มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


สิ่งที่ไม่ทำไม่ได้ กับสิ่งที่ต้องทำให้ได้










สิ่งที่ไม่ทำไม่ได้ กับสิ่งที่ต้องทำให้ได้
ธรรมะบรรยายโดย หลวงพ่อเสือ



ทางแห่งความสุขนั้นเป็นของไม่ยาก เราท่านทุกคนเกิดมามีชีวิต ก็ย่อมต้องกระเสือกกระสนโดยธรรมชาติอยู่แล้วที่จะแสวงหาความสุข มีความพอใจในการแสวงหาความสุขด้วยกันทั้งสิ้น แต่ขอให้ศึกษาว่าสุขจริงๆ คืออะไรเท่านั้นเอง กำลังแสวงหาความสุขกันอยู่แล้ว เราตัดโง่ออก จะได้รับความสุขจริง จิตของเรามันแสวงหาความสุข ปฏิเสธความทุกข์โดยปริยายอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้จักสุขที่แท้จริงจึงได้สุขจอมปลอมมา สุขจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งเป็นทุกข์ทั้งสิ้น

ฉะนั้น ชีวิตน่ากลัว ไม่มีใครรักใครจริงนอกจากตัวเอง พระพุทธเจ้าทรงยืนยันเลย ที่เรายังรักเขาอยู่ เพราะเขายังดีกับเราอยู่

คำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องพิสูจน์ได้ “ไม่มีเพื่อนใดจะแท้เท่าเพื่อนธรรม ไม่มีใครจะซื่อสัตย์ต่อเราเท่าความจริงที่เรายอมรับตัวเอง” ฉะนั้นการศึกษาตัวเอง ความมีเป้าหมาย และเราค้นคว้าชีวิตตนเองเป็นสิ่งที่ประเสริฐ นี่แหละศึกษาชีวิต

วิปัสสนากรรมฐานเป็นการปฏิบัติชนิดเดียวที่ไปสู่มรรคผลนิพพาน นอกนั้นไม่ใช่สายตรง พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางบรรเทาทุกข์ และชี้สุขเกษมศานต์ เพราะชีวิตของเราวุ่นวายยุ่งเหยิงจิตฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านคือการที่จิตระลึกนึกถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วคืออดีต เช่น เมื่อก่อน วันนั้น เป็นต้น เรื่องอดีตเป็นเรื่องเก่า และนึกไปในเรื่องอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:35:08 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ
[ 1 ] [ 2 ]


  สลักธรรม 1


เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับวิปัสสนาจึงจะอยู่รอด กินเพื่อแก้ทุกข์ อยู่เพื่อแก้ทุกข์ ไปเพื่อแก้ทุกข์ ถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องไปไหนเลย ทำเพื่อแก้ทุกข์ จะอยู่ในโลกแห่งโลกาภิวัฒน์ที่น่ากลัวมากขึ้นได้ เพราะชีวิตหมุนไปเหมือนชิงช้าสวรรค์ มีขึ้นมีลง ไม่มีใครจะอยู่ค้ำฟ้า ไม่มีอารมณ์อะไรเที่ยง ฉะนั้นเราต้องพัฒนาจิตใจของเราให้สูงขึ้น อย่าให้ความเจริญทางวัตถุสูง แต่ใจต่ำ ทุกวันนี้มีอยู่ ๒ อย่างที่ต้องทำและไม่ต้องทำ คือ

๑.ไม่ทำไม่ได้ ก็คือดูแลรับผิดชอบชีวิตตนเอง ขยันขวนขวายในกิจการงานที่ชอบ ประกอบชีวิตด้วยสติปัญญา แล้วเว้นไม่ทำไม่ได้ คือ ต้องทำมาหากินโดยสุจริต ไม่เป็นคนเกียจคร้าน ใฝ่รู้ใฝ่เรียนพากเพียรแล้วศึกษา

