มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ - เว็บบอร์ด

 ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 661|ตอบกลับ: 7

พุทธวิธีเพื่อการหัดตาย

[คัดลอกลิงก์]

32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405


๑๐๐ ปี พระชันษา ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา



พุทธวิธีเพื่อการหัดตาย
คัดมาจากพระนิพนธ์ของสมเด็จญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาเพื่อจิตใจโดยแท้ เป็นศาสนาที่ทะนุถนอมจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มุ่งพิทักษ์รักษาจิตใจเป็นอย่างยิ่ง มุ่งพิทักษ์รักษาจิตใจให้ห่างไกลจากความเศร้าหมองทั้งปวง อันจักเกิดแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ศึกษาพระพุทธศาสนาให้รู้จริง ก็จะเห็นพระพุทธเจ้าว่า ทรงมีพระหฤทัยละเอียดอ่อนและสูงส่งเหนือผู้อื่นทั้งปวง ความอ่อนโยนประณีตแห่งพระหฤทัย ทำให้ทรงเอื้ออาทรถึงจิตใจสัตว์โลกทั้งหลาย ทรงแสดงความทะนุถนอมห่วงใยสัตว์น้อยใหญ่ไว้แจ้งชัด สารพัดที่ทรงตรัสรู้อันจักเป็นวิธีป้องกันจิตใจของสัตว์โลก สมเด็จพระบรมศาสดาทรงพระมหากรุณาพร่ำชี้แจงแสดงสอนตลอดพระชนมชีพที่บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เช่นนี้แล้วไม่ควรหรือที่พุทธศาสนิกชนทุกถ้วนหน้า จะตั้งใจสนองพระมหากรุณาเต็มสติปัญญาความสามารถปฏิบัติตามที่ทรงสอน เอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลาย ด้วยการแนะนำบอกเล่าให้รู้จัก ให้เข้าใจว่า สมเด็จพระพุทธศาสดานั้นทรงยิ่งด้วยพระมหากรุณาจิตทรงอบรมพระปัญญา จนถึงสามารถทรงยังให้เกิดพระพุทธศาสนาขึ้นได้ เป็นที่พึ่งยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกทั้งหลายได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่มีที่พึ่งอื่นใดเปรียบได้

ทุกคนที่เคยประสบความขัดข้องในชีวิต ปรารถนาจะได้รับความช่วยเหลืออย่างที่สุด เมื่อมีผู้ใดมาให้ความช่วยเหลือแก้ไขความขัดข้องนั้นให้คลี่คลาย...ช่วยให้ร้ายกลายเป็นดี แม้มีจิตใจที่กตัญญูรู้คุณ ผู้ได้รับความช่วยเหลือด้วยเมตตา ให้ผ่านพ้นความมืดมัวขัดข้อง ย่อมสำนึกในพระคุณและน้ำใจ ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบแทน พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้า ยิ่งใหญ่เหนือความกรุณาทั้งหลายที่ทุกคนเคยได้รับมาในชีวิต แม้ไม่พิจารณาให้ประณีตก็ย่อมไม่เข้าใจ แต่แม้พิจารณาให้ประณีตด้วยดี ย่อมไม่อาจที่จะละเลยพระคุณได้ ย่อมจับใจในพระคุณพ้นพรรณนา

การหัดตายที่ปราชญ์ในพระพุทธศาสนาท่านแนะนำ คือการหัดอบรมความคิด สมมติว่าตนเองในขณะนั้นปราศจากชีวิตแล้ว ตายแล้ว เช่นเดียวกับผู้ที่ตายแล้วจริงทั้งหลาย

คิดให้เห็นชัดว่าเมื่อตายแล้ว ตนจะมีสภาพอย่างไร ร่างที่เคยเคลื่อนไหวได้ก็จะทอดนิ่ง อย่าว่าแต่เพียงจะลุกขึ้นไปเก็บรวบรวมเงินทองข้าวของที่อุตส่าห์สะสมไว้เพื่อนำไปด้วย จะเขยิบไปพ้นแดดพ้นมดสักนิ้วสักคืบก็ทำไม่ได้ เมื่อมีผู้มายกไปนำไปยังที่ซึ่งเขากำหนดกันว่าเหมาะว่าควร ก็ไม่อาจขัดขืนโต้แย้งได้



