ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 903|ตอบกลับ: 3

กระจกส่องจิต

[คัดลอกลิงก์]

24

กระทู้

60

ตอบกลับ

980

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
980
แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย พี่เณร เมื่อ 2017-6-27 18:14



เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา นับเป็นโชคดีอย่างมากที่ได้มีโอกาสทั้งฟัง ดูการสาธิต และได้ฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับ อ.บุษกร เมธางกูร ที่มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิแบบชนิดที่เรียกว่าหลักสูตรเร่งรัด เนื้อหาเข้มข้น เน้นที่ประเด็นสำคัญ อย่างที่เรียกกันว่า intensive course อย่างนั้นเลยค่ะ

ในวันเสาร์ อ. บุษกรได้ให้พวกเรามีโอกาสทบทวนคำสอนที่ท่านถ่ายทอดไว้ ในกระทู้ที่ชื่อว่า วิปัสสนาคืออะไรแน่ ตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 6 (ตอนนี้ได้มีการรวบรวมทั้ง 6 ตอนไว้ในที่เดียวแล้วคือในกระทู้ที่ 3195 ชื่อ ควรใส่ใจ..ในปัญญา) ซึ่งไม่ใช่เป็นการทบทวนเนื้อหาเท่านั้น แต่ อ.บุษกรยังได้อธิบายเพิ่มเติม และสาธิตเพื่อให้เกิดความเข้าใจด้วยหลายตอน

เช่น อาจารย์จะให้พวกเราตอบคำถามเพื่อดูว่าเราเข้าใจวิธีการกำหนดหรือไม่ โดยท่านจะไปยืนหลบหลังเสา แล้วปรากฏตัวออกมา ให้ลูกศิษย์คนหนึ่งตอบว่า ท่านอยู่ในอิริยาบถแบบนี้ กำหนดอะไร (ท่านยืน) ลูกศิษย์ก็ตอบว่า รูปยืน แล้วท่านก็หลบเข้าไปหลังเสาอีก คราวนี้ปรากฏตัวในท่ายืนอีก แต่ยืนไม่เหมือนกับครั้งที่แล้ว ถามลูกศิษย์อีกคนว่า กำหนดอย่างไร ลูกศิษย์ก็ตอบว่า รูปยืน

ท่านก็ทำซ้ำเช่นนี้อยู่หลายครั้ง ด้วยท่ายืนที่แตกต่างกันทุกครั้ง แล้วถามสลับกันระหว่างลูกศิษย์ 2 คน สุดท้ายท่านถามทีละคนว่า ตอบว่า รูปยืนกี่ครั้ง ได้คำตอบว่า 3 ครั้ง ท่านชี้ให้เห็นว่า ที่รู้ว่า 3 ครั้ง นี้คือจำได้ ไม่ใช่วิปัสสนา นอกจากนี้ตอนที่รู้รูปยืนแต่ละครั้งนั้น รู้อะไรอีก สิ่งที่รู้คือรู้ว่า รูปยืน 3 อย่างนั้นไม่เหมือนกัน การปฏิบัติวิปัสสนา คือการรู้สิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้าในขณะนั้นจริงๆ และต้องรู้อย่างถูกตรงคือ เป็นรูป หรือเป็นนาม เป็นรูปเป็นรูปอะไร เป็นนามเป็นนามอะไร



24

กระทู้

60

ตอบกลับ

980

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
980
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-6-27 18:10:57 | ดูโพสต์ทั้งหมด
อีกเรื่องที่สำคัญมากก็คือท่านเน้นว่า ความเพียรไม่สำคัญเท่าความเข้าใจ ถึงแม้จะเพียรมากอย่างไรแต่ถ้าเข้าใจไม่ถูกก็ปฏิบัติไปอย่างผิดๆ ถึงจะเพียรเท่าไรก็เท่ากับเป็นการเพียรที่ไร้ประโยชน์จริงๆ

ท่านเน้นกับพวกเราว่าให้ฝึกหัดอย่างต่อเนื่อง อย่าทอดทิ้งธุระนี้เด็ดขาด อย่าคิดว่าการดูอิริยาบถเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ง่ายเลยถ้าขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่นรูปนั่ง อย่างไรจึงจะเรียกว่า กำหนดดูรูปนั่งได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ท่านได้อธิบายไว้แล้วในกระทู้ แต่ส่วนที่ท่านย้ำคือ การฝึกฝนจะทำให้การกำหนดชัดเจนขึ้น ท่านได้ให้ลูกศิษย์ 3-4 คน ยืนหันหน้าเข้าหากระจก (เนื่องจากห้องเรียนเป็นห้องกระจก) ให้มองเงาตัวเองในกระจก ถ้าเห็นไม่ชัดให้ขยับหรือเลื่อนตัวเองให้เห็นเงาตัวเองชัดขึ้น ลูกศิษย์แต่ละคนขยับเข้าหากระจกหลายครั้งจึงจะเห็นเงาตัวเองชัด

