มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


ยิ่งปิด ยิ่งดี (๑)







ยิ่งปิด ยิ่งดี (๑)
ธรรมะบรรยายโดย อาจารย์บุษกร เมธางกูร


ขณะนี้การสอนพระพุทธศาสนาได้ผิดแผกไปจากหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีใครชอบคนขัดคอ แต่ในความรู้สึกส่วนตัวแล้วคิดว่า เป็นที่เกลียดชังของปุถุชน แต่เป็นที่รักของอริยะชนดีกว่า ฉะนั้น ถ้ามีอะไรผิดไปจากหลักการและเหตุผลก็จะไม่ยอมให้

ก็มีคำถามมาถามว่า ยิ่งปิดยิ่งดี ยิ่งใช้ยิ่งดี ยิ่งกรองยิ่งดี ยิ่งสูงยิ่งดี คืออะไร?

ยิ่งปิดยิ่งดี คือ ปาก เพราะพูดมากผิดมาก ไม่พูดเลยไม่ผิดเลย ธรรมะเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วนำมาโปรดพวกเราด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ถ้าเราย้อนอ่านประวัติของพระองค์ท่านแล้วก็จะเห็นว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรสร้างบารมีนานถึง ๔ อสงไขย กับอีกแสนมหากัป เพื่อให้บารมีทั้ง ๓๐ ทัศบริบูรณ์

ซึ่งก่อนหน้านั้นท่านก็คือผู้ที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในความทุกข์ อยู่ในกิเลสเครื่องล่อต่างๆ อย่างพวกเรา แต่ท่านสามารถถอนเยื่อเมือกยางเหนียวเหล่านั้นได้ และก็ไม่ได้ทำให้พระองค์พ้นไปแต่เพียงผู้เดียว ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาสัตว์ให้ธรรมะเป็นธรรมทานโดยไม่ได้หวังลาภยศสรรเสริญสุขจากใครเลย ทรงบริสุทธิ์ใจที่จะให้สัตว์โลกพ้นไปจากความทุกข์อย่างถ้วนหน้า

การมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะส่วนมากเราทำเพื่อให้เขารักเราหรือต้องการให้เราเป็นที่รักของเขา ทุกคนต่างทำเพื่อตัวเองทั้งสิ้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระมหาบุรุษผู้นั้นทำเพื่อให้ประชาสัตว์ได้เห็นความจริงเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร การบำเพ็ญเพียรของท่าน เกิดขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งมากมาย แต่สิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นเป็นสัจธรรมความจริง ทนทานต่อการพิสูจน์ ไม่วิปริตไม่ผันแปร ไม่ว่าโลกจะเป็นอย่างไรมาแล้ว และจะมีต่อไป ในอนาคตอย่างไร ชีวิตก็คือทุกข์

โดย น้องกิ้ฟ...นำมาฝาก [18 ส.ค. 2559 , 08:58:16 น.] ( IP = 61.90.90.144 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ


  สลักธรรม 1



การที่เรามีชีวิตทุกวันนี้ เราพูดแบบวจีทุจริต ๔ อย่างกันเป็นประจำ แต่ข้อที่สำคัญตรงนี้คือ วจีทุจริต ข้อมุสาวาท ซึ่งเราก็มีน้อยลงกันแล้ว แต่ยังมีการเพ้อเจ้อกันมากมาย พระอรหันต์ตัดการเพ้อเจ้อได้อย่างเด็ดขาด ส่วนพระโสดา พระสกทาคา พระอนาคามีท่านยังไม่ได้กล่าวว่าตัดได้ ความเพ้อเจ้อนี้เป็นสิ่งที่เหล่าปุถุชนมีมาก ฉะนั้น ไม่จำเป็นไม่ต้องพูด เพราะพูดมากผิดมาก ไม่พูดเลยไม่ผิดเลย

