มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


พระอภิธรรมสังเขป (๒๔)







พระอภิธรรมสังเขป และธรรมบางประการที่น่าสนใจ
โดย พระนิติเกษตรสุนทร


ตอนที่ (๒๓) อ่านที่นี่

วิปัสสนากรรมฐาน


วิปัสสนากรรมฐานที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เจริญภาวนานั้น ก็เพื่อให้เกิดปัญญารู้ขึ้นเองเห็นประจักษ์แจ้งในสัจธรรมความจริงอันเป็นธรรมชาติที่มิได้มีการปรุงแต่ง เช่น มีการเกิดขึ้น ก็มีการดับไปเป็นธรรมดาไม่เปลี่ยนแปลงแปรผันเป็นอย่างอื่น ต่างจากความจริงที่โลกสมมติบัญญัติอันมิใช่เป็นความจริงแท้

วิปัสสนากรรมฐานเป็นวิธีการเข้าไปดูปรากฏการณ์เพื่อให้เห็นประจักษ์ซึ่งสัจธรรมความเป็นจริงตามธรมมดาที่เป็นอยู่ ไม่ใช่เข้าไปดูสมมติบัญญัติ และมิใช่เป็นการกระทำเพื่อแสดงฤทธิเดชดูฤกษ์ยามแต่ประการใดไม่

มนุษย์มีความปรารถนาพอใจในอิฏฐารมณ์อันเป็นอารมณ์ที่รักที่ชอบ และโดยที่โมหะความลุ่มหลงงมงายครอบงำอยู่ จึงมองไม่ใคร่เห็นสัจจธรรมความจริงตามสภาวะ เมื่ออารมณ์ใดเกิดขึ้นก็มักชอบผันแปรเปลี่ยนแปลง สัจจะความจริงนั้น ให้โน้มเอียงไปสู่อารมณ์ที่ตนรักที่ตนชอบ

แท้จริงปรากฏการณ์ที่เกิดเป็นอารมณ์ขึ้นนั้น ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามสภาวธรรมดา

มิได้มีการปรุงแต่งให้เป็นอารมณ์ดีที่น่าชอบใจ หรือเป็นอารมณ์ที่ไม่ดีไม่น่าชอบใจไม่

โมหะความหลงไม่รู้เท่าความจริงและติดอยู่ในสมมติบัญญัติของโลกจึงเสกสรรคิดนึกทำให้เป็นอารมณ์ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจไปตามการปรุงแต่งของจิตขณะหนึ่งๆ

โดย ศาลาธรรม [30 ต.ค. 2558 , 14:32:40 น.] ( IP = 101.51.104.88 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1

เช่น เสียงที่กระทบปสาทหู เกิดการได้ยินขึ้นตามสภาวะความจริงก็เป็นแต่คลื่นเสียงกระทบกับปสาทหู ไม่ใช่เสียงเพราะหรือไม่เพราะ แต่จิตของมนุษย์ผู้ติดอยู่ในสมมติบัญญัติ จึงปรุงแต่งเสียงนั้นออกไปเป็นเสียงเจื้อยแจ้วไพเราะบ้าง เป็นเสียงหยาบคายด่าว่าบ้างเป็นขณะๆ ไป

โปรดพิจารณาดูในขณะที่ทำธุระกังวลอยู่ในสิ่งใด เสียงเพลงอันไพเราะหรือเสียงหยาบคายที่เกิดขึ้นในขณะนั้น อาจเพียงได้ยินสักแต่ว่าเป็นเสียงเท่านั้น และไม่รู้สึกว่าไพเราะหรือหยาบคายในประการใด ทั้งนี้เพราะจิตใจไปกังวลอยู่ที่สิ่งอื่น และไม่มีการปรุงแต่งเกี่ยวแก่เสียงนั้นเกิดขึ้น หรือที่ว่าเป็นเสียงหยาบคายไม่ชอบใจนั้น ในบางครั้งอาจชอบใจเสียงนั้นเห็นว่าไพเราะดี

เช่น เด็กเล็กพูดหยาบ ผู้ใหญ่พากันชอบใจ ไม่คิดว่าเสียงนั้นเป็นคำหยาบ ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตใจถูกปรุงแต่งให้นิยมชมชอบในเสียงนั้นว่าเป็นเสียงของเด็กเล็กๆ น่าฟังน่าเอ็นดู เสียงหยาบคายก็กลายเป็นไพเราะไป

โดย ศาลาธรรม [30 ต.ค. 2558 , 14:33:11 น.] ( IP = 101.51.104.88 : : )


  สลักธรรม 2

ตามที่กล่าวมาแล้วนี้แสดงให้เห็นว่า เสียงนั้นเป็นธรรมชาติเป็นไปตามธรรมดา หากแต่ถูกปรุงแต่งเกิดขึ้นที่จิตใจจึงจะทำให้คิดไปว่าเสียงนั้นเพราะและไม่เพราะ

โดยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนให้มีสติสัมปชัญญะให้ทันต่อสภาวะความจริง มิให้หลงลืมไปตามสมมติบัญญัติของโลก

