มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


เกณฑ์การตัดสินคุณภาพชาวพุทธ




...สถานีวิทยุกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ จัดกิจกรรมทางศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ประจำปี ๒๕๔๖ ณ ห้องประชุม สถานีวิทยุกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ วันอาทิตย์ที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.

ซึ่งอาจารย์บุษกร เมธางกูร หรือพี่ดอกแก้ว ได้ถูกเชิญให้ไปร่วมอภิปรายธรรม ในหัวข้อเรื่อง เกณฑ์ตัดสินคุณภาพชาวพุทธ เวลา ๑๕.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. โดยจะถ่ายทอดเสียงทางสถานีวิทยุดังกล่าวตลอดรายการ

คณะผู้อภิปรายครั้งนี้ตามที่ได้แจ้งรายชื่อให้ทราบแล้วว่า คือ พระราชกวี พระครูปลัดศีลวัฒน์ อาจารย์บุษกร เมธางกูร และ อาจารย์สิงห์ชัย ด่านเสลา โดยมี พ.ท.ประชุม สุขสำราญ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

วันนี้เวลาประมาณ ๑๔.๒๐ น. อาจารย์บุษกรได้เดินทางไปยังหอประชุมดังกล่าวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตามที่ได้รับมอบหมาย

แต่เนื่องจากทางสถานีวิทยุมีเหตุขัดข้อง ไม่สามารถถ่ายทอดเสียงออกอากาศมาประมาณสามวันแล้ว จึงขอความร่วมมือไปทางกรมประชาสัมพันธ์ ..ขอสัญญาณเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ..ในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับการอภิปรายในวันนี้ ทางสถานีจะนำไปออกอากาศในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชาในปีนี้ค่ะ ....

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงอีกเล็กน้อย ..ตรงผู้ร่วมคณะอภิปราย คือ อาจารย์สิงห์ชัยนั้นติดภารกิจกระทันหัน ไม่สามารถมาร่วมงานได้ ..แต่ก็โชคดีที่ยังมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่งที่ติดตามมากับท่านเจ้าคุณพระราชกวี ......คือ ดร.พระมหาจรรยา ได้ให้ความเมตตาขึ้นมาเป็นองค์อภิปรายแทน

ส่วนผู้ดำเนินการอภิปรายก็เปลี่ยนจาก พ.ท.ประชุม สุขสำราญ มาเป็น อาจารย์ประสิทธิ์ บุตรศรี ..ค่ะ ที่เห็นทั้งหมดในภาพนี้ก็คือผู้อภิปรายธรรม เรื่องเกณฑ์ตัดสินคุณภาพชาวพุทธ ในวันนี้



จากซ้ายคือ พระราชกวี ...ดร.พระมหาจรรยา ...พระครูปลัดศีลวัฒน์.... อาจารย์ประสิทธิ์ บุตรศรี และ อาจารย์บุษกร เมธางกูร.

โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 14:19:59 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ
[ 1 ] [ 2 ][ 3 ]


  สลักธรรม 1

ผู้ดำเนินการอภิปราย คือ อาจารย์ประสิทธิ์นั้น ...ค่อนข้างจะจู่โจมผู้อภิปรายเป็นอย่างมาก แบบไม่ให้ตั้งตัวติดกันเลย ...เพราะวินาทีแรกที่เริ่มรายการ ท่านก็กำหนด กฏกติกามารยาทให้แก่ผู้อภิปรายเป็นจำนวน ๘ ข้อ ให้มีเนื้อหาการอภิปรายตามที่กำหนด คือ

๑.ให้ผู้อภิปรายบอกมาเลยว่า เกณฑ์การตัดสินคุณภาพชาวพุทธคืออะไร
๒.คุณภาพของชาวพุทธเป็นอย่างไร
๓.ใครเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ตัดสินนี้
๔.ทำไมจึงต้องกำหนดเกณฑ์ตัดสินไว้
๕.ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนชาวไทยมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่
๖.มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง
๗.จะต้องพัฒนาอย่างไรจึงจะนำไปสู่เกณฑ์มาตรฐานนั้น
๘.ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้น

นี่แหละค่ะที่ท่านผู้ดำเนินการอภิปรายกำหนดขึ้นมาทันทีในขณะนั้น ..เรียกว่าตั้งตัวกันแทบไม่ทันเลยทีเดียว

หลังจากที่แนะนำประวัติของผู้อภิปรายแต่ละท่านแล้ว ...ท่านแรกที่ได้รับโอกาสให้อภิปรายก่อน คือ พระราชกวี ..

โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 14:23:42 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : )


  สลักธรรม 2

พระราชกวีท่านนี้เป็นพระภิกษุทีเปี่ยมไปด้วยภูมิธรรมเป็นอย่างยิ่ง ท่านเปิดประเด็นการอภิปรายด้วยคำพูดที่ชัดเจน สรุปคำตอบให้แก่ประเด็นปัญหาทั้ง ๘ ด้วยกลอน ๑ ชุด กำหนดมาตรฐานชาวพุทธเป็นสิบขั้น ...นับตั้งแต่ในขั้นของคุณธรรมพื้นฐาน ....ไปสู่ ..ทาน ...ศีล ....ศรัทธา .....ภาวนา ...อันปรากฏเป็นปฏิเวธในระดับต่างๆ คือ พระโสดาบัน ..พระสกทาคามี ..พระอนาคามี ..พระอรหันต์ ....พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่านให้ความเห็นว่า ...บุคคลต่างๆตามลำดับเหล่านี้ คือสิ่งที่ชี้วัดคุณภาพของชาวพุทธ ....ยิ่งลำดับท้ายๆ ก็ยิ่งหมายความว่า มีคุณภาพมาก ท่านเน้นไปที่การถึงเกณฑ์มาตรฐานที่หมายถึงศีล โดยเฉพาะศีล ๕ ที่จะเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของแต่ละบุคคล.... ท่านให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า

. .ปัจุบันมีการเผยแผ่เรื่องสิทธิมนุษยชนกันเป็นอย่างมาก ..มีการกำหนดกฎหมายขึ้นมาคุ้มครองสิทธิในด้านต่างๆ ..ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ก่อนแล้วในพระพุทธศาสนานั่นก็คือ สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในแก่ของการละเมิดต่อร่างกาย ..สิทธิในเรื่องสตรีเรื่องคู่ครอง ..สิทธในการทราบข้อมูลข่าวสาร ...สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล ....

...เหล่านี้ก็คือศีล ๕ นั่นเอง เพราะสิทธิในเรื่องของควาปลอดภัยในชีวิตก็คือ ศีลข้อปาณาติบาต ...เรื่องของทรัพย์สินก็คือ ศีลข้ออทินนาทาน ..เป็นต้น

ท่านสรุปไว้ว่า การกำหนดมาตรฐานให้เป็นไปอย่างระบบอุตสาหกรรม เช่น iso ในทางพระพุทธศาสนานั้นจะเรียกว่า Biso ....ได้หรือไม่

นอกจากนี้ท่านก็ยังฝากประเด็นที่น่าสนใจไว้ว่า ..การถึงซึ่งพระรัตนตรัยนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นโดยตรง ....ไม่ใช่เป็นเพียงการสวดมนต์ท่องบ่นอย่างเดียว

โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 14:28:08 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : )


  สลักธรรม 3

เรียกได้ว่าหมวดธรรมอันเป็นคำตอบสำหรับคำถามทั้ง ๘ ข้อที่ผู้ดำเนินการอภิปรายได้ตั้งไว้ตอนแรกนั้น ....พระเดชพระคุณพระราชกวีท่านนำมาตอบเสียจนเกือบหมด ..ทำให้นึกเป็นห่วงท่านผู้อภิปรายท่านหลังๆว่าจะนำอะไรออกมาอภิปรายมิให้ซ้ำได้บ้าง

เพราะคณะผู้อภิปรายชุดนี้ไม่เคยพูดคุยทำความตกลงกันมาก่อนเลยว่า ใครจะพูดอะไรในช่วงไหน.. ยิ่งมาพบกับกฎกติกามารยาทของอาจารย์ประสิทธิ์เข้าด้วยแล้ว ..เรียกว่าถ้าไม่มีความรอบรู้ในความเป็นไปของสังคมไทย และมีภูมิธรรมอ่อนๆละก็ม้วนเสื่อกลับบ้านไปได้เลย ....

