มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


การสร้างทางพ้นทุกข์








การสร้างทางพ้นทุกข์


คนเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ย่อมมีจุดมุ่งหมายของตนเอง และทุกคนก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนค้นคว้าแสวงหาในสิ่งที่ตนมุ่งหวังไว้ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม แม้ว่าจะเหนื่อยยากลำบากเพียงไหน

แต่การที่ตนสร้างความหวังไว้โดยปราศจากความเพียรพยายามนั้น ก็มิอาจได้มาในสิ่งที่ตั้งความหวัง เพราะความมุ่งหวังกับความเพียรพยายามนั้น ต้องควบคู่กันไปเสมอ ถ้าหวังเฉยๆ โดยขาดความเพียรย่อมจะไม่ได้ ไม่ว่าหน้าที่การงานก็ดี ความเพียรเพื่อพ้นทุกข์ก็ดี ต้องมีความเพียรเป็นแรงผลักดันทั้งสิ้น

การสร้างความหวังนั้น ใครๆ ก็ย่อมตั้งความหวังกันได้ เช่น หวังอยากมีบ้านเรือน อยากมีเงินทอง หวังมีความเจริญในหน้าที่การงาน แต่ถ้าขาดความเพียรพยายามแล้วไซร้ ไฉนเลยจะมีบ้าน จะมีเงินทอง และจะมีความเจริญในหน้าที่การงานได้

บางท่านที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับมีช้อนเงินช้อนทองติดตัวมาด้วยก็เพราะได้อาศัยในชาติอดีตมีความเพียรจึงได้สั่งสมบุญเอาไว้ แต่ถ้าในชาตินี้ขาดความเพียรเสียแล้ว ช้อนเงินช้อนทองที่ติดตัวมาก็ย่อมจะสลายไปได้โดยง่าย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมิได้เป็นไปด้วยการดลบันดาลของผู้ใด

ซึ่งผิดกับคนที่มุ่งหวังและประกอบกับความเพียร ความอุตสาหะ ที่จะทำงานหรือทำในสิ่งที่ตนหวังไว้ให้สำเร็จ เขาเหล่านั้นก็สามารถทำความหวังให้เป็นความจริงได้ไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกับความเพียรศึกษาเพื่อสร้างปัญญาและฝึกฝนตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลสเพื่อจะได้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป เพราะมีเกิดก็ต้องมีทุกข์

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [19 พ.ค. 2559 , 11:44:27 น.] ( IP = 1.4.219.55 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1

ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจในหน้าที่การงานต่างๆ ก็ต้องมีความเพียรความตั้งมั่นเป็นพื้นฐาน แต่แนวทางที่จะนำชีวิตให้หลุดพ้นไปได้นั้นต้องเริ่มจากการปฏิบัติเพื่อฝึกฝนให้เป็นนิจ พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสสั่งสอนถึงความเพียรและวนที่ประเสริฐไว้ก็ได้แก่ การเจริญพรหมวิหาร ๔ เพราะเป็นแนวทางที่จะปฏิบัติให้เกิดปัญญา เพราะเป็นประตูแรกที่จะเดินทางไปสู่มรรคผล การเจริญในที่นี้หมายถึงการเจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นเอง

เมตตาคือ ความสงสารที่เห็นผู้อื่นมีความทุกข์ และปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข

กรุณาคือ ความสงสาร ความเห็นใจ และปรารถนาจะช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์

มุทิตาคือ ความชื่นชมโสมนัส(ยินดี)อย่างบริสุทธิ์ใจในความดีหรือความสำเร็จของผู้อื่น

อุเบกขาคือ ความตั้งมั่นแห่งจิตใจ ไม่หวั่นไหวในทุกข์หรือสุขของผู้อื่นและแม้ของตนเอง

