๑. สมมติสัจจะ อาศัยบัญญัติตั้งขึ้น คือ ความจริงโดยสมมติ
๒. ปรมัตถสัจจะ คือ สภาวะความมีปรากฏอยู่จริง
วิปัสสนานั้น คือ การมีปัญญาญาณ รู้แจ้งเห็นจริงในพระปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะได้โดยเด็ดขาด แต่จะกล่าวถึงสมมติสัจจะพอเป็นสังเขป ดังต่อไปนี้
สมมติสัจจะ เป็นโวหารคำกล่าวที่โลกียชนได้นิยมใช้กล่าวกันสืบเนื่องมาแต่โบราณกาล คือ สมมติเอาสัตว์ บุคคล อัตตะ ชีวะ สัณฐาน สันตติ นิมิต และ อนุพยัญชนะ เป็นต้น
คำว่า สัตว์ เป็นชื่อที่สมมติใช้เรียกได้ทั้งมนุษย์ เทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดียรัจฉาน
คำว่า บุคคล เป็นที่ใช้สมมติเรียกชื่อสัตว์ใน ๓๑ ภูมิ ที่เคยตกนรกมาแล้ว ปัจจุบันนี้ นิยมใช้เรียกมนุษย์ที่ประเสริฐกว่าสัตว์เดียรัจฉาน
คำว่า อัตตะเป็นชื่อสมมติใช้อย่างแพร่หลาย คือ สมมติหมายกำหนดเอาแก่นสารแห่งขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัว เป็นตน โดยใช้สรรพนามว่าเรานั่นเอง
คำว่า ชีวะ หรือ ชีวี นี้ เป็นส่วนสำคัญของอัตตะ เท่ากับศีรษะของอัตตะ อัตตะจะทรงอยู่ได้นาน ก็ด้วยอำนาจชีวะ หรือ ชีวี พิทักษ์รักษาไว้
คำว่า สัณฐาน เป็นชื่อที่พึงกำหนดนับได้ตั้งแต่ ปรมาณู อณูของปถวีธาตุ คือ ธาตุดิน ตลอดถึงขุนเขา อันสามารถกำหนดกว้าง ยาว สั้น คอด สูง ต่ำ ทุกส่วนสัดของรูปร่างลักษณะ
คำว่า นิมิต คือ ลักษณะทรวดทรงของสัตว์ และบุคคล เป็นต้น จำแนกออกเป็น ๒ ประเภท คือ สุภนิมิต และอสุภนิมิต ได้แก่นิมิตที่สวยงามและไม่สวยงาม
คำว่า อนุพยัญชนะ คือ การเคลื่อนไหวของสัตว์และบุคคล เช่น การยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น ซึ่งมีลักษณะทั้งสุภะงาม และอสุภะไม่งาม
|