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-23 16:45:34 | ดูโพสต์ทั้งหมด
แม้บ้านอันเป็นที่รักที่หวงแหน เขาก็จะไม่ให้อยู่...จะยกไปวัด เคยนอนฟูกบนเตียงในห้องกว้าง ประตูหน้าต่างเปิดโปร่ง เขาก็จะจับลงไปในโลงศพแคบทึบ ไม่มีประตู ไม่มีหน้าต่าง ตีตาปูปิดสนิทแน่น ไม่ให้มีแม้แต่ช่องลมและอากาศ จะร้องก็ไม่ดัง จะประท้วงหรืออ้อนวอนก็ไม่สำเร็จ ไม่มีใครสนใจ

สามี ภริยา มารดา บิดา บุตรธิดา ญาติสนิทมิตรทั้งหลาย ที่เคยรักห่วงใยกันนักหนา ก็ไม่มีใครมาอยู่ด้วยแม้สักคน อย่าว่าแต่จะเข้าไปนั่งไปนอนในโลงศพด้วยเลย แม้แต่จะนั่งเฝ้านอนเฝ้าอยู่ข้างโลงทั้งวันทั้งคืน ก็ยังไม่มีใครยอม บ้านเรือนใครก็จะพากันกลับคืนหมด ทิ้งไว้แต่ลำพังในวัดที่อ้างว้าง มีศาลาตั้งศพ มีเมรุเผาศพ มีเชิงตะกอน มีศพที่เผาเป็นเถ้าถ่านแล้วบ้าง ยังไม่ได้เผาบ้างมากมายหลายศพ

ทีนี้เมื่อยังไม่ตาย เราเคยกลัว เคยรังเกียจ แต่เมื่อตายเราก็หนีไม่พ้น เรามีอะไรหรือในขณะนั้น เราไม่มีอะไรเลย มือเปล่าเกลี้ยงเกลาไปทั้งเนื้อทั้งตัว เงินสักบาททองสักเท่าหนวดกุ้งก็ไม่มีติด มีแต่ตัวแท้ ๆ เขาไม่ได้แต่งเครื่องเพชรเครื่องทองมีค่าหรือมอบกระเป๋าใส่เงินใส่ทองให้เลย อย่างดีก็มีเพียงเสื้อผ้าที่เขาเลือกสวมใส่แต่งศพให้ไปเท่านั้น ซึ่งไม่กี่วันก็จะชุ่มน้ำเหลืองที่ไหลจากตัว มีใครเล่าจะมาเปลี่ยนชุดใหม่ ๆ ให้ ทั้ง ๆ ที่สะสมไว้มากมายหลายสิบชุด ล้วนเป็นที่ชอบอกชอบใจว่าสวยว่างาม โอกาสที่จะได้ใช้เงินใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องเพชรเครื่องทองเหล่านั้นสิ้นสุดลงแล้ว... พร้อมกับลมหายใจ พร้อมทั้งชีวิตที่สิ้นสุดนั้นเอง ไม่คุ้มกันเลยกับความเหนื่อยยากแสวงหามาสะสมโดยไม่ถูกไม่ชอบด้วยประการทั้งปวง ที่เป็นบาป เป็นอกุศล เป็นการเบียดเบียนก่อทุกข์ภัยให้ผู้อื่น

หัดมองให้เป็นร่างกายของตนเอง ที่ตายแล้วขึ้นอึดอยู่ในโลก เริ่มปริแตก มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลออกจากขุมขน เส้นผมเปียกแฉะด้วยเลือดด้วยหนอง ลิ้นที่เคยอยู่ในปากเรียบร้อยก็หลุดออกมาจุก นัยน์ตาถลนเหลือกลาน