ถ้าผู้ใดเพียรพยายามทำให้เกิดในจิตของตนได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ย่อมจะได้ชื่อว่า มีความเพียรที่สูงส่งของจิต หรือเป็นแนวทางที่ถือได้ว่าประเสริฐสุดสำหรับปฏิบัติต่อสรรพสัตว์ เป็นปัจจัยอันทรงคุณค่ามหาศาล เพราะเป็นเครื่องลดระดับความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และยังเป็นเครื่องสร้างความสอดคล้องกลมกลืนได้กับเรื่องทั้งหลาย

ความตั้งมั่นฝึกฝนจิตให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือสภาวะที่ไร้ขอบเขต เพราะพรหมวิหารในสภาวะอันสมบูรณ์นั้นไม่มีขอบเขตจำกัดจึงไม่ง่ายนักที่จะปฏิบัติ แต่ก็สามารถทำให้สัมฤทธิ์ผลได้ด้วยการเพียรพยายามอดทน จนกระทั่งคุณธรรมเหล่านี้ปลูกฝังติดแน่นกับจิตใจ ไม่เพียงแต่การปฏิบัติเท่านั้น เรายังจะต้องถือเอาเป็นอารมณ์ในการปฏิบัติภาวนาอีกด้วย คือการอบรมบ่มภาวนา เพื่อให้จิตประเสริฐสุดด้วยคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ด้วย

เพราะเมื่อการปฏิบัติควบคู่ไปกับการภาวนาแล้วจะทำให้เกิดผลของความประเสริฐฝังลึกลงในใจจนกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเองได้โดยง่าย และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะไม่เสื่อมสูญลงไปได้ง่ายๆ และการหมั่นภาวนานี้ทำให้เกิดผลประจักษ์แก่ใจถึงลักษณะซึ่งแสดงให้เห็นถึงจิตอันแผ่กว้างไกลไร้ขอบเขตซึ่งความความประเสริฐของความเพียรฝึกฝนพรหมวิหารนั้น ก็คือการสร้างการฝึกสภาวะของจิตใจ ไว้เพื่อเพียรทำวิปัสสนาปัญญานั่นเอง ก็จะนำพรหมวิหารแยกให้กันกันเป็นหัวข้อ กล่าวคือ

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [19 พ.ค. 2559 , 11:45:15 น.] ( IP = 1.4.219.55 : : )


  สลักธรรม 2

เมตตา เมตตาก็คือความรักที่ไม่ปรารถนาจะครอบครอง เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้นั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เลือกและไม่คัดออก เพราะถ้าการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำสิ่งตรงกันข้ามกับเมตตาให้ความรักมวลสัตว์โลกเสมอกันหมด ไม่ควรเลือกรักเฉพาะที่จะให้ประโยชน์แก่เรา เพราะเมื่อเข้าใจถึงชีวิตดีแล้วก็จะรู้ดีว่ามวลสัตว์โลกทั้งหลายนั้นเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ในวังวนแห่งสังสาร คือ การต้องเวียนตายเวียนเกิด และการให้ที่ประเสริฐนั้นต้องปราศจากการถือสาต่อการตอบสนองที่จะได้รับ

กรุณา ความกรุณานั้นทำให้เรายอมรับชะตาชีวิตของเราเองอย่างทะนง โดยชี้ให้เห็นชีวิตของตนซึ่งมีความทุกข์ยากไม่ยิ่งไปกว่าชีวิตของผู้ใด เมื่อมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่รู้จักจบสิ้น ต่างก็แบกเอาความทุกข์ใจไม่สบายกายเข้าไว้ ภาวะต่างๆ นั้น เราเองก็พบปะมาก่อนในอดีตชาติทั้งนั้น โดยที่เราย้อนกลับไปดูไม่เห็น และความทุกข์เหล่านั้นอาจย้อนมาพบกับชีวิตเราอีกได้เสมอ

