มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

Moonlanithi Vipassana
Meditation
OnlineStudy
thai    english
Article สำนักวิปัสสนา
อ้อมน้อย
กิจกรรม About Us

[ Home ] [ ลานถาม-ตอบปัญหาธรรมะ ] [ ลานกวีธรรม ] [ ลานคิด เล่า เขียน ] [ ลานกลิ่นดอกแก้ว ] [ ค้นหากระทู้ ] [ สมัครสมาชิก ] [ login เข้าระบบ ]


๚ ๛ โยนิโส..เป็นประโยชน์ต่อปัญญา ๚ ๛





สวัสดีค่ะท่านผู้เจริญทุกๆท่าน
ดิฉันได้แสดงถึงเรื่อง
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
ให้ท่านได้ศึกษาหาความรู้ความเข้าใจมาแล้วถึง ๖ ตอน
เพื่อจะได้เพิ่มพูนความรู้นั้นให้หนักแน่น
จึงต้องการที่จะอธิบาย
ในเรื่องการมีโยนิโสให้ละเอียดยิ่งขึ้น
เพื่อประโยชน์ต่อปัญญา
หาไม่แล้ว....จะเป็นปัจจัยแก่กิเลสได้คะ




ทุกอย่างในโลกล้วนเป็นประโยชน์ต่อปัญญาทั้งสิ้นถ้าคนนั้น..มีปัญญา
แม้แต่เห็นผีที่ตายแล้วเน่าน้ำเหลืองไหล
ย่อมเป็นประโยชน์แก่ปัญญาได้

ปัญญาย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทั้งปวง

แต่ว่า เราจะเข้าใจโยนิโสและสามารถ
ทำความรู้สึกให้เป็นปัจจัยแก่ปัญญา
หรือ ทำความรู้สึกให้เป็นปัจจัยแก่กิเลส
มันเป็นได้ทั้ง ๒ อย่างนะคะ

ความรู้สึกที่เป็นปัจจัยแก่กิเลส เช่น
เราไปเห็นคนตาย หมาเน่าลอยมา
หรือ ศพลอยมาในน้ำเช่นที่เราได้เคยเห็นที่แม่น้ำคงคา

ถ้าเราทำความรู้สึกไปในทางที่
เป็นปัจจัยของกิเลส กิเลสมันก็เกิดขึ้น
เราก็ไม่พอใจที่จะเห็นอย่างนั้น เราก็เกลียด
เราก็ไม่พอใจ

แต่ถ้าคนมีปัญญา พอเข้าไปเห็นเข้าแล้ว
แทนที่เขาจะเกิดกิเลส คือ ความไม่พอใจ
หรือสะอิดสะเอียนอะไรอย่างนี้
ท่านเหล่านั้นจะไม่เป็นเพราะมีโยนิโสดี
ก็ทำความเข้าใจให้เป็นปัจจัยแก่ปัญญาได้เกิดความรู้สึกว่า...

อ๋อ.. นี่สังขารทั้งหลาย มันไม่เที่ยงอย่างนี้
มันเปลี่ยนแปลงอย่างนี้
ไม่ใช่เป็นของสวยงามเลยอย่างนี้
มันไม่เป็นอารมณ์ที่น่ายินดีเลย ไม่น่ารักเลย

โดย อาจารย์บุษกร เมธางกูร [18 มิ.ย. 2546 , 07:37:50 น.] ( IP = 203.107.208.186 : : ) เก็บกระทู้นี้ไว้ใน Bookmarkส่งกระทู้นี้ให้เพื่อนของคุณ
[ 1 ] [ 2 ][ 3 ][ 4 ]


  สลักธรรม 1

แต่ว่า..เพราะความไม่รู้
ความไม่เข้าใจก็หลงกันไปว่าดี ว่าสวย

ทีนี้ผู้มีปัญญาเห็นแล้ว
เขาก็น้อมถึงจิตใจร่างกายของเขาว่า
ก็จะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน
ทีนี้ความพอใจ ความรักในร่างกายที่เข้าใจว่าดี
เข้าใจว่าสวยว่างามด้วยอำนาจของกิเลสก็หมดไป

ปัญญาที่เข้าไปรู้ความจริงนั้นก็เกิดขึ้น
เข้าใจว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่าง
ทุกอย่างในร่างกายจะหาสาระอะไรที่เป็นที่พึ่ง
ที่เป็นสรณะไม่มีเลยก็เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้น