รูปร่างหน้าตาของตนเองขณะนั้น อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นจำได้เลย แม้ตัวเองก็จำไม่ได้ อย่าว่าแต่จะให้ใครอื่นไม่รังเกียจสะดุ้งกลัวเลย แม้แต่ตัวเองก็ต้องยากจะห้ามความรู้สึกนั้น ผิวพรรณที่อุตสาหพยายามถนอมรักษาให้งดงามเจริญตา เจริญใจ ใส่หยูกใส่ยา เครื่องอบเครื่องลูบไล้ เครื่องประทินอันมีกลิ่นมีคุณค่าราคาแพงทั้งหลาย มีลักษณะตรงกันข้ามกับความปรารถนาอย่างสิ้นเชิง เมื่อความตายมาถึง

32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-23 16:45:54 | ดูโพสต์ทั้งหมด
เมื่อความตายมาถึง ไม่มีผู้ใดจะสามารถถนอมรักษาทะนุบำรุงรักษาร่างกายของเขาไว้ได้ แม้สมบัติพัสถานที่แสวงหาไว้ระหว่างมีชีวิตจนเต็มสติปัญญาความสามารถ แม้ด้วยเล่ห์กล เพื่อใช้ทะนุถนอมรักษาเชิดชูบำรุงตัวของเรา ก็ติดร่างไปไม่ได้เลย

เป็นจริงดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า.. ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้ ให้ความสุข ความสมบูรณ์ ความสะดวกสบาย ความปกป้องคุ้มกันร่างของคนตายไม่ได้ ต้องปล่อยให้ร่างนั้นผุพัง เน่าเปื่อยคืนสู่สภาพเดิม เป็นต้น น้ำ ไฟ ลม ประจำโลกต่อไป ต้องตามพุทธศาสนสุภาษิตว่า “สัตว์ทั้งปวงจะทิ้งร่างไว้ในโลก”

ผู้มีความเข้าใจว่า ตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร สุขทุกข์อย่างไร เราไม่รับรู้ด้วยแล้ว จึงไม่มีความหมาย นี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เป็นโมหะสำคัญ ก็ที่เราเกิดเป็นนั่นเป็นนี่กันในชาตินี้ ทำไมเราจึงรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ทั้ง ๆ ที่เราไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับชาติก่อนอย่างไร

พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีชาติในอดีตและชาติในอนาคต เชื่อว่าก่อนที่จะมาเกิดในชาตินี้ ได้เคยเกิดในชาติอื่นมาแล้ว และก็จะต้องเกิดในชาติหน้าต่อไป ไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ถ้ายังทำกิเลสให้สิ้นไปไม่ได้ อย่าพลอยเป็นไปกับคนเป็นอันมาก ที่มีโมหะหลงเข้าใจผิดอย่างยิ่งว่า จบสิ้นความเป็นคนในชาตินี้แล้ว ก็ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาติอื่นต่อไป

เพราะฉะนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่ควรแสวงหาความสุขสมบูรณ์ให้ตนเองให้เต็มที่ในชาตินี้ ผู้ใดมีโมหะหลงผิดเช่นนี้ จะสามารถทำความผิดร้ายได้ทุกอย่างเพื่อประโยชน์ตน ทรยศคดโกง เบียดเบียนทำร้ายแม้กระทั่งถึงชีวิตเขาก็ทำได้ เป็นการสร้างกรรมที่จะให้ผลแก่ตนเองแน่นอน คนจะต้องเสวยผล เสวยทุกขเวทนา ทั้งในโลกนี้และเมื่อละโลกนี้ไปแล้วตามกรรมของตน ต้องตามพุทธภาษิตว่า “กรรมของตนเอง ย่อมนำไปสู่ทุคติ”

32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-23 16:46:20 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ปราชญ์กล่าวว่า ชีวิตนี้น้อยนัก ก็คือชีวิตในชาตินี้น้อยนัก ชีวิตในชาติข้างหน้ายาวนานไม่อาจประมาณได้ ชีวิตในภพข้างหน้าจะสิ้นสุดเมื่อไร ขึ้นอยู่กับความหมดจดจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น เปรียบชีวิตข้างหน้ากับชีวิตนี้แล้ว ชีวิตนี้จึงน้อยนัก