...จึงมีความรู้สึกสองประการค่ะหลังจากที่ฟังพระราชกวีอภิปรายในรอบแรกจบลง ..นั่นก็คือ ความชื่นชมในความเปี่ยมไปด้วยภูมิความรู้และภูมิธรรมของท่าน ...สมกับที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ในชั้นสูง และสมกับเป็นพุทธบริษัทที่ควรให้ความเคารพ

..แต่อีกใจหนึ่งก็อยากจะต่อว่าท่านอยู่เหมือนกัน ที่ใช้ข้อมูลเสียหมดเกือบตั้งแต่ครั้งแรก ไม่เห็นใจคนหลังๆบ้างเลย ...โดยเฉพาะอาจารย์บุษกรนั้นได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อภิปรายท่านสุดท้าย ..และก็ปกติก็ทำงานจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนแล้ว ...โอกาสที่จะมาคัดแยกข้อมูลเป็นระบบเพื่อการอภิปรายจึงเกือบไม่มีเอาเสียเลย ....เรียกได้ว่า การฟังอภิปรายครั้งนี้น้องกิ๊ฟนั่งลุ้นอย่างใจจดใจจ่อ ...

ท่านที่สองที่อภิปรายต่อจากพระราชกวีก็คือ ดร.พระมหาจรรยา

ดร.พระมหาจรรยา เป็นพระภิกษุที่เดินทางไปศึกษาและจำพรรษาอยู่ ณ ต่างประเทศ ตั้งนี้เดินทางกลับมาเพื่อทำธุระบางประการ ..ท่านได้ให้ความเห็นว่า ..

โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 14:32:22 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : )


  สลักธรรม 4

ขณะนี้ชาวพุทธมีศรัทธาที่สับสน ไม่มีความรู้ว่าอะไรควรเคารพอะไรควรเชื่อ ..เห็นอะไรเป็นสิ่งแปลกประหลาดก็พากันให้ความเคารพกราบไหว้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ หรือต้นไม้ ...และไสยศาสตร์ทั้งหลาย ... แต่ชาวพุทธกลับไม่ชอบศึกษาหาความรู้จากพระไตรปิฎก ทั้งๆที่พระไตรปิฎกมีคำตอบให้แก่ผู้ที่สงสัยอยู่ทุกคำถาม ..ตอบได้หมดว่า อะไรคือ เดรัจฉานกถา ..อะไรคือเปลือก กระพี้ และแก่นของพระพุทธศาสนา ......

..ทางการเมืองการปกครองไปมองผิดๆว่า ศาสนาจะทำให้คนเกียจคร้าน เพราะไม่กระตือรือร้นในทางโลก ..ที่จริงการมองเช่นนั้นเป็นการมองที่ผิด ..คนที่ขาดศาสนาต่างหากเป็นคนที่เกียจคร้านไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ..ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน เพราะไม่เห็นโทษในการกระทำเช่นนั้น

..ส่วนผู้ที่มีพระศาสนาหรือรู้จักแก่นของพระศาสนาก็จะมีความกระตือรือร้นในการทำงาน เพราะมีกิเลสน้อยแล้ว จึงมีเวลาทำงานมาก ไม่ใช้เวลาไปในการปรนเปรอตนเองหรือกอบโกยอย่างที่เป็นข่าวครึกโครมกันอยู่ ...ผู้ที่มีกิเลสน้อยจะรู้จักใช้เวลาอย่างมีประโยชน์

จึงควรพัฒนาให้พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อที่ถูกต้องโดยการศึกษาจากพระไตรปิฎก เพื่อนำไปสู่การถึงซึ่งพระรัตนตรัยที่แท้จริง



ข้อมูลก็ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆแล้วนะคะ ..มาถึงท่านที่สามแล้วค่ะ..... พระครูปลัดศีลวัฒน์ ...

