มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


วิปัสสนา..คืออะไรกันแน่ (๒)






ตอนที่ผ่านมา

สวัสดีค่ะทุกๆท่านที่ติดตามอ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของเราเอง โดยเฉพาะ..การที่จะพาชีวิตไปในทิศทางอันจะตรงต่อความพ้นทุกข์ทุกๆท่าน

เรื่องของวิปัสสนานั้น เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก จะต้องให้ความสนใจอย่างมาก เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจถูกและตรงต่อแนวทาง สติปัฏฐานอันจะนำประโยชน์สูงสุดมาสู่ชีวิตนั่นเองนะคะ

ในการกำหนด หรือดูนั้น... ดูนามรูปให้รู้จากตัวเรา

ถ้าไม่ได้เรียนให้รู้จักอารมณ์ของวิปัสสนาแล้ว เราจะไม่รู้ตัวเรา เห็นอะไรก็ไม่รู้ ได้ยินอะไรก็ไม่รู้ โดยมากการศึกษาเล่าเรียนในชีวิตของเรา ที่เราเป็นอยู่นี่เราไม่ได้รู้เรื่องของเราเลย รู้แต่เรื่องคนอื่นทั้งนั้นและเรื่องนอกตัวทั้งสิ้น จนไปไกลเกินตัวเหลือเกินเช่น ดวงดาวต่างๆ จานบิน จานผีอะไรต่อมิอะไรมากมายไปหมด ยิ่งรู้ยาวออกไปอย่างนี้ กิเลสมันก็ยืดยาวออกไปด้วย นามรูปที่ตัวเองนี่ไม่รู้จักกันเลย

โดย บุษกร เมธางกูร [12 ก.ย. 2553 , 14:52:33 น.] ( IP = 61.90.107.222 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1

วิธีการปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ท่านนั้น ไม่ต้องไปรู้คนอื่น... รู้ตัวของตัวเสียก่อน เพราะถ้ารู้ตัวเราแล้วคนอื่นๆเหมือนกัน มันไม่ผิดกันเลย มันอย่างเดียวกันโดยสภาพธรรมนั้นๆ

แต่รู้คนอื่นน่ะไม่แน่นอนเสมอไป เช่นอย่างเวลานี้จิตใจเขาเป็นอย่างไร จะรู้เขาได้อย่างไรเราก็ไม่มีทางรู้

แต่เวลานี้จิตใจเราเป็นอย่างไร การเห็นนั้นเราเห็นได้อย่างไร ประกอบด้วยอะไรเรารู้ได้ ประกอบด้วยความไม่พอใจ หรือประกอบด้วยความพอใจ เวทนาเราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เวลานี้ เรารู้ของเราก่อนและเข้าใจถึงเหตุได้ เพราะว่าร่างกายเรานี้ก็เป็นโลกโลกหนึ่ง ซึ่งมีแต่ความพินาศไปสิ้น

พอเรารู้ของเราอย่างนี้แล้วคนอื่นก็เหมือนกัน เช่น พอความโกรธเกิดขึ้นแก่จิตใจของเรา มีลักษณะอย่างไร ความโกรธของคนอื่นก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปรู้ของใคร

เพราะฉะนั้น การแสดงออกมาภายนอก ทางกายก็ดี วาจาก็ดี กิริยาอาการที่แสดงออกมาให้เราเห็น เราก็รู้แล้วว่า ออกมาจากจิตใจ กิริยาอย่างนี้ออกมาจากจิตอะไร พอใจหรือไม่พอใจ มันจะบอกได้ทีเดียว เพราะฉะนั้น มันก็เป็นโลกชนิดหนึ่งนั่นเองนะคะ

โดย บุษกร เมธางกูร [12 ก.ย. 2553 , 14:57:54 น.] ( IP = 61.90.107.222 : : )


  สลักธรรม 2

ในการกำหนดดูรูป ..การพิจารณาให้ดูรูปนามเฉพาะอิริยาบถ ๔ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน

ที่รู้ว่านั่ง รู้ว่านอน รู้ว่ายืน รู้ว่าเดิน เป็นนาม แต่ไม่ต้องไปกำหนดนาม สำหรับผู้หัดปฏิบัติใหม่ให้ท่าน กำหนดรูปก่อน เพราะตัวนามนั้น มันเป็นตัวดูรูปอยู่แล้ว ไม่ต้องไปกำหนดนามที่รู้ เช่น อย่างเวลาที่นั่งก็มี รูปนั่ง อันหนึ่ง และมี รู้ว่านั่ง อีกอันหนึ่ง เรา รู้ว่ารูปนั่ง เท่านั้นก็พอแล้ว

ในการที่เรามากำหนดรูปนามนั้น ก็เท่ากับมาศึกษาชีวิตนั่นเอง เพื่อจะได้เข้าไปเห็นการทำงานของชีวิตนั้น ไม่ใช่ทำด้วยกาย แต่ทำด้วยใจ ไม่ใช่เอากายไปเที่ยวทำงานต่างๆ ต้องทำงานทางใจ

ใจทำงานตอนไหน? ตอนที่ทำความรู้สึกลงไปในอารมณ์นั่นเอง เป็นการงานของใจคะ

โดย บุษกร เมธางกูร [12 ก.ย. 2553 , 15:07:58 น.] ( IP = 61.90.107.222 : : )


  สลักธรรม 3

เวลาดูต้องรู้ว่า ดูอะไรที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ไม่ใช่สร้างขึ้นมา ข้อสำคัญ เวลาที่เราดูจะต้องรู้ว่า ดูอะไร เวลานี้เราทำอะไรอยู่ เวลานี้เราดูอะไรอยู่ แล้วเราจึงจะได้ความจริงจากที่พิจารณา คือว่า ไม่ใช่เราไปสอน หรือเราไปสร้างอะไรขึ้นมา

ในความจริงของรูปนามเป็นอยู่อย่างไรก็รู้ตามนั้น เช่น อุปมาว่าเรามีเพื่อนฝูงซึ่งเพิ่งคบกันใหม่ ๆ รู้จักกันใหม่ ๆ ไม่รู้ว่านิสัยใจคอเขา ว่าเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ ต้องคบกันไปนาน ๆ ทีแรกเราก็คิดว่าเป็นคนดี พอคบกันไปนานๆ จึงรู้ว่านิสัยคบไม่ได้ เป็นคนโมโหง่าย เป็นคนเห็นแก่ตัว อะไรทำนองนี้ละคะ

อย่างนี้ เราจะต้องตามดูเราจึงจะรู้ความจริง อันนั้น ไม่ใช่ว่าเราไปสร้างขึ้นมา เขามีอยู่แล้ว ไม่มีหน้าที่จะไปแก้ไขอะไร มีหน้าที่ดูเท่านั้น แต่ถ้าดูไม่ถูก ก็ไม่เห็นเหมือนกันนะค่ะความจริงที่เรายังไม่รู้นะคะ

เราเรียนรูป ๔ อย่างมา นั่ง นอน ยืน เดิน เราก็ไปดูรูปนั่ง รูปนอน รูปเดิน รูปยืน

ดู หรือ พิจารณา หรือ เรียกว่า กำหนด ก็ได้

ดูด้วยใจไม่ได้ดูด้วยตา เพราะการนั่งนั้นไม่ได้เห็นด้วยตา ต้องเห็นด้วยใจ เวลาที่เราดูนั้น..เราต้องทำความรู้สึกว่า เวลานี้เราดูอะไร คือ ต้องทำความรู้สึกตัวว่า เราดูอะไร เพราะ เวลาเรามองออกไปนั้น มันต้องมีวัตถุอย่างหนึ่ง เราจึงจะต้องรู้สึกว่าจะดูอะไร

เปรียบว่าเหมือนการดูเหมือนคนเดินมา ถ้าอยากจะรู้ว่า คนเดินมา นั่นเป็นใคร คือว่าเรามีวัตถุที่เราจะดู แต่ถ้าดูโดยไม่ตั้งใจ ก็จะรู้เห็นเหมือนกัน เราก็เห็นแต่เห็นอะไรไม่รู้ เพราะเราไม่ตั้งใจจะดู เมื่อไม่รู้ว่าดูอะไรเราไม่ได้พิจารณา ก็เลยไม่ได้ความจริง ที่เราเห็นนั้นมันอะไรก็ไม่รู้