เราทำอะไรลงไปย่อมมีปฏิกิริยาตอบสนอง เราอย่านึกว่ามีแต่คนอื่นเท่านั้นที่ได้รับ เราเป็นผู้ทำ เราเป็นผู้ได้ทั้งสิ้น เราตีโต๊ะแรงแค่นี้ เราก็เจ็บแค่นี้ ถ้าเผื่อเราตีแรงกว่านี้ เราก็เจ็บแรงกว่านี้ เราตีเบา ความรู้สึกก็อยู่ที่เรา มันไม่ได้ไปรู้สึกที่อื่นเลย ความรู้สึกสะเทือนใจอาจจะเข้าหูเขานิดหน่อย แต่ผลกรรมนี้เกิดที่ตนเอง ๑๐๐% ทำอะไรได้อย่างนั้น ฉะนั้น ยิ่งปิดยิ่งดีคือปาก ถ้าพูดต้องมธุรสวาจา แล้วพูดในสิ่งที่ชักชวนอย่างสร้างสรรค์และส่งเสริมให้ผู้ที่ฟังเกิดเห็นธรรม เกิดสลดใจ สังเวชใจในการเวียนว่ายตายเกิด

ยิ่งใช้ยิ่งดี คือ สมอง เป็นการฝึกคิด การศึกษาพระอภิธรรมเท่ากับเป็นการฝึกให้ชีวิตของเราเป็นผู้คิด การเรียนพระอภิธรรมมิได้เรียนโดยฟังตามกันมา ไม่ได้สอนให้ใครเชื่อ แต่ทุกอย่างมีเหตุมีผลทั้งสิ้น

ยิ่งกรองยิ่งดี คือ หู ยิ่งกรองยิ่งดีอย่างเช่นเครื่องกรองน้ำที่ให้น้ำบริสุทธิ์ จากน้ำขุ่นเป็นน้ำใสได้ด้วยเครื่องกรอง ฉะนั้น หูของเรา ปกติก็ไม่ค่อยกรองอะไร ส่วนมากจะเชื่อตามที่เขาพูด เชื่อที่เขาพูดอย่างนั้น เขาพูดอย่างนี้ ฉะนั้น ยิ่งกรองยิ่งดีและเครื่องกรองที่ดีที่สุดคือธรรมะ

ยิ่งสูงยิ่งดี คือ ใจ สิ่งเหล่านี้เราจะต้องเพียรประพฤติและปฏิบัติให้เกิดขึ้นในชีวิตว่า เราต้องทำ...ไม่มีใครช่วยเราได้ ถ้าหากเราไม่ช่วยตัวเราเองด้วย และไม่มีใครทำให้เราตกต่ำได้ ถ้าเผื่อว่าเราไม่ยินยอม เราเกิดมาลำพัง อยู่ลำพัง แล้วก็ไปลำพัง คนที่มาเจอเรา ก็เช่นภรรยา พ่อ แม่ ลูก ซึ่งนั่นก็เหมือนงานเลี้ยงที่มีแขกเดินเข้ามาเพียงชั่วคราว แล้วงานเลี้ยงก็เลิกราต่างคนต่างแยกย้ายกันไปเมื่อมีความตายมาถึง

โดย น้องกิ้ฟ [18 ส.ค. 2559 , 09:00:04 น.] ( IP = 61.90.90.144 : : )


  สลักธรรม 2




ต่างคนต่างแยกแยะไปที่ชอบๆ และทางที่ชอบนั้นก็มีอยู่ ๗ สาย เรามาดูว่า ๗ สายนี้มีอะไรบ้าง

สายที่ ๑ นรก ถนนสายนี้เป็นที่ชอบของผู้ที่โกรธง่าย ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ ดวง เป็นคนที่มักโกรธ ฉุนเฉียว วู่วาม ไม่พอใจง่าย น้อยเนื้อต่ำใจง่าย ซึ่งความรู้สึกอย่างนี้ก็จัดอยู่ในตระกูลโทสะ ถ้าสร้างนิสัยให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้อยู่บ่อยๆ จิตไปจับอารมณ์นั้นเข้าก่อนตาย แน่นอนไปเป็นอสุรกาย

สายที่ ๒ เปรต อสุรกาย ถนนสายนี้เดินมาด้วยโลภะ ความยินดีพอใจ ความสนุกเพลิดเพลิน ความกำหนัดต่างๆ ได้แก่โลภมูลจิต ๘ ดวง ผู้ใดก็แล้วแต่ที่มากไปด้วยความยินดีพอใจ ไม่รู้จักเต็มอิ่ม โลภะ เปรียบเสมือนชะลอมที่ตักน้ำไม่รู้จักเต็ม เอาชะลอมตักลงไปในน้ำ แล้วยกขึ้นมา ก็รั่วไหลไปหมด ชอบใจอะไรก็หามาตอบสนอง แล้วก็เกิดความพอใจไปเรื่อยๆ ไม่มีความพอเพียงกับชีวิต มากไปด้วยความลุ่มหลงลาภยศสรรเสริญสุข งมงายในรูปารมณ์ สัทธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธรรมารมณ์ ใครที่ชอบแบบนี้ตายแล้วเขาก็ไปที่ชอบๆ เพราะถนนสายนี้นำไปสู่ทุคติภูมิคือไปเป็นเปรต