๒.ต้องทำให้ได้ ก็คือต้องทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองให้ได้ เพราะพระนิพพานคือเป้าหมายของทุกคน การมีสติระลึกรู้สึกตัวในรูปในนาม ต้องทำให้ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่จะทำให้เรามีสุดท้ายในปลายทาง คือ มหาสติ ต้องทำให้ได้ ก็ต้องเริ่มต้นจากสติที่ฝึกนั่นแหละ แล้วเข้าไปรู้ว่าเราควรกำหนดอะไร

พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางบรรเทาทุกข์ คือการทำสมาธิเพื่อกำจัดความฟุ้งในอดีตที่ผ่านมาแล้วและอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ไม่ต้องหวั่นไหวว่าไอ้นี่จะเป็นอย่างไร ไอ้นั้นจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น อดีตคือความปด อนาคตคือความฝัน ปัจจุบันคือความจริง

คนเราจะปวดหัวก็ปวดที่ปัจจุบัน ปวดขณะนี้ ถ้าเมื่อยก็เมื่อยที่ปัจจุบัน เมื่อยเมื่อวานก็เมื่อยพรุ่งนี้ไม่มี นั่นคือ อดีตและอนาคต

จึงต้องทำความรู้สึกในวันนี้ ทำตรงนี้ให้ดีที่สุดแล้วหยุดแค่นั้น ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดแล้วหยุดแค่นั้น เต็มความสามารถ เกินความสามารถไม่มีใครทำได้ ต้องมั่นใจว่าไม่มีใครทำอะไรเกินความสามารถของตนเองได้

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:35:40 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : )


  สลักธรรม 2


แต่พวกเราทุกคนพวกเกินความสามารถพระพุทธเจ้าที่ผ่านมาทุกพระองค์ เราจึงต้องตั้งใจปูทางชีวิตให้เต็มความสามารถเพื่อมรรคผลนิพพานในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย์ หรือขอสุดแค่พระพุทธเจ้าองค์ต้นกัปที่มีพระนามว่าพระราม และเมื่อตั้งเจตนาแล้วก็ต้องมีความเพียรก็จะพบนิพพานํ ปรมํ สุขํ นี่แหละทางนี้เป็นทางแห่งความไม่หายนะ

ส่วนการนั่งหลับตาทำสมาธิ จิตสงบก็จริง เป็นความบรรเทาจากความฟุ้งซ่าน พอลืมตาขึ้นมา ก็ฟุ้งอีกแล้ว การเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัส นึกคิด เป็นธรรมชาติที่เป็นอนัตตา คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เมื่อเรารู้แล้วว่าธรรมชาติของความคิดไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เราก็คิดให้น้อยซิ และคิดให้ถูกด้วย

จะคิดถูกได้อย่างไร? ก็ต้องเรียนเสียก่อน ปลูกสัมมาทิฏฐิแล้วจะคิดถูก เช่น เมื่อเราฆ่าสัตว์ เราก็คิดว่าขณะนี้บาปแน่นอน แล้วผลเป็นอย่างไร ก็สร้างเหตุบาป ผลมี ๙ ประการ ถ้าเราบริจาคทานล่ะ ก็ให้ผล ๑๑ ประการ แม้ว่าจะนิดๆ หน่อยๆ ก็ตาม รู้ว่าเป็นทานก็ให้ผล ๑๑ ประการเท่ากัน เรารู้เหตุรู้ผล

ฉะนั้น ในฐานะนักศึกษาใหม่ ต้องเรียนให้รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล เพราะเราไม่รู้จักเหตุไม่รู้จักผล ชีวิตนั้นจึงระคนไปด้วยความไม่เข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจ ผลลัพธ์ก็คือไม่แน่ไม่นอน เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ ก็มีชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ นั่นเอง

“อย่าทำอะไรเพราะความอยาก ให้ทำเพื่อแก้ทุกข์”

“ใครทำใครได้ ใครพบใครพ้น”

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:36:07 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : )


  สลักธรรม 3


ถาม ถ้าเราปฏิบัติกำหนดจิตของเราอยู่ตลอดเวลานั้น สมาธิจำเป็นต้องนั่งอีกหรือไม่

ตอบ ต้องทราบก่อนว่าสมาธิคืออะไร การที่จิตกำหนดอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เพื่อให้จิตนั้นมีความตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา จิตนั้นจะทำลายนิวรณ์ทั้ง ๕ ซึ่งเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี นิวรณ์ ๕ นี้จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่มีสมาธิ คือพวกเราๆ เป็นอยู่ตลอดเวลา

นิวรณ์ ๕ คือ กามราคะ พยาปาทะ ถีนมิทถะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา

กามราคะ คือ ความใคร่ยินดีติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

พยาปาทะ คือ ความพยาบาทปองร้าย คิดอาฆาตเคียดแค้น มีความโกรธอยู่เนืองๆ

ถีนมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน

อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:36:23 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : )


  สลักธรรม 4


เมื่อนิวรณ์ ๕ เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ทำให้จิตของเราไม่มีสภาพที่เป็นเอก ไหลไปตามอารมณ์เหมือนจิตที่ฟุ้งเป็นต้น ฉะนั้นการทำสมาธินั้นเป็นการฝึกจิตให้จิตนั้นมีงานทำ แต่เป็นงานที่ดีและมีผลออกมาดี โดยการหาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งมาเป็นคำภาวนา เช่น พุทโธ หรืออะระหัง เมื่อจิตทำงานเป็นอย่างๆ แล้ว จิตก็เริ่มมีอำนาจ จิตก็ไม่ซัดส่ายฟุ้งซ่าน ทำให้ขณะนั้นกองกิเลส (นิวรณ์ ๕) ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ จิตบาปก็ไม่เกิด จิตบุญก็อยู่กับเรา

บุญ คือ เครื่องชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เพราะว่าเมื่อฟุ้งซ่านแล้ว เศร้าหมองตลอด จิตจะมีเหมือนสีดำขุ่นๆ มัวๆ แต่เมื่อจิตมีสมาธิ สมาธิก็มีอำนาจข่มจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลได้

สมาธิมี ๓ ระดับ คือ

๑.ขณิกสมาธิ คือ จิตนั้นมีอารมณ์ตั้งมั่นเป็นขณะๆ

๒.อุปจารสมาธิ คือ จิตแนบแน่นกว่าขณิกสมาธิ

๓.อัปปนาสมาธิ คือ จิตแนบแน่นกว่าอุปจารสมาธิ แม้กระทั่งยุงกัดก็ไม่รู้สึก

เราต้องรู้ว่าสมาธิทำเพื่ออะไร เพื่อทำลายความฟุ้ง พยุงวิริยะ ทำลายมานะ ละกิเลสในขณะนั้น เราก็หาคำภาวนาโดยนั่งขัดสมาธิ ขวาทับซ้าย ทำไมต้องนั่งอย่างนี้ เพราะชีวิตเราไม่มีระเบียบ ไม่มีชีวิตที่มีลำดับ ไม่มีชีวิตที่มีบุคลิกท่าทางสง่าผ่าเผย เพราะว่าขาดขันติและโสรัจจะ

ท่าที่สงบที่สุดก็คือ การสำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เกิดขันติโสรัจจะ และเป็นฐานให้เกิดสมาธิ การทำสมาธิเท่ากับฝึกขันติด้วย ฝึกโสรัจจะที่ไม่มีอยู่ในชีวิตเรา เป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพแห่งผู้ประเสริฐ

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:36:40 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : )


  สลักธรรม 5


คนไม่รู้ว่าทำไมต้องนั่งสมาธิด้วยการขัดสมาธิ แล้วก็บอกว่าไม่เห็นเป็นไร ไม่ขัดสมาธิได้ไหม เพราะดูที่จิต สมาธิเกิดขึ้นที่จิต แต่ต้องไม่ลืมว่าเป็นการยากที่จิตจะสมาธิ เพราะจิตมีลักษณะ ๔ อย่าง คือ รักษายาก ห้ามยาก ดิ้นรน กวัดแกว่ง