ท่านเริ่มต้นที่ความไม่รู้คือ อวิชชา ....เพราะความไม่รู้จึงทำให้คนทั้งหลายจมอยู่กับความทุกข์ และไม่สามารถหาทางหลุดรอดออกไปจากทุกข์ได้ ...พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจจ์สี่ประการ แต่พุทธบริษัทไม่รู้ไม่เข้าใจว่าอริยสัจจ์นั้นคืออะไร ..... ไม่รู้จักว่าชีวิตนี้ประกอบไปด้วยรูปและนาม ซึ่งก็คือขันธ์ ๕

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นหัวต่อที่จะต้องทำความเข้าใจก็คือ ผัสสะ.....เมื่อมี..ผัสสะเกิดขึ้น ..จึงทำให้เกิดความทุกข์ความสุขขึ้นมา ..เพราะเราไม่รู้เราจึงมีการปรุงแต่งให้กลายเป็นสุขทุกข์อยู่เสมอ ไม่มีความเฉยๆ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่มีกิเลส ..อย่างเช่นเวลาที่เราอยู่ที่บ้าน พอมีใครถามว่า ไปฟังอภิปรายแล้วได้อะไรมาบ้าง ...เราได้ยินแล้วเราก็โกรธ ..อย่างนี้เรียกว่า มีผัสสะแล้วเราขาดสติปัญญารู้เท่าทันในขณะที่ได้ยินนั้น เราก็เลยโกรธ...เรียกว่าขณะนั้นเราตกนรก คือมีนรกอยู่ในใจ

หรือถ้าหากเราได้ยินว่ามีใครมาชมเชย ..เราก็รู้สุขใจไปกับการได้ยินนั้น ..เรียกว่า ได้ขึ้นสวรรค์ ..คือมีสวรรค์อยู่ในใจ ...

..แต่ในขณะเราได้มาฟังธรรม ก็เกิดความรู้สึกเฉยๆ ไม่มีความสุข หรือความทุกข์เกิดขึ้น ...เรียกว่า ขณะนี้เราไม่มีกิเลสเกิดขึ้น เป็นสภาพของนิพพาน ...นิพพานนี้จะเกิดขึ้นได้เพราะมีสติปัญญารู้เท่าทันกับปัจจุบัน ไม่ปล่อยให้ผัสสะแล้วเกิดทุกข์หรือสุข

. .การกระทำเช่นนี้จึงจะเรียกได้ว่าถึงธรรมอย่างแท้จริง ......ท่านพระครูปลัดศีลวัฒน์ ท่านพูดไว้ยาวกว่านี้นะคะ ...แต่ที่เหลือนอกจากนี้คือคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติธรรมตามแนวที่ท่านเข้าใจว่าเป็นทางไปสู่พระนิพพาน ....

โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 14:38:23 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : )


  สลักธรรม 5

ท่านที่สามก็ผ่านไปแล้ว ....คิดว่ายังจะมีอะไรเหลือให้นำมาอภิปรายอีกไหมคะ...... ลองคิดดู...แต่น้องกิ๊ฟคิดได้อยู่อย่างหนึ่งน่ะค่ะว่า ...อาจารย์บุษกรต้องสามารถอภิปรายได้อย่างน่าฟังและควรแก่การเชื่อถืออย่างแน่นอน

.อาจารย์เริ่มต้นว่า

ก่อนที่จะเข้าสู่คำตอบของคำถาม ๘ ข้อที่ท่านผู้ดำเนินการอภิปรายได้ตั้งไว้ ก็จะขอนำพระบรมราโชวาทของล้นเหล้ารัชกาลที่ ๖ มาเป็นคติเตือนใจไว้ก่อนว่า

ชาติไทยเราไม่ใช่ชาติใหม่ และไม่ใช่ชาติที่เป็นคนป่า หรือเรียกภาษาอังกฤษว่า "อันศิวิไลซ์" ชาติไทยเราได้เจริญรุ่งเรืองมามากแล้ว พราะฉะนั้น ควรที่จะรู้สึกละอายใจว่า .."อย่าว่าแต่จะสู้ผู้อื่น แม้แต่จะสู้คนที่เป็นต้นโคตรเราเองก็ไม่ได้"....

