มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ - เว็บบอร์ด

 ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 782|ตอบกลับ: 4

มรณานุสติ

[คัดลอกลิงก์]

32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405



มรณานุสติ

"วันและคืนล่วงไป
ชีวิตใกล้ดับเข้าไป
อายุของสัตว์ทั้งหลาย ( ค่อย ) สิ้นไป
ดังน้ำแห่งลำน้ำน้อย( ค่อย ) แห้งไปฉะนั้น

ภัยแต่ความตาย ย่อมมีเป็นเที่ยงแท้แก่สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมาแล้ว ดุจภัยแต่ความหล่นในเวลาเช้าย่อมมีแก่ผลไม้ทั้งหลายที่สุกแล้วฉะนั้น

เหมือนอย่างภาชนะดินที่ช่างหม้อทำขึ้นแล้ว
ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ
ล้วนมีความแตกเป็นที่สุดฉันใด
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น "

ตลอดกาลอันยืดยาวนานของโลกนี้ มีคนเกิดคนตายสืบเนื่องกันมาจนนับประมาณไม่ถ้วน คนเราเมื่อเกิดมาก็นำเอาความตายมาพร้อมกับการเกิดด้วย ทุกวินาทีที่ผ่านไปก็คือช่วงเวลาที่เดินเข้าหาความตาย หาใช่เดินไปสู่ความเจริญของชีวิตอย่างที่ชาวโลกเข้าใจกันไม่ ผู้ที่เจริญเติบโตขึ้นจึงต้องรู้ว่า เวลาของชีวิตเหลือน้อยลงทุกที

วันเวลาล่วงไป ๆ ไม่ได้ล่วงไปเปล่า ๆ ชีวิตของเราแก่ลงไปทุกวันทุกเวลา การแก่นั้นท่านยกตัวอย่างไว้เหมือนวัวที่เขาจูงไปฆ่า เดินไปก้าวหนึ่ง ก็ใกล้โรงฆ่าสัตว์เข้าไป ผลที่สุดเดินไปก็ถึงที่ฆ่า โดนมีดหั่นคอถึงแก่ความตาย เราทั้งหลายก็มีสภาพอย่างนั้นเหมือนกันทุกคน ให้เราได้นึกเตือนเสมอว่าวันหนึ่งเราจะต้องตาย

วันนี้เรามาร่วมงานศพของคนอื่น วันหนึ่งข้างหน้าก็จะเป็นงานของเราบ้าง เพราะชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง คือ ทุกคนจะต้องตาย แต่ใครเล่าจะบอกได้บ้างว่าเราจะตายวันไหน เวลาใด ตายด้วยโรคอะไร และไปเกิดที่ไหน? ก็ไม่มีใครบอกได้ แต่เวลานี้ยังไม่ตายก็ต้องรีบเร่งสร้างคุณงามความดี ใช้ชีวิตร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์ให้





32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 09:21:19 | ดูโพสต์ทั้งหมด


พระพุทธศาสนาสอนให้มีการเจริญมรณานุสติเพื่อสร้างความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต การเจริญมรณานุสติเป็นการนึกถึงความตายที่เป็นสภาวะที่จริงแท้ซึ่งเมื่อมาสู่ชีวิตแล้วทำให้ชีวิตขาดสะบั้นลงทันที กิจกรรมใดที่เคยทำไว้แต่ก่อนเมื่อความตายมาถึงแล้ว กิจกรรมเหล่านั้นก็เป็นอันสิ้นสุดลง

การเจริญมรณานุสติเป็นการช่วยให้คลายจากความยึดถือชีวิต และความหมกหมุ่นอยู่กับความโลภโกรธหลงในอารมณ์ การระลึกถึงความตายจะช่วยทำให้ปล่อยวางได้จากหลายสิ่ง และยอมพ่ายแพ้ธรรมชาติคือความตายได้อย่างสงบ เพราะความตายเป็นสิ่งที่มีอำนาจและยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีมนุษย์คนใดเอาชนะได้ แม้พระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงต้องทอดทิ้งพระสรีรกายไว้ในโลกให้พุทธบริษัทจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ

เมื่อความตายมาสู่ชีวิตของบุคคลโดยไม่มีนิมิตบอกล่วงหน้าให้มีเวลาเตรียมตัว จึงไม่ควรวางใจในชีวิต กิจใดที่ควรทำ ควรรีบทำกิจนั้นอย่างไม่ผัดวันประกันพรุ่งนี้อาจทำให้มีการนึกถึงความตายในด้านที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ เช่น การนึกถึงความตายแล้วเกิดใจฝ่อห่อเหี่ยวจนหมดเยื่อใยในชีวิต ไม่อยากจะทำกิจกรรมอะไร การงอมืองอเท้ารอคอยความตายเช่นนี้ เป็นการระลึกถึงความตายที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งควรจะต้องกลับความคิดเสียใหม่ ด้วยการเตือนสติตนให้ไม่ประมาท เร่งรีบทำกิจกรรมความดีที่ควรทำให้มากขึ้น ให้ทันเวลา เพิ่มพูนความเพียรชำระล้างจิตใจของตนให้สะอาด ปราศจากกิเลสให้ได้มากที่สุดก่อนที่ความตายมาถึง