การนั่งขัดสมาธิทำให้บุคลิกภาพดี ไม่ขยับเขยื้อน ทนทำให้เกิดขันติ ไม่มีคำพูด มีแต่คำภาวนาในใจ ทำให้เกิดโสรัจจะ ธรรมที่เชิดชูชีวิตเกิดขึ้นแล้ว คำภาวนาเป็นการสร้างสมาธิ เช่น โอมหัง วันโท นะโมพุทธายะ แต่ชีวิตของคนเราไม่ชอบทนทำความดี แต่ชอบทนทำความชั่ว ยกตัวอย่างเช่น คนตกปลา มีสมาธินะแต่เป็นมิจฉาสมาธิ ยืนตั้งแต่เช้ายันบ่าย เพื่อพยุงเบ็ด บางครั้งได้ปลาตัวเดียว แต่เราไม่เคยอดทนในความดี สมาธิเป็นเรื่องของความดี จึงต้องมีงานที่จะต้องทนต่อความลำบาก

ขันติคือนั่งท่าเดียวลำบากเพราะมันเมื่อย แต่ต้องหัดทนเพื่อให้จิตนั้นควบคุมให้เกิดขันติธรรม ธรรมที่เกิดความอดทน ท่านั่งจึงเป็นท่าที่บุคลิกสง่าผ่าเผยที่สุด จึงยังแนะนำอยู่ว่าการทำสมาธิควรนั่งขัดสมาธิแล้วทำ เพราะองค์คุณเกิดขึ้นตลอด เสริมสร้างบุคลิกลักษณะ ทำให้เราเป็นบุคคลที่สง่าผ่าเผย อุปนิสัยก็จะเป็นคนมั่นคง ฐานตรงไม่หลังค่อม ให้เวลาตนเองทนทำความดี ๑๐ นาที แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาเป็น ๑๕ หรือ ๒๐ นาที ตามลำดับ พอทำมากขึ้นแล้วจะลดลงก็ได้เพราะเรามีสิทธิ แต่เราใช้สิทธินั้นไปกับความดี ไม่มีใครมาห้ามเราเลย

การที่เราทำสมาธินั้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตนั้นเชื่องกับธรรมะ ต่อขันติ ต่อความอดทน ไม่ให้วุ่นวายไปในกามราคะ พยาปาทะ ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา แต่ก็ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ แต่ก็เรียกว่าเป็นการกระทำดีแล้วล่ะ เป็นการบรรเทาทุกข์เพราะจิตจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน

แต่พระพุทธเจ้าทรงชี้สุขเกษมศานต์ คือ ชี้ทางมรรคอันมีองค์ ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือจะเรียกว่า มหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นหนทางนำสัตว์โลกทั้งหลายไปจากวัฏสงสารคือ รอบแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่รู้จักจบสิ้น

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:36:57 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : )


  สลักธรรม 6


การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

เมื่อเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น ถ้าเราเป็นฆราวาสเคยรับประทานอาหาร ๓ มื้อ ก็ให้กินเหมือนเดิมหรือหากจะเปลี่ยนเป็น ๒ มื้อ ก็ต้องมีเหตุผลตลอดว่ารับประทาน ๒ มื้อเพื่ออะไร? เพราะความอยากนั้นเป็นนิกันติ ฉะนั้น การปฏิบัติจึงต้องมีเหตุผลตลอด การหยุดโลภะ คือการหยุดเกิดนั่นเอง เพราะตัวโลภะทำให้เกิดอยู่ การอยากเห็นเท่ากับต้องการดวงตา และดวงตามาหลังชีวิต

ฉะนั้น การอยากเห็นจึงเป็นการต้องการชีวิตโดยปริยาย อยากได้ยิน ก็คืออยากได้หู ฉะนั้น อยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากรู้รส อยากถูกต้องสัมผัส อยากมี อยากเป็น อยากไม่มี อยากไม่เป็น ก็ความอยากต่างๆ ทำให้เกิด ฉะนั้นอย่าอยู่อย่างอยาก คือคำตอบว่า ตัณหาอวิชชาเท่านั้นเป็นตัวที่ทำให้วัฏฏะเนิ่นนาน

พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า สัตว์โลกทั้งหลายมิสามารถข้ามห้วงมหรรณพแห่งตัณหาและอวิชชาได้ สัตว์โลกทั้งหลายไม่สามารถถึงฝั่งพระนิพพานได้เลย

ทุกอย่างเกิดขึ้นที่จิต ไม่เกิดก็เพราะจิต จิตที่ตกเป็นทาสตัณหาอวิชชาก็เกิด ส่วนจิตที่ทำให้เหนืออำนาจตัณหาอวิชชา จิตก็ดับ ไม่เกิดอีกต่อไป

เราต้องทำให้ได้ เราเอาวิชาพระพุทธเจ้าไปรื้อนายช่างผู้สร้างเรือนคือตัณหาอวิชชา เราไม่ได้รู้จักเองนะ แต่รู้จักเพราะพุทธเจ้า เราง่ายกว่าพระพุทธเจ้า เพราะยามว่างจากพระพุทธศาสนาแล้วจะไม่มีใครรู้ มีแต่ชีวิตที่โง่หมด

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไปค้นพบว่า การเกิดนี้ใครเป็นผู้สืบสาน กว่าจะพบว่าคือ ตัณหาอวิชชานี้ ท่านลงทุนเป็นอสงไขย เราผู้สืบทอดนั้น เอาวิชาที่ท่านได้มาไปสืบสานต่อเท่านั้นเองด้วยความไม่ประมาท

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:38:12 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : )


  สลักธรรม 7


ถาม การที่เรามีสติตามดูอย่างเดียว กับการที่เราระลึกรู้ในรูปนาม อย่างไหนจะตัดกิเลสได้ เพราะเหตุใด

ตอบ กิเลสเป็นโรคร้ายทางใจที่เกาะกินใจเรามา ทำให้เราต้องมีการเกิดอยู่จนทุกวันนี้ แม้กระทั่งมีความรู้ขนาดนี้ สอนธรรมะได้อย่างเช่น พระอาจารย์บุญมี เมธางกูร ท่านมีความรู้มากมาย แต่ทางที่ท่านเดินนั้นยังไม่สุกงอม แล้วท่านเสียสละ ท่านอธิษฐานเป็นพระอานนท์ของพระพุทธเจ้า พระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคต นั่นคือสิ่งที่สกัดท่านส่วนหนึ่ง

กิเลสต่างจากฉันทะ เจตนาอธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้า พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอานนท์ เป็นพุทธวงศ์ที่จะช่วยรื้อสัตว์ขนสัตว์นั้นเป็นธรรมฉันทะ เป็นความยินดีที่ประกอบไปด้วยปัญญา เป็นความปรารถนาดีที่เกิดจากจิตที่มีพรหมวิหารธรรม มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และพวกที่ต้องการพระนิพพาน ไม่ใช่กิเลส แต่เป็นธรรมฉันทะ

ฉะนั้นต้องศึกษาเรื่องกิเลสว่าที่เราไม่พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดนั้นเพราะเรามีกิเลส ๓ ตระกูลคือ ตระกูลโลภ โกรธ หลง และกิเลสแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น

๑.กิเลสอย่างหยาบแสดงออกทางกายวาจา เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดโกหก การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น กิเลสชนิดนี้ตัดง่ายเพียงตั้งใจถือศีล อย่าให้ศีล ๕ ขาด กิเลสอย่างนี้ก็ถูกตัดออกไปเรียกว่า ตทังคปหาน แต่ผู้ถือศีลไม่ว่าจะเป็นศีล ๒๒๗ ของพระสงฆ์ พระก็ยังฟุ้งซ่านรำคาญใจ นึกคิดเรื่องอนาคต นึกคิดหวั่นไหว จะเป็นอย่างไรไหม จะปกครองวัดได้ไหม วัดจะมีคนสนับสนุนไหม สารพัด

