มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ - เว็บบอร์ด

 ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 570|ตอบกลับ: 0

รู้เพื่อละ....รู้แล้วผละจากทุกข์

[คัดลอกลิงก์]

91

กระทู้

100

โพสต์

2414

เครดิต

ผู้ดูแลระบบ

Rank: 9Rank: 9Rank: 9

เครดิต
2414
พระธรรม คือ คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีหลายระดับ และความมุ่งหมายของทุกระดับนั้นก็คือการส่งเสริมให้ปฏิบัติชีวิตเพื่อพ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวง การศึกษาพระธรรมอันหมายถึงพระปริยัติศาสนา จึงมีความสำคัญยิ่งต่อผู้ต้องการพ้นทุกข์ทั้งหลาย เพราะความรู้ปริยัติที่ถูกต้อง จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ไม่ผิดพลาดนอกแนวทาง

    แม้ในสมัยพุทธกาลนั้น พระสาวกจะเป็นผู้มีปัญญายอดเยี่ยมเพียงใด ท่านก็ต้องฟังพระธรรมจากพระพุทธองค์เสียก่อน จึงจะบรรลุธรรมได้ จึงไม่มีผู้ใดเลย ที่เพียงพบพระพักตร์แล้ว จะบังเกิดการตรัสรู้ขึ้น การศึกษาจึงเป็นบันไดเบื้องต้นที่จะนำสู่การประพฤติปฏิบัติในท่ามกลางเพื่อประสบความสำเร็จในเบื้องปลาย

และนั่นคือกระบวนการของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธที่ปฏิเสธสมุทัย อันจะเกิดขึ้นในทิศทางที่ควรจะเป็นไปของอนุพุทธะทั้งหลาย


แม้ในพระสูตรแรกคือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงทางสุดโต่งสองสาย และทางที่ควรดำเนิน คือมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางอันประกอบได้ด้วยอัฏฐังคิกมรรค ทรงสอนให้รู้อริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ประการว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นอย่างไร และทรงสอนให้รู้จักการปฏิบัติให้เกิดญาณด้วยการเจริญมรรค สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ

และในขณะที่พระพุทธองค์ทรงสาธยายพระปริยัติอยู่นั้น ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้เจริญการปฏิบัติพิจารณาควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจ ซึ่งในที่สุดปฏิเวธคือผลสำเร็จก็เกิดขึ้น
  พระอัญญาโกณฑัญญะนั้น ท่านศึกษาพระปริยัติอย่างมีความรู้พอสมควรแล้ว ท่านก็ได้เข้าสู่การปฏิบัติทันที เพราะสภาพธรรมทั้งหลายนั้นล้วนมีเกิดขึ้นที่ในปัจจุบัน มีสิ่งที่มาให้พิจารณาทางทวารทั้งหลายก็ในปัจจุบันทุกๆ ขณะ และความสำเร็จของท่านก็เกิดขึ้นในปัจจุบันเช่นกัน และไม่ว่าจะเป็นพระสาวกรูปใดบุคคลไหน ต่างก็มีความสำเร็จตามขั้นตอนเดียวกันนี้ทั้งสิ้น
    กระบวนการศึกษาชีวิตที่ถูกต้องนั้น จึงมิใช่หยุดอยู่เพียงแค่พระปริยัติ ศาสนาที่แตกฉานแต่ความสำคัญที่มากยิ่งกว่า กลับอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติอันเป็นขั้นตอนของการกระทำผลให้เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสลดใจที่ในสมัยนี้ การปฏิบัติได้มีความผิดเพี้ยนไปหลายแนวทาง แม้ผู้นั้นจะมีความเพียรมากเพียงใดปฏิเวธก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งในผู้ที่ศึกษาพระปริยัติอย่างแคล่วคล่อง ก็ขาดความเพียรที่จะปฏิบัติสังเกตชีวิต ปฏิเวธก็ไม่อาจเกิดขึ้นกับผู้นั้นได้เช่นกัน เพราะลูบคลำอยู่เพียงแค่สุตามยปัญญา ที่ยังไม่พ้นไปจากบัญญัติธรรม และการแช่ชีวิตไว้ให้ชุ่มอยู่กับเยื่อยางที่เหนียวแน่น ของวัฏฏสงสารจนจมอยู่ในทุกข์ อย่างไม่อาจเงยหน้าขึ้นมารับแสงสว่างได้ ปฏิเวธจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ปฏิบัติผิดทางและผู้ขาดความเพียร