เพราะฉะนั้น กิเลสหรือความที่หลงไหล
เข้าใจผิดอยู่ในร่างกาย ในรูป ในนาม ก็หมดไป
กลับเกิดปัญญาขึ้นในอารมณ์อันเดียวกันในที่เดียว

ถ้าหากไม่มีโยนิโสก็จะเกิดปัญญาไม่ได้

เพราะฉะนั้น ในเวลาที่เราปฏิบัติ
จะมีอารมณ์อะไรก็ตาม ก็ต้องคอยสังเกตดู
บางทีเรามีเหมือนกัน

โยนิโสเราเข้าใจ แต่ขาดความสังเกตว่า.
. อารมณ์นั้นเป็นอย่างไร..
ที่ผิดไปด้วยเรื่องอะไรเกิดขึ้น

อารมณ์นี้เป็นปัจจัยแก่กิเลส ไม่ใช่เป็นปัจจัยของปัญญา

แต่ว่า ก่อนที่จะได้เอาโยนิโสมาใช้นี้
ก็จะต้องได้ความรู้เรื่องโยนิโสจากการฟังด้วย
ฟังอธิบายแล้วก็เข้าใจเหตุผล
เก็บความเข้าใจเหตุผล..เอาไว้ในใจก่อน

เวลาไปปฏิบัติก็อาศัยความสังเกตว่า
เวลานั้นเราทำความรู้สึกอย่างไร
ตรงกันไหมที่ได้ศึกษามา
เวลานั้นต้องทำความรู้สึกอย่างนั้นๆ
อย่าทำความรู้สึกอย่างนั้นๆ

แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจในเวลาที่อธิบายให้ฟัง

ผิดก็ไม่รู้ ถูกก็ไม่รู้

เมื่อไม่รู้ว่าผิด แล้วจะเอาจิตมาตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ถูกก็ไม่ได้

เพราะไม่รู้ว่า ที่ถูกนั้นจะต้องทำความรู้สึกอย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ทำไม่ได้เหมือนกันนะคะ

โดย อาจารย์บุษกร เมธางกูร [18 มิ.ย. 2546 , 07:53:34 น.] ( IP = 203.107.208.186 : : )


  สลักธรรม 2


เพราะฉะนั้น โยนิโส เป็นสิ่งสำคัญมาก

การฝึกการสังเกตก็สำคัญนะคะ
ขั้นแรก จึงต้องมีความเข้าใจ
ในเวลาที่อธิบายให้ฟังว่า..
เขาห้ามอะไร กำหนดอย่างไร
ถ้าเราเข้าใจถึงเหตุผลเราก็จำได้
เพราะว่า ความเข้าใจจะเป็นสิ่งที่ช่วยความจำของเรา

เช่น เขาห้ามไม่ให้ทำกรรมฐาน
เวลานั่งอย่ารู้สึกว่า นั่งกรรมฐาน
เวลาเดินก็อย่ารู้สึกว่า เดินเพื่อทำกรรมฐาน
ทุกท่านเคยจับได้ไหมว่านั่งกรรมฐาน
เวลามานั่งแล้วก็จะรู้สึกว่า นั่งกรรมฐานทุกที
เพราะเราไม่ได้สังเกตนั่นเอง

ทีนี้ถ้าเราจำได้และเข้าใจแล้วว่า เขาสั่งไม่ให้ทำความรู้สึกว่า นั่งกรรมฐาน
..พอรู้สึกว่า นั่งกรรมฐานเกิดขึ้น ก็รู้ทันทีว่า
ผิดแล้ว อันนี้ผิดแล้ว เพราะเขาห้ามไม่ให้ทำความก็รู้สึกทันในอารมณ์อย่างนั้นไงคะ



การที่จะผิดหรือถูกนั้นอยู่ที่ตรงความรู้สึก
เพราะว่าปัญญาก็อยู่ที่ใจ

อวิชชา ความโง่ก็อยู่ที่ใจ

สติ ก็อยู่ที่ใจ

วิริยะ ก็อยู่ที่ใจด้วย

เพราะฉะนั้น ใจ มีความรู้สึกอย่างไร
ความรู้สึกอย่างนั้นเป็นอารมณ์ของใคร เป็นอารมณ์ของ ปัญญา หรือ อวิชชา

