ท่านได้ อุปมาอริยสัจ ๔ ไว้อย่างน่าสนใจมาก ว่า..
๑. ทุกข์ เปรียบเหมือนภาระที่หนัก
๒. สมุทัย เปรียบเหมือนกับผู้แบกภาระที่หนักนั้น
๓. นิโรธ เปรียบเหมือนกับปลงภาระหนักออกจากบ่าเสียได้แล้ว
๔. มรรค เปรียบเหมือนกับอุบายที่ปลงภาระนั้น
ทุกข์ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรกำหนดรู้
ทำไมทุกข์....เป็นสิ่งที่ทุกคนควรกำหนดรู้ล่ะ
ก็เพราะจะได้เห็นจริงว่า ชีวิตคนเรานี้ไม่ใช่สุขเลย มีแต่ทุกข์ทั้งสิ้น ไม่น่ายินดี ไม่น่ายึดถือเลย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่อยู่ในใจของเรา ที่เราต่างนึกคิดไปเองว่าเป็นสุข บางครั้งไปมองสภาพรวมๆที่คนอื่นๆแล้วก็ตั้งความหวังว่า จะต้องมีชีวิตแบบคนนั้นให้ได้ เพราะดูว่าชีวิตเขามีความสุข ทั้งๆที่แท้จริงแล้ว เขาก็มีทุกข์เกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นกันหมด
ทุกข์ตรงไหน หรือตรงไหนละทุกข์ ก็ด้วยทุกข์ชีวิตที่เกิดมานั้น ทนอยู่ในสภาพเดิมๆไม่ได้เลยสักคน ต้องเดิน ต้องยืน ต้องนอน ต้องเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ กันตลอด วันหนึ่งๆต้องแก้ไขไม่รู้จักจบจักสิ้น ความเมื่อย ความปวด ความชา ความตึง แวะเวียนมาหาเราท่านเสมอ แต่ด้วยเพราะเราไม่ได้สังเกตว่า เราเปลี่ยนอิริยาบถกันทำไม ไม่เปลี่ยนไม่ได้หรือ ? และการไม่สังเกตนี้แหละ ก็คือการไม่รู้จักทุกข์นั่นเอง
แม้กระทั่งทางใจของเรา เราเองก็พยายามหาอารมณ์ใหม่ดีๆมาให้จิตใจเรารับรู้เสมอ พยายามที่จะขับไล่อารมณ์ที่ไม่พอใจออกไปด้วยวิธีการต่างๆ หาสิ่งเจริญตาเจริญใจ หาเสียงที่ชอบ หากลิ่นที่ดี หารสชาติที่ถูกปากถูกใจ และสัมผัสอันพอในมาปรับเปลี่ยนให้ตนเองเสมอ นี้ก็เพราะเราพยายามแก้ไขความทุกข์ คือการทนไม่ได้ในสภาพเดิมๆนั่นเอง โดยการกระทำนั้นขาดการสังเกตเช่นกันว่า เราทำไปทำไม ไม่ทำไม่ได้หรือ
|