มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ - เว็บบอร์ด

 ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 1236|ตอบกลับ: 7

การคุมกำเนิด... บาป หรือไม่บาป

[คัดลอกลิงก์]

12

กระทู้

49

โพสต์

460

เครดิต

ผู้เยี่ยมชม

เครดิต
460


คุมกำเนิด…บาป หรือไม่บาป เนื้อหาที่นำมาเสนอครั้งนี้ คัดลอกมาจากเรื่อง “ใครให้คุณเกิด” โดยอาจารย์บุษกร เมธางกูร ซึ่งเป็นเป็นหนังสือที่ทางมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิจัดพิมพ์ไว้แล้วค่ะ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากกระทู้ที่ 02070 ซึ่งคุณหน่องได้ตั้งคำถามเรื่องการคุมกำเนิด โดยวิธีการใส่ห่วง ว่าเป็นบาป หรือไม่ อย่างไรนั้น

เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น จึงได้ขออนุญาตท่านอาจารย์บุษกร นำบางตอนของเรื่อง “ใครให้คุณเกิด” ที่อธิบายเรื่องการเกิดชีวิต(มนุษย์) ในแง่ของวิทยาศาสตร์ และพระอภิธรรม มานำเสนอ เพื่อให้ท่านได้อ่านและพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่า…การคุมกำเนิดนั้นเป็นบาปหรือไม่ อย่างไร ? โดยภาพที่ประกอบนั้น ได้นำมาจาก http : //www google.com

ในเมื่อบาปที่เกิดจากการสัตว์นั้นมีหลักตัดสิน ๕ ประการ คือ

๑. สัตว์นั้นมีชีวิต
๒. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓, มีจิต (เจตนา) คิดจะฆ่า
๔. มีความพยายาม (ลงมือฆ่า)
๕, สัตว์นั้นได้ตายลง

คราวนี้มีปัญหาอยู่ว่า …

การคุมกำเนิดโดยวิธีใส่ห่วง ซึ่งเป็นการทำให้ตัวอ่อนที่เจริญมาแล้วระยะหนึ่งไม่สามารถฝังตัวที่มดลูกได้นั้น…จะเป็นบาปหรือไม่

คนส่วนใหญ่ (ที่ไม่เรียนธรรมะ) มักพูดว่า การทำแท้ง ถ้าเด็กนั้นยังไม่ทันเจริญเป็นตัว …เป็นเพียงแค่ก้อนเลือดเท่านั้น ( ๑ - ๒ เดือน) ก็ไม่บาป

บาป หรือไม่นั้น ขอให้ท่านอ่านเรื่องที่นำเสนอต่อไปนี้ และท่านจะได้คำตอบเองว่า บาปหรือไม่



12

กระทู้

49

โพสต์

460

เครดิต

ผู้เยี่ยมชม

เครดิต
460
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 18:57:07 | ดูโพสต์ทั้งหมด


กำเนิดชีวิตมนุษย์

ตามหลักของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงการที่มนุษย์ได้ก่อกำเนิดขึ้นในครรภ์มารดาว่า จะต้องมีองค์ประกอบ ๓ ประการ คือ

๑. มาตา อุตุนี โหติ แปลว่า มารดามีระดู
๒. มาตาปิตโร สนฺนิปาตา โหนฺติ แปลว่า มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน
๓. คนฺธพฺโพ ปจฺจุปฏฐิโต โหติ แปลว่า มีสัตว์มาเกิด


ในข้อที่ว่ามารดามีระดู หมายถึงมีการตกไข่ (Ovulation) เกิดขึ้นในครรภ์มารดา เพราะขณะที่ไข่สุก หมายถึง ไข่ หรือ Ovum ที่เจริญเต็มที่แล้ว ตกออกจากรังไข่ (ovary) เพื่อเข้าสู่ท่อนำไข่ (oviduct)

ส่วนมารดาและบิดาอยู่ร่วมกันนั้น หมายถึงจะต้องมีการปฏิสนธิ คือมีสเปิร์มอันได้แก่เชื้ออสุจิจากพ่อ เข้าผสมกับเซลล์ไข่ของแม่ เมื่อผสมแล้วได้เป็นเซลล์ใหม่ที่มีชื่อว่า ไซโกต

