มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


ธรรมนคร (๑๑)








ธรรมนคร (๑๑)

ธรรมบรรยายจากศาลาเสือพิทักษ์ โดย หลวงพ่อเสือ



ธรรมนคร (๑๐)


การปฏิบัติมาถึงตีรณปริญญา ได้พิจารณานามรูปมากขึ้น คือ เมื่อเริ่มปฏิบัติ เราเข้าไปกำหนด เข้าไปสังเกตกำหนดดูนาม – รูป จนดูกำหนด หรือ เรียกว่าเข้าไปสำรวจจนปรากฏความเข้าใจ ความเข้าใจก็มาคุ้มครอง ฉะนั้น ญาณแรกเป็นหน้าที่ที่ลำบากมาก แต่เมื่อผ่านได้แล้วจนกระทั่งมาผ่านวิปัสสนูปกิเลสได้ก็จะไหลไปเลย

ท่านบอกว่ากิเลสเป็นเครื่องกีดขวาง ถ้ากิเลสหมดไปมากเท่าไหร่ความรู้ยิ่งก็จะมากขึ้นเท่านั้น เพราะ สามญาณแรกกำหนดนามรูปเป็นองค์กรรมฐาน ตั้งแต่ญาณ ๔เป็นต้นไป กำหนดพระไตรลักษณ์เป็นองค์กรรมฐาน อุปมาเหมือนการขัดกระจกเงาที่ละอองจับเป็นฝ้า ถ้าขัดละอองฝ้าหมดไปมากเท่าใด กระจกก็ใสมากขึ้นเท่านั้น

การมีความเพียร สติมา สัมปชาโน กำหนดพิจารณานามรูป ก็เหมือนการขัดกระจกนั่นเอง เมื่อกระจกถูกขัดให้ใสซะอย่างเดียวก็จะมองเห็นตัวเองชัดขึ้น คือ เห็นรูป เห็นนามชัดขึ้น จะมีไฝฝ้ากี่เม็ดก็ชัดขึ้น

ฉะนั้น ไฝฝ้าราคีก็คือไตรลักษณ์ เป็นลวดลายของรูปนามเขา เราเพียงมีหน้าที่ขัดกระจกก็จะทำให้เราเห็นตรงความเป็นจริง ได้แก่ “ปัญญา” และการเห็นตามความเป็นจริงของเงากระจกก็คือ “ไตรลักษณ์” ไม่มีอย่างอื่นให้เห็นอีกแล้วนอกจากอนิจจลักษณะ (๑๐) ทุกขลักษณะ (๒๕) อนัตตลักษณะ (๑๕) รวม ๔๐ ประการ(บรรพ)ในวิปัสสนา

ใน ๔๐ ประการ นี้ เมื่อนำมาปรับเข้ากันกับขันธ์ ๕ ก็จะเป็นไตรลักษณ์ได้ถึง ๒๐๐ (๔๐ X ๕) ฉะนั้น ม่านบังตาที่เป็นเครื่องปิดบังไตรลักษณ์มีถึง ๒๐๐ ชิ้น เราจึงไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ง่ายๆ แต่เมื่อเห็นแล้วก็จะทะยานออกนอกโลกไปเลย

โดย ศาลาธรรม [15 มิ.ย. 2557 , 08:51:05 น.] ( IP = 171.97.28.246 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1




สิ่งที่ปิดบังอนิจจัง ได้แก่ สันตติ...ความสืบต่อของนามรูป ที่เกิดขึ้นสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมากมาย ไม่มีใครจะประมาณได้ ทำให้ไม่เห็นความเกิดขึ้น และความดับไปของนามรูป เมื่อไม่เห็นความจริงของนามรูปอย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดความเข้าใจผิด สำคัญผิดว่า “นาม” คือจิตและเจตสิกนี้ “เป็นเรา” เช่น เราไม่ได้เห็นอะไรเลย ที่จริง “จิต” เป็นผู้เห็น แต่กลับคิดว่านามคือจิตและเจตสิกนี้เป็นเรา

และจิตนี้เกิดดับไวมาก เมื่อเราไม่ได้เรียนและไม่เข้าใจ แล้วมันก็เกิดดับไวมากเราก็เลยไม่รู้เข้าไปถึงความจริง ซึ่งปรากฏการณ์นี้สามารถเข้าไปพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการ “ตรงดิ่งแห่งการมอง” การสืบต่อของนาม การสืบต่อของรูป จึงปิดบังความไม่เที่ยงไว้ ลองดูที่หลอดไฟผู้มองก็มีวิปลาสธรรมเกิดว่าไฟนั้นติดอยู่ แต่ถ้าเรากระพริบตาได้เร็วเท่าที่ไฟมันสปาร์ค ก็จะไม่เห็นว่าไฟฟ้าติดอยู่ตลอดเวลา แต่นั่นก็เกินความสามารถที่เราจะทำได้

