ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 816|ตอบกลับ: 4

อยู่อย่างไรให้ได้บุญ (๒)

[คัดลอกลิงก์]

32

กระทู้

138

ตอบกลับ

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
2405






อยู่อย่างไรให้ได้บุญ (๒)


โดย หลวงพ่อเสือ




ต้องรู้จักว่าบุญคืออะไร จึงจะสามารถอยู่กับบุญได้ เช่นเดียวกันถ้าเราอยากจะพ้นทุกข์ ต้องรู้จักว่าทุกข์คืออะไรจึงจะพ้นได้ เมื่อไม่รู้แล้วก็จะทำไม่ได้ เช่น เราไม่รู้จักเครื่องแกงที่จะปรุงออกมาเป็นแกงส้ม เราก็ไม่สามารถทำแกงส้มได้ ฉันใดฉันนั้น ไม่รู้จักทุกข์ก็ไม่พ้นทุกข์ ไม่รู้จักบุญก็จะไม่สามารถเจริญอยู่ในบุญได้ตลอดไป และจะเป็นผู้ขาดทุนอยู่ตลอดเวลา

บุญคืออะไร? ทุกอย่างย่อมต้องมีลักษณะทั้งสิ้น คนมีลักษณะว่าอย่างไรถึงเรียกว่าคน สุนัขก็ต้องมีลักษณะเป็นเฉพาะเลย บุญก็ต้องมีลักษณะเฉพาะ เปลี่ยนแปลงลักษณะของบุญไม่ได้ บุญคือเครื่องชำระล้างจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์เป็นลักษณะ บุญ แปลว่าการชำระความชั่วในจิตใจ เมื่อเราชำระความชั่วออกจากจิตใจแล้ว ตอนนั้นจิตใจเราก็สะอาด ความชั่วเปรียบเสมือนของไม่ดี น้ำขุ่น เมื่อเราพยายามคัดน้ำขุ่นออกไปแล้ว ก็เหลือความใสขึ้นมา

การกระทำบุญ คือการชำระล้างความชั่ว ความชั่วก็ได้แก่กิเลสต่างๆ คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง เมื่อสามารถชำระล้างความโลภ ความโกรธ ความหลงออกไปได้ ก็จะสามารถทำให้จิตใจผู้นั้นผ่องใสและสะอาดขึ้นมา

การกระทำบุญในหลักของพระพุทธศาสนามีถึง ๑๐ อย่าง และใน ๑๐ อย่างนี้มีอยู่ชนิดเดียวคือทานเท่านั้นที่เสียสตางค์ นอกนั้นอีก ๙ ชนิดไม่ต้องเสียสตางค์ ฉะนั้น เมื่อเราไม่รู้จักคำว่าบุญแล้ว เราจะทิ้งอีก ๙ อย่างไปโดยไม่รู้จักว่ามีค่า เราก็จะเป็นผู้ขาดทุนย่อยยับ

32

กระทู้

138

ตอบกลับ

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-7-9 16:36:34 | ดูโพสต์ทั้งหมด
บุญชนิดที่ ๑ เรียกว่า ทานมัย คือบุญที่สำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน การบริจาคทานหมายถึงการกระทำอะไรให้แก่ผู้อื่น การให้ผู้อื่นจะเป็นให้เงินหรือให้วัตถุสิ่งของก็ได้ทั้งสิ้น ผู้ที่ให้คือการกระทำชำระล้างความชั่วออกไปแล้ว เพราะคนเราเมื่อหยิบให้แล้วตอนนั้นต้องไม่มีความโกรธ คนเราจะไม่ให้อะไรใครด้วยความโกรธหรือให้ด้วยความโลภ เพราะความโลภเปรียบเสมือนดึงกลับเข้ามา แต่การให้เป็นการชักออก ฉะนั้นเมื่อใดสลัดออกไปแล้วคือการให้ ก็ย่อมได้บุญที่ตัวผู้ทำ บุญที่สำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน เป็นบุญที่ผู้ทำกำลังชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ และกำลังทำลายความชั่วในจิตใจออกไปด้วย

บุญชนิดที่ ๒ ศีลมัย หมายถึงบุญที่สำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล ผู้ที่รักษาศีลย่อมได้บุญ เพราะกำลังตั้งกาย วาจาให้ปกติเรียบร้อย เว้นจากทุจริตคือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ สิ่งเหล่านี้เมื่อไม่เกิดขึ้นมา จิตใจก็มีกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ย่อมได้บุญ