แม้รักตนจริง ก็ควรรักให้ตลอดไปถึงชีวิตข้างหน้าด้วย ไม่ใช่จะคิดเพียงสั้น ๆ รักแต่ชีวิตนี้เท่านั้น หาความสมบูรณ์พูนสุขในชีวิตนี้ ภายในขอบเขตที่ชอบที่สุด ทำนองคลองธรรมเถิด ผลแห่งกรรมทั้งในชาตินี้และชาติหน้าต่อ ๆ ไปที่จะต้องเสวยแน่ จะได้ไม่เป็นผลร้าย ไม่เป็นผลของบาปกรรม ที่ให้ความทุกข์ มิได้ให้ความสุข

ชีวิตใคร...ใครก็รัก
ชีวิตเรา...เราก็รัก ชีวิตเขา...เขาก็รัก
ความตาย...เรากลัว ความตาย...เขาก็กลัว
ของของใคร...ใครหวง ของของเรา...เราหวง ของของเขา...เขาก็หวง

จะลักจะโกงจะฆ่าทำร้ายใครสักคน ขอให้นึกกลับกันเสีย ให้เห็นเขาเป็นเรา เราเป็นเขา คือเขาเป็นผู้ที่จะลักจะโกงจะฆ่าจะทำร้ายเรา เราเป็นเขาผู้ที่จะถูกลักถูกโกงถูกฆ่าถูกทำร้าย ลองนึกเช่นนี้ให้เห็นชัดเจน แล้วดูความรู้สึกของเรา จะเห็นว่าที่เต็มไปด้วยโมหะนั้น จะเปลี่ยนเป็นเมตตากรุณา

ข่าวผู้พยายามป้องกันสมบัติของตนจนเสียชีวิตนั้น น่าสลดสังเวชยิ่งนัก หรือข่าวแม้ผู้กำลังจะสิ้นชีวิตแล้ว แต่ก็ยังพยายามกระเสือกกระสนรักษาสมบัติมีค่าของตนที่ติดตัวอยู่ ก็น่าสงสารที่สุด พบข่าวเหล่านี้เมื่อไร ขอให้นึกถึงใจคนเหล่านั้น อย่าคิดทำร้าย อย่าคิดเบียดเบียนกันเลย

32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-23 16:46:43 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ชีวิตของมนุษย์นี้ จะยืนนานเกิน ๑๐๐ ปี ก็ไม่มาก ทั้งยังเหลืออยู่ไม่ถึง ๑๐๐ ปีอีกด้วย คนไม่ได้อายุยืนเพราะทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางแม้ที่ชั่วช้า โหดร้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า ในเมื่อชีวิตดับสลายแล้ว ทุกสิ่งที่ชีวิตเคยครอง ก็ต้องสูญสลายพลัดพรากจากไป

ทรัพย์สมบัติติดตามคนตายไปไม่ได้ แต่เหตุแห่งการแสวงหาทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งเป็นกรรมไม่ดี ติดตามคนตายไปได้ ให้ผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนแก่คนที่ตายไปแล้วได้ ทรัพย์จึงไม่ใช่สิ่งที่พึงแสวงหา โดยไม่คำนึงให้รอบคอบถึงความถูก ความผิด ความควร ความไม่ควร

ทรัพย์ที่แสวงหาด้วยความโลภเป็นใหญ่ ได้ทำลายชีวิตและทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของใครต่อใครมาแล้วอย่างประมาณมิได้ ปรากฏให้เห็นอยู่ในชีวิตนี้ ความโลภโดยไม่มีขอบเขตนั้นเป็นทุกข์หนักนัก ทั้งโลภในทรัพย์ ในยศ ในชื่อ ล้วนเป็นทุกข์หนักนักทั้งสิ้น ตนเองก็เป็นทุกข์ ทั้งยังแผ่ความทุกข์ไปถึงผู้อื่นอีกด้วย จึงเป็นกรรมไม่ดี

