ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 2474|ตอบกลับ: 4

ปรโตโฆสะกับโยนิโสมนสิการ

[คัดลอกลิงก์]

29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917





ปรโตโฆสะกับโยนิโสมนสิการ
ธรรมะบรรยายโดย หลวงพ่อเสือ

บางครั้งเห็นทางออกจากกิเลสแต่เราก้าวไม่ออก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะความรุนแรงของความยินดีมีอิทธิพลอยู่เหนือใจเรา ใจของเรายังมีอำนาจของกิเลสเป็นใหญ่ ยังไม่มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มาเป็นใหญ่ แต่ก็ยังดีกว่าคนที่ยังไม่มีทางออก วนอยู่ในกับดักของอารมณ์นั่นแหละ มีแต่ความเศร้า เบื่อ หนืดใจ

ถามว่า ทำไมจึงมีอารมณ์เช่นนั้น? ธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาแต่เหตุ ไม่มีอะไรไม่มีสาเหตุ ฉะนั้นทุกอย่างเป็นมา เป็นอยู่ และเป็นไป อารมณ์ก็เช่นเดียวกันเรียกว่า มา อยู่ แล้วก็ไป ทำไมมาล่ะ ? เพราะมันมีเรื่องทำให้มา เรื่องมันมีอยู่ มันเป็นอยู่ อำนาจกรรมยังเป็นอยู่ ยังไม่โมฆะ ยังไม่อโหสิกรรมไป ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ได้มา เป็นอยู่ และเป็นไป ที่เป็นมา..นั้นห้ามไม่ได้เพราะเป็นวิบาก แต่เป็นอยู่...แก้ไขได้ โดยศึกษาว่าอะไรมา อะไรอยู่ อะไรไป ก็มีแต่อารมณ์มา อารมณ์อยู่ อารมณ์ไป

อารมณ์จึงเป็นที่ตั้งของกิเลส เราต้องทบทวนใคร่ครวญ คิดพิจารณาอยู่ตลอดเวลาว่าธรรมทั้งหลายย่อมมีเหตุเป็นแดนเกิด หมดเหตุแล้วธรรมทั้งหลายนั้นก็ต้องดับไป การที่เรากักขังอารมณ์ทั้งๆที่เรื่องมันเกิดไปแล้ว แต่เรายังไม่จบด้วย ก็ทำให้เกิดความเศร้าหมอง และในการหาทางออกที่ดีของชีวิตจำเป็นต้องอาศัย ๒ อย่างคือ ปรโตโฆสะ กับโยนิโสมนสิการ

๑. ปรโตโฆสะ ได้แก่ เสียงที่บอกหรือผู้อื่นบอกเล่า

๒.โยนิโสมนสิการได้แก่ ตัวปัญญานั่นเอง หรือว่าทำใจให้แยบคาย

เฉพาะพระพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น คือโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นเอง แต่อย่างเราๆ ต้องอาศัย ปรโตโฆสะ ด้วยคือต้องมีเสียงบอก เช่นการฟังธรรม มีผู้มาอธิบายเรื่องต่างๆ เช่น ดูก่อนท่านทั้งหลาย บรรดาทางทั้งหลายมรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด เป็นต้น เพราะเราได้ยินมา พระอรหันต์ถ่ายทอดมาเป็นบาลี ฎีกา อรรถกถา แต่ถ้าไม่ได้อาศัยพวกนี้เลยโยนิโสมนสิการจะเกิดกับปุถุชนผู้ที่ไม่ได้เป็นพุทโธ หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นไปไม่ได้ แต่เพราะอาศัยปรโตโฆสะจึงทำให้เรามีโยนิโสมนสิการได้



29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-6-24 16:55:39 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ในการเวียนว่ายตายเกิดนี้ ทุกคนจะมีโอกาสมาฟังธรรมศึกษาธรรมเช่นวันนี้อีกหรือเปล่าก็ไม่ จะมีโอกาสรู้โดยปรโตโฆสะเกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ ก็ไม่ทราบ ขณะนี้เรากำลังมีโอกาสดี มีผู้สนับสนุนให้ความรู้ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจว่า เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นของธรรมดา เรียนให้เข้าใจเรื่องชีวิตว่าเป็นรูปเป็นนาม คุยกับตัวเองบ่อยๆ สั่งจิตด้วยคันถธุระที่เราเรียนเข้าไปว่านี่เป็นรูปนะ นี่เป็นนาม ให้สั่งจิตบ่อยๆ จนมีอำนาจเหนือกิเลส

