๒. มัชฌิมสังสาระ คือ ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิท่ามกลาง หรือเรียกว่าสุคติภูมิ ๗ คือ มนุษย์ภูมิ ๑ และเทวดาภูมิ ๖
สัตว์ผู้ใกล้จะตาย ถ้าปรากฏกรรมที่เคยได้กระทำมาอันเป็นกุศลกรรมที่เรียกว่า มนุษยธรรม คือ เบ็ญจศีล เบ็ญจธรรม หรือกุศลกรรมบถ ๑๐ แล้วไซร้ จะเกิดกรรมนิมิต เสมือนว่าตนได้กำลังกระทำอยู่ในเวลานั้น เพราะอาศัยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นเหตุให้เกิดคตินิมิต มีอาคาร บ้านเรือน ชิ้นเนื้อ หรือครรภ์มารดา เป็นต้น เมื่อจุติดับลงแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิตในภูมิแห่งมนุษย์
ถ้าหากว่าในปัจจุบันชาตินี้เป็นผู้มีจิตที่ประกอบด้วยหิริ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ทุจจริต ตั้งอยู่ในธรรมอันขาว มีใจอันสงบระงับปราศจาก โลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นเหตุแล้ว เป็นผู้ทำทานการกุศล มีการถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสงฆ์ และให้ทานแก่คนยากจนอนาถา หรือถวายไตรจีวรแก่พระภิกษุสงฆ์ ให้ทานเสื้อผ้าแก่คนยากจน สร้างกุฏิ วิหาร เสนาสนะ ศาลา หรือสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล สร้างถนนหนทาง สร้างสิ่งสาธารณะทั่วไป อันเป็นประโยชน์แก่เพื่อนร่วมการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน หรือให้ทานยารักษาโรคเป็นต้น หรือว่าให้ส่วนบุญ อนุโมทนาส่วนบุญ เหล่านี้เป็นเหตุให้ปรากฏเป็นกรรมนิมิต เสมือนว่าตนกำลังกระทำในเวลานั้นเมื่อใกล้จะมรณภาพ จะเป็นปัจจัยให้เกิดคตินิมิต เสมือนว่าตนกำลังกระทำในเวลานั้นเมื่อใกล้จะมรณภาพ จะเป็นปัจจัยให้เกิดคตินิมิต เห็นเป็นเทวดาหรือเครื่องทรงเทวดา หรือมีวิมานเป็นทิพย์ เมื่อจุติจิตดับลงแล้วปฏิสนธิจิตก็เกิดในเทวภูมิ ชั้นใดชั้นหนี่ง คือชั้นจาตุมหาราชิกา ชั้นดาวดึงสา ชั้นยามา ชั้นดุสิตา ชั้นนิมมานรดี หรือชั้นปรนิมมิตวสวัสตี ตามวิบากของกุศลกรรมนั้นๆ มีอายุอย่างต่ำ ๕๐๐ ปีทิพย์ อย่างสูง ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ ท่องเที่ยวไปในสุคติภูมิ ๗ นี้จนกว่าหมดสิ้นวิบาก ด้วยประการฉะนี้.
๓.อุปริมสังสาระ ความท่องเที่ยวในภูมิเบื้องสูง คือ รูปภูมิ ๑๖ อรูปภูมิ ๔ ซึ่งรวมเรียกว่า พรหมภูมิ ๒๐
ผู้ใกล้จะมรณภาพจะปรากฏกรรมอันเป็นกุศลกรรมใหญ่ เรียกว่า มหัคคตกุศล ได้แก่รูปาวจรกุศล และอรูปาวจรกุศล มีกรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ คือ อนุสสติ ๑๐ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหารเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ อรูปกรรมฐาน ๔ อันใดอันหนึ่ง เป็นอารมณ์ มีองค์ฌานเข้าประกอบในขณะนั้น
ถ้าได้อรูปกรรมฐาน ๔ เป็นอารมณ์ มี อุเบกขา เอกัคคตา อันเป็นองค์ของปัญจมฌานก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดคตินิมิต คือภูมิของอรูปพรหม
ถ้าได้รูปกรรมฐานเป็นอารมณ์ คือกรรมฐาน ๑๖ (เว้นอรูปกรรมฐาน ๔) มีอุเบกขา เอกัคคตาอันเป็นองค์ฌานเข้าประกอบ ก็จะเกิดคตินิมิต คือภูมิของปัญจมฌานภูมิ
ถ้าสุข เอกัคคตา อันเป็นองค์ฌานเข้าประกอบ ก็จะเกิดคตินิมิต คือจตุตถฌานภูมิ
ถ้ามี ปีติ สุข เอกัคคตา อันเป็นองค์ฌานเข้าประกอบ ก็จะเกิดคตินิมิต คือตติยฌานภูมิ
ถ้ามี วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อันเป็นองค์ฌานเข้าประกอบ ก็จะเกิดคตินิมิต คือทุติยฌานภูมิ
ถ้ามี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาเข้าประกอบ ก็จะเกิดคตินิมิต คือ ปฐมฌานภูมิ เมื่อจุติดับลงแล้ว ก็จะเกิดปฏิสนธิจิตในพรหมภูมิตามลำดับดังนี้
|