บุญชนิดที่ ๓ คือ ภาวนามัย หมายถึงบุญที่สำเร็จได้ด้วยการเจริญภาวนา คืออบรมให้เกิดมีสมาธิมีความตั้งมั่น หรืออบรมชีวิตตัวเองให้มีปัญญา เมื่ออบรมให้ชีวิตมีความตั้งมั่นไม่ซัดส่ายแล้ว นิวรณ์ที่เป็นกิเลสต่างๆก็จะไม่เข้า หรืออบรมฟังธรรมะเพียรเรียนเรื่องปัญญา จิตก็มีปัญญาขึ้นมา จิตมีปัญญาคือจิตมีกุศลนั่นเอง

บุญชนิดที่ ๔ อปจายนมัย หมายถึงบุญที่สำเร็จได้ด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตนให้แก่ผู้ใหญ่ เพราะความอ่อนน้อมนี้ จิตเราเป็นตัวสั่งงาน จิตเรามีความอ่อนน้อม เราจึงอ่อนน้อมออกมา เช่นยกมือไหว้ผู้ใหญ่ จิตใจจะต้องมีความอ่อนน้อม ฉะนั้นการอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นบุญชนิดหนึ่ง ไม่ต้องเสียเงินเลย

บุญชนิดที่ ๕ เวยยาวัจมัย บุญที่สำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบที่ถูกและที่ดี เพราะกิจการที่ถูกคือไม่ทุจริต ในกิจการที่ชอบคือเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขตัวเองและประโยชน์ผู้อื่น ที่ถูกที่ชอบและที่ดีคือไม่เดือดร้อนผู้อื่น ย่อมได้บุญแก่ผู้ทำ

32

กระทู้

138

ตอบกลับ

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-7-9 16:36:52 | ดูโพสต์ทั้งหมด
บุญชนิดที่ ๖ ปัตติทานมัย บุญที่สำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ ทำไมการแผ่เมตตาจิตแล้วตัวเองได้บุญ ก็เพราะใครทำใครได้ การแผ่เมตตาจิต ยกตัวอย่างเมื่อเช้านี้เราตั้งใจพูดว่า “ ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุขๆเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย ขอให้มีน้ำใสสะอาดดื่ม” ในขณะนั้นจิตใจของเรามีแต่การให้ กิเลสก็ไม่เข้า ฉะนั้น ผู้ที่ทำคือผู้ที่ได้

บุญชนิดที่ที่ ๗ อนุโมทนามัย บุญที่สำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ คนที่อนุโมทนาคือมีการแสดงความยินดีในการกระทำดีผู้อื่น เป็นการยินดีและปราศจากความอิจฉาริษยา เพราะตัวอิจฉาริษยานั้นเป็นอกุศล

บุญชนิดที่ ๘ ธัมมัสสวนมัย บุญซึ่งสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม การฟังธรรมนั้นสร้างความรู้ให้ สิ่งที่ทำให้เกิดความรู้ความชำนาญในการส่งเสริมชีวิตไปในทางพ้นทุกข์ย่อมได้บุญ เพราะขณะที่เราฟังอยู่เรามิได้ไปทำชั่ว การนั่งฟังธรรมจึงเป็นการได้บุญอย่างหนึ่ง เพราะตอนนั้นชั่วไม่เข้า กายเราก็ไม่ได้ทุจริต วจีก็ไม่ได้ทุจริต

บุญชนิดที่ ๙ ธัมมเทสนามัย บุญที่สำเร็จได้ด้วยการแสดงธรรม การแสดงธรรมไม่ใช่องค์ปาฐกอย่างเดียว พูดจามีสาระแก่นสาร ไม่เพ้อเจ้อ ไม่ส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ นี่แหละเขาเรียกว่าการแสดงธรรม สนทนาธรรมเพื่อทำลายอธรรมวาทะ คือพูดจาเหลวไหล ผู้นั้นย่อมได้บุญ