ในตัวเรามีสันตติอีกชนิดหนึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่าสามารถทำลายให้ขาดได้ เพราะเพียงแต่เป็นธรรมที่ถูกปิดไว้เท่านั้นเอง คือการสืบต่อของนามรูป แต่ถ้าไม่เห็นหรือทำสันตติไม่ขาดก็จะเกิดความสำคัญผิดว่าเป็นตัวเรา แท้ที่จริงตัวเราไม่มี มีแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และสำคัญมีสองที่คือ วิญญาณ...คือจิตซึ่งเป็นผู้รู้อารมณ์ และที่สัญญา..คือเจตสิก จึงต้องรื้อสัญญาออกจากจิต สังโยชน์คือเครื่องพ้นก็จะหมดไป เราจึงต้องรู้ว่าจิตเป็นตัวรู้ จิตเป็นธรรมชาติที่เป็นนามธรรม ถ้าไม่รู้เท่าทันก็คิดว่าเราเป็นผู้เห็น

อนิจจังคือความไม่เที่ยง จึงหมายรู้ว่าตัวตน คน สัตว์ คือ นาม (จิตและเจตสิก) หรือรูปว่าเป็นของเที่ยง เพราะนาม-รูปเกิดอยู่ตลอดเวลา จึงคิดว่าเที่ยงเพราะไม่เห็นความดับ จึงสำคัญผิดว่านาม – รูป เป็นของดี เป็นสาระธรรมเกิดขึ้น และก็เห็นว่าเป็นสุข เป็นตัวตน เมื่อเกิดวิปลาสขึ้นอย่างนี้แล้ว ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรือเป็นไปพร้อมๆ กันก็ได้ เพราะเหตุว่าในลักษณะทั้ง ๓ คือ อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะนี้มีอารมณ์ต้องไปร่วมกัน แต่มันจะปรากฏชัดอันใดอันหนึ่งแก่โยคาวจร

โดย ศาลาธรรม [15 มิ.ย. 2557 , 08:52:17 น.] ( IP = 171.97.28.246 : : )


  สลักธรรม 2




เมื่อวิปลาสเกิดขึ้นในใจในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง อีก ๒ ลักษณะก็ต้องเข้าไปร่วมในอารมณ์นั้นเหมือนกัน เช่น คหธรรมเหมือนกันที่ยึดครองอุปทานขันธ์เลย ในทางปัญญาก็เช่นเดียวกัน เมื่อเข้าไปเห็นความจริงของลักษณะใด เช่น เห็นอนิจจัง อีก ๒ ลักษณะก็ขึ้นชื่อว่าได้เห็นแจ้งไปด้วย

ฉะนั้น ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำลายสันตติให้ขาด หน้าที่ของผู้ปฏิบัติไม่ต้องไปหาอะไรหรือปริญญาไหน แต่มีหน้าที่คือ ทำลายสันตติให้ขาด มิฉะนั้น จะไม่สามารถทำลายอารมณ์วิปลาสได้เลย

แม้กระทั่งศัพท์บาลีถ้ายึดติดก็วิปลาส ไม่เข้าใจคำบาลีก็เหมือนเรียนธรรมะแล้วไม่เข้าใจ ติดอยู่ในรูปศัพท์ จะมีประโยชน์อะไรถ้าขาดความเข้าใจ ฉะนั้น การเรียนธรรมะมีประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจการปฏิบัติมีประโยชน์อยู่ที่การเข้าถึง เช่น คำว่า “สัมมาสัมพุทธเจ้า” ไม่มีประโยชน์เลยสำหรับผู้ที่ยึดติดคำ แต่ผู้ที่เอาใจน้อมนำไปสู่พระองค์ท่านก็จะได้ประโยชน์

ในทางปัญญาก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีหน้าที่ทำลายสันตติให้ขาดเท่านั้น แล้วจะมีวิธีการอย่างไร พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้หมดแล้ว เราก็มีหน้าที่ดูไปจนสันตติขาดตรงอุทยัพพยญาณ สันตติเป็นเชือกแห่งวัฏฏะอีกสายหนึ่ง เราไม่อาจรู้ได้ว่าใครตัดเชือกเส้นนี้หรือยัง แต่เราย่อมรู้เฉพาะตนว่าเราตัดได้หรือยัง ถ้ายังตัดไม่ได้ก็มีหน้าที่รีบลงมือตัด เมื่อตัดได้แล้วก็จะหลุดแน่