แล้วท่านก็สรุปว่า เปรียบเหมือนการกำหนดเช่นรูปนั่งเมื่อปฏิบัติแรกๆอาจยังไม่ชัดเจนในรูปนั่ง แต่เมื่อมีความเข้าใจวิธี แล้วฝึกฝนไป จะทำให้ความชัดเจนปรากฏขึ้นได้ เหมือนพวกเราเรียนปริยัติ เรียนทฤษฎีของการปฎิบัติมามาก แต่เมื่อไม่ลงมือปฎิบัติอย่างจริงจัง ก็ย่อมไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา อีกทั้งยังคิดว่าตนเองรู้แล้วเข้าใจแล้ว จึงไม่เคยมีคำถามหรือปัญหาของการปฏิบัติมาถามครูบาอาจารย์เลย แท้จริงยังไม่เข้าใจ จริงๆ เมื่อปฏิบัติก็ไม่ถูกต้อง

ประเด็นอีกอย่างก็คือว่าการที่เราเรียนปริยัติมาแล้วทำให้เราเข้าใจ อธิบายปรากฏการณ์ได้เช่น ฟุ้ง เราก็รู้ว่า อุทธัจจะเจตสิกเมื่อประกอบกับจิตใดแล้วเป็นสิ่งที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน การรู้อย่างนี้จะไม่เป็นประโยชน์เลย ถ้าไม่เข้าใจว่าฟุ้งเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น เรามีหน้าที่แค่รู้ว่าฟุ้งเกิดขึ้น ไม่ใช่ไปกลุ้มใจกับฟุ้งที่เกิดขึ้น หรืออยากไม่ให้ฟุ้งเกิดขึ้น เพราะจริงๆแล้วในขณะที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฟุ้งก็เกิดอยู่เสมอๆเพราะวันๆเราคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้มากมาย อย่างนี้ก็ฟุ้งเหมือนกัน แต่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยสังเกตความฟุ้งนั้นเองต่างหาก

24

กระทู้

60

ตอบกลับ

980

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
980
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-6-27 18:11:19 | ดูโพสต์ทั้งหมด
อีกเรื่องหนึ่งที่ได้ความชัดเจนมากขึ้นคือความแตกต่างของคำว่า โยนิโสมนสิการ กับ มนสิการ เช่น เวลาที่มีทุกข์เกิดขึ้นในท่านั่ง ก็โยนิโสมนสิการลงไปว่านามทุกข์ และต้องรู้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนเสียก่อน การกระทำนั้นได้เหตุนั่นเอง จากนั้นต้องมนสิการเสียก่อนว่าจะเปลี่ยนไปท่าไหนเพื่อป้องกันความขาดสติ ขาดความสังวรระวัง ซึ่งตัวอย่างนี้จะเห็นชัดถึงความแตกต่างของคำ 2 คำนี้

ส่วนในวันอาทิตย์ อ.บุษกร ก็สอนแบบเป็น intensive course อีกเช่นกัน ภายหลังจากที่ได้ให้พวกเราฝึกปฏิบัติกันไปสักครู่ ท่านได้สังเกตลีลาการปฏิบัติของพวกเราแล้ว ท่านบอกว่าเกิดแรงกระตุ้นใจ นึกถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมครู ท่านสอนเวไนยสัตว์ ท่านเองถึงแม้ไม่ได้อธิษฐาน แต่คิดว่าตนเองต้องสอนผู้อื่นให้รู้และเข้าใจทางที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสรู้ได้

