มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


การปฏิบัติวิปัสสนามีความมุ่งหมายอะไร?









การปฏิบัติวิปัสสนามีความมุ่งหมายอะไร?
(คัดตัดตอนมาจากหนังสือการปฏิบัติวิปัสสนา ของอภิธรรมมูลนิธิ)
โดย อาจารย์บุญมี เมธางกูร ( พระอาจารย์บุญมี เมธังกุโร)


บทเรียนทั้งหลายในโลกนี้มีมากยิ่งนัก แต่ไม่มีบทเรียนใดที่ได้ประโยชน์ มีคุณค่า มีสาระแก่นสารใหญ่หลวงเท่าบทเรียนที่ว่าด้วยเรื่องชีวิต เพราะเมื่อได้ศึกษามีความรู้ความเข้าใจแล้ว ก็จะสามารถแก้ปัญหาให้แก่ชีวิตของตนเองได้

และบทเรียนที่จะให้เข้าใกล้ชิดกับความจริงในเรื่องของชีวิตได้มากที่สุดนั้น ก็ไม่มีบทเรียนใดเกินบทเรียนเรื่องชีวิตจากพระปรมัตถธรรม หรือพระอภิธรรมปิฎก เพราะสามารถอธิบายความเป็นมา และความเป็นไปของชีวิตได้อย่างละเอียดลออทุกแง่ทุกมุม

บทเรียนเรื่องชีวิตนั้น เป็นบทเรียนที่ค่อนข้างยุ่งยากสลับซับซ้อน แต่ก็มีประโยชน์มีสาระแก่นสารมากที่สุด เกินคุ้มกับความยากลำบากของผู้ศึกษามากนัก

ในบรรดาบทเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องของชีวิตด้วยกัน ก็ไม่มีเรื่องชีวิตอันใดมีคุณค่ามหาศาลเท่าการศึกษา และการปฏิบัติไปในหนทางที่จะให้หลุดรอดไปจากเครื่องพันธนาการ หลุดรอดจากความโศกเศร้า ร่ำไห้รำพัน หลุดรอดไปจากความทุกข์ยากลำบากใหญ่น้อยทั้งมวล และพ้นไปจากการที่จะต้องแก้ปัญหาให้แก่ชีวิตได้ตลอดนิรันดร นั่นก็คือวิปัสสนากรรมฐาน อันเป็นเรื่องของชีวิตส่วนหนึ่งในอภิธรรมปิฎกนั่นเอง

โดย ศาลาธรรม [17 พ.ย. 2557 , 15:56:58 น.] ( IP = 118.175.245.233 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ
[ 1 ] [ 2 ]


  สลักธรรม 1




ไม่มีผู้ใดเคยทราบมาก่อนเลยว่า ความทุกข์อันแท้จริงนั้นคืออะไร นอกจากจะรู้เรื่องของทุกขเวทนา เช่น เจ็บ ป่วย หรือไม่สบาย เมื่อได้อารมณ์ที่ตนไม่ชอบ ซึ่งชีวิตทั้งหลายกำลังประสบอยู่

ไม่มีผู้ใดเคยทราบมาก่อนเลยว่า ความทุกข์ทั้งหลายที่ครอบครองชีวิตอยู่นั้นมีสาเหตุเกิดมาจากอะไร นอกจากจะเข้าใจทุกข์ตื้นๆ เผินๆ เพียงอาศัยเหตุว่า ไม่มีข้าวจะกิน ไม่มีเงินจะใช้ ไม่มีบ้านจะอยู่

ไม่มีผู้ใดเคยทราบมาก่อนเลยว่า หนทางที่จะไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิงและได้ตลอดนิรันดรนั้นไปทางไหน นอกจากจะทราบแต่เพียงว่า เมื่อหิวกระหายก็ไปกินไปดื่ม แล้วก็สบาย แก้ทุกข์ได้ชั่วคราว

ไม่มีผู้ใดเคยทราบมาก่อนเลยว่า กิเลส กล่าวคือ โลภะ, โทสะ และโมหะ ที่แฝงประทับอยู่ภายในจิตใจ เป็นตัวการก่อให้เกิดความเศร้าหมองเร่าร้อน เป็นตัวการก่อให้บังเกิดขึ้นซึ่งชีวิต แล้ววนเวียนอยู่ในภพชาติต่างๆ ไม่มีใครมีความสามารถทำลายมันให้หลุดถอนออกไปจากจิตใจ หรือมีหนทางที่จะทำลายมันเสียได้อย่างแน่นอนเด็ดขาดได้อย่างไร