ดังนั้น... เมื่อความจริงมาปรากฏจึงไม่รู้จัก และเมื่อวิบากมาถึง ก็พากันตีโพยตีพายปฏิเสธที่จะรับไว้ ทั้งที่ความเป็นไปเหล่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราจะปฏิเสธได้อีกแล้ว เนื่องจากเป็นผลปรากฏที่สุกงอม แต่เพราะสภาพการรู้ทุกข์ของเราต่างจากพระอริยบุคคลท่าน ที่ท่านรู้สภาพซึ่งเป็นทุกข์ที่แท้จริง คือ รู้ทุกขอริยสัจจ์ รู้ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏ แต่เรากลับรู้เพียงว่าในโลกนี้มีความทุกข์ แล้วก็รับรสทุกข์นั้นด้วยความขมขื่นใจ รับไว้ด้วยโทมนัสเวทนา บางคราวก็หลั่งน้ำตาเป็นอาการปรากฏทางกาย ทั้งๆที่สภาพอารมณ์ที่มาปรากฏทางปัญจทวารนั้น มีสภาพเป็นอุเบกขาเป็นส่วนใหญ่ มีความทุกข์กายและสุขกายเป็นส่วนน้อย แต่เพราะอนุสัยกิเลสที่สุ่มซ่อนอยู่ในใจ จึงรับอารมณ์เหล่านั้นไปแล้วแปรความไปตามอำนาจของกิเลสให้เป็นชอบเป็นชัง การรับอารมณ์ที่เป็นผลเหล่านี้จึงสร้างจังหวะส่งต่อของเหตุใหม่ให้มีผลต่อไปไม่สิ้นสุด ซึ่งเป็นจังหวะชีวิตที่กระชั้นไปกับความทุกข์
    การกระทำเหล่านี้จึงฟ้องว่า สุตามยปัญญาและจินตามยปัญญาที่มีเป็นเสบียงนั้น ยังไม่เป็นสมบัติที่มีอานุภาพ จึงไม่สามารถให้ความสว่างได้ทั่วถึง มิหนำซ้ำยังอาจร้อยรัดให้ชีวิตอยู่ในทุกข์มากยิ่งขึ้น ถ้าหากวางใจไว้ไม่ถูกต้อง และตกอยู่ในลักษณะของความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด เช่น ความหลงลำพองใจในการทรงภูมิความรู้ ความถือตนว่ามีความรู้มากกว่าผู้อื่น ความดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นว่ารู้ไม่เท่าตนหรือรู้ผิดทาง ความไม่ชอบใจเมื่อมีผู้ใดมาขัดคอหรือกล่าวตำหนิคำสอนที่ตนยึดถือ หรือแสยะหน้าเมื่อมีผู้ใดมาเล่าประสบการณ์ในการปฏิบัติที่ตนเองยังไปไม่ถึงแต่ก็ใช้ปริยัติเข้าตัดสินตามอำเภอใจว่าผู้นั้นปฏิบัติผิด ฯลฯ
    สิ่งเหล่านี้มิได้ปลดปล่อยตนเองให้พ้นไปจากความทุกข์ได้เลย แต่กลับยิ่งสร้างทุกข์ให้มากขึ้น เพราะยังไม่สามารถกำจัดกิเลสได้นั่นเอง
ฉะนั้น ความรู้ที่มีคุณค่า ก็คือความรู้ที่เพียงพอแก่การนำชีวิตให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง เพื่อประจักษ์ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ และพ้นไปจากความทุกข์ได้เป็นการรู้เพื่อละ รู้แล้วผละจากทุกข์ มิใช่รู้เพื่อสะสมและกอบโกยไว้ด้วยความยึดถือโดยฟังตามกันมา โดยเชื่อตามตำรา เป็นต้น