เช่น ที่เขาห้ามไม่ให้รู้สึกว่า นั่งกรรมฐานนั้น
เพราะอะไร เพราะว่า ถ้ารู้สึกว่า นั่งกรรมฐานแล้ว
ในเวลาที่นั่งอยู่นั้นกิเลสจะต้องเข้าอาศัย
คือว่า นั่งเพื่อจะเห็นอะไรสักอย่างหนึ่ง
นั่งเพื่อธรรมะจะได้เกิดขึ้น เวลาเดินก็เดินกรรมฐาน เดินกรรมฐานก็เพื่อจะได้เห็นธรรม

โดย อาจารย์บุษกร เมธางกูร [18 มิ.ย. 2546 , 08:11:05 น.] ( IP = 203.107.208.186 : : )


  สลักธรรม 3

ถ้ารู้ว่าทำกรรมฐานแล้ว
จะต้องรู้สึกอย่างนี้ติดตามมาว่า
ความรู้สึกอย่างนี้เป็นกิเลส
มันเป็นความต้องการที่จะได้อะไรสักอย่างหนึ่ง

ความต้องการก็เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง มีชื่อมากมาย กิเลสตัวนี้

คือ เป็น "โลภะ" ก็เรียก หรือเป็น "ตัณหา" ก็เรียก

เมื่อกิเลสความต้องการ
เข้าไปอยู่ในจิตใจเสียแล้ว
จิตดวงนั้นก็มีกิเลส
แล้วปัญญาจะเกิดได้อย่างไร

จิตที่เป็นอกุศลอยู่ ปัญญาจะเกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้น จึงห้ามไม่ให้นั่งกรรมฐาน
ไม่ให้เดินกรรมฐาน…


เมื่อห้ามไม่ให้นั่งกรรมฐาน
ไม่ให้เดินกรรมฐานแล้วให้นั่งทำไม? ให้เดินทำไม?

เช่น เดินอยู่แล้วเวลาจะนั่งห้ามไม่ให้รู้สึกว่า
จะนั่งกรรมฐาน แล้วจะให้รู้สึกว่าอย่างไร?
ต้องรู้สึกอย่างนี้นะคะ..
รู้สึกว่า พอปวดเมื่อยขึ้น ปวดขึ้นมา เมื่อยขึ้นมา
แล้วความรู้สึกก็ว่า จะต้องเปลี่ยนไป เพราะทุกข์ปรากฏขึ้นมาแล้ว

ทุกข์นี้เป็นตัวอริยสัจเป็นของจริง
ทุกข์ปรากฏขึ้นมาก่อนเราก็จะต้องเปลี่ยนคะ

โดย อาจารย์บุษกร เมธางกูร [18 มิ.ย. 2546 , 08:20:29 น.] ( IP = 203.107.208.186 : : )


  สลักธรรม 4

คราวนี้เมื่อทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว
ทีนี้พอจะต้องเปลี่ยนเราจะมนสิการว่าอย่างไร

จำได้ไหมคะ ? ให้มนสิการว่าอย่างไร ?
ให้ทำความรู้สึก ทำความเข้าใจว่าอย่างไร ?

ในการที่จะต้องเปลี่ยน
ทุกข์นั้นรู้แล้วว่า มันเมื่อย
แต่ถ้าเป็นคนไม่สังเกตก็จะรู้ไม่ได้เหมือนกัน
เพราะจิตมัวไปเรื่องอื่น
พอเมื่อยขึ้นมาก็พลิกไปเลย
ความเมื่อยนี้ เราไม่ได้ต้องการเลย

มีกิเลสของใครจะต้องการเมื่อยบ้างไหมคะ
ท่านที่กำลังอ่านนะคะ ? ไม่มีเลย
เขาเกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัยของเขา
ไม่ใช่ว่าคนมีกิเลสเท่านั้นจึงจะเมื่อย
คนไม่มีกิเลสก็่เมื่อย

แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
หรือพระอรหันต์ท่านก็เมื่อย
ท่านก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเหมือนกันค่ะ

ทุกข์นี่น่ะไม่ใช่กิเลส แต่เป็น วิบาก
ของเบญจขันธ์ที่จะต้องถูกบีบคั้น
ให้เกิดเปลี่ยนแปลง
ให้กระสับกระส่ายอยู่เรื่อย


เพราะท่านเห็นอย่างนี้ ท่านถึงได้เห็นว่า
ตัวเบญจขันธ์นี้เป็นทุกข์เหลือเกิน
เป็นภาระอันหนักไงคะ

โดย อาจารย์บุษกร เมธางกูร [18 มิ.ย. 2546 , 08:36:50 น.] ( IP = 203.107.208.186 : : )


  สลักธรรม 5


.... สังขิตเตน ปัญจุปาทา นักขันธา ทุกขา....