ไม่มีผู้ใดเคยทราบมาก่อนเลยว่า ความเศร้าโศกเสียใจรำพัน ความระทมตรมตรอมใจ เมื่อไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนา หรือเมื่อได้พลัดพรากจากสิ่งอันตนปรารถนานั้น มีโอกาสที่จะทำลายให้หลุดถอนออกไปได้ แม้แต่จนมฤตยูก็หมดโอกาสที่จะมาวนเวียนเรียกร้องถามหาได้อีกต่อไป

โดย ศาลาธรรม [17 พ.ย. 2557 , 15:57:27 น.] ( IP = 118.175.245.233 : : )


  สลักธรรม 2




ไม่มีบทเรียนในเรื่องอะไร ไม่มีพิธีกรรมของลัทธิใด และไม่มีกิจกรรมของศาสนาไหน ที่จะทำให้ชีวิตถึงซึ่งความบริสุทธิ์สะอาดจนหมดสิ้นเชิงได้ ที่จะทำให้ความทุกข์ดับสูญหมดสิ้นลงได้ นอกจากการศึกษาปฏิบัติกิจสูงที่สุด ประเสริฐที่สุดในพระพุทธศาสนา นั่นก็คือ วิปัสสนากรรมฐาน

แต่บทเรียนแบบฝึกหัดเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่ผู้ใดจะคิดค้นว้าเอาเองได้ เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เร้นลับซับซ้อน พิสดารยิ่ง เกินกว่าใครจะคาดคะเนถึงเพราะเป็นเรื่องของปัญญาอันละเอียดอ่อนที่แอบแฝงซ่อนเร้น ผู้ที่มีความเข้าใจอย่างผิวเผินก็ย่อมจะเข้าถึงความจริงไม่ได้

อีกประการหนึ่งก็เพราะหลักฐานการศึกษาและปฏิบัติส่วนมาก ไม่อาจที่จะแสดงให้เป็นถ้อยคำหรือเป็นตัวอักษรที่จะให้เข้าถึงความจริงแท้อันเป็นปรมัตถ์เหล่านั้น จึงต้องอาศัยการแสดงโดยแวดล้อมเทียบเคียงจึงจะเข้าใจ ทั้งยังต้องอาศัยการศึกษาให้กว้างขวาง ยิ่งการปฏิบัติด้วยแล้วจำต้องฝึกฝนจนมีสันทัดจัดเจนทีเดียว ผู้มีปัญญาบารมีมาก สำเร็จง่าย แต่ก็ได้ผจญความยากมาในอดีตชาติ

ดังนั้น ผู้ที่ฝึกหัดเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน ต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผลของตนเอง ไม่ได้มีศรัทธานำหน้าแต่อย่างเดียว แล้วจะต้องอาศัยองค์ธรรมปรมัตถสภาวะเป็นหลักการตัดสิน อาศัยหลักปริยัติเป็นแผนที่มิให้ออกนอกทิศทาง แล้วอาศัยความสันทัดในการปฏิบัติพร้อมทั้งความรักในเหตุผลเป็นชีวิตจิตใจเข้าช่วย มิใช่ทำไปตามตัวหนังสือ เพราะเพียงแค่ตำราอย่างเดียวเท่านั้นทำอย่างไรก็อธิบายให้เข้าถึงความจริงแท้ไม่ได้

ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้เอง อาจารย์ผู้บรรยาย และอาจารย์ผู้ควบคุมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานซึ่งมีอยู่มากมายก่ายกอง ณ สำนักต่างๆ จึงได้ทำการสอนผิดแผกแตกต่างกันไป ตั้งแต่แตกต่างกันเล็กน้อยไปจนถึงแตกต่างกันมากประดุจฟ้ากับดิน

โดย ศาลาธรรม [17 พ.ย. 2557 , 15:58:31 น.] ( IP = 118.175.245.233 : : )