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักก่อด้วยอิฐชื่อนาทิกะ ทรงสอนภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางคืนเวียนมาย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้ ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้ มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้ พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาป อกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืนมีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนคนที่มีผ้าไฟไหม้ หรือศีรษะถูกไฟไหม้ เพียรเพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะที่ถูกไฟไหม้นั้น



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 09:22:17 | ดูโพสต์ทั้งหมด


ความตายในมรณานุสติคืออะไร?

สติอันปรารภความตายเกิดขึ้น ชื่อว่า มรณานุสติ
คำว่า มรณานุสตินั่น เป็นคำเรียกสติอันมีความขาดแห่งชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์
คือความขาดไปทั้ง ชีวิตรูป และชีวิตินทรีย์เจตสิก ที่เนื่องอยู่กับภพอันหนึ่งชื่อว่ามรณะ

ความตายในมรณานุสติคือ กาลมรณะ และอกาลมรณะ
กาลมรณะ ย่อมมีเพราะสิ้นบุญบ้าง เพราะสิ้นอายุบ้าง เพราะสิ้นทั้งสองอย่างบ้าง
อกาลมรณะ ย่อมมีด้วยอำนาจกรรมอันเข้าไปตัดชนกกรรม

มรณะใดที่เมื่อความถึงพร้อมแห่งปัจจัยอันเป็นเครื่องยังอายุให้สืบต่อไปยังมีอยู่ แต่ก็มีขึ้นได้ เพราะความที่กรรมอันก่อปฏิสนธิ มีวิบากสุกงอมสิ้นเชิงแล้วนี้ ชื่อว่า มรณะเพราะสิ้นบุญ

มรณะใดที่มีขึ้นด้วยอำนาจความสิ้นแห่งอายุ เช่น อายุเฉลี่ยในสมัยพุทธกาลปัจจุบันนี้คือประมาณ ๗๕ ปี และเพราะความไม่มีสมบัติ เช่น คติ กาล และอาหาร เป็นต้นนี้ชื่อว่า มรณะเพราะสิ้นอายุ

มรณะใดย่อมมีแก่บุคคลทั้งหลายผู้มีปัจจัยเครื่องสืบต่อแห่งอายุถูกกรรมเข้ามาตัดให้เครื่องสืบต่อแห่งอายุขาดไปด้วยการทำร้าย มีการใช้ศาสตราเป็นต้น หรือด้วยอำนาจแห่งกรรมที่ทำไว้ในปางก่อนก็ดี ( คือกรรมชั่วที่ทำไว้ในปัจจุบันชาติ หรือกรรมชั่วที่ทำไว้ในอดีตชาติก็ดีมาให้ผล มรณะนี้ชื่อว่า อกาลมรณะ

ความระลึกถึงความตาย กล่าวคือความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ดังกล่าวนี้ ชื่อว่า มรณสติ ส่วนความตายที่เรียกว่า สมุจเฉทมรณะ(ความขาดเด็ดแห่งวัฏฏทุกข์ของพระอรหันต์ทั้งหลาย) ขณิกมรณะ (ความดับในขณะๆ แห่งสังขารทั้งหลาย) และสมมติมรณะ ( คำพูดของชาวโลกที่พูดว่า ต้นไม้ตาย เครื่องยนต์ตาย ฯ) ไม่จัดเป็นมรณานุสติ

การเจริญมรณานุสติเพื่อให้ได้ความสงบขั้นสูงนั้นผู้ที่ต้องการเจริญมรณานุสตินั้นต้องหาที่อยู่ที่สงบสมควร แล้วมนสิการว่า มรณํ ภวิสฺสติ ชีวิตินฺทฺริยํ อุปจฺฉิชฺชิสฺสติ (ความตายจักมี ชีวิตินทรีย์จักขาด) หรือ มรณํ มรณํ (ตาย ตาย ) เพื่อนิวรณ์ทั้งหลายจะระงับลง สติอันมีความตายเป็นอารมณ์จะตั้งมั่นกรรมฐาน



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 09:22:58 | ดูโพสต์ทั้งหมด


สำหรับผู้ที่มีอินทรีย์อ่อนพึงระลึกโดยอาการ ๘ คือ

วธกปจฺจุปฏฺฐานโต โดยปรากฏดุจเพชฌฆาตที่ถือดาบจ่อที่คอ ยืนประชิดตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะความตายนั้นมาพร้อมกับความเกิด

สมฺปตฺติวิปตฺติโต โดยวิบัติแห่งสมบัติ เพราะไม่มีสมบัติใดในโลกนี้จะงดงามอยู่ได้ตลอดเวลา สมบัติย่อมมีวิบัติเป็นที่สุดดุจเดียวกับชีวิต