ถ้าทุกข์ร้อนเพราะความอยากได้ไม่สิ้นสุดในลาภ ในยศ ในชื่อ จะดับทุกข์ร้อนนั้นได้ด้วยการทำกิเลสให้หมดจด ชีวิตในภพชาติข้างหน้าอันยาวนานนักหนา จะเป็นชีวิตดีมีสุขเพียงไร ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำไว้แล้วทั้งในอดีตชาติและในชาตินี้เป็นสำคัญ จะฉลาดนักถ้าจะไม่ลืมความจริงนี้ จะฉลาดที่สุดถ้าจะไม่คำนึงถึงแต่ความสุขเฉพาะในชีวิตนี้ หรือชีวิตหน้า แต่จะมุ่งคำนึงว่าจะพึงปฏิบัติอย่างไรให้เต็มสติปัญญาความสามารถ เพื่อไม่ต้องมีภพชาติข้างหน้าอีกต่อไป

เพราะความเกิดเป็นความทุกข์แท้ ผู้ฉลาดมีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ จักมุ่งมั่นเพียรอบรมสติปัญญาให้สามารถทำลายกิเลสคือราคะ หรือโลภะ โทสะ และโมหะ ให้หมดจด เพื่อพาตนให้พ้นได้จากความเกิดอันเป็นทุกข์

32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-23 16:47:07 | ดูโพสต์ทั้งหมด
บัณฑิต คือคนดี คนที่มีปัญญา คนที่ไม่ใช่พาล

บัณฑิต ตามพจนานุกรมแปลว่า ผู้มีปัญญา นักปราชญ์ แต่ความหมายแท้จริงที่ท่านใช้กัน บัณฑิตหมายถึงคนดี คนที่ไม่ใช่พาล และเมื่อพิจารณากันแล้ว คนดีหรือผู้มีปัญญาก็เป็นคนเดียวกันนั่นเอง คนมีปัญญาจะเป็นคนไม่ดีไปไม่ได้ ถ้าเป็นคนไม่ดีก็เพราะไม่มีปัญญา

“บัณฑิตย่อมฝึกตน” หมายความว่า คนดีหรือคนมีปัญญา ย่อมฝึกตน คืออบรมตนให้เป็นคนดี ในทางหนึ่งคนเรามีสองพวก คือพวกผู้ฝึกตนและพวกผู้ไม่ฝึกตน พวกผู้ฝึกตนคือผู้ที่พยายามศึกษาให้รู้ว่า ความดีเป็นอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้มีความดี จึงจะเป็นคนดี

บัณฑิตไม่ประมาทว่าคนมีความดีเพียงพอแล้ว บัณฑิตไม่หลงคิดว่าความไม่ดีเป็นความดี แล้วก็ทำความไม่ดีอย่างไม่สะดุ้งสะเทือน แต่บัณฑิตย่อมรู้ถูก รู้จริง ว่าความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร แล้วก็ไม่ประมาท ตั้งใจทำความดี ตั้งใจหลีกเลี่ยงความไม่ดีเต็มสติปัญญาความสามารถ

บัณฑิตไม่มีความเพ่งโทษผู้อื่น บัณฑิตจะเพ่งโทษตนเอง การเพ่งโทษตนเองนั้นเป็นการฝึกตนเองอย่างหนึ่งที่จักเกิดผลจริง การเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวิสัยของผู้ไม่ใช่บัณฑิต ผู้ที่เพ่งแต่โทษผู้อื่น ไม่เพ่งโทษตนเอง ย่อมไม่เห็นโทษของตนเอง ย่อมไม่เห็นความบกพร่องที่จะต้องแก้ไขให้ดีขึ้น ย่อมไม่รู้ว่ามีโทษเพียงไรในแง่ใด ไม่มีโอกาสจะแก้ไขตนเอง แต่จะมุ่งไปแก้ผู้อื่น ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างใด ผู้อื่นนั้นไม่ใช่

ว่าจะยอมให้แก้ เพราะถ้าเป็นผู้อื่นที่เป็นบัณฑิต ก็ย่อมแก้ตนเองอยู่แล้ว ฝึกตนเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เป็นบัณฑิตก็ย่อมไม่สนใจที่จะแก้ตนเอง ฝึกตนเองอยู่แล้ว ผู้อื่นจะไปแก้จึงเป็นไปได้ยาก