  สลักธรรม 3




อาจารย์แต่ละท่านมีความหวังดี มีเจตนารมณ์ที่เป็นมหากุศล ยอมเสียสละ ยอมเสียประโยชน์ส่วนตัวด้วยอยากจะให้ศิษย์ของตนพ้นทุกข์ พ้นความเดือดร้อน และพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นบุคคลที่หาไม่ได้ง่ายนัก

แต่ที่สอน ไปคนละอย่างคนละทางก็เพราะเป็นความคิดเห็น เป็นความเข้าใจของตนอย่างนั้นจริงๆ มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งหรือริษยาอาจารย์อื่นแต่ประการใด แต่เพราะศรัทธาความเชื่อมั่นในความเห็นของตนที่มีอยู่ภายในส่วนลึกของใจมากเกินไป จึงได้ตัดสินไปตามที่เชื่อมั่นนั้น บางท่านไม่ยอมฟังเหตุผลของผู้อื่นเลย หรืออาจจะเห็นว่าของผู้อื่นไม่ถูกต้องไปเสียหมด

พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นได้ล่วงเลยระยะเวลามานานกว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว เราหมดหนทางที่จะได้อาศัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์องค์ใดๆ ที่จะมาเป็นครูอาจารย์ แนะแนวทางพ้นทุกข์ให้แก่เราโดยตรงได้ เราก็จำต้องอาศัยปริยัติพร้อมทั้งเหตุผลมาเป็นหลักประกอบ

สถานที่ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นนี้มีมากมายก่ายกอง แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่า หนทางที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้นเป็นหนทางแห่งสัจธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้เป็นการถูกต้องแน่นอน และเป็นหนทางที่จะทำให้ชีวิตหลุดรอดไปจากความทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด

อาจารย์บางท่านก็ว่า “ทำไปเถิด ทำไปเถิด เมื่อถึงคราวแล้วมันจะถึงเอง เมื่อถึงเวลาแล้วจะรู้ขึ้นมาเอง เมื่อเกิดสมาธิมากขึ้นแล้ว ปัญญาก็จะเกิดเอง”

ถ้าเราไม่ได้เหตุไม่ได้ผลอะไรจากทฤษฎีเสียแล้ว เมื่อปฏิบัติไปประสบเหตุการณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏแก่จิตใจซึ่งเราไม่เคยได้รู้ได้เห็นมาก่อน เราก็อาจทึกทักว่า บัดนี้เราได้ถึงที่สุดของการปฏิบัติเข้ามาแล้ว เราถึงมรรคผลแล้ว โดยที่มิได้เข้าใจเหตุผลอะไรแม้แต่เล็กน้อยเลยก็ได้

โดย ศาลาธรรม [17 พ.ย. 2557 , 15:58:48 น.] ( IP = 118.175.245.233 : : )


  สลักธรรม 4




อาจารย์บางท่านก็ว่า “ให้กำหนดลมหายใจเข้าออกโดยดู(สำนึกรู้ลมหายใจเข้าออก) ให้รู้ว่า ลมเข้า ลมออก” พวกลูกศิษย์ก็ได้กำหนดตามไป จิตก็เกิดสมาธิจนสงบระงับดับความเร่ร้อนกระวนกระวาย แล้วก็เลยเข้าใจไปว่ากิเลสตัณหานั้นได้ถูกประหาณออกไปเสียมากแล้ว หรือตนได้ถึงขีดสูงสุดในการปฏิบัติแล้ว

อาจารย์บางท่านก็ให้พิจารณาร่างกาย เพ่งให้เกิดสมาธิจนเห็นว่าร่างกายนี้สกปรกโสโครก ร่างกายนี้ไม่สวยงามไม่น่ารักอะไรเลย มีแต่ความเน่าเปื่อยแตกสลาย แล้วพิจารณาจนเห็นเป็นแต่โครงกระดูก แล้วจึงเพ่งให้เห็นเพลิงลุกโหมเผาโครงกระดูกนี้จนเป็นธุลี จิตจึงไม่มีโอกาสติดใจในรูปอะไรอีกต่อไป จิตจึงพ้นความผูกพัน และในไม่ช้าก็จะหลุดออกไปจากความเกี่ยวเกาะในสิ่งทั้งปวงและย่างเข้าสู่มรรคผลในที่สุด

การคิดเห็นไปดังที่กล่าวมานี้เป็นการคิดเห็นโดยการสร้างมโนภาพขึ้นทั้งนั้น หาได้ประสบความจริงไม่

