มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


อายุวัฒนามีนามาส (๕)





จะได้รับผลจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างไรบ้าง?
โดย ท่านอาจารย์บุญมี เมธางกูร


การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีสถานที่ปฏิบัติอยู่เป็นอันมากในประเทศไทย สำหรับประเทศอื่นก็เหมือนกัน เช่น ประเทศพม่าเป็นต้น ก็มีสำนักใหญ่ๆ เรียกตัวเองว่าเป็นสำนักวิปัสสนา ทั้งยึดหลักฐานการปฏิบัติจากพระไตรปิฎกและอรรถกถา แต่การปฏิบัติของสำนักเหล่านั้นมิได้เหมือนกันเลย

เมื่อการปฏิบัติไม่ได้อยู่ในแนวทางเดียวกันแม้ว่าจะถือตำราเล่มเดียวกัน ต่างอาจารย์ต่างก็สอนไปคนละทิศละทาง ดังนี้ผู้ปฏิบัติก็มิอาจจะยึดถือเอาได้ว่าอันใดที่นับว่าถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า วิปัสสนากรรมฐาน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่ายๆ ดังที่บางคนคิด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่อ่านจากหนังสือหรือตำรับตำราแล้วตัดสินเอาอย่างเผินๆ อย่างที่บางท่านเข้าใจ และบางท่านก็ว่า การปฏิบัติวิปัสสนาไม่จำเป็นต้องศึกษาพระอภิธรรมก็ได้ ซึ่งผู้กล่าวดังนี้ไม่เคยได้ศึกษาพระอภิธรรมมาก่อนเลย

ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น ผมมีความเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องนี้อยู่ที่การทำความเข้าใจให้ดีจริงๆ เสียก่อนเป็นอันดับหนึ่งทีเดียว ไม่ใช่ว่าอยากจะปฏิบัติเมื่อใดก็เข้าห้องลงมือปฏิบัติเลย ควรจะต้องศึกษาหาความเข้าใจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

วิปัสสนา แปลว่า เห็นโดยวิเศษ

กรรมฐาน แปลว่า ที่ตั้งของการเพ่ง

วิปัสสนากรรมฐาน หมายถึง การเข้าไปเพ่งพิจารณาจนเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงของสภาวธรรม(ที่เกี่ยวกับชีวิต) แล้วสามารถนำทางให้พ้นทุกข์ได้ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก

ก่อนเข้าวิปัสสนากรรมฐาน เราจะต้องทำความเข้าใจในเหตุผล โดยตั้งคำถามแล้วตอบให้ได้ว่า ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานทำไม? จะต้องเรียนรู้ในเรื่องอะไรเสียก่อน และเพราะเหตุใด? การปฏิบัตินั้นจะเข้าไปดู ไปรู้เห็นอะไร ที่ไหน? และจะได้รับผลจากการปฏิบัตินั้นอย่างไรบ้าง? เพราะถ้าหากไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ เมื่อเวลาที่ปฏิบัติอยู่อำนาจเจตนาที่ไม่ถูกต้องในขณะนั้นก็ย่อมจะนำให้ไปสู่หนทางที่ผิด และยากที่ผู้ปฏิบัติจะมนสิการให้แยบคายตรงไปยังเป้าหมายได้ หรือการปฏิบัติที่เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็อาจจะได้มาแต่สมาธิคือจิตใจมีความสงบแต่ประการเดียว

โดย ศาลาธรรม [9 มี.ค. 2559 , 13:06:39 น.] ( IP = 101.51.99.241 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1

จะได้รับผลจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างไรบ้าง?

อารมณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นทวารใดก็ตาม มันจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเสมอ เราห้ามไม่ให้เห็น ห้ามไม่ให้ได้ยิน ไม่ได้ เพราะเรามีตา มีหู ที่จะรับกระทบอารมณ์นั้น แต่อย่างไรก็ดี เราก็รู้แน่นอนว่า ตัณหากับอุปาทานนั่นเองเป็นตัวการสำคัญทำให้จิตเกิดความติดใจแล้วยึดมั่น ทุกข์โทษภัยก็จะอาศัยเกิดขึ้นจากที่นี่ ชีวิตที่จะถูกสร้างขึ้นให้เกิดต่อไปก็อาศัยจากที่นี่เหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ ถ้าดับตัณหาเสียได้เมื่อใด อุปาทานก็จะไม่มีเมื่อนั้น เมื่ออุปาทานไม่มี กัมมภวะคือการกระทำดีกระทำชั่วอันเป็นบุญเป็นบาปที่จะทำให้เราเกิดสืบต่อไปก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ และเมื่อไม่มีกัมมภวะเสียแล้ว อุปัตติภวะก็ไม่เกิดขึ้นสืบต่อไปอีก ก็จะสะดุดหยุดลงหมดตลอดสายไปจนถึงชาติชรามรณะด้วย (การปฏิบัติวิปัสสนาเป็นมหากุศลที่ทำลายการเกิด)

ดังนั้น ความทุกข์ทั้งหลายก็จะสลายตัวไปขณะหนึ่งๆ ติดต่อกันไป ถ้าการปฏิบัตินั้นเป็นผลดี และเมื่อถึงที่สุดแล้วตัณหา อุปาทาน ก็จะถูกประหาณออกไปได้โดยเด็ดขาด

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องอาศัยกำลังอำนาจของสติ สมาธิ และปัญญา ที่หนุนหลังอยู่นั้น เข้ามากำหนดดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามทวารต่างๆ ตลอดเวลา เพราะแม้ว่าอารมณ์เหล่านั้นจำต้องเกิดขึ้นด้วยห้ามมันไม่ได้ก็จริง แต่ก็กำหนดรู้ทันเสียเพื่อมิให้เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นตัณหาอุปาทานต่อไป

เมื่อเอาสติกำหนดไปตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นจนไม่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา แล้วตัณหาไม่เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานไม่เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมภวะ กัมมภวะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดชาติคือที่จะต้องไปเกิดใหม่ เมื่อไม่มีชาติไม่ต้องเกิดใหม่แล้ว ชรา พยาธิ มรณะ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีแล้วจะเอาความทุกข์มาแต่ไหน ความทุกข์ก็จะสูญสิ้นไปตลอดกาล

โดย ศาลาธรรม [9 มี.ค. 2559 , 13:07:20 น.] ( IP = 101.51.99.241 : : )


  สลักธรรม 2

การปฏิบัติที่จะให้ผลดีนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาแล้วปรับปรุงตนเองให้ถูกต้องเสียก่อน คือ

๑. ต้องปฏิบัติแต่ลำพัง อย่ารวมกัน เช่น การกินอยู่หลับนอน ที่กิน ที่เดิน ที่ถ่าย ที่อาบน้ำ ควรจะแยกจากกันเป็นอิสระแต่ลำพังได้เป็นดี เพื่อป้องกันมิให้จิตซัดส่ายไปง่ายๆ โดยไม่จำเป็น เช่นเดินกันเป็นหมู่ๆ หรือเดินสวนทางกันก็อดที่จะมองดูกันไม่ได้ และเมื่อมองดูแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าเป็นใคร หญิงหรือชาย ทำดีหรือไม่ดีอย่างไร

๒. ถ้าไม่ถึงคราวจำเป็นจริงๆ แล้ว การพูดคุยก็ควรงดเสียชั่วคราว แต่ถ้าบังเกิดความจำเป็นที่จะต้องพุด ก็ควรจะกำหนดรู้ในการพูดนั้นๆ ไปตามความจำเป็นทุกครั้งไป

๓. การนอนหลับ ไม่ควรจะนอนมากเกินไป ควรนอนตามสมควร คนปฏิบัติใหม่ๆ บางคน สติ สมาธิ ยังไม่มาก ง่วงเหงาหาวนอนเกือบทั้งวัน การนอนหลับมากทำให้เสียเวลาไปเปล่าๆ และทำให้มึนงงงัวเงีย การกำหนดสติก็ขาดกำลังความสำนึกรู้สึกตัว จึงไม่เกิดผลดี แต่คนปฏิบัติใหม่ๆ สติ สมาธิยังไม่ดี ก็ย่อมจะนอนมากเป็นธรรมดา ก็อย่าขืนใจจนเกิดไป