ซึ่งถ้าใครก็ตามมีชีวิตที่อยู่โดยปราศจากความกรุณาแล้ว สักวันหนึ่งเขาเหล่านั้นจะต้องร้องขอความกรุณาจากผู้อื่น เพราะการที่เราขาดความเห็นอกเห็นใจในผู้อื่นแล้วนั่นเองจะต้องประสบกับการขาดความเห็นอกเห็นใจที่เป็นกฎหรือที่มาของคำว่าใครทำอะไรลงไปแล้วผลตอบแทนย่อมมีเช่นนั้นอย่างแน่นอน

ความกรุณาของผู้รู้นั้น ไม่ได้ทำให้ผู้รู้นั้นตกเป็นทาสของความทุกข์ทรมาน เพราะความรู้สึกนึกคิดของท่านนั้นเต็มไปด้วยความสงสารเห็นอกเห็นใจปรารถนาจะช่วยเขาเหล่านั้นให้พ้นทุกข์ แต่ภายในจิตใจของท่านนั้นยังคงสดสวยและมั่นคง

มุทิตา มุทิตา คือความชื่นชมโสมนัสต่อผู้อื่น ความปลาบปลื้มปิติที่บริสุทธิ์เป็นผู้ช่วยของเราในหนทางซึ่งจะนำเราไปสู่ความพ้นทุกข์ เพราะที่จะฝึกฝนให้ถึงวิปัสสนาญาณนั้นต้องไม่เป็นบุคคลที่จิตใจห่อเหี่ยวเศร้าหมอง คนที่มีความปิติต่างหากจึงจะพบความสงบใจอันนั้น เพราะจิตใจที่สงบ ราบรื่น เป็นสมาธิพร้อมด้วยปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถได้หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการของกิเลสได้

อุเบกขา อุเบกขา คือจิตใจมีความสมดุลที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่อาจสั่นคลอนได้แม้จะมีเหตุการณ์ใดๆ เพราะแน่นลงในจิตใจด้วยความวางเฉย

ชีวิตที่เกิดมานั้นแสนยาก และมนุษย์ที่จะเข้าใจการที่จะปฏิบัติจิตให้บังเกิดสภาวะความสมดุลดังกล่าวนั้นยากมาก เราจะเห็นได้ชัดว่ามันมีความลำบากมากที่จะฝึกจิตใจของเราให้รับรู้อารมณ์ต่างๆ ได้อย่างสมดุล เพราะชีวิตที่เกิดมานั้นย่อมมีการแปรปรวนเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่น ความสำเร็จและความล้มเหลว เราจะต้องพบกับคำสรรเสริญและคำนินทา มียศก็ต้องเสื่อมยศ มีสุขก็ต้องมีทุกข์เป็นของคู่กันเช่นนี้ตลอดไป

ความแปรปรวนเหล่านี้เองสามารถยกเราให้ลอยลิ่วขึ้นไป แล้วก็เหวี่ยงเราให้ร่วงหล่นลงมาโดยไม่ทันที่เราจะตั้งตัวได้ เราจะมีความหวังอะไรได้เที่ยงแท้แน่นอน

ดังนั้น เราจึงต้องมีอุเบกขา คือตั้งมั่นแห่งจิตใจไม่หวั่นไหวในทุกข์สุขของตนและผู้อื่นที่เราไม่สามารถช่วยได้ เมื่อเพียรฝึกฝนมากขึ้นก็จะได้ส่งผลไปในการปฏิบัติให้เกิดปัญญาต่อไป

โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [19 พ.ค. 2559 , 11:45:34 น.] ( IP = 1.4.219.55 : : )


  สลักธรรม 3

วิปัสสนาญาณคือ ความเข้าใจอันแจ่มแจ้ง ถึงการแปรปรวนทั้งหลายของชีวิตจิตใจตลอดจนรูปธรรมทั้งหลาย และเป็นธรรมชาติอันแท้จริงที่ปราศจากการสมมุติที่เราทุกคนต้องประสบกับมันทั้งๆ ที่อยู่ต่อหน้าต่อตานั่นเอง

