มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ - เว็บบอร์ด

 ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 1550|ตอบกลับ: 9

แกะรอยโมหะ

[คัดลอกลิงก์]

32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405

แกะรอยโมหะ
โดย อาจารย์บุษกร เมธางกูร
บรรยายเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๓

เมื่อเรียนพระอภิธรรมแล้วต้องระลึกถึงตนเองว่า เรามีความสุข เรามีความทุกข์อยู่วันนี้ ไม่ว่าจะสุขมาก ทุกข์น้อย สุขน้อย ทุกข์มาก ล้วนเป็นวิบากซึ่งเป็นนามธรรมทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเจตนาที่เป็นนามธรรมแล้วมีผลเป็นวิบาก

แต่ถ้าเราไม่ได้เรียนเราก็จะไม่รู้เลยว่ามันมาจากไหน? แล้วเขาเรียกว่าอะไร? ความไม่รู้เช่นนั้นนั่นแหละคือ โมหะ และเมื่อเราเรียนแล้วก็อย่าคิดว่าเราไม่มีโมหะ เพราะเรายังมีอยู่ตลอดเวลา ทั้งในการทำบุญหรือแม้แต่การไปปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าใจจริง ๆ ก็เป็นบาปได้

บาปได้อย่างไร? บาปเพราะว่าเราไม่สามารถแกะรอยโมหะออกไปได้ เช่น อ่านหนังสือธรรมะ หรือฟังเทปธรรมะ ถามว่า เราฟังอยู่ไหม? เราเป็นผู้อ่านไหม? เมื่อยังมีเราก็ยังมีโมหะ แล้วโมหะเป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศล? เป็นฝ่ายอกุศล แล้วอกุศลเป็นบาปหรือเป็นบุญ? เป็นบาป แม้เราจะทำดีก็เปรียบเหมือนมีพระเลี่ยมทององค์นี้ที่เรานำมาอมไว้ในปาก ก็เหมือนการทำความดีที่ยังตกเข้ามาอยู่ในปากมาร เพราะยังมีโมหะครอบงำอยู่ ไม่ว่าบุญทั้งหลายที่เราทำอยู่นี้ (มหากุศลญาณวิปปยุต) จะดีเลิศประเสริฐศรีขนาดไหนก็ตาม

เหมือนตัวเองและหลาย ๆ คนที่ไปบริจาคช่วยน้ำท่วม เราก็ดีใจที่เป็นผู้หนึ่งที่ได้ช่วยเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย เราดีใจ นี่ก็เหมือนเราอมพระเลี่ยมทององค์นี้อยู่ คือยังมีโมหะห่อหุ้มการทำความดีนั่นอยู่นั่นเอง แต่เมื่อใดที่พระเลี่ยมทององค์นี้มีอานุภาพอมเราไว้ได้นั่นแหละเราจึงพ้นจากการห่อหุ้มของโมหะ

การพ้นทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่เป็นเรื่องยากเพราะคนที่จะพ้นทุกข์ได้ด้วยการกระทำกุศลที่มีสามเหตุที่ประกอบไปด้วยอโลภ อโทสะ อโมหะ(ปัญญา) และปัญญาในที่นี้เป็นปัญญาขั้นบารมี บารมีคืออำนาจเหนือกิเลส กิเลส คือ โลภ โกรธ หลง ฉะนั้น กุศลญาณสัมปยุตนั่นก็คือ วิปัสสนากรรมฐาน ส่วนกุศลอื่นๆ นอกจากนี้ก็จะประกอบไปด้วยสองเหตุคือ อโลภะ และอโทสะ ฉะนั้นเมื่อยังไม่มี อโมหะ การกระทำนั้นก็ยังไม่พร้อมที่จะหลุดไปจากวัฏฏะสงสารได้



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-25 15:05:42 | ดูโพสต์ทั้งหมด


พระอภิธรรมกับการปฏิบัติวิปัสสนานี้ต่างกับการฟังธรรมอื่นๆ เพราะไม่ว่าเราจะไปอยู่ตรงไหน เราก็ยังพกความเข้าใจไปด้วย เรายังไปโกยบุญได้ ยังไปฟังใครต่อใครได้ แต่เราจะรู้เลยว่านั่นเป็นการสะสมเสบียง แต่สิ่งนั้นเราจะไม่ยึดติดเลยว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะดีที่สุดก็คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

เมื่อเราไปนั่งฟังใคร ..ความเข้าใจที่เกิดขึ้นเป็นการสั่งสมบุญ แต่เมื่อเราก้าวออกไปปฏิบัติ นำตนเองไปกระทำไม่ใช่แค่ฟัง นั่นแหละตรงนั้นจะเกิด อโลภะ อโทสะ อโมหะ เพราะการรู้เรื่องราวในขณะที่เป็นปรมัตถ์เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้แหละจึงเรียกว่า อโมหะ