บุญชนิดที่ ๑๐ ทิฏฐุชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรงได้บุญ คือ เมื่อผลอันนี้เกิดขึ้น รู้ว่ามาจากเหตุอะไร เช่นเราทำดีอยู่ทุกวันนี้ พยายามให้เงินเขายืม เสร็จแล้วเขาโกงไป การถูกโกงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าเราให้ยืม แต่เพราะอดีตชาติเราเคยโกงเขามา ทำความเห็นให้ถูกกันเสีย จะได้ไม่เกิดอกุศลจิต ฉะนั้น สิ่งที่ได้รับคือวิบาก แต่ที่กำลังกระทำคือกรรม เมื่อเราถูกโกงเราต้องรู้ว่า เออเพราะเราเคยทำมา อันนี้บุญเกิดขึ้นมา เพราะถ้าเผื่อเราไม่คิดว่าเราเคยทำมา เราก็ไปโทษเขา จิตอกุศลก็จะเกิดขึ้น โทสะก็เกิด ตอนนั้นบาปก็เข้า ฉะนั้นการทำความเห็นให้ถูกต้องก็ได้บุญ

32

กระทู้

138

ตอบกลับ

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-7-9 16:37:21 | ดูโพสต์ทั้งหมด
อยู่อย่างไรให้ได้บุญในวัยเด็ก?

เมื่อเป็นเด็กยังไม่มีรายได้ ยังจะต้องขอเงินจากพ่อจากแม่ไปกินขนมไปกินข้าวไปโรงเรียน แล้วทำอย่างไรล่ะจึงจะทำบุญได้? ถ้าเผื่อเราไม่รู้จักบุญถึง ๑๐ ชนิดแล้ว เราก็คิดว่าไม่มีเงินก็ไม่ทำเลย ฉะนั้น ก็คือบุญ ๙ ข้อที่เหลือนั่นเองที่จะต้องเอาไปฝึกทำ เช่น

เคารพอ่อนน้อมถ่อมตน ก็คือบุญ การไหว้ผู้ใหญ่.. เมื่อกลับมาบ้านก็ไหว้ การไหว้พ่อแม่ประเสริฐเป็นมงคลกับชีวิต การช่วยเหลือกิจการงานพ่อแม่ ดูแลอะไรที่เป็นของที่พ่อแม่ต้องใช้ได้สะดวก เช่น หาน้ำให้แม่กิน หาน้ำให้พ่อกิน หาให้ยาย ทำได้ทุกอย่างเมื่อเราเรียนรู้ถึงบุญอีก ๙ ชนิดแล้ว

และมีอยู่อันหนึ่งที่จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในบุญตอนเป็นเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ได้เงินไปโรงเรียนวันละ ๕ บาท ก็ใช้หลักมัธยัสถ์เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดบุญ ได้ ๕ บาท เหลือกลับมาวันละ ๑ สลึง ก็ยังดีกว่าไม่เหลือเลย หยอดใส่กระป๋องออมสินไว้ แล้วไม่ต้องไปทำบุญไกลเลย ทำบุญใกล้ตัวนี่แหละคือการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ โดยให้ตั้งเจตนาไว้เลยว่า การใส่กระปุกออมสินนี้เราจะตอบแทนคุณพ่อแม่ ซึ่งไม่ต้องรอว่าได้เงินเดือนแล้วจะมาเลี้ยงพ่อแม่ แต่เราสามารถเลี้ยงพ่อแม่ได้ตลอด เช่น หนแรกในวันเกิดของพ่อหรือแม่ที่เราตั้งใจให้ แคะกระปุกให้หมดไปซื้อของแล้วก็ให้พ่อแม่ก็ได้ หรือไม่ต้องซื้อของ แต่เอาเงินทั้งหมดที่เก็บนั้นมาบอกว่า “หนูรับจากแม่มาทุกวันแล้ว วันนี้หนูขอให้แม่บ้าง ให้พ่อบ้าง”

ผู้ที่ให้.. เจตนานี้ก็เป็นกุศล ผู้ที่รับเช่นมารดาเมื่อลูกให้นิดหน่อยก็เกิดปิติ ก็แสดงอาการดีใจ เด็กที่เห็นอาการดีใจก็เกิดความยินดี ก็จะเป็นบุญที่เกิดต่อเนื่องสอดคล้องกันด้วย

เมื่อถึงวันเกิดแม่หรือวันเกิดพ่อหรือถึงวันสำคัญของชีวิตเช่นวันเกิดตนเอง แทนที่จะเราจะรอของขวัญจากแม่อีก ก็บอกกับท่านว่า “วันนี้วันเกิดหนูก็เพราะว่าหนูได้อาศัยท้องและความเจ็บปวดของแม่ในวันนี้มา จึงมีชีวิตเจริญเติบโตกระทั่งวันนี้ ฉะนั้น เงินส่วนนี้เป็นเงินที่หนูเก็บสะสมมาขอยกให้แม่” เราให้เป็นเงินได้ ถ้าหากท่านบอกมีแล้ว ก็ให้บอกแม่ให้ทำบุญด้วยเงินอันนี้ก็ได้ นี่คือสิ่งที่ลูกทำได้ทุกคน