และความรู้ที่จริงแท้ก็คือ ความรู้ที่เกิดจากการอ่านตัวเองได้ออกทั้งหมด โดยอ่านไปตามรูปและนามที่ปรากฏ ในขณะที่อ่านนั้น ปัญญาที่เกิดจากการอ่านยังสามารถกั้นกิเลสได้อีกด้วย ซึ่งต่างจากความรู้ในปริยัติอย่างมากมาย เพราะความรู้ในปริยัตินั้นเกิดขึ้นง่ายด้วยวิธีการเรียนรู้ จดจำอันเป็นเสมือนเสบียง แต่ความรู้ในการปฏิบัติและปฏิเวธนั้นต้องใช้สติ ปัญญา และความเพียรมาเป็นแรงขับเคลื่อนกลไกให้เกิดสมบัติ คือ ญาณปัญญา
  เราจึงต้องรู้จักกระทำชีวิตที่มีระยะเวลาเพียงสั้นๆ ให้เป็นประโยชน์แท้ ด้วยการไม่ละเลยการชำระกิเลสในแต่ละวัน การรู้จักชีวิตได้จริงแม้เพียงเสี้ยววินาทีนับเป็นโอกาสทองที่คุ้มแล้ว แต่การรู้รายละเอียดของส่วนประกอบชีวิตมากมาย เพราะปริยัติ แต่ไม่รู้จักชีวิตจริงนั้นนับเป็นเวลาที่เสียไปอย่างไม่คุ้มค่าเลย
และแท้จริงแล้วพระปริยัติศาสนา เกิดขึ้นมาภายหลังพระปฏิเวธ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ แต่ด้วยพระมหากรุณาอันเลิศล้น จึงได้ทรงถ่ายทอดออกมาเป็นคำสอนต่างๆให้ได้ศึกษาทำความเข้าใจ และทำการพิสูจน์ ซึ่งสิ่งที่เราเรียนกันมามากมาย ก็ไม่นอกเหนือไปจากรูปนามหรือขันธ์ ๕ อันเป็นชีวิตของผู้มีปฏิสนธิในปัญจโวการภูมิ

อารมณ์ทั้งปวงที่มาปรากฏให้รู้ ก็มาปรากฏที่ชีวิตนี้ มิได้มีการรับรู้อารมณ์ใดที่นอกเหนือไปจากทวารทั้ง ๖ ได้เลย อิริยาบถทั้งหลายก็เกิดขึ้นที่ชีวิต ความรู้และความไม่รู้ก็เกิดขึ้นที่ชีวิต คือเกิดขึ้นที่นามธรรมได้แก่ชวนจิตทั้งปวง คำอธิบายเหล่านี้คือความรู้ที่เกิดจากการศึกษา และผู้ที่แตกฉานก็จะอธิบายได้อย่างมากมายในแง่มุมต่างๆ ด้วยทฤษฎี จนอาจถึงการถกเถียงกัน เพราะความต่างกันในภูมิความรู้หรือตำรา แต่ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัตินั้นจะมีคำอธิบายที่ไม่เยิ่นเย้อ ไม่เปลืองถ้อยคำ เป็นสภาพที่รู้ชัดในเพียงชั่วขณะ ไร้ซึ่งการถกเถียง ไร้ซึ่งความโอ้อวดลำพอง ไร้ซึ่งสังสารวัฏในหมู่คณะของผู้ที่พบและพ้นจากกองกิเลสแล้ว

มีแต่ความเยือกเย็นไม่รุ่มร้อนในความรู้ที่เกิดขึ้น มีแต่ความเพียรที่จะละทิ้งเพื่อเป็นอิสระให้เร็วที่สุดเป็นการรู้เพื่อละ ...รู้แล้วผละจากทุกข์ นั่นเอง
ด้วยความปรารถนาดีค่ะ
บุษกร เมธางกูร

ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ประวัติการแบน|อุปกรณ์พกพา|ข้อความล้วน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-5-5 06:36 , Processed in 0.092486 second(s), 19 queries .

Powered by Discuz! X3.4, Rev.75

Copyright © 2001-2021 Tencent Cloud.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้