เราต้องเข้าใจถึงเรื่องของชีวิตของตนเองให้ถ่องแท้ คำว่า "ชีวิต" นั้นสืบเนื่องมาจากผลจากกรรมของเราเองทั้งทางกาย วาจา ใจ การกระทำที่ได้ทำไปในชาตินี้และในชาติปางก่อนๆ กรรมเป็นแดนเกิดของประสบการณ์เหล่านั้น ตนเองเป็นเจ้าของการกระทำของตนเอง โดยที่ไม่มีใครสามารถหยิบยกผลของการกระทำของเราไปได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นๆ จะเป็นผลของกรรมดีและผลของกรรมชั่วก็ตาม มันก็จะต้องย้อนกลับมาหาวเราเปรียบเสมือนเป็นมรดกหรือกรรมสิทธิ์ของเรานั่นเอง

ถ้าเราเข้าใจมันให้ดี ศึกษาหรืออ่านจากหนังสือทำความรู้จักมันให้ถ่องแท้ นั่นก็คือการทำความเข้าใจในเบื้องต้นของอุเบกขา เพราะจะทำให้เราเข้าใจถึงสาเหตุของที่มา มันจะทำให้เราไม่หวาดกลัว เพราะเราพบแต่เรื่องของตัวเองทั้งนั้น แล้วทำไมเราจึงต้องกลัวมัน (ผลของการที่เรากระทำมาเอง) แต่เรามีหนทางที่จะพิจารณาต่อไปว่าความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรานั้น เกิดขึ้นเพราะเรา แล้วเราก็ควรหาทางหลีกหนีด้วยการตั้งมั่น และความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นในใจเรา เราจะเชื่อในอำนาจของความดีในการกระทำไว้ในอดีตนั่นเอง

นอกจากนี้ยังสร้างพลังให้เรามีความตั้งมั่นในความเพียรที่จะกระทำความดีละเว้นความชั่ว และกระทำกรรมดีเพื่อเป็นผลของอนาคต เมื่อเราเพียรได้ความสงบแห่งจิตนั้นก็ย่อมมาสู่เราพร้อมๆ กับความเข้มแข็งให้จิตตนมีขันติธรรมและอุเบกขา เพื่อกล้าเผชิญต่อความผันผวนปรวนแปรในชีวิต

และอุเบกขาจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์นั้นก็สืบเนื่องมาจากการมี "สติ" คือความสำนึกรู้สึกตัว การมีอุเบกขาไม่ได้หมายความว่า ความอับปัญญาหรือความเย็นชาที่เกิดขึ้นในจิตใจ แต่อุเบกขาคือ ความเต็มเปี่ยม

สติที่คอยกำหนดรู้เฉยๆ ก็จะเป็นตัวตั้งมั่นให้เราเกิดความอบอุ่นด้วยศรัทธา ประกอบกับความรู้ชัดแจ้งแห่งปัญญาเข้าด้วยกัน สติตัวนี้จะสนับสนุนผลักดันอำนาจแห่งวิริยานุภาพกับสมาธิ และจะส่งผลในตนซึ่งฝังแน่นไม่สูญหายไปจากตน เพราะกำลังเหล่านี้เองสามารถช่วยให้เราไม่หลงทางเข้าไปในสังสารวัฏได้

เพราะเหตุนี้เอง จึงหยิบยกมาเปรียบให้ฟังได้ว่า ที่ใดมีความเคลื่อนไหว ย่อมไม่มีความสงบนิ่งในที่นั้น ที่ใดสงบนิ่ง ที่นั้นไม่มีตัณหา ที่ใดไม่มีตัณหา ที่นั้นก็ไม่มีการมาและการไป และที่ใดไม่มีการมาและการไป ที่นั้นย่อมไม่มีการเกิดการตาย และถ้าไม่มีการเกิดการตาย นั่นแหละคือความสิ้นทุกข์


โดย ศาลาเสือพิทักษ์ [19 พ.ค. 2559 , 11:45:51 น.] ( IP = 1.4.219.55 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org