ยังรังเกียจ จากความรักกลายเป็นความกลัว ไม่มาหาฉันล่ะจะเป็นบุญคุณที่สุด แล้วนับประสาอะไรกับคนอื่นที่ตนไม่รักไม่ใคร่ แต่มนุษย์เราก็ยังมีโอกาสสร้างสรรค์ร่างกายและจิตใจให้เกิดมีคุณค่าได้มากกว่าสัตว์ที่มีราคาทั้งหลาย และสร้างคุณค่าได้อย่างอัศจรรย์ ตัวอย่างก็มีอยู่มากมายเช่น

สมเด็จพระชินสีห์ศากยมุนีพระศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย พระองค์ใช้พระวรกายและพระราชหฤทัย ไม่ว่าจะทรงมีพระชนมชีพอยู่ หรือเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ก็มีคนบูชาสักการะกันเนืองแน่น เพียงรูปเทียบของพระองค์ก็บูชาเป็นชีวิตจิตใจ เช่นพระแก้วมรกต พระพุทธรูปต่างๆ ก็กราบไหว้ แล้วบางคนก็นำไปประเมินเป็นมูลค่าขึ้นมาเช่น เชียงแสน อยุธยา เป็นต้น แต่ชีวิตของพระองค์ไม่อาจประมวลค่าได้ว่ามีมากเท่าใด อย่างเช่นพระแก้วมรกตนั้นมีค่าควรเมือง ถ้ามีคนอุตริตีราคาก็เท่ากับราคาทั้งเมืองไทยนั่นแหละ เป็นไปได้ไหมที่เราจะขายเมืองไทย ก็เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้นชีวิตมนุษย์ก็มีโอกาสสร้างชีวิตให้มีคุณค่ามากมายได้สูงยิ่งกว่าสัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าพวกเราพากันลืมความเป็นมนุษย์แล้ว ขาดสติ ก็จะกลายเป็นคนไร้ค่าหมดราคาทีเดียว เหมือนกับคำกลอนที่ท่านสอนเตือนใจไว้ว่า

หากมนุษย์ไร้ธรรมประจำจิต ดวงชีวิตย่อมจักหมดศักดิ์ศรี
มีค่าไม่เท่าสัตว์ในปฐพี ชีวิตนี้หมดค่าน่าเสียดาย


ฉะนั้น เราต้องศึกษาพระอภิธรรม ต้องประพฤติธรรม และปฏิบัติธรรมกันเถอะ เพื่อชีวิตงามอย่างมีคุณค่า สมค่าที่ได้มีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา






ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ข้อความล้วน|อุปกรณ์พกพา|ประวัติการแบน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-11-1 09:34 , Processed in 0.084261 second(s), 21 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.9

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้