๔. การกิน การอยู่ การถ่าย ต้องให้เป็นไปตามสมควร ให้เป็นไปตามปกติใกล้เคียงกันกับที่เคยอยู่บ้านให้มากที่สุด คนที่เดินทางมาเข้าห้องปฏิบัติมักจะได้รับสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกับอยู่บ้านของตน ดังนั้น ร่างกายจึงอาจจะได้รับความลำบากหรือเจ็บป่วยจึงต้องจัดระเบียบของตนเองให้ดี

๕. เว้นจากความกังวลใจ ห่วงใยในเรื่องต่างๆ เสียก่อนเข้าปฏิบัติ ต้องจัดแจงในธุรกิจหรือเรื่องการงานทางบ้านเสียให้เรียบร้อย อย่าให้มีอะไรตกค้าง อันจะเป็นเหตุให้เฝ้าครุ่นคิดคำนึง ความเป็นอยู่และความเป็นไปทั้งหลายควรจะได้ฝึกซ้อมมาจากที่บ้านบ้างก็จะดี ให้เป็นไปอย่างง่ายๆ เลือกเฉพาะแต่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น ควรจะตัดเรื่องฟุ่มเฟือยออกเสียบ้างเป็นการชั่วคราว

๖. ไม่ควรเคร่งเครียด แข็งขัน หรือย่อหย่อนจนเกินไป แล้วพยายามให้เป็นไปตามธรรมชาติให้มากที่สุด ไม่อ่อนข้อในการดู ในการกำหนด แต่ก็ไม่จงใจจ้องดูหรือกำหนดอย่างเอาจริงเอาจังจนเกินควร

โดย ศาลาธรรม [9 มี.ค. 2559 , 13:07:44 น.] ( IP = 101.51.99.241 : : )


  สลักธรรม 3

สถานที่และสิ่งแวดล้อมในที่ๆจะเข้าไปอยู่เพื่อการปฏิบัตินั้น ก็จำเป็นไม่น้อยเหมือนกัน ถ้าเหมาะสมดีก็จะอุปการะแก่การปฏิบัติได้มาก ช่วยในการปฏิบัติได้ผลดีอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว เช่น ไม่ได้อยู่หน้าโรงภาพยนตร์ หรือสถานที่ที่มีเสียงดังเพราะจะทำให้จิตสงบระงับได้ยาก ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า สปายธรรม มีอยู่ ๔ ประการคือ

เสนาสนสปายะ ที่อยู่อาศัยอันเป็นที่สบาย เป็นที่สงบพอสมควร ไม่มีคนพลุกพล่าน มีความสะอาด มีความสะดวกสบายในการกินอยู่หลับนอน เจริญตาเจริญใจไม่อึดอัด

อาหารสปายะ หาอาหารได้ง่ายไม่ฝืดเคือง ผู้ปฏิบัติไม่ต้องเกิดความกังวลใจว่าไม่ได้อาหารตามที่ต้องการ เช่น ไม่ถูกกับโรคของตน หรืออาหารย่อยยากทำให้เกิดธาตุพิการ

ธรรมสปายะ ได้แก่ธรรมเป็นที่สบาย การปฏิบัติกรรมฐานสะดวกแก่จิตตนถูกต้องตามอัชฌาสัย

บุคคลสปายะ คือ บุคคลที่ใกล้ชิดเหมาะสม จะช่วยให้สติ สมาธิ และปัญญาของผู้ปฏิบัติเกิดขึ้นได้บ้าง มีกำลังใจเข้มแข็งขึ้นได้บ้าง เช่นผู้อยู่ใกล้ชิดควรจะเป็นคนที่ไม่ชอบช่างพูดช่างคุย ไม่ชอบตลกคะนอง ไม่ชอบนำเรื่องราวอันไม่สมควรเข้ามาพูดไม่ได้คิดส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง หรือเป็นคนไม่มีมารยาท ไม่เกรงใจคนอื่น บุคคลเหล่านี้ย่อมเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติทั้งสิ้น ผู้ปฏิบัติควรจะใกล้ชิดบุคคลผู้ซึ่งชักนำให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติไม่ให้ย่อหย่อน และถ้าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในสภาวธรรมด้วยก็จะยิ่งเป็นการดี

โดย ศาลาธรรม [9 มี.ค. 2559 , 13:08:03 น.] ( IP = 101.51.99.241 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org