สายที่ ๓ สัตว์เดรัจฉาน ถนนสายนี้เดินไปด้วยอำนาจของโมหะมูลจิต ใครก็แล้วแต่ที่หลับง่ายง่วงเหงาหาวนอนเป็นประจำ จิตไม่ตื่น ไม่เบิกบาน และไม่กระเตื้องที่จะพยายามฝึกจิตตนเอง นอกจากจะชอบหลับ เป็นคนที่เชื่อลมๆ แล้งๆ ไม่ฟังหูไว้หู ไม่สงบปากไม่ใช้สมอง ไม่กรองด้วยหู และไม่ทำใจให้สูง ตายแล้วก็จะไปเป็นสัตว์เดรัจฉานผู้ขวางต่อมรรคผลนิพพาน สัตว์เดรัจฉานมีกระดูกสันหลังขวาง ส่วนคนเรามีกระดูกสันหลังตรง ฟังธรรมได้ ส่วนสัตว์เดรัจฉานที่อยู่รอบๆ เราต่อให้มีธรรมะมากรอกหู ก็ฟังไม่รู้เรื่อง เช่นเดียวกันเวลาที่มีธรรมะอยู่แต่เราไม่รู้ว่ามีตอนไหนเพราะหลับ เขาสอนธรรมะกันแต่เราหลับ ก็ต้องคิดดูว่าเรากำลังสร้างอุปนิสัยให้ไปเกิดในถนนสายที่ ๓ นี้ด้วยหรือเปล่า

โดย น้องกิ้ฟ [18 ส.ค. 2559 , 09:01:23 น.] ( IP = 61.90.90.144 : : )


  สลักธรรม 3




สายที่ ๔ มนุษย์ ถนนสายนี้เดินไปด้วยอำนาจของกุศล คือจิตที่จับอารมณ์ใกล้ตายมีเบญจศีลและเบญจธรรม เป็นคนมีคุณธรรม มีศีลรักษา ผู้ที่ชอบอาราธนาศีลแล้วฝึกอยู่ในศีลอยู่ในธรรม จิตก็จะรู้สึกคุ้นเคย เมื่อจิตคุ้นเคย ตายไปแล้วก็จับอารมณ์นี้ก็จะเกิดเป็นมนุษย์ได้อีก

สายที่ ๕ เทวดา ถนนสายนี้เดินไปได้ด้วยอำนาจผลักดันของความหิริมีโอตตัปปะ คือเกรงความชั่วและกลัวผลบาป และมีความโดดเด่นในจาคะคือความเสียสละ ผู้ที่มีจิตที่คุ้นเคยกับการไม่ทำบาป ไม่เอานะบาป นี่ผลน่ากลัว พอมีใครมาชวนทำอะไรก็มีสติระลึกรู้ รู้ชั่ว กลัวบาป และก็มีชีวิตที่แบ่งปัน ช่วยเหลือบริจาคเท่าที่เราทำได้ ความคุ้นเคยนี้เมื่อปรากฏเป็นอารมณ์ใกล้ตาย เราตายแล้วก็ได้เป็นเทวดา

สายที่ ๖ พรหม ถนนสายนี้เดินไปด้วยอำนาจของมหัคคตกุศล คือ ผู้ที่ทำมหัคคตกุศลจนได้ฌานพอตายแล้วก็ไปเป็นพรหม