ฉะนั้น ถ้าหากเราไม่เข้าใจในเรื่องของปัญญาอย่างนี้ เราก็จะไปแสวงหาบุญตามที่ต่างๆ โยที่ลืมไปว่า เราแสวงหากันมาสารพัดชนิดแล้ว แต่เรายังไม่ได้แสวงหาอยู่สี่อย่าง คือ ความเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

เราเคยรำพึงกันว่า โอ้เอ๋ย โอ้ชีวิต ใครหนอสรรสร้าง? เมื่อเรามาศึกษาแล้วเราก็ทราบว่าใครสร้าง พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า นายช่างผู้สร้างเรือน บัดนี้ เราค้นหาเธอจนเจอแล้ว เธอได้สร้างบ้านเรือนมาให้เราตลอดเวลา ในภพน้อยภพใหญ่ บัดนี้เราเจอเธอแล้ว ตัณหา เธอไม่มีทางมาสร้างบ้านเรือนให้เราคือชีวิตให้เราอีกต่อไปแล้ว

โอ้เอ๋ย โอ้ชีวิต ใครหนอสรรสร้าง? คำตอบก็คือ ตัณหา ที่ทำให้เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ เรียกว่า สังสารวัฏ โอฆะสงสาร ทำให้เราท่องเที่ยวต่อไปในภพน้อยใหญ่ใน ๓๑ ภูมิ



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-25 15:06:26 | ดูโพสต์ทั้งหมด


สภาวธรรมแท้ๆ ของตัณหา ก็คือ โลภะ องค์ธรรมก็คือ โลภะเจตสิก และกลุ่มของโลภะเจตสิกมี ๓ คือ โลภะ ทิฏฐิ มานะ การศึกษาพระธรรมนั้นก็เหมือนกับการที่พระพุทธเจ้าให้เข้ามาเหมือนดูละครที่มีความสลับซับซ้อน

การศึกษาในตอนแรกเป็นการชี้ว่าโลภะ ตัณหาผู้สร้างเรือนให้เรา แล้วก็ยกตัณหาขึ้นมาพูด อธิบายว่าองค์ธรรมนั้นก็คือโลภะ ความพอใจ ยินดีในอารมณ์ต่างๆ ที่จริงเราไม่มีอะไรยินดีมากไปกว่าอารมณ์ ๖ ในโลกนี้ แล้วก็ดึงกลับมาให้เห็นอีกว่าโลภะตัวนี้เขามีพรรคพวก ขบวนการพยัคฆ์ร้ายของเขาก็คือ ทิฏฐิและมานะ

ทิฏฐิกับมานะนั้นไม่ได้เกิดร่วมกัน แต่ไม่ใช่ว่าวันนี้เกิดทิฏฐิ พรุ่งนี้ถึงจะเกิดมานะ เพราะในอารมณ์ที่เราได้รับนี่ เกิดมานะขึ้นมาก่อนก็ได้หรือจะเกิดทิฏฐิมาก่อนก็ได้ เช่น เสียงที่เข้าหูนี่ พอรู้ว่า ถูกว่าปุ๊บ ทิฏฐิเกิดขึ้นมาก่อนก็ได้ว่าเราโดนว่า หรือมานะเกิดขึ้นก่อนก็ได้ว่าทำไมมาว่าฉัน แล้วก็คอแข็งขึ้นมาทิฏฐิเลย ฉะนั้น นี่คือกลุ่มของเขา แล้วพระพุทธองค์ก็ยังแสดงต่อไปว่านอกจากจะมีกลุ่มของโลภะแล้ว โลภะเจตสิกนี้เกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้ เพราะถ้าเผื่อไม่โง่ ก็จะไม่โลภ

ทุกวันนี้ตั้งแต่บรรพบุรุษมาจนกระทั่งถึงเรานี่ต่างก็พากันสะสมสิ่งของมีค่าต่างๆ ไว้มาก อยากได้ของมากๆ อยากมีที่ดินมากๆ อยากมีที่ดินเนื้อที่ดีกว่านี้ อยากมีบ้านใหม่ แต่ตอนนี้ใครที่บอกว่าไม่อยากมีก็เพราะไม่มีเงินซื้อ หรือมีเงินซื้อแต่ก็ย้ายไปไหนไม่ไหวแล้ว คือมันมีเหตุที่ทำให้อยากมันไม่กระเตื้องขึ้น แต่ที่จริงก็อยากได้ทั้งนั้นแหละ หรือที่เราปรุงอาหารจานเด็ด เติมน้ำปลา เติมมะนาว นี่ก็คือความยินดีติดใจในรสเค็ม รสเปรี้ยว บางครั้งก๋วยเตี๋ยวน้ำไม่ร้อนเราก็รู้สึกว่าไม่อร่อย เพราะเราชอบของร้อนๆ คิดไปว่าร้อนดี น้ำก๋วยเตี๋ยวร้อนดี แต่เอาคำว่า “ร้อน” ออกมาพิจารณาว่า ความรู้สึกร้อนนี้ มันดีเพียงบางขณะตามอารมณ์ตามกิเลสของเราแค่นั้นเอง



