มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


ความสามัคคี




ความสามัคคี


สามัคคี คือ ความพร้อมเพรียง ความปรองดอง ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งหรือวิวาทบาดหมางกันและกัน มีการประชุมปรึกษาหารือกันเมื่อเกิดปัญหา

สามัคคีเภท หมายถึง การแตกสามัคคี หรือทำลายสามัคคี เพราะคำว่า เภท แปลว่า แตก ทำลาย

ความสามัคคีเป็นคุณธรรมที่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ความเจริญ และเป็นพลังสำคัญยิ่งของหมู่ชน ซึ่งผู้ที่อยู่ร่วมกันจำเป็นจะต้องมี ต้องถนอมรักษา และต้องนำมาใช้อยู่สม่ำเสมอ เพราะกิจการของหมู่ชนจะสำเร็จเรียบร้อยลงได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลงานที่เป็นส่วนรวมทุกด้าน ทุกระดับ มาร่วมแรงร่วมใจกันทำงานนับตั้งแต่ในครัวเรือนจนถึงระดับชาติแม้ในบางครั้งจะมีความขัดแย้งกันบ้างหา ก็ต้องหาทางปรองดองกัน เพื่อที่จะพละรักษากำลังอันเข้มแข็งของกลุ่มคนให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ความสามัคคีของหมู่คณะจะคงอยู่ได้ก็เพราะแต่ละคนมีความคิด ความเห็น และใจจริงที่มุ่งหมายและยึดมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งรวมกัน รู้จักให้อภัยกันในสิ่งที่ผิดพลาดไม่สมบูรณ์แบบ และพร้อมที่จะประคับประคองเพื่อก้าวไปสู่ความเจริญความสุขด้วยกัน

ในระดับครอบครัวนั้นหากความสามัคคีแน่นแฟ้น ก็จะเห็นภาพแห่งความห่วงใยรักใคร่ การไปมาหาสู่กัน ดูแลทุกข์สุขกันเสมอ จะได้เห็นกิจกรรมอันอบอุ่นระหว่างคนในครอบครัว จะได้ยินคำพูดคำจาที่ไม่แข็งกร้าวหยาบกระด้าง ก่อให้เกิดความร่มเย็นแก่ทุกบุคคลที่อยู่ภายในบ้าน

ในระดับกลุ่มชนนั้นก็จะได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะ คำทักทายที่เปี่ยมไปด้วยไมตรีจิต มีการร่วมกันคิด ทำ และแก้ไขในข้อบกพร่องต่างๆ ด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีการแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายและเข้าทำร้ายทำลายกันเองในคราวที่เกิดความขัดแย้ง

ความสามัคคีจึงเป็นธรรมที่มีพลังที่ทำให้คำว่า ยากกลายเป็นคำว่าง่าย เพราะการงานไม่ว่าจะมากหรือยากขนาดไหน ถ้าทุกคนร่วมไม้ร่วม มือ ร่วมแรงร่วมใจกันแล้ว ก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างไร้ปัญหา เช่นดังมดงานตัวเล็กๆที่ช่วยกันยกย้ายสิ่งของขนาดใหญ่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ ความสามัคคีจะทำให้ผู้คนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่เห็นแก่ตัวสร้างความชื่นชมให้แก่ผู้ที่พบเห็น และรับรู้ได้ถึงความมีธรรมะในจิตใจของกลุ่มชนนั้น

โดย เทพธรรม [15 ส.ค. 2559 , 11:26:24 น.] ( IP = 61.90.82.123 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1

ได้มีผู้นำพระธรรมในส่วนของการสร้างความสามัคคีออกมาเผยแพร่อย่างมากมาย และหมวดหนึ่งที่ได้ผ่านสายตากันอยู่เสมอคือ สาราณียธรรม ๖ ประการ อันเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความระลึกถึงความเคารพนับถือกันและกัน เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน เพื่อป้องกันความทะเลาะ ความวิวาทแก่งแย่งกัน เพื่อความพร้อมเพรียงร่วมมือ ผนึกกำลังกันเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

สาราณียธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน กระทำซึ่งความเคารพระหว่างกัน อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยดี มีความสุข ความสงบ ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายทำลายกัน ได้แก่

