๒. โลกนี้เป็นทุกข์ การพยายามทำให้โลกหรือสิ่งใด ๆ ในโลกนี้เป็นสุขแท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะโลกนี้ทั้งโลกและสรรพสิ่งในธรรมชาติตั้งอยู่บนโครงสร้างแห่งทุกข์) ก็แม้ในอะตอมทุกอะตอมซึ่งเป็นหน่วยอิสระที่เล็กที่สุดของสิ่งทั้งปวงก็มีการบีบคั้น (ทุกข์) กันอยู่ระหว่างอนุภาคที่มีคุณสมบัติตรงข้ามคือประจุบวก(โปรตรอน) และประจุลบ (อิเลคตรอน) เมื่ออะตอมพัฒนามาเป็นโมเลกุล โมเลกุลรวมตัวกันเป็นสสาร รวมตัวกันเป็นวัตถุธาตุ วัตถุธาตุรวมตัวกันเป็นสิ่งมีชีวิตก็ดี ไร้ชีวิตก็ดี หรือแม้ดวงดาวอันยิ่งใหญ่ก็ดี ทั้งหมดนี้ล้วนตั้งอยู่บนโครงสร้างแห่งภาวะทุกข์(ภาวะบีบเค้น) ทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้สิ่งปรากฎอยู่ในโลกจึงเต็มไปด้วยคู่คุณสมบัติตรงข้ามที่มีอำนาจบีบเค้นกันอยู่ เช่น หญิง – ชาย, มืด – สว่าง, ดี – ชั่ว, โง่ – ฉลาด, รวย- จน, แข็งแรง – อ่อนแอ, ร้อน – เย็น, แรงหนีศูนย์กลาง – แรงเข้าศูนย์กลาง, เกิด – ดับ และ ฯลฯ และเพราะแรงกระทำระหว่างคู่ตรงข้ามที่บีบเค้นกันอยู่นี้เอง จึงทำให้สรรพสิ่งในธรรมชาติเปลี่ยนแปรอยู่ตลอดเวลา ใครที่หวังจะทำให้โลกนี้เป็นสุข หรือหาความสุขจากโลกนี้จึงผิดหวังอยู่ร่ำไป
ดังนั้น ปัญญาชนย่อมไม่ปรารถนาหรือคิดหาความสุขใด ๆ ในโลกหรือในธรรมชาติอันตั้งอยู่บนโครงสร้างแห่งทุกข์นี้ ความสุขแท้จริงนั้นมีอยู่ แต่อยู่ในธรรมบริสุทธิ์อันอยู่นอกเหนือธรรมชาติที่อยู่บนโครงสร้างแห่งทุกข์นี้
|