๒. กิเลสอย่างกลาง ได้แก่ นิวรณ์ ๕ อันนี้ศีลช่วยไม่ได้เลย ต้องมีสมาธิ คือ การที่จิตกำหนดอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว ในขณะนั้นจิตก็เหมือนเอาหินไปทับหญ้า มีความแข็งแกร่งกว่าความฟุ้ง คือให้จิตมีงานทำเป็นเอกัคคตาเจตสิก เป็นจิตที่มีความมั่นคงเด็ดขาดในขณะนั้น

๓. กิเลสอย่างละเอียด แต่ทั้งศีลและสมาธิซึ่งมีพลังมากแล้ว ก็ไม่สามารถตัดกิเลสอย่างละเอียดได้ ต้องอาศัยปัญญา เพราะกิเลสอย่างละเอียดนี้เป็นอาสวกิเลส อาสวะที่นอนนิ่งอยู่ในขันธสันดาน ท่านเปรียบไว้ว่า มีคลองๆ หนึ่ง น้ำใสแจ๋ว มีจอกแหน มีปลา แล้วเมื่อเอาไม้ไปกวนๆ น้ำก็ขุ่น ถามว่าน้ำขุ่นมาจากไหน ก็มาจากดินโคลนข้างล่างนั่นเอง ดินโคลนนั้นเปรียบเหมือนอาสวะ

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:40:17 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : )


  สลักธรรม 8


อาสวะมี ๔ คือ

๑. ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิดที่เนิ่นนานไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ อันนี้จะตัดได้ต้องอาศัยมรรคจิต ตอนเป็นพระโสดาบัน

๒. ภวะสวะ คือ ความเห็นผิดยึดติดในภพทั้ง ๓ ได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

๓. กามาสวะ คือ ความยินดีติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทุกคนมีความยินดี

๔. อวิชชาสวะ คือ ความเห็นผิดอย่างอุกฤษฏ์

พระโสดาบันทำลายทิฎฐาสวะได้ พระสกิทาคามีทำลายภวาสวะโดยทำให้เบาบาง พระอนาคามีทำลายภวาสวะได้หมด พระอรหันต์ทำลายกามาสวะและอวิชชาสวะได้หมด ฉะนั้นกามนี่ยากที่สุด เราต้องเริ่มหัดตั้งแต่วันนี้

ที่ถามว่ามีสติระลึกรู้เฉยๆ กับมีความตั้งใจตัดโลภะ อย่างไหนจะตัดกิเลสได้ ตอบว่าการเจริญสติเป็นของดี แต่สติอันนี้ไม่สามารถตัดวัฏฏะได้ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดพลังที่จะนำไปเป็นยุทธวิธีในการตัดได้ง่ายกว่าคนอื่น ฉะนั้นสติต้องประกอบด้วยปัญญา

สติเป็นกุศลที่เกิดขึ้นได้ทันที เป็นกุศลชนิดเดียวในโลกนี้ที่ไม่ต้องรอภพหน้า เช่น ทำทานต้องรอให้ผลในชาติหน้า ถือศีลให้ผลในชาติหน้า แต่สติคือหัวใจของพระพุทธศาสนา เช่น เราจำอะไรไม่ได้แล้วอยู่ๆ ระลึกได้ ขณะนั้นสติเกิดขึ้น ทำลายความโง่ความหลงลืมได้ทันที สติเป็นกุศลชนิดเดียวที่เกิดขึ้นได้รับทันที สติเมื่อถูกฝึกมากๆ ก็เรียกว่า มหาสติ

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:40:56 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : )


  สลักธรรม 9


สติเกิดขึ้นเองโดยปราศจากปัญญา เช่น ระลึกได้ว่าสตางค์อยู่ตรงนี้ เป็นต้น ถ้าเทียบนิ้วทั้ง ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา สติเปรียบเหมือนนิ้วกลาง เป็นนิ้วที่สูงที่สุด แต่ด้อยพัฒนา เรามีสติแค่ป้องกันการทักคนผิด กันบ้า กันเดินชนโต๊ะ ทักแม่ทักพ่อผิด เมื่อขาดสติแล้ว ก็เข้าศรีธัญญาเลย