อาจารย์บางท่าน สอนไม่ให้ยึด ไม่ให้เกาะในสิ่งสารพัดทั้งปวงเมื่อเห็นสิ่งที่ดีก็ไม่ให้ติดใจ เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ยอมรับอารมณ์ใดๆ ไม่ให้ความโกรธความไม่พอใจเกิดขึ้น ทำใจให้เฉยๆ เสีย ไม่ยอมรับรู้ในเรื่องอะไรทั้งนั้น เมื่อทำดังนี้ จิตก็จะเกิดปัญญาสามารถทำการประหาณกิเลสออกจากจิตได้

ความจริงการกำหนดจิต “เห็น” “ได้ยิน” เป็นต้นนี้ แล้วไม่ข้องแวะในสิ่งใดก็ไม่เกิดโลภะ ไม่เกิดโทสะขึ้นจริงๆ แต่หารู้ไม่ว่าในขณะนั้นจิตกำลังตกอยู่ภายใต้โมหะ การที่ทำเฉยเสียเท่ากับเป็นการสร้างบ้านเรือนให้โมหะอยู่ได้อย่างสบาย

โดย ศาลาธรรม [17 พ.ย. 2557 , 15:59:05 น.] ( IP = 118.175.245.233 : : )


  สลักธรรม 5




อาจารย์บางท่านสอนให้ทำสมาธิทำให้จิตไม่ให้เกาะเกี่ยวสิ่งใด ไม่ให้จิตหลงใหลในเรื่องอะไร ไม่ให้เห็นคนเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ ให้ถอยจิตไปจากความยึดมั่นทั้งหลาย แล้วทำใจให้ว่างเปล่า พ้นจากความยึดมั่นในสิ่งใด จะเป็นทางเข้าไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย ถึงมรรค ผล นิพพานเองโดยไม่ต้องไปคร่ำเคร่งทรมานร่างกายแต่อย่างใด

การกระทำดังนี้หาได้เป็นไปตามสภาวธรรมไม่ เพราะจิตนั้นย่อมจะต้องมีอารมณ์อยู่เสมอหยุดไม่ได้เลย แม้ใขณะหลับสนิทก็ตาม แล้วการไม่ยึดว่าเป็นคนเป็นสัตว์นั้นเป็นการสร้างจินตนาภาพขึ้นมาเองหาได้เป็นไปจริง ๆ ไม่ หาได้เข้าไปรู้เห็นความจริงสิ่งใด ที่มีอยู่ต่อหน้าในขณะนั้น จึงหนีโมหะหรืออวิชชาให้พ้นไปไม่ได้เลย

อาจารย์บางท่านสอนว่า ทุกๆ คนนั้นมีร่างกายเป็นสองชั้น ชั้นนอกเป็นกายเนื้อ ชั้นในเรียกว่ากายทิพย์ อยู่เฉยๆ ก็ไม่อาจจะรู้เห็นอะไรได้ แต่เมื่อทำสมาธิมากๆ ขึ้นก็จะบังเกิดความสามารถจนถึงส่งกายทิพย์ขึ้นไปบนสวรรค์วิมานได้ทั้งๆ ที่กายเนื้อนั่งสมาธิอยู่ แม้ถึงพรหมโลกก็สามารถไปถึงได้ภายในพริบตาเดียว หรือต้องการรู้เห็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น เมื่อจิตถึงขั้นนั้นแล้ว จะกำหนดให้ถึงมรรคผลนิพพานก็ไม่เห็นจะยากเย็นอะไร ก็ให้กำหนดความว่างเปล่าไม่มีอะไรเสีย ให้เห็นหรือรู้สิ่งอะไรก็ให้สูญไปหมด เมื่อจิตไม่ยึดสิ่งไรแล้ว นั่นก็คือนิพพานอันเป็นการล่วงพ้นไปจากทุกข์ไปได้ขั้นหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น

