แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย บุษกร เมื่อ 2017-5-12 09:03
กรรมจะหยุดการให้ผล ด้วยเหตุ ๓ ประการ
๑. เมื่อหมดแรง คือ ให้ผลจนสมควรแล้วแก่เหตุ จึงหยุดให้ผลเหมือนนักโทษที่ถูกจำคุกตามความหนักเบาเช่น จำคุก ๒ ปี เมื่อพ้น ๒ ปี ก็พ้นโทษ บางคนโทษหนักจำคุกตลอดชีวิต แต่ระหว่าง อยู่ในคุกก็พยายาม ทำความดี ได้ลด หย่อนผ่อน โทษ อาจลดเหลือ ๒๐ ปี แล้วแต่กรณี เรื่องของกรรมก็ทำนองนี้
๒. เมื่อสิ้นอาสวะ กล่าวคือบุคคลได้ทำกรรมมาแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ สิ้นอาสวะทั้งปวง ไม่เกิดอีกมีชีวิตอยู่เป็นชาติสุดท้าย กรรมย่อมหมดโอกาสให้ผลต่อไปในชาติหน้า จิตของพระอรหันต์ย่อมหมดเชื้อ เสมือนเมล็ดสิ้นยางเหนียว หรือเมล็ดลีบปลูกไม่ขึ้นอีกต่อไป กรรมจะให้ผลได้เฉพาะเวลามีชีพอยู่เท่านั้น ในชาติสุดท้ายพระอรหันต์ขีณาสพทั้งหลายเป็นผู้ได้กระทำดีถึงที่สุด เหมือนเมล็ดพืชที่ดีที่สุดนั่นเอง
ทำไมเมล็ดพืชที่ดีที่สุดจึงหยุดการให้ผลหรือหยุดการสืบพันธุ์ ? ผลมะม่วงที่ดีนั้นมีเนื้อมากเมล็ดเล็ก คือถึงขีดแห่งความเจริญเต็มที่ เนื้อมากที่สุดแต่เมล็ดลีบใช่ไหม เมล็ดลีบจะเอาไปปลูกอีกก็ไม่ขึ้น
คนก็ทำนองเดียวกัน เมื่อเจริญคุณธรรมอย่างเต็มที่ถึงขีดสุดก็พรั่งพร้อม ไปด้วยความดีอย่างเต็มที่ ปราศจากกิเลสและสิ่งชั่วต่าง ๆ เหมือนมะม่วงที่อุดมไปด้วยเนื้อ เมล็ดจะลีบเพราะปลูกไม่ได้ เช่นเดียวกัน กรรมก็ไม่อาจให้ผลได้เช่นกัน
๓. เมื่อมีกรรมอื่นมาแทรก กรรมจะหยุดให้ผล เมื่อมีกรรมอื่นแทรกซ้อนเข้ามาเป็นครั้งคราว เช่น เมื่อบุคคลนั้นกำลังทำกรรมชั่วแรง ๆ เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้กรรมชั่วให้ผลก่อน กรรมดีที่กำลังจะส่งก็หยุดส่งผลในช่วงนั้น ในทางตรงข้าม เมื่อบุคคลนั้นกำลังทำกรรมดีแรง ๆ ก็เปิดโอกาสให้กรรมดีส่งผลก่อน กรรมชั่วที่กำลังจะส่งผลในขณะนั้นก็หยุดส่งผลเช่นกัน
ดังนั้นท่านนักศึกษาจะสามารถเข้าใจได้ถึงเรื่องของอำนาจกรรม ที่สามารถส่งผลให้ชีวิตแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป ก็ด้วยเพราะอำนาจกรรมนั่นเอง.
|