สายที่ ๗ นิพพาน คือตายแล้วไม่ต้องเกิดได้แก่การจุติของพระอรหันต์ แต่กว่าท่านจะมาเป็นพระอรหันต์ ก็จะต้องเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคา พระอนาคามีมาก่อน การที่เรามาศึกษาธรรมะก็อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เรามาศึกษาเพื่อให้รู้จักตัวเราเอง พระอภิธรรมเป็นการตีแผ่ชีวิตของเรา การเรียนที่ดีนั้นต้องมองมาที่เรา คือมองตนเอง พระพุทธเจ้าท่านเข้าไปรู้ในเรื่องของชีวิตคนหรือสัตว์ที่เวียนว่ายตายเกิด พระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์สุดยอดแล้ว พระองค์อุบัติขึ้นมาเพื่อบอกทางให้สัตว์โลกทำนิพพานให้แจ้ง คือสายที่ ๗ เพราะการเวียนว่ายตายเกิดของเราเป็นอนันตังคือนับตัวเลขไม่ได้ว่าเกิดมากี่ภพกี่ชาติ เพราะสังสารวัฏฏ์นั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน

โดย น้องกิ้ฟ [18 ส.ค. 2559 , 09:02:47 น.] ( IP = 61.90.90.144 : : )


  สลักธรรม 4



สังสารวัฏฏ์ คือ รอบแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่รู้จักจบ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่โดยมีอวิชชาและตัณหาเป็นตัวเย็บภพไว้ ที่เรายังเกิดอยู่เพราะยังมีอวิชชาอยู่และมีตัณหาเป็นตัวร้อยไว้ ฉะนั้น ตัณหากับอวิชชา เป็นตัวทำให้สัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ในแหล่งกำเนิดทั้ง ๔ ในถนนชีวิต ๖ สาย พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ไม่มีใครไม่เคยเกิดเป็นอะไรเลย ต่างเวียนว่ายตายเกิดกันมาแล้ว แต่ที่ไปเป็นกันประจำๆ คือ นรก

นรกเป็นบ้านเก่าของเราที่ไปกันมานับครั้งไม่ถ้วน ชาตินี้โชคดีที่ตะกายขึ้นมาอยู่บนภูมิมนุษย์นี้ได้ และถ้าไม่รักษาเอาไว้โดยไม่มีความรู้ว่าที่เกิดมานี้เพราะอะไร ไม่ศึกษาให้เข้าใจ แล้วปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามยถากรรม คือมีความคุ้นเคย โลภ โกรธ หลง เมื่อรักษาภูมิมนุษย์ไว้ไม่ได้ ก็ไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นเดรัจฉาน ภูมิต่ำๆ นี้ไปง่าย แต่ไปภูมิสูงนั้นยาก เหมือนกับเราเดินขึ้นบันไดหรือขึ้นภูเขาก็จะเหนื่อยมากเพราะต้องใช้กำลังสวนทางกับกิเลส แต่ถ้าลงบันไดหรือลงภูเขา ก็ลื่นสไลด์ลงแป๊บเดียว เราพร้อมที่จะแสดงออกซึ่งกิเลสขันธสันดานที่มีอยู่ในใจของเรา

จึงบอกว่าไม่มีใครช่วยเราได้ ถ้าเราไม่ช่วยตัวเอง ไม่มีใครจูงใครไปที่ดีได้ ถ้าเผื่อตัวเองไม่ไปเอง เพราะจิตเป็นประธานทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยจิต ที่เรามาเรียนเรื่องจิตตรงนี้ ก็มีถึง ๘๙ ดวง สภาพของจิตนั้นเกิดขึ้นทีละขณะ จิตคือสภาพที่รู้อารมณ์ รู้เฉยๆ แค่นั้นเอง เช่น เห็น ได้ยิน นั่นคือหน้าที่ของจิต แต่เรามาถามตัวเราเองว่า เราเห็นแล้วเฉยๆ ไม่ เราไม่ได้เห็นเฉยๆ ไม่ได้ยินเฉยๆ แต่มันเห็นหรือได้ยินแล้วพอใจกับไม่พอใจ

พอใจกับไม่พอใจ มันเกิดขึ้นเพราะว่ามีเจตสิกคือตัวปรุงแต่งจิตเข้าไปร่วมด้วย

โดย น้องกิ้ฟ [18 ส.ค. 2559 , 09:04:56 น.] ( IP = 61.90.90.144 : : )


  สลักธรรม 5




พอใจก็คือโลภะ ไม่พอใจก็คือโทสะ คือเรากำลังสร้างนิสัยไปเป็นเปรตอสุรกายสัตว์นรก เราเรียนแล้วก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าถนนชีวิตแต่ละสายไปได้ด้วยอะไรเสียก่อน แล้วมาดูว่าวันหนึ่งๆ เราสร้างพาหนะเพื่อไปทางสายที่ชอบๆนั้นไว้จริงไหม