ที่ยกตัวอย่างขึ้นมานี้ก็เพื่อให้เป็นที่สังเกตพิจารณาดูว่า การปฏิบัติในวิธีการดังกล่าวประกอบด้วยเหตุผลตลอดจนหลักฐานข้อเท็จจริงเพียงใด ถ้าการกระทำดังนั้นเป็นการถึงมรรคผลแล้ว ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะไร้ความหมาย วิปัสสนามิใช่สมถกรรมฐานที่เพียงทำจิตให้สงบแล้วก็เป็นการเพียงพอ แต่จะต้องมีปัญญาเกิดขึ้นด้วย แล้วก็มิใช่ปัญญาสามัญทั่วไป แต่จะต้องมีปัญญารู้ความโง่ที่เป็นตัวปิดบังซ่อนเร้นความจริงของชีวิตว่ามันอยู่ตรงไหน

โดย ศาลาธรรม [17 พ.ย. 2557 , 15:59:20 น.] ( IP = 118.175.245.233 : : )


  สลักธรรม 6




การปฏิบัติวิปัสสนามีความมุ่งหมายอะไร?

ก่อนอื่น เราควรจะทำความเข้าใจกันเสียให้ถ่องแท้ว่า ผู้เข้าปฏิบัติเหล่านั้นเข้าปฏิบัติโดยมีความปรารถนาอะไรอยู่ในใจ

บางท่านมีจิตใจฟุ้งซ่านรำคาญตั้งอยู่ในอารมณ์อะไรไม่ค่อยได้ เมื่อได้ยินเขาว่า เข้าปฏิบัติแล้วใจคอสงบเยือกเย็นดี จึงได้มาปฏิบัติ

บางท่านมีเหตุยุ่งยากเกิดขึ้นในครอบครัว ได้รับความทุกข์ความเร่าร้อนเป็นอันมาก เศรษฐกิจไม่สมดุล มีความผิดพ้องหมองใจกัน เกิดความเข้าใจผิด คิดอะไรไม่สมปรารถนา บุคคลอื่นไม่เป็นไปดังใจ จึงมาปฏิบัติเพื่อหวังจะได้รับสิ่งเยือกเย็นใจ

โดย ศาลาธรรม [17 พ.ย. 2557 , 15:59:34 น.] ( IP = 118.175.245.233 : : )


  สลักธรรม 7




บางท่านได้รับคำบอกเล่าจากผู้รู้ว่า การกระทำกุศลอะไรก็ได้ไม่เท่ากับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงมาเข้าปฏิบัติเพื่อหวังจะได้กุศลผลบุญมากๆ เพราะเมื่อได้กุศลมากแล้วก็คงจะไม่ไปตกนรก แล้วคงจะไม่ตกระกำลำบาก หรือยากจนอดอยาก เหมือนในชาตินี้

บางท่านได้ฟังเขาพูดว่าถ้าปฏิบัติอย่างจริงจังก็เป็นผู้มีอำนาจทางจิต จะว่าคาถาเสกเป่าอะไรก็ขลังดี จะทำพิธีอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ จะบังคับจิตใจของตนก็ได้ จะให้หลับให้ตื่นเวลาไหน หรือให้ทำอะไรก็เป็นผลสมความตั้งใจ จึงได้อดต่อความลำบากเพื่อหวังผลอันนั้น

บางท่านได้ฟังผู้ที่ได้ผ่านการปฏิบัติมาแล้วบอกว่า “ดี ดี” ก็อยากจะดีบ้างเห้นใครเขาไปกันเป็นแถวก็อยากจะไปกับเขาบ้าง เขาได้รู้เห็นสิ่งแปลกประหลาดมา ก็อยากจะรู้จะเห็นเหมือนเขาบ้าง หรือเกิดความเจ็บป่วยเรื้อรังบางประการแล้วเขาบอกว่าหาย ก็อยากจะหายบ้าง จึงได้มาเข้าปฏิบัติ

ตามที่ได้กล่าวมานี้เป็นเจตนาที่ยังไม่ตรงต่อจุดหมายในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จึงควรหาทางเข้าใจในเหตุผลนี้เสียก่อน จริงอยู่ ที่มีการกล่าวว่าจะเข้าใจมาก่อนหรือไม่เข้าใจอย่างไรก็ลงมือปฏิบัติได้เหมือนกัน แต่ผลที่ได้รับนั้นย่อมต่างกัน

โดย ศาลาธรรม [17 พ.ย. 2557 , 15:59:54 น.] ( IP = 118.175.245.233 : : )


  สลักธรรม 8




เราควรตั้งความมุ่งหมายอย่างไรจึงจะดี?