โดยวิชาการทางโลกนั้น เว้นการกล่าวถึงข้อที่ ๓ เพราะยังไม่อาจพิสูจน์ได้ คงอธิบายแต่เพียงว่าจากไซโกต ซึ่งเป็นเซลล์ๆเดียว จะมีการแบ่งตัวเจริญเป็นรูปร่างมนุษย์ ที่มีแขน มีขา และรูปร่างหน้าตาต่อไป โดยผ่านกระบวนการที่สำคัญ คือ

๑. มีการเพิ่มจำนวนเซลล์ โดยการแบ่งเซลล์แบบไมโตซิส ซึ่งเซลล์ใหม่ที่ได้จะมีโครโมโซมเท่าเดิม และมีลักษณะพันธุกรรมเหมือนเดิมทุกประการ

๒. มีการเพิ่มขนาดของเซลล์ ทำให้เซลล์โตขึ้น

๓. มีการแปรสภาพของเซลล์ (differentiation) ทำให้เกิดเนื้อเยื่อต่างๆ

๔. มีการสร้างอวัยวะ (organogenesis) และรูปร่างของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ (morphogenesis)



12

กระทู้

49

โพสต์

460

เครดิต

ผู้เยี่ยมชม

เครดิต
460
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 18:58:53 | ดูโพสต์ทั้งหมด

ภาพการเจริญของตัวอ่อนในท่อนำไข่

โดยกระบวนการ ๔ ขั้นนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้

๑. ไซโกตที่เกิดจากการปฏิสนธิ โดยการรวมโครโมโซมจากนิวเคลียสของสเปิร์มและไข่นั้น จะแบ่งตัวแบบ ไมโตซิส เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ ในขณะที่กำลังเคลื่อนที่ไปตามท่อนำไข่เพื่อเข้าสู่มดลูก

การแบ่งตัวนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการปฏิสนธิ ๓๐ ชั่วโมง และแบ่งตัวเรื่อยไปประมาณ ๓ วัน จะได้ ๑๖ เซลล์ รูปร่างตัวอ่อนในระยะนี้คล้ายผลน้อยหน่า เรียกว่า Morula ซึ่งยังคงมีขนาดเท่ากับไซโกต

แม้จะมีการเพิ่มจำนวนเซลล์แล้วก็ตาม เพราะเซลล์ที่เพิ่มขึ้นนั้นมีขนาดเล็กลง ตัวอ่อนนี้ยังคงถูกห่อหุ้มด้วยกลุ่มเซลล์ที่เป็นสารอาหาร

กรณีการเกิดฝาแฝดแท้ ที่ทำให้ได้ทารก ๒ คนมีลักษณะหน้าตาเหมือนกันนั้น เป็นเพราะขณะที่ไซโกตกำลังแบ่งตัวแบบไมโตซิสครั้งแรกนั้น เซลล์ ๒ เซลล์ที่ได้จะมีลักษณะของโครโมโซมที่เหมือนกันทุกประการ แล้ว ๒ เซลล์นี้ต่างเซลล์ต่างเจริญไปเป็นเด็กทารก ๑ คน จึงได้ทารก ๒ คนที่มีลักษณะเหมือนกัน เพราะนั่นคือ เด็ก แฝด ๒ คนที่มาจากเซลล์ไซโกตเซลล์เดียวกัน จึงมีสารพันธุกรรม (ดี เอน เอ) เหมือนกันทุกประการ

๒. ในขณะที่ตัวอ่อน Morula เจริญอยู่นั้น เกิดการเคลื่อนตัวของเซลล์ภายใน ทำให้เกิดช่องว่าง เปลี่ยนจากตัวอ่อนที่กลมตัน มาเป็นตัวอ่อนที่กลมและมีช่องกลวงภายใน เรียกตัวอ่อนนี้ว่า blastocyst
ซึ่งจะเป็นตัวอ่อนที่เคลื่อนที่เข้าสู่มดลูก และลอยตัวอยู่ในมดลูกประมาณ ๒ วัน

ในระยะนี้ตัวอ่อนยังคงแบ่งตัวไปเรื่อยๆ จนมีขนาดโตเต็มที่ มันก็จะปริตัวออกมาจากเกราะ หรือเซลล์รอบๆ ที่ทำหน้าที่เป็นอาหาร เพื่อฝังตัวเข้าสู่ผิวมดลูกประมาณวันที่ ๖-๗ หลังจากที่ปฏิสนธิ