ที่กล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า เราต้องทำความรู้จักอย่างแท้จริงว่า พระพุทธศาสนาได้อยู่คู่แผ่นดินไทยมาช้านาน นับตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ที่บรรพบุรุษของเรามีความเจริญรุ่งเรืองกันมา ..พอมาถึงสมัยนี้ก็เสื่อมถอยลง ..สมตามคำที่กล่าวว่า ..แม้แต่จะสู้คนที่เป็นต้นโคตรเราเองก็ไม่ได้.... เราจึงต้องทำความเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของแผ่นดิน เป็นศาสนาที่ยู่คู่แผ่นดินไทยมาช้านาน ..เป็นรากฐานของจริยธรรม ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม

การที่จะไปตัดสินว่าสิ่งใดมีคุณภาพหรือได้ตามมาตรฐานหรือไม่ เราก็ควรจะต้องทำความเข้าใจให้ท่องแท้เสียก่อนว่า พระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับสังคมไทยอย่างไร ...ศึกษาให้รู้ถึงจุดเด่นและจุดด้อยที่เรามี เราจึงจะไปสู่การพัฒนาให้เจริญขึ้นได้

โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 14:43:40 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : )


  สลักธรรม 6

จุดเด่นก็คือ

๑. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน

๒.พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งเดียวกับความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ..ภาษา ..ประเพณี..และวิถีชีวิต

๓. เป็นศาสนาแห่งสายเลือด ด้วยสืบทอดมาตามระยะเวลาที่ยาวนาน

๔.เป็นศาสนาที่ประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล

๕.เป็นศาสนาที่ให้อิสระแก่ผู้ที่นับถือผู้ปฏิบัติอย่างทั่วหน้า ไม่มีการบังคับ

ซึ่งก็สมกับคำว่า "ไท" ที่หมายถึงอิสระ พระพุทธศาสนาก็ให้ความอิสระเช่นเดียวกันคือ เมื่อถึงพระนิพพานเมื่อไหร่เมื่อนนั้นก็จะพบกับความอิสระจากกิเลสทั้งหมด นี่คือจุดเด่นของพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ต่อไปก็คือจุดด้อย ที่เราจะต้องทราบเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้พัฒนาขึ้นมา จุดด้อยก็คือ

๑. สมัยนี้มีการมุ่งเน้นพิธีกรรมมากว่าการปฏิบัติธรรม ...จะเห็นว่าในงานพิธีทางศาสนานั้นจะใช้เวลาสำหรับพิธีการเสียเป็นส่วนมาก และใช้เวลาสำหรับการปฏิบัติธรรมไว้เป็นส่วนน้อย ....เวลาจะมีค่าเวลานั้นย่อมต้องประกอบไปด้วยปัญญา แต่เพราะเราเน้นที่พิธีกรรมกันมาก ..ความเสื่อมจึงเกิดขึ้นมา

๒. พระพุทธศาสนายังไม่ได้รับการอุปถัมภ์อย่างจริงๆจังๆ จากองค์กรของรัฐ

๓. ชาวพุทธนิยมให้ทาน แต่หย่อนยานในเรื่องวินัย

๔.มีการตีความคำสอนคือพระไตรปิฎกไปแตกต่างกัน เช่นในพระไตรปิฎกได้บอกไว้ว่า การปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า สมาธิ อย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนา แต่ผู้ศึกษามีความไม่เข้าใจก็ตีความไปผิดๆว่า การปฏิบัติสมาธิคือการเจริญวิปัสสสนา ทั้งที่ความจริงแล้วมีความแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

๕. การสื่อสาร การโฆษณา ขาดหลักความจริง ซึ่งขณะนี้มีโฆษณาหลายอย่างที่ลบหลู่พระพุทธศาสนาทำให้เห็นว่าเป็นสิ่งตลกขบขัน เช่น ไปทำอะไรมาจึงมาตกนรก ...ขับรถทับคางคกตายแบนแต๊ดแต๋ ....แต่ว่ายังมีความดีคือส่งเบี้ยประกันครบไม่เคยโกง ..จึงแต่งตั้งให้เป็นสมุห์บัญชีอยู่ในนรก

โฆษณาเช่นนี้เป็นการทำให้เห็นว่า นรกเป็นของที่ไม่น่ากลัว ..ก็จะทำให้เยาวชนเกิดความเห็นผิดไม่รู้จักบาปบุณคุณโทษ นี่คือจุดด้อยของพระพุทธศาสนาที่เราจะต้องยอมรับ