ให้ทุกคนด้วยลองคิดดูซิว่า ชาติหน้าและชาติต่อๆ ไปจะมีโอกาสได้ปรโตโฆสะไหม วันและเวลามันเปลี่ยนไป พุทธกาลแก่ลง จนถึงกาลที่ว่างจากศาสนาแล้ว ปรโตโฆสะก็จะไม่มี ฉะนั้น อย่าปล่อยเวลา อย่าระอาต่อความทุกข์ เพราะความทุกข์เป็นทุกข์สัจจะเป็นของดี เพียงแต่เมื่อเรารู้ทุกข์ ทุกข์ก็กลับมาเป็นของดี แต่เมื่อเราเสวยทุกข์นั่นแหละมันไม่ดี เรามีหน้าที่ รู้ ๒ อย่างคือ รู้จักกับรู้จริง รีบทำความรู้จักด้วยปริยัติแล้วไปปฏิบัติให้รู้จริง

เมื่อเสวยทุกข์เข้าไปแล้วเกิดความล้า จิตไม่โลดแล่น เบื่อหน่าย ขณะนั้นไม่มีปัญญา แต่มีอำนาจของอุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา จัดเป็นอกุศลเจตสิก เป็นโมหะเข้ามาครอบงำ คือ ไม่มีการตัดสินแน่นอน เกิดขึ้นในขณะนั้น ...นี่วิเคราะห์ตนเองจากเสียงบอกในปริยัติ จากนั้นก็ให้ฝึกสร้างตบะขึ้นมาเป็นที่อุปการะต่อไป

ปรโตโฆสะคำนี้เป็นเหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการ เพราะเราได้เรียน เราได้อาศัยครูบาอาจารย์จึงเกิดโยนิโสมนสิการคือ รู้จักคิด รู้จักพิจารณา รวมกันว่า การทำใจให้แยบคาย

เราจะทำใจให้แยบคายตรงไหน? ตรงที่อยู่คือปัจจุบัน เป็นมา เป็นไปนั้นช่างเถอะ แต่เป็นอยู่ให้รู้ที่มาที่ไป

29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-6-24 16:56:11 | ดูโพสต์ทั้งหมด
เมื่ออะไรมากระทบ ถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เราก็อาศัยตรงที่อยู่นี่แหละเป็นไปหมุนอยู่ในวัฏฏะ ๓ ฉะนั้นจึงต้องมีสติมา สัมปชาโน อาตาปีให้มั่นคง ไม่มีอะไรเหนือบ่ากว่าแรง เรามีทางออก แต่ที่เรายังไม่ก้าวออก เพราะว่าอำนาจใจของเรานี้มีน้อย ฝึกน้อย เรายังยินดีติดใจในอารมณ์โสมนัสนั้นมาก ยังมีความต้องการความพอใจอยู่มาก ยังมีความหวังได้ หวังดี หวังเป็นอยู่เสมอๆ แต่เป็นเรื่องธรรมชาติ ก็กลับมาสอนว่า ตอนนี้เท่านั้นนะ พระธรรมยังมีอยู่ อาศัยผู้อื่นบอกอยู่ มีเสียงบอกนะว่าอะไรคือรูป อะไรคือนาม อะไรคือความจริง อะไรคือความไม่จริง อะไรคือสัจจธรรม อะไรคือทุกขเวทนา อะไรคือทุกขอริยสัจ

ทุกขเวทนา คือ ทุกข์ที่เราเสวยเข้าไปนั่นแหละ เมื่อเข้าทางตาก็เกิดความยินดีไม่ยินดี

แต่ทุกขอริยสัจ คือ การเสวยทุกข์ แต่รู้ทุกข์

ทุกขเวทนากับทุกขอริยสัจจึงต่างกัน การเสวยทุกข์เป็นเรื่องของสัตว์โลกและสัตว์ต่างๆ แต่ผู้ที่กำลังรู้ทุกข์อยู่นั้น กำลังเป็นกัลยาณมิตรแก่ตนเอง มีครูภายในแล้วที่คอยเตือนสติเราอยู่เสมอ ให้เราไม่เผลอไปจากความเป็นอยู่ จึงอย่าไปสนใจอารมณ์ อย่าใส่ใจอารมณ์ ไปดูแค่อารมณ์ เพราะอารมณ์นั้นเป็นเรื่องที่มีความเป็นมาว่าวิบากส่งมาเป็นอย่างนี้ กรรมลิขิตไว้แล้ว เราฝืนกรรมไม่ได้ แต่ตอนกรรมให้ผลเกิดเป็นวิบากนี้ รู้อย่างนี่แหละปรโตโฆสะทำให้เกิดโยนิโสมนสิการ

พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้ฆ่าความโกรธ ซึ่งมีรากเป็นพิษมียอดหวาน เพราะบัณฑิตผู้ใดก็แล้วแต่ตัดความโกรธนั้นแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก

ปุถุชนนั้นไม่ใช่ว่าจะตัดความโกรธได้ มันมีอยู่ แต่หางานทำซิ ในบ้านมีทั้งของเก่าและของใหม่ของใช้แล้ว ยิ่งใช้ยิ่งมีค่า เลือกใช้

ใครที่อยากดูคนอื่นโกรธก็แสดงว่ามีจิตชอบสิ่งเลวๆ คนที่มายียวนพูดไม่ดี มาแสดงเรื่องอะไรที่ไม่ดี เขาก็คือเขา เราก็คือเรา เราปล่อยให้เสียงผู้อื่นดึงใจของเราที่อยู่บนหิ้งกลิ้งไปอยู่ในนรกแล้ว ให้หมั่นทำความรู้สึก คิดและคอยพิจารณาให้หมั่นสังเกต สิ่งใดที่ทำให้เรามีสติ สิ่งนั้นน่าบูชา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล

29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-6-24 16:56:42 | ดูโพสต์ทั้งหมด
เราทุกคนก็รู้ว่าแต่ละชีวิตก็แก่ขึ้น วันแต่ละคนก็น้อยลง จิตใจก็ไม่คงมั่น และเมื่อถึงวันนั้นจะเป็นอย่างไร ถ้าวันนี้ไม่รีบทำ เพราะในขณะนี้เรามีโอกาสเกิดโยนิโสมนสิการได้เพราะอะไร? เพราะปรโตโฆสะแต่เมื่อสิ้นพุทธกาลแล้ว กว่าพระศรีอาริยเมตไตรย์ พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งจะอุบัติขึ้นมานั้น คำว่าโยนิโสมนสิการจะไม่มีเกิดขึ้นกับผู้ใดเลยในโลกหล้า นอกจากพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น

ขณะนี้เรารู้จักแล้ว ใช้ให้เป็น ทำความสำเหนียกรู้สึกตัวในอาการทั้งหมดเลย เมื่อนั่งอยู่ให้รู้ในอาการ ไม่ให้ดูที่ก้น แต่ให้รู้ทั่วสรรพางค์กาย เหมือนเราจับขาอยู่ เราก็รู้สึกตัวทั้งหมด ไม่ใช่ที่ใดที่หนึ่ง แต่ถ้าไม่รู้สึกก็คือ เลินเล่อเหม่อลอย แต่ถ้าเรานั่งอยู่ เรารู้ว่าเรานั่งท่าไหน อาการที่เกิดขึ้นนั้น ความรู้สึกนั้นเรามีกายประสาท และจิตไม่ว่างรู้อารมณ์ เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ในอาการนั่ง ไม่ใช่ก้นนั่ง หรือการเดินนั้นส่วนมากไปวางอารมณ์อยู่ที่การก้าวแตะ จึงผิด เท่ากับ ๑๐๐ ส่วนได้ ๒ ส่วน

ถาม เวลานั่งนั้นมือนั่งด้วยไหม        ตอบ นั่ง

ถาม เวลาเดินนั้นมือเดินด้วยไหม        ตอบ เดิน

ถาม เวลานั่งนั้นหัวนั่งด้วยไหม ตอบ นั่ง

จะเห็นได้ว่า เมื่อเราสำเหนียกดู คอยใคร่สำเหนียกอาการ โอกาสที่สมาธิจะเข้าก็ยาก โอกาสที่เผลอก็น้อยมาก ความรู้สึกพอกำหนดอย่างนี้ได้เขาเรียกว่า โยนิโสมนสิการในรูปนั่ง คำนี้มีมาได้เพราะมีปรโตโฆสะคือเสียงบอกนะ ผู้อื่นบอกนะ

ขณะนี้จึงไม่อยากให้ปล่อยเวลาเสียไป เพราะชาติหน้าเราอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เกิดเป็นอะไรก็ไม่รู้ หากว่าเกิดดี แล้วจะมีสัจธรรมอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ อาจจะหมดแล้ว หรือหากว่าสัจธรรมมีอยู่ แต่ผู้ที่ถ่ายทอดให้เกิดปรโตโฆสะไม่มีแล้ว โยนิโสมนสิการก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉะนั้นจงถนอมชีวิตไว้ ถนอมจิตที่ถูกเลี้ยง ฟูมฟักด้วยปัญญาที่มีปรโตโฆสะมา ทำให้ชิน ใช้ให้ชื่นใจเชียว เมื่อไม่มีโอกาสได้ใช้แล้ว จะได้ไม่ต้องตัดพ้อ เพราะอะไร? เพราะปรโตโฆสะเป็นอริยทรัพย์ เป็นเหตุให้เกิดปัญญาตัวหนึ่ง