ในช่วงเวลานี้ ผิวมดลูกชั้นใน (endometrium) ของแม่จะหนาตัวขึ้นอย่างมาก และมีเส้นเลือดเกิดขึ้นมากมาย ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน(estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (progesterone) ที่ถูกผลิตออกจากรังไข่ เพื่อช่วยในการฝังตัวของ blastocyst นั่นเอง






12

กระทู้

49

โพสต์

460

เครดิต

ผู้เยี่ยมชม

เครดิต
460
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 19:00:02 | ดูโพสต์ทั้งหมด

ภาพ..การเจริญของตัวอ่อนในมดลูก

๓. มีการเจริญเปลี่ยนแปลง โดยการสร้างเนื้อเยื่อ และถุงต่างๆขึ้น คือ

สัปดาห์ที่ ๒ มีการสร้างถุงน้ำคร่ำ(amnion) เพื่อที่จะทำหน้าที่รองรับตัวเด็กที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ในขณะที่ blastocyst จะฝังตัวมิดประมาณวันที่ ๙ และมีการสร้างถุงไข่แดง (Yolk sac) ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างเลือดให้กับตัวอ่อน (ฉะนั้นเลือดแม่ และเลือดลูกจึงไม่ติดต่อผ่านถึงกัน แม่และลูกเลือดจึงอาจเป็นคนละกลุ่มได้ เช่น แม่เลือดกลุ่ม โอ แต่ลูกเลือดกลุ่ม เอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ gene ที่ลูกได้รับจากพ่อและแม่)

มีการแปรสภาพของเนื้อเยื่อบางชนิดไปเป็นเส้นเลือด (เปรียบได้กับไข่ไก่ หรือไข่เป็ด ซึ่งบางครั้งจะพบเส้นเลือด และเลือดปรากฏที่ผิวไข่แดง โดยที่ในขณะนั้นยังไม่ปรากฏตัวอ่อนของไก่ให้เราเห็น)

สัปดาห์ที่ ๓จะมีการเจริญของเนื้อเยื่อคัพภะ (ตัวอ่อน) ๓ ชั้น จากเนื้อเยื่อที่อยู่ที่ผิวของถุงน้ำคร่ำด้านที่ติดอยู่กับถุงไข่แดง (embryonic disc) ไปเป็นเนื้อเยื่อชั้น ectoderm mesoderm entoderm

ซึ่งต่อมาเนื่อเยื่อทั้ง ๓ ชนิดนี้จะเจริญไปเป็นเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น เนื้อเยื่อประสาท (ทำให้เกิดสมอง ไขสันหลัง ในเวลาต่อมา) กระดูก กล้ามเนื้อ เลือด เป็นต้น ตัวอ่อนในระยะนี้จะมีลักษณะเป็นปล้องๆ (somite)

ส่วนหัวใจเริ่มเกิดขึ้นประมาณวันที่ ๑๘ - ๑๙ โดยพัฒนามาจากเส้นเลือด

สัปดาห์ที่ ๔ จะปรากฏหลอดเลือดจากตัวอ่อน (ซึ่งจะเป็นเส้นเลือดในสายสะดือเด็ก) ไปยังเนื้อเยื่อที่ฝังอยู่ในมดลูก โดยจะแตกกิ่งก้านสาขามากมาย (ในรก) โดยจะทำหน้าที่นำสารอาหาร และออกซิเจนจากเลือดของแม่ (ที่มดลูก) แพร่ผ่านเข้าสู่เลือดของลูกในรก สายสะดือ และตัวเด็ก

ในระยะนี้ตัวอ่อนที่ปรากฏให้เห็นจะมีลักษณะทรงกระบอก จะเริ่มมีการงอตัวคล้ายถ้วย ในปลายสัปดาห์เริ่มมีปุ่ม เกิดขึ้น โดยปุ่มศีรษะจะเกิดก่อน

สัปดาห์ที่ ๕ ตัวอ่อนที่ลอยอยู่ในถุงน้ำคร่ำจะมีการสร้างเม็ดเลือด โดยตอนแรกนี้จะสร้างจากตับ นอกจากถุงไข่แดงแล้ว