..ต่อไปเป็น จุดยืน ที่เมื่อเรายอมรับในความเด่นและด้อยแล้ว เราก็ต้องมีจุดยืนที่ถูกต้อง นั่นก็คือ สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความด้อยนั้นเกิดขึ้นมาจากอะไร

. ...เกิดขึ้นมาเพราะการไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนอย่างถูกต้องต้อง จึงทำให้มีความคิดที่ผิด เราจึงต้องปรับปรุงความคิดที่ผิดนี้เสียใหม่ ....ที่เรียกว่า ทิฐิสามัญญตา ..เพราะเรามีความเห็นผิดเราจึงทำผิด ..กลายเป็นความวิปลาสเกิดขึ้นมาคือ ทิฐิวิปลาส ..จิตตวิปลาส และสัญญาวิปลาส

เพราะเราไม่ได้ศึกษาเราจึงไม่รู้ว่าอวิชชาคือเครื่องกั้นความจริง และเป็นเครื่องที่ร้อยรัดชีวิตไว้ให้อยู่ในสังสารวัฏฏ์ .....คือรอบของปฏิจจสมุปบาทอันมีอวิชชา ....(ตรงนี้อาจารย์พูดถึงองค์ทั้ง ๑๒ ด้วยความรวดเร็วมากค่ะ)....ชรา-มรณะ

เพราะไม่ได้ศึกษาจึงไม่ทราบว่าตัณหาคือสิ่งที่ผูกติดยึดติดไว้ในสังโยชน์ ...โดยทั่วไปเราจะรู้จักว่า ตัณหาเป็นเรื่องของเพศสัมพันธ์ แต่ที่จริงแล้วตัณหามี ๓ อย่าง คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 14:55:32 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : )


  สลักธรรม 7

กามตัณหา คือความยินดีติดใจในกามอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส

ภวตัณหา คือความต้องการอยากได้เพราะเห็นผิดคิดว่าเที่ยง ...จึงเห็นว่า น่าจะเป็นอย่างนั้นดีกว่า อย่างโน้นดีกว่า

วิภวตัณหา คือความต้องการอย่างได้ที่เนื่องมาจากความเห็นผิดคิดว่าขาดสูญ เช่น ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นก็ดี อย่างนี้ก็ดี เป็นต้น

เราจะเห็นว่าตัณหาทั้งสามนี้เกิดขึ้นอยู่กับเราตลอดเวลา แต่ว่าเราไม่รู้

อันตัณหาลวงล่อให้ก่อเกิด
ตรองดูเถิดจับสิ่งชั่วตัวตัณหา
ถ้าจับเป็นก็จะเห็นอนัตตา
ว่าตัณหานั่นเป็นของให้หมองใจ


... บางคนคิดว่าความยากจนเป็นความทุกข์ แต่พอร่ำรวยขึ้นมาแล้วไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นกับตนเอง ..อย่างนี้เป็นความเข้าใจผิด ..เพราะที่แท้จริงแล้วเรามีความทุกข์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ภาราหเว ปัญจัก ขันธา ..ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ .....

แต่เป็นเพราะเราไม่เคยศึกษาว่า แท้จริงแล้วชีวิตคืออะไร ...จิต คืออะไร ..รูปนามคืออะไร เมื่อไม่รู้แล้วก็อธิบายไปผิดๆ หรือเรียกชื่อซ้ำๆกัน เช่น คำว่า จิตวิญญาณ ...ซึ่งที่จริง จิต... กับวิญญาณ เป็นอย่างเดียวกัน คือมีสภาพรู้อารมณ์เหมือนกัน ..แต่รู้กันคนละที่ เช่น