วิธีทำให้เกิดบุญอีกประการหนึ่งก็คือไม่เถียงพ่อ ไม่เถียงแม่ ไม่กระด้างกระเดื่องแสดงอาการมารยาทที่ไม่ดีกับบิดาหรือมารดาหรือครูบาอาจารย์หรือผู้ที่ให้ความอุปถัมภ์ค้ำชูเรามา นั่นคือการกระทำชีวิตให้ได้บุญ เพราะว่าชีวิตเราจะเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตน เด็กที่ดีควรจะไม่มีความกระด้างกระเดื่องต่อผู้ใหญ่ และรู้จักกาลเทศะ รู้จักที่ต่ำที่สูง อะไรสมควรคิดทางใจ ควรจะคิดไปในทางส่งเสริมเคารพบูชา ไม่ได้คิดที่จะทำลายและตีเสมอหรือดึงให้ตกต่ำ นั่นคือการทำตัวเองให้ได้ดี

32

กระทู้

138

ตอบกลับ

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-7-9 16:38:24 | ดูโพสต์ทั้งหมด
อยู่อย่างไรให้ได้บุญในวัยผู้ใหญ่?

วัยผู้ใหญ่จะทำอย่างไรให้ได้บุญ คือ ทำตนเองให้สมวัย มีความรับผิดชอบตนเองให้มาก เพื่อจะไม่ให้ผู้อื่นมาต้องรับผิดชอบตัวเอง เช่น มีเงินเดือนแล้วก็รู้จักใช้จ่าย แบ่งสรรปันส่วนให้พอ เมื่อไม่พอแล้วอย่ายืม อย่าพยายามเป็นลูกหนี้ พยายามตัดความเป็นลูกหนี้ออกไป ความไม่เป็นหนี้ทำให้เกิดบุญได้ เพราะความเป็นหนี้จิตใจเป็นอกุศลทันทีตลอดเวลา จึงต้องจัดสรรปันส่วนเงินของตัวเองให้เป็น

๑ แยกออกมาว่าเดือนหนึ่งเราใช้เท่าไหร่ กันไว้ให้พอ
๒ แบ่งไว้อุปการะผู้มีพระคุณ กันไว้
๓ ไว้ใช้จ่ายในยามขัดสน เช่น ป่วย
๔ แยกเอาไว้ทำบุญ

เช่น มีเงินเดือน ๑๐๐๐ บาท คำนวณแล้วต้องใช้ตัวเองเดือนละ ๖๐๐ เหลือ ๔๐๐ ให้มารดา ๒๐๐ ให้ไป พ่อ ๑๐๐ แม่๑๐๐ เหลือ ๒๐๐ เก็บลืมไปเลย ๕๐ บาท ทำบุญเดือนละ ๑๐บาท เหลือ ๑๔๐ เห็นไหมลูก แล้วเราก็สามารถใช้จ่ายให้เป็น

หลักการใช้จ่ายให้เป็นนี้ก็คือ ก่อนซื้ออะไรถามตนเองว่าจำเป็นหรือไม่ จะใช้ได้คุ้มหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือไม่ หมั่นถามตัวเองบ่อยๆ เพราะการไม่มีหนี้สินนี่แหละคือหน้าที่ของผู้ใหญ่ จิตใจก็จะคุ้นอยู่กับบุญ ในวัยผู้ใหญ่นี่ ก็คือ พยายามทำตัวเองให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ แล้วก็หมั่นสำรวจจิตของตนเองว่าการกระทำภายใต้วันวันหนึ่งนี้สมควรแล้วหรือไม่ ถามอยู่บ่อยๆ

อยู่อย่างไรให้ได้บุญในวัยชรา?

นั่นก็คือหมั่นเจริญสติ แล้วก็พูดให้น้อยจะผิดน้อยในวัยชรา

โปรดติดตามตอนต่อไป




ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ข้อความล้วน|อุปกรณ์พกพา|ประวัติการแบน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-12-4 00:26 , Processed in 0.095348 second(s), 21 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.9

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้