รูปร่างของตัวอ่อนระยะนี้เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ ๔ เพียงเล็กน้อย ปุ่มที่จะเจริญเป็นศีรษะ แขน และขา เริ่มชัดโดยเฉพาะปุ่มศีรษะนั้นจะเจริญมากกว่าส่วนอื่น

สัปดาห์ที่ ๖ตัวอ่อนหน้าคว่ำ มากขึ้น แขน ขา เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นมากขึ้น ใบหน้าเห็นชัดเจนขึ้น เห็นศีรษะ แขน และขา ชัดเจนขึ้น

หัวใจมองเห็นเป็นก้อนใหญ่อยู่ที่ส่วนหน้าของหน้าอก โดยจะเริ่มเต้นเป็นจังหวะให้เห็น เส้นเลือดเริ่มทำงานแล้ว

สัปดาห์ที่ ๗เห็นหูชัดขึ้น หน้าตาชัดขึ้น แขน ขา เจริญมากขึ้น



12

กระทู้

49

โพสต์

460

เครดิต

ผู้เยี่ยมชม

เครดิต
460
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 19:01:06 | ดูโพสต์ทั้งหมด


สัปดาห์ที่ ๘ ตัวอ่อนสามารถเรียกว่า เป็นทารกในครรภ์แล้ว นั่นคือรูปร่างเริ่มแยกแยะได้แล้วว่าเป็นคน มือและเท้าเริ่มยาวขึ้น เริ่มปรากฏนิ้วมือ นิ้วเท้า แม้จะมีพังผืดยึดไว้ก็ตาม ทารกเริ่มมีการเคลื่อนไหว

เดือนที่ ๓ ทารกในครรภ์ หรือที่เรียกว่า ฟีตัส (fetus) มีการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นการเจริญเติบโตเพิ่มขนาดขึ้น เพศเริ่มปรากฏ อวัยวะภายในทั้งหมดเป็นรูปร่าง และเริ่มทำงานได้แล้ว รก และระบบหมุนเวียนโลหิตของทารกสมบูรณ์แล้ว

เดือนที่ ๔ เริ่มมี individual differentiation อวัยวะเพศเริ่มปรากฏชัดเจน (แต่อาจจะมองจากอุลตราซาวด์ไม่ชัด หัวใจเต้นเร็วเป็น ๒ เท่าของมารดา ช่องจมูก และปากมีเพดาน (palate) ปิดกั้นอย่างสมบูรณ์ ทารกเริ่มสามารถดูดนิ้วได้ ความหิวของมารดาจะทวีขึ้นตามความเจริญเติบโตของทารก การหมุนเวียนของเลือดมารดาจะเพิ่มขึ้น ทำให้ปอด ไต และหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น

เดือนที่ ๕ เริ่มมีขนอ่อนตามหน้า ลำตัว ผมเริ่มปรากฏบนศีรษะ ทารกจะคล่องแคล่วมากขึ้น มีการดิ้นจนมารดารู้สึกตัวได้ ปรากฏไขมันเคลือบผิวของทารก

เดือนที่ ๖ เริ่มมีขนตา ขนคิ้ว ผิวหนังยังเหี่ยวย่นอยู่ มีการพัฒนาของกล้ามเนื้อแขน และขา ทารกสามารถไอ และสะอึกได้

เดือนที่ ๗ผิวหนังสีค่อนข้างแดง มีไขมันสะสมมากขึ้น เปลือกตาเปิดออกจากกัน ทารกมีความรู้สึกตัวมากขึ้น และพยายามตอบสนองในสิ่งที่รู้สึก (เหมือนเด็กแรกคลอด) จึงเปิดปิดตาตามความรู้สึก

ฉะนั้นทารกในระยะนี้จึงสามารถมองเห็น ได้ยิน ทารกในระยะนี้จะได้ยินเสียงแม่ และถ้าทารกในครรภ์หลับอยู่อาจมีอาการสะดุ้งเมื่อเกิดเสียงดัง ทารกบางรายจะชอบเสียงดนตรีที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะทราบได้โดยมีอาการเคลื่อนไหวของทารก ฉะนั้นปัจจุบันนี้จึงมีการพูดคุย และส่งภาษาให้กับทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ขณะที่อายุ ๗ เดือน



12

กระทู้

49

โพสต์

460

เครดิต

ผู้เยี่ยมชม

เครดิต
460
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 19:02:25 | ดูโพสต์ทั้งหมด