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-25 15:07:06 | ดูโพสต์ทั้งหมด


โลภะจึงเนื่องด้วยโมหะเป็นชนวน โมหะนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อวิชชา ก็คือความไม่รู้ ตอนนี้เราก็หยิบมาใส่ได้แล้วว่า โอ้เอ๋ยโอ้ชีวิต ใครหนอสรรสร้าง ก็คือ ตัณหาและอวิชชา และคนเราไม่พ้นทุกข์ เพราะว่ามีโมหะอวิชชากับตัณหา

อวิชชาเป็นเหตุใหญ่ๆ ตัณหาก็เป็นเหตุใหม่ๆ ทำให้ชีวิตนี้ เวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยไป หลักการหยุดการเวียนว่ายตายเกิดก็คือต้องทำลายตัณหาและอวิชชาออกไป

มาดูว่า อวิชชาและตัณหาเกิดตอนไหน? เพราะเราต้องเจอตัวเขาก่อนจึงจะวิ่งตามไปตีเขาได้ อวิชชาและตัณหาเกิดขึ้นในขณะเห็น ในขณะได้ยิน ในขณะได้กลิ่น ในขณะรู้รส ในขณะสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึง ในขณะเดินยืน นั่ง นอน เหยียด คู้ ก้ม เงย และในขณะที่รับอารมณ์ทางใจ เมื่อเราสามารถเอาตรงนี้แกะรอยโมหะออกมาอยู่ตรงนี้ได้แล้ว เรามีโอกาสเห็นตัวเขาได้ตลอด การที่จะป้องกันหรือกำจัดอวิชชา และตัณหานี้ จึงต้องอาศัย ความระลึกรู้สึกตัวตลอดเวลา เพราะอารมณ์มีตลอดเวลา สภาพของสติเจตสิกคือระลึกรู้สึกตัว

เราต้องระลึกรู้สึกตัวตลอดเวลาเพราะว่า รูปารมณ์ สัทธารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธรรมารมณ์ มีอยู่ตลอดมา เป็นวิบากที่พร้อมจะมาปรากฏเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีสติในการระลึกก็เท่ากับเปิดประตูให้โมหะเข้ามา

วิบากดีกับวิบากไม่ดีอันเป็นผลของกุศลกับอกุศลนั้นถ้าเราไม่ป้องกัน เมื่อพบกับอารมณ์ที่ดีเราก็ชอบ ภาษาพระเรียกว่า อภิชฌา ถ้าไม่ดีเราก็ไม่ชอบ ภาษาพระเรียกว่า โทมนัส ฉะนั้น ถ้าเราไม่มีสติ เราก็เกิดอภิชฌาและโทมนัส อภิชฌาคือความพอใจ องค์ธรรมได้แก่ โลภะเจตสิก โทมนัสคือความไม่พอใจ องค์ธรรมได้แก่ โทสะเจตสิก



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-25 15:07:50 | ดูโพสต์ทั้งหมด


สองตัวนี้ คือ กิเลสอาสวะอนุสัย ที่พร้อมจะคุกรุ่นออกมา พร้อมจะไหลออกมาอาบสิ่งที่เราเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส ก็คือกองกิเลสนั่นเอง ทั้งโลภะและโทสะมีโมหะเป็นมูลที่ก่อวัฏฏะสงสารให้กับเรา ในการที่เราจะพ้นทุกข์ได้ เราจึงจะต้องอาศัยสติระลึกรู้สึกตัว และมีสติลำพังก็ไม่ได้ต้องสติที่บวกด้วยปัญญา สติคือสภาพระลึกรู้สึกตัวปัญญาเข้าไป รู้สึกตัวในขณะที่เป็นรูป ที่มีรูปปรากฏหรือนามปรากฏให้รู้สึก เพราะรูปนามเป็นของคู่กันให้รู้สึก

ฉะนั้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรามีอวิชชาและตัณหา เราจึงต้องแก้ด้วยการเรียนเสียก่อนว่า เรียนให้รู้ว่ามันมาอย่างไง เราจะต้องมารู้จักตัวขโมยอิสรภาพของเรา และต้องไปจับตัวให้ได้