โดย ศาลาธรรม [15 มิ.ย. 2557 , 08:53:40 น.] ( IP = 171.97.28.246 : : )


  สลักธรรม 3



เหมือนไข่ ๘ ใบ ๑๐ ใบ ๑๒ ใบ ที่แม่ไก่ไม่ได้กกให้ดี ไม่ได้คุ้มครองให้ดี อยู่อย่างนั้นมันก็ฟักเป็นตัวไม่ได้ แต่ถ้าแม่ไก่กกไข่ดีแล้ว แม้จะไม่อยากให้กำเนิดลูกไก่เกิดขึ้นมา มันก็ย่อมเกิดขึ้นมา เพราะมันได้เหตุปัจจัยสมบูรณ์แล้ว เช่นเดียวกันเมื่อมรรค ๘ สมบูรณ์แล้วก็จะถึงความสำเร็จ

“จริง” เสียอย่างเดียวสำเร็จทุกอย่าง ขอให้เดินตามมรรค ๘ โดยมีบารมีทั้ง ๑๐ มีความรู้เข้าใจในปฏิจจสมุปบาท หรือปัจจยาการ รู้เงื่อนต้น(อวิชชา) เงื่อนปลาย (ตัณหา) และเงื่อนงำ (อุปาทาน) เมื่อทำลายเงื่อนต้นได้..ไม่อยู่ เมื่อทำลายเงื่อนปลายได้..ไม่กิน ไม่อยู่ไม่กินด้วยตัณหา และมีความรู้เป็นทุน คอยทำลายความโง่ คอยตัดสินที่ปัจจุบัน เป็นรูป เป็นนาม คือทำลายเงื่อนต้น ไม่อยู่เงื่อนปลาย ชีวิตนั้นไม่มีเงื่อนงำเป็นอนุปาทานขันธ์

ฉะนั้น ไข่ปริศนาที่เราจึงจะต้องกกเอง คือ มรรค ๘ ต้องทำเอง บารมี ๑๐ ต้องทำเอง และต้องแจ้งเองในปฏิจจสมุปบาทธรรม

ผู้ที่ยังไม่เห็นปรากฏการณ์ของแต่ละรูปแต่ละนามว่าขาดออกจากกัน ก็จะเอารูปนามเหล่านี้เป็นอันเดียวกัน (เช่น การนั่งมีหลายท่า ถ้าไม่สังเกตความรู้สึก ก็นึกว่าเป็นคนคนเดียวกัน อาการเดียวกันหมด จริง ๆ คนละอาการ คนละรูปกันเลย ไม่ใช่รูปเดียวกัน และถ้าไม่มีเหตุก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีอะไรเกิดขึ้น ธรรมทั้งหลายย่อมต้องไหลมาจากเหตุ

ฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราที่ดิ้นรนทำอะไรไป ที่บอกว่าแก้ไขทุกข์ เราไม่กำหนดทุกข์ จึงไม่ได้แก้ไขทุกข์อย่างถูกต้องเลยเราจึงต้องคอยโยนิโส วิปัสสนานั้นดูเพื่ออะไร? เพื่อจะได้รู้ว่าเปลี่ยนอิริยาบถทำไม ...เมื่อยแล้ว เมื่อยเป็นบัญญัติ แต่ก็คือทุกข์ ต้องกำหนดรู้ รู้อะไร? รู้ทุกข์ ใครรู้? จิตรู้ จิตเป็นอะไร? จิตเป็นนาม จึงรู้นามรู้ นามรู้ว่าเป็นทุกข์ จึงเปลี่ยนท่าไป โดยขอให้รู้ก่อนว่าทำเพราะเหตุใด? ต้องเป็นคนมีเหตุมีผล ที่เปลี่ยนมาท่านี้เพราะมีเหตุ เหตุคือทุกข์ พอมาอยู่ท่านี้นาน ๆ ก็ทุกข์อีก เพราะไม่มีสุขแท้ มีแต่สุขวิปลาส สุขชั่วคราว อริยาบถเมื่อสักครู่หายไป อิริยาบถนี้มาแก้ไขเท่านั้นเอง แต่แก้นาน ๆ ก็เป็นทุกข์ จึงต้องแก้ต่อไป