เดือนที่ ๘ ผิวหนังเริ่มเต่งตึงขึ้น ถ้าเป็นชายก้อนอัณฑะจะเลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ

ในช่วงนี้ทารกโตมากขึ้น ทำให้อึดอัดในการอยู่ในที่แคบ จึงมักมีการดิ้นและกลับตัว สร้างความลำบากให้กับมารดาเป็นอย่างมาก

เดือนที่ ๙ ผิวหนังเต่งตึงมากขึ้น ผิวหนังซึ่งมีสีแดงมากจะเริ่มจางลง ร่างกายและแขน ขาจะกลมกลึงมากขึ้น เล็บมือ เล็บเท้างอกแล้ว

เดือนที่ ๑๐ลักษณะเด็กครบกำหนดคลอด ขนอ่อนจะหลุดออกเกือบหมด เล็บมือยื่นเลยปลายนิ้ว เล็บเท้ายื่นเสมอปลายนิ้ว น้ำหนักเฉลี่ยราว ๓ กิโลกรัม ยาว ๒๐ นิ้ว

ขั้นตอนความเป็นไปในการเจริญจากเซลล์ๆ เดียว มาเป็นตัวอ่อน จนเจริญไปเป็นทารกดังที่ได้อธิบายมาแล้วนี้ ล้วนเกิดจากความก้าวหน้าของวิทยาการทางโลก

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาค้นคว้าจนได้รายละเอียดเกี่ยวกับการเจริญเติบโตอย่างมากมายก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นก็ไม่อาจสามารถอธิบายไปได้ถึงอำนาจของจิตที่ทำให้ต้องเกิดการปฏิสนธิ ตลอดจนอำนาจของกรรมที่ทำให้เกิดรูปร่าง และลักษณะของหน้าตาที่แตกต่างกันออกไปได้

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอำนาจอันเร้นลับที่วิชาการทางโลกไม่อาจพิสูจน์ได้ แต่ไม่ว่าเรื่องราวใดๆ ย่อมไม่เกินวิสัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะด้วยพระสัพพัญญุตาญาณ จึงทำให้พระองค์ทรงหยั่งรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ในเรื่องความเป็นมา และความเป็นไปของชีวิต ทรงนำมาแจกแจงอย่างละเอียดพิสดาร ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดปรากฏอยู่ในพระอภิธรรมนั่นเอง



12

กระทู้

49

โพสต์

460

เครดิต

ผู้เยี่ยมชม

เครดิต
460
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 19:03:49 | ดูโพสต์ทั้งหมด


ความคิดเห็น

มักมีคำถามว่า หากผู้ที่ตั้งครรภ์ทำแท้งตอนที่เด็กอายุต่ำกว่า ๘ สัปดาห์ โดยที่ขณะนั้นทารกยังไม่ปรากฏรูปร่างของความเป็นคนเลย จะเป็นบาปหรือไม่

หากว่ากันโดยสภาวธรรมแล้ว ชีวิตคือรูปนาม ขันธ์ ๕ อันประกอบด้วย จิต เจตสิก และรูป นั้น ย่อมอุบัติขึ้นมาพร้อมกัน นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดการปฏิสนธิขึ้นมา เพราะขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เช่นหากผู้ที่เกิดมานั้นเป็นทวิเหตุกบุคคล (มี ๒ เหตุ) เกิดด้วยโลกียมหาวิปากจิตดวงที่ ๓ ย่อมมีเจตสิกประกอบ ๓๒ ประการ และในขณะที่เกิด(อุปาทักขณะ)ของปฏิสนธิจิตนั้น ย่อมประกอบด้วย

๑. รูป (ที่เกิดจากกรรม) ที่เรียกว่า กรรมชกลาป ๓ มัด คือ ๓๐ รูป
๒. เวทนา คือ เจตสิก ๑ ใน ๓๒
๓. สัญญา คือ เจตสิก ๑ ใน ๓๒
๔. สังขาร คือ เจตสิกทีเหลือ ๓๐ ประการ
๕. วิญญาณ คือ ปฏิสนธิจิต ที่เป็น มหาวิบากดวงที่ ๓

สรุปได้ว่า ขณะที่มีปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นนั้น ย่อมมีขันธ์ทั้ง ๕ ครบ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นการบ่งบอกให้รู้ว่า สิ่งที่อุบัติขึ้นมานี้คือชีวิตแล้ว