ทางตามีแต่คลื่นแสง ที่มากระทบวัตถุ จักขุวัตถุ โสตวัตถุ ซึ่งเราไม่เคยรู้ เราจึงต้องมาแกะรอยโมหะ ที่ทำให้รู้ว่าเราเป็นผู้เห็น ที่เราเห็นนั้นเราหลงว่า เราเห็นแท้ที่จริงก็คือ จักขุวิญญาณเป็นที่ตั้งของการเห็น มีจักขุประสาทและมีจักขุวิญญาณ และมีวิปากจิตแค่นั้น จักขุวิญญาณเป็นนาม จักขุประสาทรูป จึงมีแต่รูปกับนามทั้งสิ้น

คลื่นแสงหรือรูปารมณ์เป็นรูปหรือเป็นนาม? เป็นรูป แล้วเราบอกว่าเราเห็น นี่คือโมหะ แต่ตอนที่ท่านกำลังตอบนี้กำลังแกะรอยโมหะมาเจอว่าจักขุประสาทเป็นรูป จักขุวิญญาณเป็นนาม รูปารมณ์เป็นรูป มีแต่รูปกับนาม

และที่ตั้งที่ความเข้าใจผิดอยู่ตรง “เราเห็น” เพราะแท้ที่จริงแล้วจักขุประสาทเป็นที่ตั้งให้คลื่นแสงมาตกแล้วมีจักขุวิญญาณเกิดขึ้นมาทำหน้าที่เห็น ไม่ใช่เราเห็น จึงต้องแก้ความเห็นที่เห็นว่าเราเห็น เป็นนามเห็น ...แกะรอยโมหะออกไป ฉะนั้น หน้าที่ของผู้ปฏิบัติ หรือผู้ที่จะแกะเอาโง่ออกไปจากชีวิต เมื่อเห็นหรือรู้อะไรก็หมั่นระลึก การระลึกก็คือสติ และเมื่อระลึกรู้ว่าเป็นนามเห็น การที่ประกาศออกไปว่าเป็นนามเห็นนี้ จิตขณะนั้นต้องประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะ คือปัญญา อโลภะเหตุ อโทสะเหตุ อโมหะเหตุ เราต้องการ ๓ องค์คุณนี้เท่านั้นให้เกิดขึ้นกับชีวิตเราบ่อยๆ ได้ทุกขณะก็ยิ่งดี การแกะรอยโมหะมาทำธุระด้วยสติปัญญาจัดว่าเป็นกระทำตามพระพุทธประสงค์



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-25 15:09:02 | ดูโพสต์ทั้งหมด


ถามว่า ทำไมต้องมีข้อห้ามเยอะแยะในการปฏิบัติวิปัสสนา ก็เพราะจิตปุถุชนนั่นเอง ครูอาจารย์ท่านจึงมีข้อห้ามก็คือบอกให้เรานี่รู้จักก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ

ข้อที่ ๑ ต้องรู้จักนามและรูปให้ดี ต้องรู้จักอย่างไร?

จักขุประสาท เป็น รูป จักขุวิญญาณ เป็นนาม

รูปารมณ์เป็น รูป วิบากเป็น นาม

ต้องรู้จักรูปและนามตรงตามทวาร

และรู้ว่าความวิปลาสธรรมหรือความโง่นั้น เกิดตรงที่เราไปรู้สึกว่า เราเห็น

แท้ที่จริงเป็น จักขุวิญญาณ เห็น จักขุวิญญาณเป็นนามเห็น

จึงต้องทำมนสิการในใจ ไม่ใช่ไปตะโกนว่า นามเห็น

แม้กระทั่งทางทวารอื่นก็เหมือนกัน

เมื่อเรามีความสามารถระลึกรู้สึกอย่างนี้ด้วยสติสัมปชัญญะ ขบวนการที่ทำงานนี้มีสิ่งหนึ่งซึ่งทำงานร่วมอยู่ตลอดเวลา แต่ท่านไม่ได้กล่าวถึงก็คือ วิริยะ จึงเรียกได้ว่าครบขบวน สติมา สัมปชัญโณ อาตาปี เพราะว่าเราหมั่นระลึก หมั่นทำ วิริยะเขาเข้ามาทำงาน จึงเป็นตัวการกงล้อใหม่ เป็นล้อทองที่ทำให้เราแล่นออกนอกสารบบเก่าๆ ของเราก็คือ วัฏฏสงสาร

วัฏฏะสงสาร ก็คือ รอบแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันมิรู้จักจบ ลักษณะของวัฏฏสงสารก็คือการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย อย่างซ้ำๆ ซากๆ โดยไม่สามารถลุล่วงไปจากสังสารวัฏฏ์ ได้ โดยอาศัยการขับล้อเคลื่อนไปของกิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์