อุปสํหรณโต โดยเปรียบเทียบตนกับคนอื่นๆ ที่ตายแล้ว เช่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้มีปัญญามาก ผู้มีฤทธิ์มาก ผู้มีเรี่ยวแรงมาก ผู้มีบุญมาก และผู้มียศมาก ว่าไม่อาจรอดพ้นความตายไปได้เช่นกันนับประสาอะไรกับตัวเรา

กายพหุสาธารณโต โดยร่างกายเป็นสาธารณแก่สัตว์และปัจจัยแห่งความตายมากชนิด เพราะเป็นอาศัยของหมู่หนอน ๘๐ จำพวก ที่เกิด แก่ ตาย ถ่ายอุจจาระปัสสาวะอยู่ในนั้นซึ่งก่อให้เกิดโรคภัยได้ นอกจากนี้กายนี้มีภัยภายนอกที่ถูกสัตว์ทำร้าย ถูกอาวุธทำร้ายให้ถึงตายได้

อายุทุพฺพลโต โดยอายุเป็นของอ่อนแอ มีความผูกพันอยู่กับลมหายใจเข้าออก อิริยาบถ ความเย็นความร้อน มหาภูต และอาหาร หากประการใดประการหนึ่งสิ้นไปความตายก็จักมาถึง

อนิมิตฺตโต โดยชีวิตไม่มีนิมิต กล่าวคือชีวิต พยาธิ กาล สถานที่ทอดร่าง และคติ ของสัตว์ทั้งหลายในชีวโลก ไม่มีนิมิต รู้ไม่ได้เลย

อทฺธานปริจฺเฉทโต โดยชีวิตมีกำหนดกาล คือกาลแห่งชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายนั้นสั้น ผู้ที่มีอายุเกิน ๑๐๐ ปี มีเป็นส่วนน้อย ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า " ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายุของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อย สัมปรายภพเล่า ก็จะต้องไป จึงควรทำกุศล ประพฤติพรหมจรรย์ ความไม่ตายแห่งสัตว์ผู้เกิดแล้วหามีไม่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเป็นอยู่ยืน ผู้นั้นก็เป็นอยู่สัก ๑๐๐ ปี เกินนั้นไปก็มีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย "

ขณปริตฺตโต โดยชีวิตมีขณะสั้นโดยปรมัตถ์ คือขณะแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลายนั้นมีชั่วความเป็นไปแห่งจิตดวงหนึ่งเท่านั้นเอง อุปมาเหมือนล้อรถที่หมุนไปด้วยชิ้นส่วนที่เป็นกงอันเดียวนั้น เมื่อหยุดหมุนก็หยุดด้วยชิ้นส่วนที่เป็นกงอันเดียวกันนั่นแหละฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่เป็นไปชั่วขณะจิตเดียวฉันนั้นเหมือนกัน พอจิตดวงนั้นดับ สัตว์ก็ได้ชื่อว่าดับ



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 09:24:05 | ดูโพสต์ทั้งหมด


อานิสงส์ของการเจริญมรณานุสติ

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า ก็แลภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งมรณสตินี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทเนืองนิตย์ ได้อนภิรติสัญญา ( ไม่น่ายินดี ) ในภพทั้งปวง ละความไยดีในชีวิตเสียได้ เป็นผู้ติการทำบาป ไม่มากไปด้วยการสะสม ปราศจากมลทิน คือ ความตระหนี่ในบริขารทั้งหลาย แม้อนิจจสัญญาก็ย่อมถึงความช่ำชองแก่เธอ อนึ่ง ทุกขสัญญา และอนัตตสัญญาก็ย่อมปรากฏ ไปตามแนวอนิจจสัญญานั้น

สัตว์ทั้งหลายผู้มิได้อบรมเรื่องตาย เวลาจะตายย่อมถึงความกลัว ความสะดุ้ง ความหลง ดุจคนถูกสัตว์ร้าย ยักษ์ งู โจร และผู้ร้ายฆ่าคนจู่โจมเอาแบบไม่ทันรู้ตัว ฉันใด เธอมิได้ถึงความเป็นฉันนั้น เป็นผู้ไม่กลัว ไม่หลงทำกาลกิริยา ถ้าเธอมิได้ชมพระอมตะในทิฏฐธรรมนี้ไซร้เพราะตายไป ย่อมเป็นผู้มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้นแล ผู้มีปัญญาดีพึงทำความไม่ประมาทในมรณสติ อันมีอานุภาพมากอย่างนี้ ทุกเมื่อเทอญ.





ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ประวัติการแบน|อุปกรณ์พกพา|ข้อความล้วน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-4-29 17:37 , Processed in 0.065934 second(s), 19 queries .

Powered by Discuz! X3.4, Rev.75

Copyright © 2001-2021 Tencent Cloud.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้