โดย ศาลาธรรม [15 มิ.ย. 2557 , 08:54:56 น.] ( IP = 171.97.28.246 : : )


  สลักธรรม 4




ชีวิตจึงเป็นไปโดยทุกข์ตลอดเวลา เพราะเราไม่เคยกำหนดทุกข์ จึงไม่รู้จักทุกข์และไปไม่พ้นทุกข์ นี่คือวิปัสสนากรรมฐาน และนี่แหละที่เราจะเข้าใจว่าเราได้อุทยัพพยญาณหรือยัง? ก็คือ ตอนเห็นรูปนามขาดออกจากกัน ...สันตติขาด สันตติยังไม่ขาดตราบใด วิปัสสนาแท้ยังไม่เกิดตราบนั้น แต่ก็อย่าไปกลัว แล้วอย่าไปไม่ยินดี ถึงจะเป็นการท่องว่านี่คือรูป นี่คือนาม ก็ยังท่องในของดี เป็นคำสุภาพเป็นคำเพื่อสันติภาพ

มัคคุเทศก์ของพระนิพพานคือคันถะธุระ คนเราเกิดมาต้องมีเป้าหมาย คือ เกิดมาเพื่อศึกษาหาความรู้และการแก้ทุกข์ ไม่ได้เกิดมาเพื่อสาเหตุอื่นเลย เพราะเรายังไม่รู้ว่าเราเกิดมาเพราะอะไร เราจึงต้องศึกษาว่าเราเกิดมาเพราะอะไร แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่เกิด หาทางแก้ทุกข์ และสิ่งที่จะมาแก้ทุกข์ได้ก็คือปัญญาเท่านั้นเอง ด้วยการรู้ในรูป รู้ในเวทนา รู้ในสัญญา รู้ในสังขาร รู้ในวิญญาณ รู้ในเรื่องชีวิต รู้ในรูปคือรู้ในสภาวะรูปที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสาระ เป็นต้น

อย่าไปกลัววิปัสสนูปกิเลส ต้องบอกว่าให้มันเจอเถอะน่า เพราะกว่าจะเจอวิปัสสนูปกิเลส ต้องได้ญาณที่ ๑- ๓ มาแล้ว เป็นบุคคลพิเศษแล้ว เขาเรียกว่าตาไม่บอดแล้วเริ่มมองเห็นแสงสว่างของชีวิตบ้างแล้ว อย่าไปกลัว แล้ววิปัสสนูปกิเลสนี้จะไม่มีแก่บุคคล ๓ จำพวกดังที่ได้กล่าวแล้ว

ถ้าทำลายสันตติไม่ขาด ก็จะทำลายวิปลาสไม่ได้ ในการทำลายสันตตินั้น ทำได้โดยการเพ่งรูป เพ่งนาม เท่านั้นเอง ไปทำลายที่อื่นไม่ได้เลย หรือไปฆ่าอะไรไม่ได้เลย ต้องเฝ้าดูที่รูป ที่นามต้องกำหนดดูรูป ดูนาม กำหนดอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่อจิตและอารมณ์อันใดเกิดขึ้น ก็ต้องเอาสติไปกำหนดรู้อารมณ์นั้น จนกว่าจะเห็นการเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม

เพราะการจะเห็นความสืบต่อของนามรูปหมดไป เป็นไปด้วยการพินิจเท่านั้นเอง (หรือการเพ่งนั่นเอง) คือ ต้องเพ่งที่ปัจจุบัน จึงจะสามารถทำลายสันตติให้ขาดลงได้ และต้องเพ่งด้วยสติสัมปชัญญะคือต้องมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ ว่าบัดนี้กำลังพิจารณารูปอะไร เป็นรูปเดิน รูปนั่ง เป็นรูปเฉย ๆ ไม่ได้ หรือเป็นนาม ก็นามอะไรด้วย เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างรูปต่าง ๆ นามต่าง ๆ และระหว่างนามกับรูป คือรูปปริจเฉทญาณ นามปริจเฉทญาณ นามรูปปริจเฉทญาณ ว่านามเห็นไม่ใช่นามรู้ นามรู้ก็ไม่ใช่นามเห็น รูปยืนไม่ใช่รูปนอน รูปนอนไม่ใช่รูปนั่ง

โดย ศาลาธรรม [15 มิ.ย. 2557 , 08:56:34 น.] ( IP = 171.97.28.246 : : )