และการจะดูความจริงให้เห็นประจักษ์ได้นั้น จะต้องกระทำให้จิตใจสงบ ระงับจากอารมณ์ต่างๆ มิให้ฟุ้งซ่าน เอาไปผูกอยู่แต่ที่อารมณ์เดียว ให้จิตรวมลงเป็นสมาธิ จะได้ก่อให้เกิดพลังกำลัง เพ่งตรงศูนย์แห่งสัจธรรมความจริงแรงขึ้น เมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่านสงบระงับรวมลงเป็นสมาธิแล้ว ความจริงก็ประจักษ์ขึ้นตรงตามสภาวะ

การเห็นโดยความนึกคิดย่อมไม่ชัดเจนเท่าที่เห็นโดยสมาธิจิต เมื่อบุคคลมาประจักษ์เห็นธรรมชาติความจริงดังกล่าวนี้แล้ว ความลุ่มหลงเข้าใจผิดอันมีแต่เดิมในอารมณ์นั้น ก็จะคลี่คลายสลายตัวไปในที่สุด เพราะเมื่อสัจธรรมปรากฏ อสัจธรรมก็ย่อมสลายหายไป บุคคลนั้นก็จะไม่เข้าใจผิดในอารมณ์นั้นๆ อีก

โดย ศาลาธรรม [30 ต.ค. 2558 , 14:33:28 น.] ( IP = 101.51.104.88 : : )


  สลักธรรม 3

พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้ใช้มหาสติปัฏฐาน ๔ เป็นมูลฐานในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็เพราะปุถุชนทั่วไปยังข้องอยู่ในตัณหา ความปรารถนาพอใจ และทิฏฐิความเห็นผิด เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนาไปตามมหาสติปัฏฐานนี้แล้ว ความเห็นถูกตามสภาวะเป็นจริงก็จะประจักษ์ขึ้น ตัณหาความพอใจอันเป็นเหตุให้ก่อโทษทุกข์ก็ย่อมจะหมดไปด้วย

มหาสติปัฏฐาน ๔ นั้น ได้แก่ การมีสติพิจารณารูปนามเบญจขันธ์นั่นเอง นามรูปนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในทุกอารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเกิดขึ้นตามธรรมดาของสภาวะ เช่น เมื่อเสียงกระทบปสาทหู การได้ยินก็เกิดขึ้นแต่เพียงการได้ยินเสียงนั้นเท่านั้น ยังหาได้ประกอบด้วยการปรุงแต่งให้เป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจประการใดไม่

นามรูปเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทรงอยู่ขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป หาได้ยืนยงถาวรอยู่ตลอดไปไม่ การที่ต้องดับไปๆ ตั้งคงทนอยู่ไม่ได้นี้ ย่อมเป็นทุกข์อยู่ตามสภาวะ ทั้งการที่บังคับบัญชาให้ตั้งคงทน ไม่ได้ดับสลายไปมิได้นี้จึงเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน

สาระสำคัญของวิปัสสนาก็เพื่อให้เห็นสัจธรรมความจริงโดยประจักษ์แจ้งว่า ทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ และอนัตตาไม่ใช่ตัวตน เพื่อมิให้ไปหลงตามสมมติบัญญัติของโลกว่าเที่ยงเป็นสุข และเป็นอัตตาตัวตน

ถ้าการเจริญภาวนานั้นมิได้เป็นไปเพื่อรู้แจ้งเห็นจริงในไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดังกล่าวแล้วก็หาใช่วิปัสสนาถูกต้องไม่

โดย ศาลาธรรม [30 ต.ค. 2558 , 14:33:52 น.] ( IP = 101.51.104.88 : : )


  สลักธรรม 4

ธรรมที่เป็นกรรมฐานที่ตั้งรับรองกำหนดของสติ อย่างประเสริฐนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ชัดเจนในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นหนทางที่ไปอันเอก เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลายเพื่อก้าวล่วงพ้นความโศกและความร่ำไรเสีย เพื่อความดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมพ้นทุกข์ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งหนทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔”

สติปัฏฐาน มีอยู่ ๔ หมวดด้วยกันคือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ธรรมทั้ง ๔ หมวดนี้ เป็นมูลฐานที่จะใช้ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จะนำเอาธรรมอื่นมาใช้แทนหาได้ไม่

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แบ่งออกเป็น ๔ บรรพ กล่าวด้วยสติระลึกรู้ในอานาปาน อริยาบถ ๔ สัมปชัญญะ ๗ ปฏิกูล ๓๒

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แบ่งออกเป็น ๙บรรพ กล่าวด้วยสติระลึกรู้ในเวทนา มีสุข ทุกข์ อุเบกขา เป็นต้น

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แบ่งออกเป็น ๑๖ บรรพ กล่าวด้วยสติระลึกรู้ในจิตที่ประกอบด้วยความรัก ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน เป็นต้น

และ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แบ่งออกเป็น ๕ บรรพ กล่าวด้วยสติระลึกรู้ในนิวรณ์ขันธ์ อายตนะเป็นต้น

รายละเอียดแห่งบรรพหนึ่งๆ มีอย่างใดบ้าง ของดไม่กล่าวในที่นี้.




ขอนุโมทนากับคุณนวลพรรณ รามวณิช ผู้บันทึกข้อมูล

โดย ศาลาธรรม [30 ต.ค. 2558 , 14:34:16 น.] ( IP = 101.51.104.88 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org