ฉะนั้นสติจึงเป็นเรื่องสำคัญ มันด้อยพัฒนา แต่เราให้ความสำคัญกับศรัทธา ศรัทธาบุคคลเสียมากกว่า วิริยะความเพียรก็ขยันตามเครื่องล่อหรือรางวัล สมาธิก็ฝึกกันจะได้หน่วยความจำดี ปัญญาก็เรียนกันจนเป็นศาสตราจารย์ แต่เราไม่เคยฝึกสติ ฉะนั้นสติเมื่อเทียบกับตัวอื่นแล้วด้อยพัฒนา พระพุทธเจ้าเห็นว่าสตินี่แหละที่ด้อยพัฒนา การพัฒนาการไปในทางมรรค ๘ จึงไม่มี พระพุทธเจ้าจึงเห็นค่าของสติ

ฉะนั้นสติเกิดขึ้นเองตามลำพังได้ แต่ปัญญาเกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้เด็ดขาด ต้องมีสติคนบ้าๆ บอๆ เห็นใครถามอะไร ก็เอาเรื่องเอาราวไม่ได้ เอาคนบ้ามาสอนก็สอนไม่ได้ ฉะนั้นปัญญาต้องอาศัยคนมีสติ

การเจริญสตินั้นดีแล้ว แต่ควรประกอบด้วยปัญญาเพื่อทำลายความโง่อีกทีหนึ่ง

สติคือ การระลึกรู้สึกตัวว่า นั่งอยู่ เช่น นั่งอยู่ แต่นั่งเป็นของเทียมแล้ว ฝรั่งเรียกว่า sit down เป็นผู้ชาย ก็สมมติแล้ว ฝรั่งเรียกว่า man เขียว เหลือง แดง เป็นสมมติหมด ภายใต้สมมติทั้งหลายคือปรมัตถธรรมคือ รูปและนาม นั่งเป็นรูป สติระลึกรู้สึกตัวว่ากำลังนั่งอยู่นั่นคือสติ แต่ถ้ารู้สึกตัวว่ารูปนั่ง ก็คือสติประกอบด้วยปัญญา ทำลายวิปลาสว่าเป็นคนเป็นสัตว์ ฉะนั้นควรจะเจริญสติและมีปัญญาเข้าร่วม สติมา สัมปชาโน อาตาปี เมื่อสามัคคีนั้นคือพระนิพพาน ทำลายอาสวะทั้งหมด

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:41:14 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : )


  สลักธรรม 10


ถาม การเจริญสติตอนใกล้ตายจะส่งเราให้ไปพ้นอบายภูมิแน่นอนไหม กับการที่เราเจริญสติอยู่ตลอด อันไหนจะมีกำลังมากกว่ากัน

ตอบ คนใกล้ตายได้รับอารมณ์ไม่ดี ย่อมมีที่ไปคือทุคติภูมิ คนป่วยที่ทรมานแล้วตายส่วนใหญ่อารมณ์ไม่ดีทั้งนั้นเลย ไปทุคติ หากจะได้ดีที่สุดก็คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากนำเกิด คือ เป็นมนุษย์ก็ไม่สมบูรณ์

หากว่าเวลาใกล้ตายเห็นพาน เพราะทำบุญใส่บาตร ทำทานไว้มาก ก็ไปที่ดี

หากว่าเวลาใกล้ตายเห็นป่า ความมืดทึบ ก็ไปเกิดเป็นเปรต

หากว่าเวลาใกล้ตายเห็นฟ้ากว้าง ก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย

ฉะนั้นต้องหมั่นมองดี คิดดี ให้เป็นกุศลอยู่เสมอ

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [9 ก.ค. 2557 , 13:47:56 น.] ( IP = 125.27.170.190 : : )
[ 1 ] [ 2 ]

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org