การเห็นของเราที่เกิดขึ้นปุ๊บ เราไม่ได้เห็นเฉยๆ เห็นแล้วพอใจคือ โลภะ ไปเป็นเปรตง่าย เห็นแล้วไม่พอใจคือโทสะ และโลภะกับโทสะนี้เกิดได้ก็ต้องมีโมหะเป็นมูล ฉะนั้น ทางสามสายนี้มันเกิดขึ้นเสมอๆ ในชีวิต ฉะนั้น ใครจะมาช่วยเราได้ ถ้าเผื่อเราไม่หยุดยั้งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ด้วยตัวของเราเอง

การศึกษาพระอภิธรรมจึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังปลูกฝังอะไรอยู่ แล้วสิ่งที่เราปลูกฝังนี้ให้ผลอย่างไร ใครเป็นผู้ได้รับ เราเป็นผู้ได้รับเอง ไม่มีใครมาพูดให้เราโกรธ ไม่มีใครมาพูดให้เราชอบได้ ถ้าหากเราไม่ชอบเองเราไม่โกรธเอง ไม่มีใครมาทำให้เราตกต่ำได้เราเป็นผู้ยินยอมตกต่ำเอง นี่คือเรื่องจริงของชีวิตที่เป็นแบบนี้

เราเวียนว่ายตายเกิดกันมามากมาย พระพุทธองค์ทรงมาแสดงให้เห็นว่า นิพพานคือสิ้นสุดจากการเวียนว่ายตายเกิด แต่การที่จะสิ้นสุดการเวียนว่ายตายเกิดนี้ได้นั้น เราจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ทำไมเราถึงยังเกิดอยู่? คำตอบก็คือเพราะเราไม่รู้ว่า ทำอย่างไรจะไม่เกิด

โดย น้องกิ้ฟ [18 ส.ค. 2559 , 09:06:29 น.] ( IP = 61.90.90.144 : : )


  สลักธรรม 6



เรารู้แต่ทางเกิดคืออยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากรู้รส อยากสัมผัส ไม่มีใครสอนเราเลยแต่มันติดอุปนิสัยเป็นปกตูนิสสยปัจจัยมาตั้งแต่อดีตชาติ มาคอยตอบสนองสิ่งเร้าอยู่ตลอดเวลา มีโลภโกรธ หลง เป็นบริวารของชีวิต ชีวิตมันจึงเป็นไปอย่างนี้ ก็คือ เป็นไปในปฏิจจสมุปบาท อันได้แก่ อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ

ปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นตัวชักนำเราเริ่มต้นด้วยอวิชชา เพราะความไม่รู้ อะ แปลว่า ไม่ วิชา แปลว่า ปัญญา คือ ความไม่มีปัญญา

ปัญญาในที่นี้คือ ความเข้าไปรู้จริงนั่นเองว่า ธรรมชาติของชีวิตของคนเรานี้ คืออะไร ภายใต้ร่างกายและจิตใจของเรา ที่เราเรียกว่าเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นหญิง เป็นชาย ที่จริงคืออะไร

พระอภิธรรมตอบได้หมดก็คือ ประกอบไปด้วยจิต เจตสิกและรูป คนๆ นึงต้องมีจิตเจตสิกและมีรูป คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์เจตสิกมี ๕๒ คือธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต รูปมี ๒๘ ปถวี อาโป เตโช วาโย เป็นต้น แต่ละคนมีรูปคนละ ๒๗ เพราะว่าต้องมีอิตถีภาวรูป หรือปุริสภาวรูปอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น นี่คือโครงสร้างชีวิต




ขออนุโมทนากับน้องนวล ผู้ถอดเทป

โดย น้องกิ้ฟ [18 ส.ค. 2559 , 09:08:03 น.] ( IP = 61.90.90.144 : : )


  สลักธรรม 7

ขอบคุณน้องกิ้ฟมากครับ กับเรียงถ้อยร้อยธรรม ที่นำมาฝากเสมอ ได้ประโยชน์มากจริงๆครับ สำหรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมชีวิตครับผม

โดย พี่เณร [19 ส.ค. 2559 , 09:54:23 น.] ( IP = 61.90.100.56 : : )

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org