เมตตากายกรรม ทำต่อกันด้วยเมตตาคือแสดงไมตรีและความหวังดีต่อเพื่อนร่วมงานร่วมกิจการร่วมชุมชน ด้วยการช่วยเหลือธุระต่างๆ โดยเต็มใจ แสดงอาการกิริยาสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

เมตตาวจีกรรม พูดต่อกันด้วยเมตตาคือช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอนหรือแนะนำตักเตือนกันด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

เมตตามโนกรรม คิดต่อกันด้วยเมตตา คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน

สาธารณโภคี ได้มาแบ่งกันกินใช้ คือแบ่งปันลาภผลที่ได้มาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อยก็แจกจ่ายให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน

สีลสามัญญตา ประพฤติให้ดีเหมือนเขาคือมีความประพฤติสุจริต ดีงาม รักษาระเบียบวินัยของส่วนรวมไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจ หรือ เสื่อมแก่หมู่คณะ

ทิฏฐิสามัญญตา ปรับความเห็นเข้ากันได้ คือ เคารพรับฟังความคิดเห็นกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ตกลงกันได้ในหลักการสำคัญ ยึดถืออุดมคติหลักแห่งความดีงาม หรือจุดหมายอันเดียวกัน

โดย เทพธรรม [15 ส.ค. 2559 , 11:27:59 น.] ( IP = 61.90.82.123 : : )


  สลักธรรม 2

การแตกความสามัคคีนั้นนอกจากจะเกิดจากกิเลสภายในของตนได้แก่ ความไม่พอใจ ความมานะถือตน ความโลภหลงในโลกียสุข ที่แสดงออกมาทางความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน การขัดผลประโยชน์กัน และการมีเป้าหมายที่ไม่ตรงกันแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือสิ่งแวดล้อมในทางลบได้แก่ความคิดเห็น คำพูดคำจาของผู้ที่อยู่รอบข้างที่นำแสนอความแตกร้าวให้เกิดร่องรอยมากยิ่งขึ้น

อย่างที่ในสำนวนไทยเรียกว่า บ่างช่างยุ หมายถึง คนที่ชอบพูดยุแหย่ให้เขาแตกกัน ทั้งทำให้เขาแตกแยกเป็นรายคน หรือรวมกลุ่มเป็นฝักฝ่ายให้ทะเลาะเบาะแว้งกัน

ซึ่งผู้ประพฤติอย่างนี้มีปรากฏขึ้นมากในสังคมไทยของเรา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำในลักษณะพูดจายุแหย่ บอกเรื่องที่แต่งเติมหรือตัดต่อข้อมูลและถ้อยความแล้ว การสร้างความเท็จ การปล่อยข่าวลือ หรือการสร้างกระแสและสถานการณ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายหรือต้องการผลเพื่อทำลายความเจริญที่มีอยู่ จนปรากฏเป็นความเดือดร้อนกายและใจของผู้อยู่ร่วมกัน

บ่างช่างยุจึงเป็นตัวละครสำคัญในการดำเนินเรื่องการแตกความสามัคคีอย่างที่เราเห็นในละครทีวี เช่น บทของพวกคนรับใช้ที่คอยรายงานเจ้านายของตนถึงความเป็นไปของฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม ทั้งที่เป็นเรื่องจริงเรื่องเท็จเพื่อหวังจะให้ทั้งสองฝ่ายเข้ากันไม่ได้ หรือเพื่อผสมโรงเพิ่มดีกรีตัวอิจฉาให้พุ่งสูงขึ้นด้วยการกระทำแบบนายว่าขี้ข้าพลอย หรือเพื่อที่ตนเองจะได้เป็นคนสำคัญ หรือเพื่อที่จะเข้ามาแก้แค้น หรือเพื่อความสุขความสะใจ ฯลฯ

และแม้กระทั่งบทบาทของเพื่อนพ้องของแต่ละฝ่ายในละครที่บางครั้งก็เขียนบทให้มีการแสดงความคิดเห็นยั่วยุให้เรื่องราวขัดแย้งบานปลายไปมากยิ่งขึ้น หากตัวละครที่ได้รับฟังเรื่องราวแล้วขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ หรือเป็นบทของคนหูเบา คนด้อยปัญญา ก็จะแสดงอาการเป็นฟืนเป็นไฟ มีความเสียใจหรือด่าว่าบริภาษด้วยถ้อยคำหยาบคาย เพราะตกไปในหลุมพรางคำพูดแห่งเจตนาร้ายเหล่านั้น