ทุกคนจะดีหรือชั่ว...สำคัญที่ตนเอง ตนเองมีความดีพอจะยอมรับความไม่ถูกต้องไม่ดีงามของตน ย่อมยินดีฝึกตน ย่อมยินดีแก้ไขตน ย่อมมีโอกาสเป็นคนดียิ่งขึ้น

32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-23 16:47:32 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ผู้คุ้นเคยกับความดี ทำดีได้โดยง่าย

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ ย่อมมีความชำนาญในสิ่งนั้น มีความคุ้นเคยกับการทำสิ่งนั้น ย่อมทำได้ดี ประพฤติดีเสมอ ก็จะเป็นผู้คุ้นเคยกับความดี คุ้นเคยกับการทำดี จะไม่เกี่ยวข้องกับความไม่ดี ไม่คุ้นเคยกับความไม่ดี

ผู้ที่ประพฤติดีลุ่ม ๆ ดอน ๆ คือบางทีก็ทำดี บางทีก็ทำไม่ดี เช่นนี้ก็จักเป็นคนดีไม่สม่ำเสมอ ถ้าทำดีมากครั้งกว่า ทำไม่ดีน้อยครั้งกว่า ก็จักเป็นคนที่มีโอกาสดีมากกว่าที่ไม่ดี คือคุ้นเคยกับความดีมากกว่าคุ้นเคยกับความไม่ดี เหมือนผู้ที่ติดต่อไปมาหาสู่กับบ้านใดมาก ก็รู้จักคุ้นเคยกับบ้านนั้น และผู้คนในบ้านนั้นมาก ติดต่อไปมาหาสู่บ้านใดน้อย ก็จักคุ้นเคยกับบ้านนั้นและผู้คนในบ้านนั้นน้อย

ผู้ที่อบรมสมาธิ ทำใจให้สงบมาก ก็เท่ากับฝึกใจให้คุ้นเคยกับความสงบมาก มีความสงบมาก ผู้ที่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน วุ่นวายไปกับเรื่องกับอารมณ์ต่าง ๆ มาก ก็เท่ากับฝึกใจให้วุ่นวายฟุ้งซ่านมาก เพราะคุ้นเคยกับความวุ่นวายฟุ้งซ่านมาก ความสงบก็มีน้อย

ผู้อบรมปัญญามาก พยายามฝึกให้เกิดเหตุผลมาก ก็จะคุ้นเคยกับการใช้เหตุผล ไม่ขาดเหตุผล ผู้ที่มีเหตุผลก็คือผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่ขาดเหตุผลก็คือผู้ที่ขาดปัญญา เหตุผลหรือปัญญาก็ฝึกได้ เป็นไปตรงตามพุทธศาสนสุภาษิตว่า “บัณฑิตย่อมฝึกตน” และที่ว่า “ผู้ประพฤติดีย่อมฝึกตน”

ทุกคนควรพิจารณาดูใจตนเอง ให้เห็นความปรารถนาต้องการที่แท้จริง ว่าต้องการอย่างไร ต้องการเป็นคนฉลาด มีปัญญา มีเหตุผล ก็ต้องประพฤติคือคิดพูดทำแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุผล ถูกต้องด้วยเหตุผล ต้องการเป็นคนดีก็ต้องประพฤติดีให้พร้อม ทั้งกาย วาจา ใจ ให้สม่ำเสมอ การคิดดี พูดดี ทำดี เพียงครั้งคราว หาอาจทำตนให้เป็นคนดีได้ไม่ หาอาจเป็นการประพฤติดีที่เป็นการฝึกตนไม่

32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-23 16:47:57 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ผู้วางเฉย มีอุเบกขา ไม่ยินดียินร้าย เป็นผู้พอ...พอใจในสภาพของตน ไม่ดิ้นรนเพื่อให้ตนสูงขึ้นด้วยประการทั้งปวง ไม่เห่อเหิมว่าตนสูงแล้ว เมื่อความไม่ยินดียินร้ายมีอยู่ ท่านจึงกล่าวว่า ผู้วางเฉยดังกล่าว เป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น

ความพอใจในสภาพของตนเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ความพอใจนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือความพอ ผู้ที่มีความพอแล้ว ย่อมมีความพอใจในภาวะและฐานะของตน จนกระทั่งไม่เห็นความสำคัญที่ต้องนำตนไปเปรียบกับผู้อื่น ผู้อื่นจะสูงจะต่ำจะดีจะไม่ดีอย่างไร ผู้ที่มีความพอแล้วย่อมไม่นำตนไปเปรียบ ย่อมไม่เกิดความรู้สึกเห่อเหิมว่าคนอื่นต่ำกว่า ตนสูงกว่า ไม่ดิ้นรนทะเยอทะยานที่จะยกฐานะของตนให้สูงขึ้น เพราะเห็นว่าผู้อื่นสูงกว่า ตนต่ำกว่า

ผู้ที่ดูถูกผู้อื่นก็ตาม ผู้ที่ตื่นเต้นในความใหญ่โตของผู้อื่นก็ตาม ล้วนเป็นผู้ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้วางเฉย” แต่เป็นผู้ขาดสติ เพราะผู้วางเฉยเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ ผู้วางเฉยเป็นผู้ไม่ดูถูกผู้อื่น เพราะไม่เห็นว่าผู้อื่นต่ำต้อยกว่าตน ไม่เห็นว่าตนสูงกว่าผู้อื่น

ผู้วางเฉยมีสติทุกเมื่อ ย่อมไม่ตื่นเต้นในความใหญ่โตของผู้อื่น เพราะไม่เห็นว่าผู้อื่นสูงกว่าตน ไม่เห็นว่าตนต่ำกว่าผู้อื่น ความสำคัญตนว่าเสมอเขานั้น มีได้เป็นสองนัย คือสำคัญตนว่าเสมอกับผู้ที่ต่ำต้อย เมื่อมีความสำคัญตนนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีความน้อยเนื้อต่ำใจ มีความแฟบลงของใจ เพราะย่อมสำคัญตนเลยไปถึงว่าตนต่ำกว่าผู้มีภาวะฐานะสูง นี้เป็นนัยหนึ่งของความสำคัญตนว่าเสมอเขา

ความสำคัญตนว่าเสมอเขานั้น มีได้เป็นสองนัย คือสำคัญตนว่าเสมอกับผู้ที่ต่ำต้อย เมื่อมีความสำคัญตนนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีความน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะย่อมสำคัญตนเลยไปถึงว่าตนต่ำกว่าผู้มีภาวะฐานะสูง นี้เป็นนัยหนึ่งของความสำคัญตนว่าเสมอเขา

ความสำคัญตนว่าเสมอเขาอีกนัยหนึ่งคือ สำคัญตนว่าเสมอกับผู้ที่สูงด้วยภาวะและฐานะ เมื่อความสำคัญตนเช่นนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีความลำพองใจยกตนข่มท่าน มีความฟูขึ้นของจิตใจ เพราะย่อมสำคัญตนเลยไปถึงว่า ตนสูงกว่าผู้ที่มีภาวะฐานะต่ำต้อย

ความไม่วางเฉย ไม่มีสติทุกเมื่อ เป็นเหตุให้เกิดกิเลสเครื่องฟูขึ้นและแฟบลงของจิตใจ เพราะความไม่วางเฉยเป็นทางให้เกิดความสำคัญตนสามประการคือ สำคัญตนว่าเสมอกับเขา ดีกว่าเขา ต่ำกว่าเขา ความสำคัญตนทั้งสามประการมีแต่โทษสถานเดียว ไม่มีคุณอย่างใด จึงควรอบรมความวางเฉยให้มาก พยายามตัดความรู้สึกสำคัญตนดังกล่าวให้สิ้น จะได้รับความสงบสุขยิ่งนัก



ที่มา http://www.fungdham.com/book/prasungkarad.html

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ประวัติการแบน|อุปกรณ์พกพา|ข้อความล้วน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-4-29 18:11 , Processed in 0.075678 second(s), 19 queries .

Powered by Discuz! X3.4, Rev.75

Copyright © 2001-2021 Tencent Cloud.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้