ขณะที่รู้อารมณ์ทางตา ก็เรียกว่า จักขุวิญญาณ .....ขณะที่รู้อารมณ์ทางกาย ก็เรียกว่า กายวิญญาณ ...นอกจากนี้จิตก็ยังมีชื่อเรียกกันออกไปต่างๆอีกมาก เช่น มโน มนินทรีย์ มนายตนะ มโนธาตุ มโนวิญญาณ...เป็นต้น เหมือนกับตอนที่เราเป็นเด็ก เราก็เรียกตัวเองว่า เด็กหญิงเด็กชาย ..โตขึ้นมาก็เรียก นางสาวหรือนาย พอไปเข้าเฝ้าก็เรียกแทนตนเองว่าข้าพระพุทเจ้า ..อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นการเรียกว่า จิตวิญญาณ ..จึงเป็นการเรียกที่ซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น เหมือนเรียกชื่อตนเองซ้ำๆในครั้งเดียวนั่นเอง

โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 15:01:10 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : )


  สลักธรรม 8

ถ้าหากจะบอกท่านว่า ปัญญามี ๔๗ ชนิด ท่านก็คงจะสงสัยว่าปัญญาอะไรมีถึง ๔๗ ชนิด ..... จึงต้องศึกษาพระอภิธรรมให้ทราบถึงความเป็นไปของชีวิตว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ..เมื่อทราบแล้วก็จะได้พัฒนาชีวิตของตนได้ถูกต้อง และก็จะเข้าถึงพระรัตนตรัยได้อย่างแท้จริง ...เราต้องทราบว่า การถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้าเป็นอย่างไร ....

การถึงพระรัตนตรัยนั้นก็ต้องอาศัยศีล สมาธิ และปัญญา การที่จะพบพระนิพพานก็ต้องรู้จักว่า อริยสัจจ์สี่คืออะไร .....

ทุกข์ คือสิ่งที่มีอยู่แท้จริงแต่ไม่มีใครกำหนดรู้
สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์แต่ไม่มีผู้ละ

นิโรธ คือความสิ้นสุดทุกข์หมายถึงนิพพานซึ่งเป็นผล

มรรค คือทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ ที่ประกอบไปด้วยองค์ ๘

ซึ่งในองค์ทั้ง ๘ ของมรรคนี้เมื่อสรุปลงมาแล้วก็คือศีล สมาธิ และปัญญา เช่นเดียวกัน ในบรรดาองค์ทั้งแปดนั้นจะเห็นว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์แรกของมรรค นั่นก็คือความเห็นถูก ..เพราะความเห็นถูกนี่เองจึงทำให้เราสามารถพ้นไปจากทุกข์ได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับเรื่องที่กล่าวมาทั้งสิ้น

ถ้าเราไม่มีสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาแล้วเราก็จะไม่รู้ว่า ขณะผัสสะผัสโสเกิดขึ้นนั้นเราจะต้องมีสติ ..และขณะที่เวทนาเกิดขึ้นเราจะต้องมีปัญญา ...... เพราะเวทนาเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความยินดีความไม่ยินดีซึ่งเป็นกิเลสตามมาได้ ...

เมื่อเรามีสติปัญญารู้เท่าทันแล้ว ก็จะเห็นว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีการดับไปๆ ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์นั่นเอง การพบไตรลักษณ์นี้จะต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพียงประการเดียวเท่านั้น ....เป็นการดำเนินไปตามทางมรรคที่จะต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า

โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 15:06:24 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : )


  สลักธรรม 9

มาถึงตรงนี้แล้วก็ขอสรุปเพื่อตอบคำถามทั้ง ๘ ข้อว่า

๑. คุณธรรมศรัทธาน้อมพร้อมตัดสิน
๒. คุณภาพชีวินมีเหตุผล
๓. หลีกละกรรมไม่ทำชั่วมัวเมาตน
๔ .ฝึกฝนสติปัฏฐานงานพุทธา
๕. ตัดวิจิกิจฉา โลภะสัมปยุต
๖. รั้งโทสะให้หยุดเลิกโทสา
๗. ตัดขาดความหลงไหลอ่อนลงมา
๘. หมดสิ้นตัวนำพาสังโยชน์กรรม

นี่คือคำตอบของเกณฑ์ตัดสินคุณภาพ ..แล้วจะพัฒนาคุณภาพกันอย่างไร ...เราก็ต้องรู้จักคำว่า ..สร้างหลักฐาน.. สานหลักแหล่ง ..แต่งหลักกรรม ..ทำหลักใจ..
จึงจะไปสู่คุณภาพที่ดีทางพระพุทธศาสนา