วันนี้เราคงดูละครแล้วสงสารนางเอก รังเกียจนางอิจฉา หัวเราะถ้อยคำโต้เถียงที่ตลกขบขัน หรือสมน้ำหน้าตัวร้ายตอนตกอับ หรือมีอารมณ์ร่วมต่างๆเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่เราน่าที่จะต้องกลับมาดูตนเองว่าชีวิตจริงนี้เรากำลังเล่นละครบทผู้ดีหรือบทผู้ร้ายกันอยู่บ้าง และจะส่งผลอย่างไรกับความสุขความเจริญที่มีอยู่ทั้งของตนเองและคนรอบข้าง

โทษของการแตกสามัคคีนั้นที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ประสบแต่ความทุกข์ หมดความสุขความเจริญไม่ได้ ไม่มีความสำเร็จในการงานทั้งปวงของหมู่คณะ

โดย เทพธรรม [15 ส.ค. 2559 , 11:30:17 น.] ( IP = 61.90.82.123 : : )


  สลักธรรม 3

ในสมัยพุทธกาลนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูต้องการมีชัยชนะเหนือแคว้นวัชชีจึงส่งวัสสการพราหมณ์ไปทูลถามถึงวิธีการที่เอาชัยกษัตริย์ลิจฉวีจากพระพุทธเจ้า ณ ภูเขาคิชฌกูฏ

พระพุทธองค์ตรัสตอบวัสสการพราหมณ์ว่า "ดูกรพราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์เขตเมืองเวสาลีนี้ ณ ที่นั้นเราได้แสดงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ แก่พวกเจ้าวัชชี ฯ พวกเจ้าวัชชีจักสนใจในอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ อยู่เพียงใด พึงหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเพียงนั้น ฯ"

วัสสการพราหมณ์ทูลต่อว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกเจ้าวัชชีมาประกอบด้วยอปริหานิยธรรม แม้เพียงข้อหนึ่งๆ ก็ยังหวังได้ซึ่งความเจริญอย่างเดียวฯ พระเจ้าแผ่นดินมคธจึง ไม่ควรกระทำการรบกับเจ้าวัชชี นอกจากจะยุให้แตกกันเป็นพวกฯ"

และหลังจากที่วัสสการพราหมณ์กลับไปแล้วพระพุทธองค์ทรงตรัสให้พระอานนท์ไปสั่งให้ภิกษุทุกรูปซึ่งอยู่อาศัยพระนครราชคฤห์ ให้มาประชุมกันในอุปัฏฐานศาลา แล้วรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรมทั้ง ๗ แก่พวกเธอพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี ฯ"

โดย เทพธรรม [15 ส.ค. 2559 , 11:33:27 น.] ( IP = 61.90.82.123 : : )


  สลักธรรม 4

หลังจากนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูและวัสสการพราหมณ์ได้วางอุบายกันขึ้นโดยเรียกประชุมเสนาอำมาตย์ทั้งหลายแล้วแสร้งแสดงพระอาการพิโรธวัสสการพราหมณ์อย่างหนัก ถึงขั้นรับสั่งจะให้ประหารชีวิตเสีย แต่ทรงเห็นว่ารับราชการมานาน จึงลดโทษเพียงแค่ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตีอย่างแสนสาหัสจนสลบไสล ถูกโกนหัวประจานและ เนรเทศออกไปจากแคว้นมคธ

วัสสการพราหมณ์ก็มุ่งตรงไปเมืองเวสาลี เที่ยวผูกไมตรีกับชาวเมือง จนความทราบไปถึงกษัตริย์ลิจฉวี จึงประชุมทรงปรึกษาหารือกันว่าจะทำประการใดกับวัสสการพราหมณ์ดี ก็เห็นพ้องต้องกันว่ารับวัสสการพราหมณ์เข้ามาดูท่าทีก่อน แต่เมื่อได้ฟังวัสสการพราหมณ์กราบทูลความคิดเห็นต่าง ๆ ด้วยความฉลาดลึกซึ้งในหลาย ๆครั้ง รวมทั้งเห็นร่องรอยฟกช้ำจากการถูกโบยตีก็เชื่อสนิทใจ และในที่สุดก็แต่งตั้งให้เป็นครูสอนศิลปวิทยาแก่ราชกุมารทั้งหลาย ทั้งยังแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาคดีความอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