กิเลสวัฏฏ์ เมื่อเราเกิดมาเป็นวิบากขันธ์ นั่ง เดิน ยืน อยู่นี่ เป็นเพียงวิบาก เป็นผล แต่เรามาหลงผล ผลนี้ให้แล้ว หมด แต่เรามาเอาสิ่งที่มันต้องหมดนี่ปั้นใหม่ ปั้นกรรมด้วยกิเลส ด้วยความต้องการขันธ์นี่ไง แล้วปั้นใหม่ด้วยกิเลส แล้วก็ทำกรรม ฉะนั้น วัฏฏสงสารจึงเป็นรอยอยู่เรื่อยๆ เดินทางไปอยู่เรื่อยๆ แต่สติมา สัมปชัญโณ อาตาปี เป็นล้อทองที่นำราออกจากวัฏฏสงสารได้เพราะสติมา สัมปชัญโณ อาตาปี ในการเจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ จัดเป็นวิวัฏฏคามินี

วิวัฏฏคามินีปฏิปทาญาณทัสสวิสุทธิ เป็นชื่อที่เพราะมาก วิ แปลว่า ตัด ตัดวัฏฏะ คือประกอบไปด้วยญาณอันบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสจากเครื่องเศร้าหมอง เพราะในขณะที่เรากำหนดนามอยู่นี้เราตัดโมหะ อวิชชา และไม่อาศัยชีวิตเนื่องด้วยตัณหา ฉะนั้น คำว่าอย่าเห็นผิดนี้ก็คืออย่ามีโมหะนี่เอง แล้วก็อย่าอยากก็คืออย่ามีตัณหา ถามว่า ความหิวเป็นทุกข์หรือไม่? เป็น ความอยากเป็นทุกข์หรือไม่? ความอยากเป็นกิเลส เราก็เอามาสำรวจชีวิตเราว่าวันๆ หนึ่งนี่ เราอยู่กับการแก้ทุกข์หรือแก้อยาก

ธรรมะนั้นให้ถามตัวเอง ต่างคนต่างถามว่า เรามีชีวิตอยู่อย่างแก้ทุกข์หรือแก้อยากมากกว่ากัน ธรรมะเป็นของพระพุทธเจ้า ธรรมะเป็นศาสดาของเราในขณะนี้ พระพุทธองค์บอกว่า เมื่อเราตถาคตดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมที่เราตรัสสั่งสอนจะเป็นศาสดาของเธอ .. เมื่อเราอยู่กับที่พึ่งอันประเสริฐ การที่เราถามและตอบตัวเองนี่ ลองหลับตาแล้วก็นึกทูลถวายพระพุทธเจ้า แบบไม่โกหก เรามีชีวิตแก้ทุกข์หรือแก้อยากประจำตอบพระพุทธเจ้ากันเอง เราจะไม่โกหกพระพุทธเจ้า



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-25 15:10:17 | ดูโพสต์ทั้งหมด
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย ศาลาธรรม เมื่อ 2017-5-25 15:14



อย่าอยู่อย่างอยาก
อย่าอยู่อย่างโง่

แก้ไขปมแกะรอยโมหะอวิชชานี่ด้วยวิริยะ สติ และปัญญา จริงๆ แล้ว หลักปฏิบัติวิปัสสนา ๑๕ ข้อ สำคัญที่สุดคือ อย่าอยาก แค่นั้นเอง อย่าอยากเดิน อย่าอยากยืน อย่าอยากนั่ง อย่าอยากนอน แม้กระทั่งอย่าอยากกิน อย่าอยากเห็น เพราะความอยากทั้งหลายนี้ก็คือ ตัณหา ซึ่งเป็นตัวนายช่างผู้สร้างเรือนคือภพชาติให้เรา .. เรายิ่งอยาก เรายิ่งเกิด เราหมดอยาก เราหมดเกิด..แต่การจะหมดเกิดได้ต้องอาศัย กำลังทรีอินวัน คือ สติสัมปชัญญะและวิริยะมาช่วยกันทำงาน

การปฏิบัตินั้นต้องแกะรอยโมหะให้เป็นว่าโมหะนี้เกิดอย่างไร การเห็นนึกว่าเราเห็นแท้ที่จริงจักขุวิญญาณเห็น จักขุวิญญาณเป็นนาม จึงต้องมนสิการในใจว่า นามเห็น เสียงเป็นรูป โสตวิญญาณ เป็นผู้ได้ยิน เสียงมาอาศัยเกิดที่โสตประสาทเป็นรูปไม่สำคัญเพราะว่าไม่ได้โง่ตรงนั้น จึงต้องมนสิการในใจว่า นามได้ยิน เท่ากับเป็นการรื้อสัญญาวิปลาส ตรงๆ เลย เราจึงต้องมีการปฏิบัติ