การสร้างหลักฐานก็จะต้องรู้จักสัปปุริสธรรทั้ง ๗ ประการ คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน และรู้จักเลือกคบคน รู้ว่าสิ่งใดทำแล้วเสื่อม สิ่งใดทำแล้วเจริญ อย่างที่มีพุทธศาสนภาษิตว่า

..ราชา รัฏฐัสสะ ปัญญานัง ..พระราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น
..ราชา มุขัง มะนุสสานัง ..พระราชาเป็นหน้าตาแห่งมนุษย์

ประชาชนจึงต้องรู้ว่าทำสิ่งใดที่จะไม่ทำลายความสง่างามนี้ลงไป ....จะต้องรู้ว่า การศึกษาใดๆที่ปราศจากศีลธรรม ทำให้คนเป็นโจรได้...แต่การศึกษาพระพุทธศาสนาจะช่วยปราบโจรนั้น เพราะผู้ศึกษาจะทราบถึงความเป็นไปเกี่ยวกับกรรม

....น่าเสียดายค่ะว่ารอบแรกนี้เวลาหมดเสียแล้ว ..จึงขออนุญาตเล่ารอบที่สองอันเป็นบทสรุปของอาจารย์บุษกรเพียงท่านเดียวนะคะ

โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 15:10:43 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : )


  สลักธรรม 10

ในรอบที่สองนี้ พระคุณเจ้าแต่ละรูปก็ได้สรุปในการนำเสนอของตนและชี้แนะจุดอ่อนของผู้อภิปรายท่านอื่นให้ทราบ ซึ่งโดยสรุปแล้วก็มีความเห็นตรงกันที่ การมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ...เกณฑ์ที่จะนำมาตัดสินได้ก็คือ ควาประพฤติปฏิบัติที่แสดงออกมานั่นเอง และการที่จะพัฒนาได้ก็ต้องพัฒนาใจของตนให้สำเร็จ

สำหรับอาจารย์บุษกรแล้ว อาจารย์กล่าวว่า ... จะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ในระหว่างที่ยังดำเนินชีวิตอยู่นี้ก็ควรที่จะต้องมีการสร้างคุณค่าให้แก่ตนให้ได้เพราะ..

.ยามชราไล่ไขว่คว้า ...ความตาย
ไหนล่ะคือจุดหมาย .......มุ่งแท้
มือคว้าไขว่คว้าคลาย.....เคยฉก
ชีพดับคว้าจับแก้...........กลับฟื้นคืนไฉน


เราจึงต้องหันมาศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยความไม่ประมาท นั่นก็คือต้องให้หลักของ สุ.จิ.ปุ.ลิ ...คือฟัง คิด ถาม เขียน ให้ดี

สุ....ต้องฟัง ตั้งใจ ใคร่พินิจ
จิ....ตะคิด กายประดิษฐ์ จิตเสถียร
ปุ...ฉาถาม ใคร่รู้ตาม ความพากเพียร
ลิ...ขิตเขียน ย้ำไม่เลือน เตือนความจำ

ที่เราจะต้องดำเนินไปในทางแห่งสัมมาทิฏฐิ เพราะถึงซึ่งความพ้นทุกข์ให้ได้ นั่นก็คือคุณภาพที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา

ขออนุญาตสรุปจบเพียงเท่านี้นะคะ ..... หลังจากที่ลงจากเวทีแล้วก็มีผู้เข้ามาซักถามอาจารย์อีกมากมาย และก็สนใจที่จะเข้าร่วมการอบรมวิปัสสนากรรมฐานหลักสูตรเร่งรัด

แต่ก็จะเรียนให้ทราบว่า ช่วงแรกตอนที่หมดเวลานั้น ..ท่านผู้ฟังมากมายพากันเสียดายที่อาจารย์อธิบายสัปปุริสธรรมไม่จบ ...เสียงรำพึงรำพัน ..ว้าๆๆ ...ดังฟังชัดเลยค่ะ ..ขอบอก







โดย น้องกิ้ฟ...รายงาน [2 ก.ย. 2553 , 15:19:08 น.] ( IP = 58.11.8.227 : : )
[ 1 ] [ 2 ][ 3 ]

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org