ทุกข์ทั้งหมด ตั้งแต่ชาติความเกิดขึ้นมา
จนกระทั่งชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ
โทมนัส ตามที่เราทำวัตรสวดมนต์กัน

เพราะสังขิตเตน ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา
ทุกข์ทั้งหมดที่เรามีอยู่นี่มาจากเบญจขันธ์
ถ้าเบญจขันธ์นี้ไม่มีแล้ว ทุกข์ทั้งหมดนี่ไม่มี
เป็นอันว่า ไปถึงธรรมที่สิ้นทุกข์

เพราะฉะนั้นท่านจึงใช้คำว่า สิ้นทุกข์
พ้นจากทุกข์ทั้งปวงหรือ
ที่สุดแห่งทุกข์

บางคนไม่เข้าใจก็ไปเข้าใจว่า
คำว่า พ้นจากทุกข์หมายความว่า ต้องมี ความสุข ทุกข์ไม่มีแล้วต้องมีความสุข

เพราะฉะนั้น ขออย่าเข้าใจว่า
พระนิพพานเป็นสุขนะคะ

บางทีก็เกิดความเข้าใจผิดในเวลาที่ปฏิบัติ
พอจิตได้สมาธิเข้าพอสงบเข้าก็รู้สึกว่า
เป็นสุขเยือกเย็นจริง
อย่างนี่แหละจะต้องเป็นพระนิพพาน
เพราะเราพ้นจากทุกข์แล้ว

อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ก็เป็นเพียง สุขเวทนา เท่านั้น
แล้วก็ไม่เที่ยงด้วย

สิ่งใดที่ ไม่เที่ยง นั่นแหละสิ่งนั้นเป็น ทุกข์

และสิ่งที่ ไม่เที่ยง เป็น ทุกข์ นั่นแหละสิ่งนั้นเป็น อนัตตา
ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

เพราะฉะนั้น ที่เราไปเห็นว่า มีความสุขจริง
สบายจิตใจสงบเยือกเย็น และก็คิดเอาเองว่า
นี่แหละคงจะ เป็นพระนิพพาน
อันนี้เข้าใจผิดแล้ว

เพราะอันที่จริง ความสุขนั้นเที่ยงไหม ?
สุขอยู่อย่างนั้นตลอดไปหรือเปล่า ก็เปล่า


ท่านที่เคารพท่านจะเห็นได้ว่า
การเข้าใจดี - เข้าใจถูกด้วยนั้น
เป็นเรื่องสำคัญมากๆ

ลงถ้าไม่เข้าใจจริงไปกระทำเท่าใดก็ไม่เห็นว่า
จะเกิดอะไรขึ้นเลย

ก็ยังเป็นฉันอยู่
กิเลสก็มากกว่าเดิมและหยิ่งยะโสว่า
ตนนั้นรู้มากก็มีนะคะ

ไว้คราวต่อไปจะมาอธิบายให้เข้าใจกว้างขึ้นคะ
วันนี้ขอตัวไปหาหมอก่อนนะคะ
เพราะต้องไปตามนัดค่ะทั้งที่ปรารถนาจะทำงานนี้
ให้มากที่สุด
แต่ทว่า วิบากของเบญจขันธ์นั้น
เราไม่มีทางชนะได้
นอกเสียจากพ้นทุกข์จากวัฏฏสงสารไปใช่ไหมคะ

ขอให้ทุกท่าน
เป็นผู้เจริญในธรรมยิ่งขึ้นไปนะคะ




โดย อาจารย์บุษกร เมธางกูร [18 มิ.ย. 2546 , 08:48:34 น.] ( IP = 203.107.208.186 : : )


  สลักธรรม 6

เป็นประโยชน์มากเหลือ
ช่างเอื้อเฟื้อต่อมรรคผลนิพพาน

โดย เณรวัส [18 มิ.ย. 2546 , 10:45:59 น.] ( IP = 203.144.228.200 : : )


  สลักธรรม 7

กราบขอบพระคุณอาจารย์บุษกรมากค่ะ
ที่ท่านกรุณาถ่ายทอดความรู้อันทรงคุณค่าแก่ศิษย์ทั้งหลายได้ต่อเนื่อง
เพื่อให้ศิษย์สามารถสร้างสรรปัญญาได้โดยเร็ววัน