วัสสการพราหมณ์ใช้เวลาถึง ๓ ปีในการทำลายความสามัคคีสร้างความร้าวฉานแก่กษัตริย์ลิจฉวี โดยใช้กลอุบายให้บรรดาราชโอรสกษัตริย์ลิจฉวีระแวงกัน โดยแกล้งเชิญแต่ละองค์ไปพบเป็นการส่วนตัวให้ดูเหมือนเป็นเรื่องสำคัญ แต่แล้วกลับถามปัญหาธรรมดาที่ทราบกันอยู่ทั่วๆ ไป เมื่อราชกุมารองค์อื่นเข้ามาซักถามเรื่องราวว่าสนทนาอะไรกับอาจารย์บ้าง แม้ราชกุมารองค์นั้นจะตอบความจริง แต่ก็ไม่มีใครเชื่อถือ จึงก่อให้เกิดความระแวงและแตกร้าวในบรรดาราชกุมาร กระทั่งลุกลามไปสู่กษัตริย์ลิจฉวีผู้เป็นพระราชบิดาทุกองค์ ทำให้ความสามัคคีค่อยๆ เสื่อมลง

จนกระทั่งวันหนึ่งวัสสการพราหมณ์ได้ทดสอบโดยตีกลองประชุมสภา ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดมาประชุมสักองค์เดียว วัสสการพรามณ์จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้ว จึงบอกข่าวไปยังพระเจ้าอชาตศัตรู การยกทัพมายึดเมืองของพระเจ้าอชาตศัตรูนั้นเป็นไปอย่างสะดวกเพราะไม่มีใครออกรบ แคว้นวัชชีจึงตกเป็นของพระเจ้าอชาตศัตรู เพราะการแตกความสามัคคีด้วยประการฉะนี้

เรื่องราวของวัสสการพราหมณ์ตามพระสูตรนี้ ไม่ใช่สิ่งล้าสมัย เพราะเป็นตัวอย่างอีกประการหนึ่งที่เราควรนำมาพิจารณาเพื่อมิให้เกิดความแตกสามัคคีของหมู่คณะนับตั้งแต่กลุ่มเล็กๆ ไปจนถึงกลุ่มสังคมขนาดใหญ่ เพื่อจะยังประโยชน์แห่งความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคมต่อไป

โดย เทพธรรม [15 ส.ค. 2559 , 11:35:55 น.] ( IP = 61.90.82.123 : : )


  สลักธรรม 5

"อปริหานิยธรรม" คือ ธรรมอันเป็นไปเพื่อเหตุแห่งความเจริญฝ่ายเดียว ผู้ปฏิบัติจักไม่เป็นไปในทางเสื่อม อปริหานิยธรรมทั้ง ๗ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกับกษัตริย์ลิจฉวีก็คือ

๑. เมื่อมีกิจใดเกิดขึ้น ก็ประชุมกันปรึกษาในกิจนั้น

๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันกระทำกิจอันควรทำ

๓. ถือมั่นตามขนบธรรมเนียมหรือประเพณีอันดีอันชอบที่มีอยู่ ไม่เลิกถอน หรือดัดแปลงเสียใหม่

๔. มีความเคารพยำเกรงผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ ทั้งเชื่อถือกระทำตามถ้อยคำบัญชาและคำแนะนำสั่งสอนของผู้เป็นใหญ่นั้น

๕. ไม่ประทุษร้ายข่มเหงบุตรและภริยาของกันและกันด้วยประการใดๆ

๖. ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นต่อเจดียสถาน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และการกระทำพลีกรรมบวงสรวงก็กระทำตามควร

๗. อำนวยความคุ้มครองป้องกันแก่พระอรหันต์ บรรดาที่มีอยู่ในแว่นแคว้นวัชชี ให้เป็นสุขและปราศจากภัย

โดย เทพธรรม [15 ส.ค. 2559 , 11:40:09 น.] ( IP = 61.90.82.123 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org