ก็ควรจะได้ศึกษาให้เข้าใจก่อนว่า สัตว์ทั้งหลายต่างตกอยู่ในสภาพของความทุกข์ ต่างดิ้นรนขวนขวายในเรื่องกินอยู่และเรื่องต่างๆ พยายามหาหนทางที่จะได้เห็น ได้ยิน คิดนึกในเรื่องที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหวังจะมีความสุข แต่ก็หาได้พ้นไปจากทุกข์ไม่ ต้องแก้ปัญหาให้แก่ชีวิตทุกวี่วันไม่ได้หยุดเลยแม้แต่วินาทีเดียว

เราไม่อาจได้อารมณ์ที่ดีที่เราปรารถนาได้ตามใจชอบ เราไม่อาจห้ามปรามขัดขวางไม่ให้เราแก่เฒ่า หรือตาย เราไม่อาจบังคับบัญชาร่างกายและจิตใจให้ตั้งอยู่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง เราจะต้องบริหารหรือประคบประหงมร่างกายและจิตใจเป็นอย่างดีที่สุดอยู่ตลอดเวลา แต่ก็หาได้เพียงพอและเป็นไปตามความปรารถนาของเราไม่

ความโลภ ความโกรธ ความหลงที่ครอบครองจิตใจอยู่นั้นเล่าก็ย่อมจะพาเราไปสู่ความลำบากมิได้หยุดยั้ง ก่อให้เกิดความเร่าร้อน ทุกข์ทรมาน บีบคั้นให้ดิ้นรน ซัดส่ายไม่มีความเป็นปกติได้เลยอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ชีวิตทุกชีวิตที่อุบัติขึ้นมา จึงหนีไม่พ้นจากความยากลำบากแสนสาหัส

เมื่อชีวิตได้สิ้นสุดลงในชาตินี้แล้ว ความทุกข์ทั้งหลายก็หาได้สิ้นสุดลงตามความสิ้นไปของชีวิตไม่ เพราะบาปหรือบุญก็ดีที่ได้ทำมาแล้วก็ย่อมเป็นกำลังส่งให้จิต เจตสิก กรรมชรูปอุบัติขึ้นมาอีก คือต้องเกิดขึ้นมายังภพใหม่ชาติใหม่ให้ต้องแก้ปัญหาให้แก่ชีวิตต่อไป และถ้าไปเกิดในที่ไม่ดี ได้แก่ สัตว์นรก เปรต อสุรกายและสัตว์เดรัจฉาน ก็จะน่าหวาดหวั่นอย่างสุดแสน

เมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ว่า ชีวิตนี้สุดแสนจะลำเค็ญไม่น่าพิสมัยแต่อย่างใด เมื่อผู้ใดมีความเข้าใจความจริงของชีวิตดังนี้แล้ว เขาก็จะดิ้นรนหาหนทางที่จะไม่ต้องแก้ไขปัญหาอีกต่อไป คือ ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นั่นก็คือความสุขอันนิรันดร์

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการปฏิบัติสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิบัติเพื่อให้สัตว์หลุดรอดไปจากความทุกข์ทุกประการ ด้วยเหตุนี้ผู้ปฏิบัติจึงต้องตั้งความปรารถนาให้ตรงตามที่ได้กล่าวมานี้จึงจะนับว่าถูกต้องสมบูรณ์



โดย ศาลาธรรม [17 พ.ย. 2557 , 16:00:24 น.] ( IP = 118.175.245.233 : : )


  สลักธรรม 9

โดย ศาลาธรรม [17 พ.ย. 2557 , 16:01:30 น.] ( IP = 118.175.245.233 : : )


  สลักธรรม 10

ขอเชิญศิษยานุศิษย์ทุกท่านร่วมงานทำบุญอุทิศ

"๒๓ ปี รำลึกอาจารย์บุญมี เมธางกูร"

ณ .วัดราชโอรสาราม เขตจอมทอง
..กุฏิไทยมัลลิกา..

วันจันทร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗

๑๐.๐๐ น. พระสงฆ์ ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์
๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารเพล
๑๒.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน

จึงเรียนมาเพื่อทราบ
บุษกร เมธางกูร.

โดย เทพธรรม [21 พ.ย. 2557 , 17:55:01 น.] ( IP = 171.96.179.49 : : )
[ 1 ] [ 2 ]

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org