อย่างนี้แหละค่ะเวลานั่ง ท่านก็พิจารณารูปนั่ง คือว่า ดูรูปนั่ง แต่ต้องทำความรู้สึกว่า เวลานี้ ดูรูปนั่งด้วยทุกครั้งนะคะ

โดย บุษกร เมธางกูร [12 ก.ย. 2553 , 15:14:51 น.] ( IP = 61.90.107.222 : : )


  สลักธรรม 4

ที่สำคัญอีกอย่างนั้นก็ได้แก่ อารมณ์ปัจจุบัน ต้องให้ได้อารมณ์ปัจจุบัน คือ ต้องจับอารมณ์ "รูปนั่ง" ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า โดยที่อารมณ์นั้นเกิดขึ้นเอง ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความปรารถนาของผู้ปฏิบัติ อย่าบังคับจิต ให้ติดอยู่ในอารมณ์ด้วยความปรารถนา เพราะจะเป็นไปตามอำนาจของตัณหา ซึ่งเป็นตัวกิเลส มีหน้าที่เพียงแต่สำรวมไว้ อย่างให้จิตนี้ออกไปจากอารมณ์ คือ ท่าที่นั่ง

ถ้าจิตออกไปแล้ว ดูไปมันก็ไม่เห็น เหมือนกับเราอ่านหนังสือมันฟุ้งซ่าน บางทีจิตก็ส่ายไปทางโน้น วิ่งไปทางนี้ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่องรำคาญ มันต้องที่เงียบสงัดเป็นต้น

เราก็จะต้องสำรวมในร่างกายของเรา ในจิตของเรา ด้วยว่า สิ่งใดที่ไม่จำเป็นแล้ว..อย่าปล่อยให้จิตของเราตกไป อย่างให้มันไป เราต้องคอยคุมไม่ให้มันไถลไป ถ้ามันไป มันก็เที่ยวได้เพลิน จะดูมันก็ไม่เห็น และปัญญาก็เกิดไม่ได้

ต้องจำกัดอารมณ์คือ.. ต้องมีปัจจุบันดูรูปนั่ง เวลานั่งดูรูปนั่งนั่นเองค่ะ

โดย บุษกร เมธางกูร [12 ก.ย. 2553 , 15:19:25 น.] ( IP = 61.90.107.222 : : )


  สลักธรรม 5

วันนี้ก็ได้นำท่านมาสู่การกำหนดหรือการดูรูปดูนามแล้ว และเสนอในสิ่งสำคัญมากๆต่อการปฏิบัติวิปัสสนา โดยที่เราท่านทั้งหลายจะต้องทราบถึงวิธีการอันแยบคายเช่นนี้นะคะ

คงไม่พาท่านไปในเนื้อหาสาระมากไปกว่านี้คะ เพราะต้องการให้ท่านมีเวลาอ่านทบทวนหลายๆรอบจนเกิดความเข้าใจจะดีกว่านะคะ เพราะคุณภาพย่อมดีกว่าปริมาณเสมอ

พบกันใหม่ในคราวหน้าตอนที่ 3 นะคะ

ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย จงคุ้มครองให้ท่านทั้งหลายปลอดภัยและสร้างสมบารมีธรรมได้ดังปรารถนาทั่วกันทุกคนนะคะ



โดย บุษกร เมธางกูร [12 ก.ย. 2553 , 15:23:18 น.] ( IP = 61.90.107.222 : : )


  สลักธรรม 6

ดีจังค่ะ ได้ทบทวนความเข้าใจอีกครั้ง วิปัสสนานี้อ่านหรือทบทวนทีไร ก็เป็นของใหม่เสมอ ไม่เคยล้าสมัยเลยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

โดย herbs [12 ก.ย. 2553 , 22:13:39 น.] ( IP = 125.24.46.114 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org