29

กระทู้

101

ตอบกลับ

1917

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
1917
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-6-24 16:57:11 | ดูโพสต์ทั้งหมด
เราต้องหมั่นเล่นกับธรรมะ ธรรมะเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ไม่โกรธเรา มิหนำซ้ำยังทำให้เราเป็นผู้ให้ตลอดกาล แล้วเราควรจะไปคบใครล่ะถ้าไม่คบเพื่อนผู้แสนดี

วันหนึ่งๆที่นั่งอยู่นี่เคยคิดไหม เคยอยู่กับธรรมะไหม เช่น เขียนวิถีจิต เพราะเราท่องจำได้แล้ว ไม่เคยเอาธรรมะกลับมาสนทนากับตัวเอง หรือไม่สนทนากับธรรมะแล้วธรรมะจะรักเราได้อย่างไร โบราณว่า อยากให้เขารักเรา เราต้องรักเขาก่อน อยากให้เขาดีกับเรา เราต้องดีกับเขาก่อน อยากให้เขาอยู่กับเรา เราต้องอยู่กับเขาก่อน ไม่ใช่ไปนั่งขอ พระพุทธศาสนาไม่มีการดลบันดาล ถ้าไม่ลงทุนเลย ไม่มีอะไรได้เป็นกำไร

นั่งเฉยๆ เงินงอกได้ไหม หรือไม่มีเงินในธนาคาร แต่มีดอกเบี้ย ก็เป็นไปไม่ได้ ยกเว้นคอรัปชั่น ฉะนั้นจะมีอะไรในโลกนี้ที่เกิดงอกออกมาโดยไม่มีเหตุ..ไม่มี ต้องสร้างเหตุ เราต้องเล่นกับธรรมะ เราอยากให้ธรรมะอยู่กับเรา เราต้องอยู่กับธรรมะก่อน หมั่นหยิบอ่าน อ่านแล้วทำการบ้าน นั่งอยู่ว่างๆ เบื่อหน่าย ชอบจดอยู่แล้ว เมื่ออยู่บ้านก็ต้องชอบเหมือนเดิม เรามีเวลาวันหนึ่งเท่ากับคนอื่น ๒๔ ชั่วโมงเหมือนกัน แต่วันและเวลามีค่าต้องประกอบไปด้วยปัญญานี่แหละ ตรงนี้เพราะอะไร เราไม่ได้ไปคลุกคลีกับของต่ำ สิ่งนี้เป็นของสูง (ธรรมะ) อยากได้ธรรมะต้องรักธรรมะ เมื่อรักธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว จะเห็นธรรมของพระองค์ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ จะเกิดขึ้นมาได้

จึงบอกได้ว่างานพระธรรมไม่ใช่งานเบาๆ ไม่ใช่งานที่เรียนจบง่ายๆ เป็นงานหนัก แต่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่ผ่านมาตรัสว่า ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ ๕ เป็นของหนักเน้อ ขันธ์ ๕ เป็นของที่เรายังแบกได้เลย แบกกันมากี่ชาติแล้ว กินมาเท่าไหร่ เลี้ยงเท่าไหร่ ดูแลเท่าไหร่ หนักที่สุด ธรรมะเป็นของหนักเหมือนกัน แต่หนักน้อยกว่า พอเรียนแล้วทำลายความหนักที่สุดให้หมดไปคือขันธ์ ๕ เหมือนกัน

เราต้องรู้ว่าธรรมะให้ประโยชน์ ทำเวลาให้มีค่า แทนที่จะไปนั่งคิด นั่งฟุ้ง นั่งเขียนการ์ตูนอยู่ ในเวลาเท่ากัน คนอื่นอาจจะกำลังเขียนวิถีจิต ม บ อุ นุ โค ม ผ ผ ภ ซึ่งใช้ปากกาเหมือนกัน แต่ปากกานั้นทำให้ชีวิตเดินทางไปสู่พระนิพพาน กับอีกคนมีชีวิตใช้ปากกาเดินทางไกลในสงสารวัฎ

เลือกเอานะ ไม่ใช่ให้ลืมอดีต แต่ให้แก้ไข ใจให้มีกุศล มองตนให้มาก เรื่องยุ่งยากจะหมดไป


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ข้อความล้วน|อุปกรณ์พกพา|ประวัติการแบน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-12-4 15:37 , Processed in 0.080563 second(s), 20 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.9

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้