แล้วจะทำนิดๆ ไม่ได้ หรือครั้งสองครั้งก็ไม่ได้ เพราะมีเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส มีเดิน ยืน นั่ง นอน อยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีสติป้องกันตัณหาและอวิชชาอยู่ ตลอดเวลา ไม่มีเวลาไปใส่ใจเรื่องอื่นๆ ได้เลย เพราะคลื่นแสงมีตลอดเวลา คลื่นเสียงมีตลอดเวลา

ทำไมบอกมีตลอดเวลา? เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีวิบากอะไรมา แสง สี เสียง กลิ่น พวกนี้พร้อมจะเกิดขึ้นตามทวารเราได้ ทวารใดทวารหนึ่ง แม้กระทั่งเรื่องในทางใจ จึงหมดเวลาแล้วที่จะทำงานอื่นๆ ได้เลย เพราะเราทุ่มเทเท่าไหร่ เราก็ไม่สามารถถ่ายถอนได้ทุกขณะ ยิ่งถ้าเราไม่ทุ่มเท เราจะถ่ายถอนได้หรือ ฉะนั้น เมื่อถ่ายถอนไม่ได้ เราก็อยู่ในวัฏฏสงสาร แต่ถ้าเราพยายามเพียรกระทำวิปัสสนากรรมฐาน นั่นคือการเพียรตัดวัฏฏสงสารของเราที่มีไปได้ด้วยตัณหาและอวิชชา




32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-25 15:11:06 | ดูโพสต์ทั้งหมด


การเข้าปฏิบัตินั้นจะไปทำอย่างอื่นไม่ได้ เพราะว่าแค่ป้องกันไม่ให้ตัณหาและอวิชชาเกิดเรายังไม่ทันเลย เราจึงไม่มีโอกาสที่จะไปนั่งสวดมนต์ จริงอยู่ที่ขณะสวดมนต์นั้นได้บุญ เพราะไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ แต่ก็ยังมี “เรา” นั่นก็คือยังตกอยู่ภายใต้โมหะ แต่ในการเข้าปฏิบัตินั้นเราต้องการ “อโมหะ” จึงมีทางและวิธีเดียวเท่านั้น จึงจัดเป็นเอกยมรรคโคทางสายเอกซึ่งไปได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องทำคนดียว และทำทุกๆ ขณะ ทีละขณะๆ ไป เอกยนมรรค ที่จะทำให้ อโลภะเหตุ อโทสะเหตุ อโมหะเหตุ นี้เกิดขึ้นเป็นกุศลญาณสัมปยุตจิตแถวบนเกิดขึ้น

และเมื่อเราสั่งสมไว้มากๆ เรากำลังสร้างปฏิสนธิของเรา ชาติหน้าเป็นผู้ที่เป็นไตรเหตุเช่นกัน เพราะถ้าไม่เช่นนั้น เกิดเป็นใครก็แล้วแต่ ล้นฟ้าจนเตี้ยดิน หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเผื่อไม่ใช่ปฏิสนธิด้วยความพรั่งพร้อมนี้ก็ยากจากการหลุดพ้น

เรามีสิทธิแสวงหาในสิ่งที่ตัวเองยังไม่เคยได้และเราก็ได้มาหมดแล้ว แต่สิ่งที่ทุกคนมีสิทธิได้อย่างเดียวในวัฏฏสงสาร ไม่ว่าจะเกิดนานท่าไหร่พระพุทธเจ้ากี่พระองค์ ก็มีสิทธิเพียงครั้งเดียวที่จะได้เป็นพระโสดาบันในชีวิตแห่งสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้แล้วก็ได้เลยไม่มีครั้งที่สอง เป็นตำแหน่งที่ได้ครั้งเดียว เพราะมรรคจิตเกิดขึ้นครั้งใหม่นั้นไม่ใช่พระโสดาบันแล้ว มรรคจิตที่ได้ครั้งที่สองเปลี่ยนสภาพจากพระโสดาบันเป็นพระสกทาคามี และเมื่อเกิดครั้งที่สามก็เป็นพระอนาคามี เกิดขึ้นครั้งที่สี่ก็เป็นพระอรหันต์ ผู้สมบูรณ์วิชาและจรณะ

จรณะ คือความประพฤติ เราท่านทั้งหลายสมบูรณ์ด้วยวิชาแต่ไม่ค่อยพัฒนาใจคือจรณะ ถ้าเราไม่เรียนพระอภิธรรม เราก็โทษซิ โอ้เอ๋ย โอ้ชีวิต ใครหนอสรรสร้าง โทษว่าพ่อแม่ทำให้เราเกิด มีพ่อแม่คู่ใดทำให้เราเกิดได้ไหม? ไม่ได้ เพราะเราเกิดมาเองโดยอาศัยสถานที่เท่านั้นเอง พ่อแม่เป็นเพียงปัจจัย ให้จิตที่มีกำเนิดในครรภ์มารดามาปฏิสนธิ