  สลักธรรม 5




ถ้าไม่ทำแบบนี้ จะไม่สารถทำลายสันตติได้ เมื่อทำลายสันตติไม่ได้ วิปลาสจะออกไปจากชีวิตไม่ได้เด็ดขาด ถ้าสันตติยังไม่ขาดจะเรียกว่าถึงวิปัสสนาแท้จริงไม่ได้ ยังเป็นวิปัสสนาเทียมอยู่ เมื่อเข้าถึงพลังอำนาจของอุทยัพพยญาณ ที่พ้นวิปัสสนูปกิเลสไปแล้ว เมื่อเพ่งให้ปรากฏความของสันตติ สำหรับรูปเป็นของหยาบ อาจปรากฏได้ด้วยจินตาญาณ แต่สำหรับนามคือจิตและเจตสิก เป็นของยากที่จะดูเขา เพราะไม่มีตัวตนปรากฏ จึงยากที่จะเข้าไปประจักษ์ความไม่เกี่ยวของนาม เพราะนามเองยังไม่เห็นเลยแล้วจะไปเห็นลวดลายของนาม จึงเป็นของยาก

เพราะนามเป็นธาตุที่เบาจึงมีความเกิด-ดับ เร็วมากเหลือเกิน ของเบามันเร็วกว่าของหนัก ถ้ายังอยู่ในสมาธิด้วยแล้วจะเห็นได้ยากขึ้นไปอีก ฉะนั้น พวกทำอัปปนาสมาธิจะเห็นความไม่เที่ยงยากเหลือเกิน ยากที่สุด และพวกที่มีสติปัญญาน้อยอยู่แล้ว ยิ่งไม่สามารถจะเห็นได้เลย

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงแสดงไว้ในสติปัฏฐานสูตรว่า การที่จะเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๓ อย่างนี้ สมควรแก่ผู้ที่มีปัญญากล้า แต่ผู้ที่มีปัญญาอ่อน ๆ สมควรจะเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะรูปเป็นของหยาบกว่านาม สามารถปรากฏความจริงได้ง่ายกว่า

ผู้ที่ปัญญาอ่อน คือ ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ ๆ ยังไม่เคยเข้าไปดูบ่อย ๆ พอปฏิบัติครั้งแรก ๆ อย่าไปดูนาม ให้ดูรูป เพราะพอเริ่มปฏิบัติใหม่นี่ ปัญญายังอ่อนอยู่ ดูไปจนกระทั่งประคองรูปได้แล้ว นามปรากฏขึ้นก็ดูนาม

ฉะนั้น จะบอกไม่ได้เลยว่า ตรงไหนอ่อนตรงไหนแก่ แต่ว่านักศึกษาใหม่ที่เรียนคันถะธุระ แล้วเริ่มปฏิบัติแรก ๆ เช่นครั้งแรก จะเริ่มปฏิบัติ กำหนดรูปนั่งหรือรูปยืน กลับมาตั้งที่รูปให้ได้ อะไรอย่างอื่นยังไม่ดู ให้ดูแต่รูปก่อน พอเริ่มมีสติชำนาญคล่องแคล่วมันจะมีนามก็ต้องดูนามเพราะเป็นธรรมชาติ แต่เริ่มที่นามไม่ได้ เช่น เดินๆ ไปรู้สึกชีวิตเป็นทุกข์ปฏิบัติวิปัสสนาดีกว่า กำหนดนามรู้สึก อย่างนี้ผิด ต้องนั่งสักเดี๋ยว ทำสำรวมก่อนทำสำรวมได้แต่อย่าไปทำสังวร ทำท่าสำรวมก่อน ไม่ใช่กำลังรำ ๆ อยู่ กำหนดรูป ต้องหยุดก่อน และไม่ใช่เริ่มต้นนามทุกข์ เพราะนั่นเป็นนามร้องอุทธรณ์ ไม่ใช่นามทุกข์

โปรดติดตามตอนต่อไป

โดย ศาลาธรรม [15 มิ.ย. 2557 , 08:58:22 น.] ( IP = 171.97.28.246 : : )


  สลักธรรม 6

กราบนมัสการหลวงพ่อเสือด้วยความเคารพอย่างสูงเจ้าค่ะ

ขอบพระคุณและอนุโมทนากับคุณศาลาธรรมด้วยค่ะ

โดย abctoy (abctoy) ดูรายละเอียดสมาชิกคนนี้ - [18 มิ.ย. 2557 , 20:47:04 น.] ( IP = 124.122.231.3 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org