แทบไม่น่าเชื่อเลยนะคะ แค่เห็นหมาเน่าลอยมา
เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศล

โดย พี่ดา [18 มิ.ย. 2546 , 11:06:26 น.] ( IP = 158.108.2.2 : : 158.108.12.87 )


  สลักธรรม 8

ในหกตอนเกี่ยวกับวิปัสสนาเป็นคำอธิบายที่ทำให้ทราบเกี่ยวกับวิธีการเบื้องต้นในการปฏิบัติ
นับตั้งแต่การให้ความหมาย ...ที่แตกต่างจากสมาธิ
การให้ทำความเข้าใจในเรื่องของรูปนาม
จนกระทั่งยกตัวอย่างการกำหนดรู้ในอิริยาบถต่างๆ โดยเฉพาะ....รูปนั่ง... และการแก้ไขทุกข์ที่ปรากฏ
ในแต่ละตอนที่อ่านนั้นต้องพยายามทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก..เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจได้ทันทีเลยค่ะ....


อ่านไปๆก็มักจะเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของตนที่ผ่านมา ซึ่งคำอธิบายของอาจารย์นั้น ...ทำให้ต้องตรวจสอบการปฏิบัติของตนอย่างเคร่งครัด
และก็ทราบว่า ยังไม่ถูกต้องและมีข้อบกพร่องอีกหลายประการ


โดยเฉพาะในวันนี้ที่อ่านมาพบกับคำว่า ..โยนิโสมนสิการ..ในสลักธรรมที่ ๒
เป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอเมื่อเริ่มต้นเข้าสู่การปฏิบัติในแต่ละครั้ง...
ที่มีความรู้สึกชัดเจนว่า ....กำลังจะทำกรรมฐาน ... ที่เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง...


โดย น้องกิ๊ฟ [18 มิ.ย. 2546 , 11:27:40 น.] ( IP = 202.183.178.177 : : )


  สลักธรรม 9

และยังเป็นโชคดีอีกประการหนึ่งที่อาจารย์ได้กรุณาเรื่องการเปลี่ยนอิริยาบถอีกครั้งหนึ่ง ....ที่จะมีรอยต่อของอิริยาบถให้กำหนดรู้ในความเปลี่ยนแปลงไปนั้นด้วย ...ขอกราบเรียนว่า ทั้งสองส่วนนี้เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนมากและเข้าใจง่ายมากค่ะ .... เป็นประโยชน์อย่างยิ่งจริงๆ

สุดท้ายที่ไม่เกี่ยวกับวิปัสสนากรรมฐานโดยตรง ก็คือเรื่องของความเข้าใจในสภาวธรรมอย่างแท้จริง ..คือเข้าใจจริงๆที่มิได้เกิดจากความจำได้ในความหมาย ที่อธิบายให้ทราบถึงสภาวลักษณะของความสุขที่บางคนคิดว่าเป็นนิพพาน และความเกี่ยวเนื่องกันของความทุกข์ที่เกี่ยวกับขันธ์ ...

(บ่อยครั้งค่ะที่ตั้งความปรารถนาว่าขอให้ท่านนั้นท่านนี้มีความสุข ....แต่อีกใจหนึ่งก็ทราบดีว่า เป็นความสุขบนความทุกข์ต่างหาก และทราบดีว่า สำหรับผู้ที่กำลังเจริญอยู่ในวิปัสสนาปัญญานี้ ..มิได้ต้องการความสุขประโลมโลกเช่นนี้เลย เพราะท่านจะต้องเห็นถึงสภาพแท้จริงว่าเป็นความทุกข์อย่างแน่แท้ ..เป็นความไร้ประโยชน์ที่จะมาคลุกคลีอยู่กับโลกียธรรมให้มีความทรงจำเกี่ยวกับความวิปลาสให้มากขึ้น.....และสร้างความเกี่ยวเนื่องกันให้แน่นหนาขึ้น ..ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับการกระทำที่กำลังเจริญอยู่)

..สุดท้ายสิ่งที่ทำให้เกิดความระมัดระวังมากที่สุดก็คือ ความมานะถือตนที่เข้าใจผิดคิดว่าตนรู้มากแล้วรู้จริงแล้ว .....คิดว่าตรงนี้เป็รประเด็นที่สำคัญมากๆสำหรับตัวเอง ...เพราะถ้าหากเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้เราไม่ใส่ใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์อยู่เบื้องหน้าอย่างจริงจัง ...และต้องพลาดความเข้าใจถูกไปอย่างน่าเสียดาย

กราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ และนับเป็นศิริมงคลอย่างยิ่งที่ได้อ่านกระทู้นี้เป็นกระทู้แรกในเช้าวันนี้


โดย น้องกิ๊ฟ [18 มิ.ย. 2546 , 11:33:39 น.] ( IP = 202.183.178.177 : : )


  สลักธรรม 10


คราวนี้ก็หัดมาเรียนรู้กลยุทธการป้องกันกิเลส
ด้วยการโยนิโสที่ถูกค่ะ
เพราะสภาพกิเลสมันช่างเบาบาง
และตามรู้แทบจะไม่เคยทันเลยละค่ะ
การตามรู้อารมณ์จริงแล้วตนเองรู้สึกเป็นภาระที่หนักจริงๆค่ะ เพราะ
1. ต้องทวนกระแสสันดานตน
2. ต้องใช้ความพยายาม
3. ต้องใช้สติอย่างตั้งมั่น
4. ต้องตามรู้ให้ทันปัจจุบันเท่าที่จะทำได้
5. ต้องทำความรู้สึกที่ปกติ ไม่เพ่งจนเครียด หรือแช่กับอารมณ์


มาถึงการปฏิบัติกรรมฐาน
หลายๆครั้งถามตนเองว่าจะบอกกับใจอย่างไรดี
ที่จะไม่ให้เรียกว่าจะไปทำกรรมฐาน
คล้ายๆกับน้องกิ๊ฟ ค่ะ
และก่อนเริ่มปฏิบัติจริงๆแล้วทุกขเวทนาก็ไม่มี ทุกข์ที่ปรากฏทางใจก็อาจมีบ้างหรือไม่มีบ้าง
แต่ส่วนใหญ่ต้องบอกกับใจ ชีวิตเป็นทุกข์ จึงตามดูชีวิตด้วยการปฏิบัติไปเลย ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าการคิดเช่นนี้จะถูกหรือไม่
อย่างไรก็ขอแนวทางเพิ่มเติมนะคะ
แต่เมื่อได้ปฏิบัติไปแล้วก็ไม่รู้สึกว่าจะเป็นการทำกรรมฐาน
เพราะทุกอย่างแก้ไขไปตามทุกข์จริงๆ


กราบขอบพระคุณค่ะ และกราบขอบพระคุณในความเมตตาที่อาจารย์บุษกรให้เสมอมาค่ะ แม้ว่าอาจารย์จะต้องเจ็บป่วยแต่อาจารย์ก็เป็นผู้ให้ในทุกๆครั้ง
หวังว่าวันนี้คุณหมอคงส่งข่าวในทางดีๆนะคะ เช่น อาจารย์บุษกรครับอาการตอนนี้ดีอย่างไม่น่าเชื่อเลยนะครับ

โดย น้องอุ๊ [18 มิ.ย. 2546 , 12:52:38 น.] ( IP = 202.28.169.165 : : unknown )
[ 1 ] [ 2 ][ 3 ][ 4 ]

ขอเชิญแสดงความคิดเห็น
จาก : *
Code :
กรุณากรอก Code ตัวเลขด้านบน *
อีเมล์ : หากไม่ต้องการให้เว้นว่าง
รูปภาพ : ไม่เกิน 150KB
รายละเอียด :
Icon Toy
Special command

* *
กรุณาคลิ๊ก Post message เพียงครั้งเดียว.... 

คำเตือน
  • การแอบอ้างใช้ชื่อบุคคลซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเกิดความเสียหาย อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • การโพสรูปภาพที่ไม่เหมาะสม หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ อาจถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้
  • หากพบเห็นรูปภาพหรือกระทู้ที่ไม่เหมาะสมสามารถเมล์เข้ามาได้ที่ freewebboard@thaimisc.com โดยระบุ subject "กระทู้ไม่เหมาะสม" พร้อมทั้งระบุ ADDRESS ของเว็บบอร์ด

ผู้ช่วยเหลือ-แหล่งข้อมูล

[ คีตธรรม ] [ ตารางสี ] [ ค้นหาเพลง ]

ลานภาพ

อบรมวิปัสสนา

ค้นหา

ค้นหา-GooGle

สร้างสรรค์โดย a2.gif (164 bytes) http://www.abhidhamonline.org