สวรรค์บัญชาหรือฟ้าลิขิตได้ไหม? ไม่ได้ ผู้ที่ทำให้ชีวิตต้องเวียนว่ายตายเกิดคือ ตัณหา องค์ธรรมก็ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งถูกขยายออกมาว่าโลภเจตสิกนี้ในกลุ่มนี้มีทิฏฐิและมานะเป็นเพื่อนด้วย เป็นรูปที่พร้อมตามขบวนเข้าไป โลภะเกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยมูลรากของโมหะ โมหะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ อวิชชา คือความไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นเพียงแค่รูปารมณ์ ที่ตั้งของรูปารมณ์ คือ จักขุประสาท ผู้ทำหน้าที่มาเห็นคือ จักขุวิญญาณ ความไม่รู้เช่นนี้ จึงทำให้ฟั่นเฟือน วิปลาสไปว่าเราเป็นผู้เห็น

เมื่อ “เรา” เป็นผู้เห็น เราขาดสติขาดปัญญา ก็เปิดโอกาสให้อภิชฌาโทมนัสเกิดขึ้นในการเห็น การเห็นนั้นเป็นเพียงวิบากเป็นผลของวิบากหรือวิปากจิต ที่ทำกรรมมาในอดีตชาติทำให้เราเห็นดี หรือไม่ดี ซึ่งดีหรือไม่ดีนั้นมีเพียงผล แต่ความที่มีโมหะอวิชชาจึงไม่รู้เท่าทันผลนั้น ก็เกิดความชอบในวิบากเป็นโลภะเกิดขึ้น เกิดความชังในวิบากเกิดโทสะขึ้น โทสะหรือโลภะก็คือกิเลสที่มีโมหะเป็นมูล จึงเป็นการสร้างกิเลสวัฏฏ์ คือความหมุนไปด้วยกิเลส ชีวิตหมุนไป กิเลสเกิดขึ้นหมุนไปตามทวาร เมื่อกิเลสเกิดขึ้นก็เป็นเหตุให้เกิดทำกรรมน้อยใหญ่ กรรมภพ ทำให้เกิดกรรมในภพชาติ เมื่อมีชาติ ชาตินั้นแหละเป็นวิบาก



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-25 15:11:57 | ดูโพสต์ทั้งหมด


จึงเห็นได้ว่า การหมุนไปของวัฏฏะนี้ หรือจะเรียกว่า วัฏฏะ ๓ ก็คือ กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ จึงเป็นรอยหมุนต่อเนื่องไปในภพภูมิน้อยใหญ่ เนื่องด้วยจากความไม่รู้ และไม่สามารถแกะรอยโมหะออกนั่นเองจึงทำให้สัตว์โลกนั้นทำพลาดทำผิด ทำติดอยู่ในภพ คือทำปุญญาภิสังขารให้เกิดขึ้น ทำอปุญญาภิสังขาร แม้กระทั่งทำอเนญชาภิสังขาร ก็เนื่องด้วยจากอวิชชา หรือความไม่รู้นี้ คือไม่รู้ว่าภพชาติเป็นทุกข์

พระพุทธเจ้าจึงเปล่งพระสุรเสียงว่า ชาติปิ ทุกขา การเกิดเป็นทุกข์ เพราะการเกิดนั้นนำมาด้วยความแก่เจ็บ ตาย และนำมาซึ่งความทุกข์กาย ทุกข์ใจสารพัด อันเป็นวิบากส่วนตัว เราทำมาเอง เวรกรรมเราทำมาเอง เวรกรรมจึงจำเพาะเจาะจง มุ่งส่งอุดหนุนเงื่อนไข ใครทำใครได้ ทำมากได้มาก ทั้งดีทั้งชั่ว

เมื่อเราสามารถแกะรอยกรรมว่า โอ้เอ๋ย โอ้ชีวิต ใครหนอ สรรสร้าง นายช่างผู้สร้างเรือนนี้ได้แล้ว เราจึงต้องเพียรเตือนตนด้วยตนเอง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา ไม่มีใครช่วยเราได้ ตนนั้นเป็นที่พึ่งแห่งตนจริงๆ เราจึงจะต้องทำความรู้ให้เกิดขึ้น แล้วพยายามเว้นกั้นชีวิต อย่าอยู่อย่างอยาก ให้อยากอย่างมีระเบียบบ้าง ไม่ใช่อยากอย่างไม่มีระเบียบ

