ในพระธัมมสังคณีภาคหนึ่งเล่มที่ ๑ คัมภีร์ที่ ๑ ในพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ บรรยายว่า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์
เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดง เริ่มตั้งแต่พระคัมภีร์ที่ ๑ - ๖ เป็นการแสดงให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของปรมัตถธรรมทั้งปวง ระยะนั้นไม่มีความพิศดารแปลกประหลาด
แต่เมื่อทรงแสดงคัมภีร์ที่ ๗ มหาปัฏฐาน อันเป็นพระอภิธรรมประเสริฐยิ่ง ทรงปลื้มปิตี ยินดีอย่างล้นพ้น เกิดพระฉัพพรรณรังสี พระพุทธองค์ทรงพิจารณาธรรมนั้นอยู่ถึง ๗ วัน ด้วยสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ทุก ๆ พระองค์
ฉัพพรรณรังสีมี ๖ สี คือ สีเขียว ขาว แดง เหลือง ม่วง และประภัสสร (เลื่อมพราย) ท่านอุปมาว่า
สีเขียว - นิลกะ สีเขียวเข้มเหมือนดอกอัญชัน ดอกสามหาว กลีบบัวเขียวที่ซ่านออกไปจากพระเกสา คือ ผม และพระมัสสุ (หนวด) ออกมาจากสีเขียวแห่งพระเนตรทั้งสอง
สีขาว - โอทาตะ สีขาวเหมือนแผ่นเงิน เหมือนน้ำนม และดอกโกมุท ดอกย่านทรายและมลิวัลย์ ซ่านออกมาจากพระอัฐิ (กระดูก) พระทนต์ (ฟัน) และสีขาวออกจากพระเนตรทั้งสอง
สีแดง - โลหิต แดงเหมือนสีตะวันทอง สีผ้ากัมพล ดอกชัยพฤกษ์ ดอกทองกวาว ดอกชบา ที่ออกมาจากพระมังสะ (สีเนื้อ) พระโลหิต (สีเลือด) ซ่านออกมาจากพระเนตรทั้งสอง
สีเหลือง - ปิตะ สีเหมือนแผ่นทองคำ สีเหลืองเหมือนผงขมิ้น ดอกกรรณิการ์ที่ซ่านออกมาจากพระฉวีวรรณ(ผิว)
สีม่วง - มันชิถะ เหมือนสีเท้าหงส์ที่เรียกว่า หงสบาท สีดอกหงอนไก่ สีม่วงแดง ที่ซ่านออกมาจากพระสรีระ (ร่างกาย)
สีประภัสสร - สีเลื่อมพราย เหมือนสีแก้วผลึกที่เรียกว่า สีเลื่อมประภัสสร ออกมาจากพระสรีระเช่นกัน
|