ท่านคิดขึ้นได้ในขณะนั้นว่า กระจกเงา จะสามารถเป็นอุปกรณ์การสอนที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจในสิ่งที่ท่านต้องการถ่ายทอดได้ ท่านได้นำกระจกเงาบานใหญ่มาถือไว้ในมือ เรียกลูกศิษย์ออกไปหน้าชั้นทีละคน แล้วบอกให้ลูกศิษย์ มองกระจกไว้แบบไม่ให้คลาดสายตา แล้วท่านก็บอกให้ลูกศิษย์ทำอิริยาบถต่างๆ (โดยที่ยังไม่ต้องกำหนดอารมณ์ของวิปัสสนา)เช่นท่านบอกให้นั่งยองๆ สักครู่ท่านก็ให้เปลี่ยนไปนั่งพับเพียบ สักครู่ท่านก็ให้ลุกขึ้นยืน โดยที่ท่านย้ำว่าให้สายตามองตนเองในกระจกตลอดเวลา ท่านจะถามลูกศิษย์ว่าเห็นตนเองชัดมั๊ยแล้วเห็นอะไร ทุกคนตอบว่าเห็นชัด เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้น เช่น จากการที่นั่งอยู่แล้วจะเปลี่ยนไปเป็นอิริยาบถยืน เห็นว่าตนเองใช้มือทั้ง 2 ข้างยันพื้น แล้วยกสะโพกขึ้น แล้วยืดขาทั้ง 2 ข้างขึ้น ยกมือขึ้นจากพื้น ยกลำตัวขึ้น แล้วก็เงยหน้าขึ้น

ท่านจึงชี้ให้เห็นว่า นี่เราใช้ตาเราคือตาเนื้อ มองตลอดจึงเห็นลำดับขั้นตอน และสิ่งที่เห็นนี้คืออิริยาบถย่อยที่มีอยู่จริง และเป็นไปเพื่อบำบัด แก้ไข อิริยาบถใหญ่ แต่เราไม่เคยสังเกต (ท่านย้ำว่าตัวสังเกตนี้คือตัวศึกษา) แต่เมื่อไปปฏิบัติไม่ใช่ใช้ตาเนื้อดู แต่ใช้จิต (คือนาม) ดู แต่ต้องดูให้ชัดและสังเกตตลอดเวลาเหมือนการใช้ตามองกระจกอย่างไม่คลาดสายตาอย่างที่สาธิตนี้

24

กระทู้

60

ตอบกลับ

980

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
980
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-6-27 18:11:41 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ความรู้สึกตอนนั้นบรรยายไม่ถูกจริงๆ เป็นความปลื้มใจที่มีครู ที่พยายามอย่างยิ่ง จริงจังและจริงใจอย่างยิ่ง ที่จะหาวิธีมาทำให้ผู้เรียนเข้าใจ แล้วอุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้หายากหรือเริ่ดหรูแต่อย่างใด แต่เป็นอุปกรณ์ที่หาได้จากรอบๆตัว ท่านหันมาถามว่า ชีวิตนี้ยังต้องมีครูอยู่มั๊ย ขาดครูได้หรือยัง คำตอบพูดออกมาไม่ได้ รู้สึกว่าพูดไม่ออก แต่ใจมีคำตอบอยู่แล้วว่า ยังต้องมีครูที่จะคอยชี้แนะทางที่ถูกอยู่ เรายังด้อยเหลือเกินในเรื่องของความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แถมความเพียรยังน้อยอีก ถ้าขาดครูชีวิตจะเป็นอย่างไร ท่านปรารภว่าถ้าพรุ่งนี้ท่านตาย ใครจะสอนอย่างนี้ คำพูดนี้ฟัง แล้วสะเทือนใจค่ะ ชี้ให้เห็นว่าเวลาที่ผ่านไป เราใช้อย่างประมาทมาก

เรื่องการใช้กระจกมาสอนถึงความสำคัญที่จะต้องมีความสังเกตอย่างจริงจัง เป็นความประทับใจอย่างมากในวันนั้น อย่างหนึ่งที่บอกกับตัวเองก็คือ คนเป็นครูต้องอย่างนี้ ต้องสามารถขยายความ อธิบายเรื่องที่เข้าใจยาก ให้ง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น ดัดแปลงอุปกรณ์ง่ายๆมาใช้เพื่อทำสิ่งที่เป็นนามธรรมให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาจนสัมผัสได้จริง

ขอนำความรู้ความเข้าใจทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากความทุ่มเทอธิบายของอาจารย์ในครั้งนี้ เป็นเครื่องบูชาพระคุณ ด้วยความรู้สึกขอบพระคุณและเคารพอย่างยิ่งค่ะ

ทวีพร




ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ข้อความล้วน|อุปกรณ์พกพา|ประวัติการแบน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-11-21 19:47 , Processed in 0.071624 second(s), 20 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.9

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้