เวลาทุกข์ เช่น ปวดปัสสาวะเป็นทุกข์ จึงจำเป็นต้องแก้ ทำสิ่งต่างๆ ให้เหมือนกับการเข้าส้วม มีใครอยากมีชีวิตอยู่ในส้วม คือ เข้าส้วมเพราะจำเป็น จะกินข้าวก็ให้ทำเหมือนจะเข้าส้วม คือ จำเป็น จะอาบน้ำก็ทำเหมือนเข้าส้วม จะนอนก็ทำเหมือนเข้าส้วม จะกิน จะเดิน จะยืน จะขับถ่ายต่างๆ ให้เหมือนเข้าส้วม คือจำเป็น

ในความจำเป็นนี้คือการเว้นกั้นอาศัยชีวิตด้วยตัณหา เพราะเราอยู่กับตัณหามากมาย อยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากรู้รส อยากสัมผัสต่างๆ อยากกินสารพัด จึงต้องรู้จักละเว้น อย่าอยากอย่างอยาก เพราะอยากคือตัณหา องค์ธรรมก็คือโลภะ โลภะคือ นายช่างผู้สร้างเรือน และอวิชชา ความไม่รู้



32

กระทู้

170

โพสต์

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

Rank: 7Rank: 7Rank: 7

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-5-25 15:13:34 | ดูโพสต์ทั้งหมด


เราจึงต้องมาสเก็ตภาพความวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส สัญญาวิปลาส จิตวิปลาสให้ออกมาก่อน เพื่อจะเอาภาพสเก็ตเข้าห้องปฏิบัติ ไปจับผู้ร้าย ไปป้องกันด้วยสติระลึกรู้สึกตัว ปัญญาระลึกในรูปหรือนามที่กำลังปรากฏขณะใดก็แล้วแต่ที่กำลังระลึกรู้สึกในรูปในนาม อาตาปีคือความเพียรในที่นี้ก็คือ เพียรทั้ง ๔ คือ เพียรละเพียรระวัง เพียรสร้างและ เพียรรักษา เขาเรียกว่า สัมมัปปธาน ๔ เข้ามาทำงาน

เป็นการป้องกันชนิดเยี่ยมๆ ด้วยการเพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น เพียรระวังบาป ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ให้เกิดขึ้นอีก บาปเก่าๆ ก็คือโมหะอวิชชา นี่เองที่หลงว่าเป็นเรา เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส แท้ที่จริงเป็นนามและรูป เพียรสร้างอะไร เพียรสร้าง อโมหะเหตุ หรือจะรวมแล้วมหากุศลญาณสัมปยุต ประกอบไปด้วยปัญญาให้ขึ้นมา เพราะเรามีแต่กุศลวิปลาส ไม่ประกอบไปด้วยปัญญาเป็นพื้นฐาน จึงต้องพยายามตะกายขึ้นสูงให้มีกุศลญาณสัมปยุตเกิดขึ้น เพราะเป็นบาทอันสำคัญให้แก่วิถีที่เป็นอัปปนาวิถีขึ้นมา

เราจะเห็นได้ว่าเราขาดสิ่งเหล่านี้ไป เราจึงไปไม่ถึงถนนแห่งดวงดาวคือมรรคจิต ฉะนั้นก็อยู่ที่เราว่าจะทำให้เกิดจะประเสริฐยิ่งด้วยการมีวงล้อใหม่นี้ได้หรือไม่ วงล้อที่จะเป็นวิวัฏฏคามินีปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ขออวยพรให้ทุกคนมีสติมีปัญญามีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียนให้เกิดความรู้และความเข้าใจ มีความสามารถไถ่ถอนกิเลสตัณหา ราคะ อุปาทาน มีความสามารถทำลายความเห็นผิด และมีความสามารถกล้าและมีเวลาก้าวออกไปสู่การปฏิบัติเพื่อสลัดคราบแห่งความไม่รู้และความมีตัณหาออกไป เพราะเรารู้แล้วว่าตัณหาคือนายช่างผู้สร้างเรือนให้เรามีภพน้อยใหญ่เวียนว่ายตายเกิดไปในที่สุด

ขอให้ทุกท่านนั้น สามารถเจริญอยู่ด้วยสติมา สัมปชาโน และอาตาปี พาตนเองหนีภัยในวัฏฏสงสารได้โดยไวทั่วหน้ากันทุกท่านทุกคน อนุโมทนาค่ะ





ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ประวัติการแบน|อุปกรณ์พกพา|ข้อความล้วน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-5-7 03:08 , Processed in 0.205667 second(s), 28 queries .

Powered by Discuz! X3.4, Rev.75

Copyright © 2001-2021 Tencent Cloud.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้