หากมีผู้คิดทำลายโดยมีองค์ประกอบของการติดสินว่าเป็นปาณาติบาตครบ ๕ ประการ คือ สัตว์นั้นมีชีวิต รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต มีจิตคิดจะทำลาย มีความพยายามลงมือทำลาย และสัตว์นั้นได้ตายลง ย่อมถือว่าผู้ที่กระทำนั้นบาปอย่างแน่นอน



12

กระทู้

49

โพสต์

460

เครดิต

ผู้เยี่ยมชม

เครดิต
460
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-24 19:06:29 | ดูโพสต์ทั้งหมด


สำหรับกรณีการคุมกำเนิด หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การชลอการเกิดนั้น มีหลายวิธี หนึ่งในหลายๆ วิธีนั้นก็คือ การใส่ห่วง ซึ่งคู่สมรสใดที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะมีบุตร ฝ่ายหญิงอาจจะใช้วิธีการนี้เป็นการคุมกำเนิด ซึ่งการใส่ห่วงนี้จะกระทำในขณะที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์

ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อใส่ห่วงแล้ว โอกาสตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นน้อยมาก แม้จะมีการปฏิสนธิ และเจริญเป็นตัวอ่อนได้ระยะหนึ่งภายในท่อนำไข่ แต่เมื่อตัวอ่อนนั้นเดินทางมาถึงมดลูก ก็ไม่สามารถฝังตัวได้ แต่ไม่แน่นอนเสมอไป เพราะมีบางรายที่คลอดลูกออกมาพร้อมกับมีห่วงติดศีรษะเด็กทารกออกมาได้ เป็นการยืนยันว่า ไม่มีอะไรเก่งเกินกรรม

ฉะนั้น เรื่อง กรรม จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง


ประการสำคัญ ผู้หญิงร้อยทั้งร้อย ไม่มีใครทราบได้เลยว่า ขณะนี้มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นในร่างกาย (แม้โดยความเป็นจริง จะเกิดขึ้นก็ตาม) ที่ทราบนั้น เป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น ทั้งนี้เพราะผู้ที่จะทราบการจุติ ปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ได้ทิพยจักษุ ดังเช่นพระพุทธองค์ที่ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ในมัชฌิมยามของการตรัสรู้

ผู้ใดที่เรียนธรรมะ ย่อมทราบดีว่า ในชีวิตและความเป็นไปของเรานั้น บุญ บาป เกิดขึ้นได้เสมอๆ ตลอดเวลา และมีการแสดงได้ ๓ ทาง คือ ทางกาย วาจา และใจ บุญ เช่น เราทำทาน ๑ ครั้ง แต่สามารถต่อบุญนั้นได้อีก โดยการนำมาระลึกในภายหลัง (จึงต้องมีการกรวดน้ำ แผ่เมตตา…เป็นการเพิ่มบุญให้กับตนเอง)

บาปก็เช่นเดียวกัน เมื่อทำไปแล้ว ๑ ครั้ง หากกลับมานั่งครุ่นคิดเรื่องนั้นอีก เท่ากับเป็นการตอกย้ำบาปนั้นให้เกิดขึ้นอีก
ประการสำคัญ บางคนยังไม่ทันทำบาปเลย แต่กลับมาคิดว่า ..เอ! ที่เราทำนี่น่าจะบาปนะ
แล้วเกิดความกังวล ไม่สบายใจ เป็นการหาบาป(ทางใจ)ให้กับตนเองซะเปล่าๆ


นึกถึงคำที่หลวงพ่อเคยเตือนพวกเราเสมอๆ ว่า
จงคิดให้ดี คิดให้เป็น และคิดให้ถูก


ฉะนั้น คำถามที่ว่าการใส่ห่วงนั้นบาป หรือไม่บาป จึงเป็นไปได้ทั้ง ๒ กรณี อยู่ที่เจตนา และการวางใจของบุคคลผู้นั้น นั่นเอง

ด้วยความปรารถนาดียิ่งค่ะ

วยุรี สุวรรณอินทร์





ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ประวัติการแบน|อุปกรณ์พกพา|ข้อความล้วน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-5-7 10:37 , Processed in 0.092140 second(s), 19 queries .

Powered by Discuz! X3.4, Rev.75

Copyright © 2001-2021 Tencent Cloud.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้