ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 940|ตอบกลับ: 8

ร่มของพ่อ

[คัดลอกลิงก์]

42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901




“เฮ้อ...เมื่อไรจะหมดเวรหมดกรรมกันซะทีนะ”

คำอุทานที่ขาดสติอันเกิดขึ้นจากการเหนื่อยกายแล้วยังต้องมาทุกข์ใจจากเรื่องราวต่างๆ ที่โหมมาประดังจนไม่สามารถเหนี่ยวรั้งใจให้อยู่กับกุศลได้ ความไม่เท่าทันวิบากที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความอึดอัด ไม่ปลอดโปร่งใจ จนทำให้รู้สึกร้อนทั้งภายนอกและภายในที่เข้าใจว่าเกิดจากความวุ่นวายของบุคคลรอบตัวจนกระทั่งกิเลสของตนเอง รุ่มร้อนจนทำให้นึกถึงคำว่า “ร่มของพ่อ” ที่ท่านอาจารย์ได้เคยพูดให้ลูกศิษย์คนหนึ่งซึ่งขณะนั้นจิตใจกำลังทุรนทุรายอยู่กับอกุศลวิบากได้ฟังว่า

“ สิบกว่าปีแล้วนะ...ที่พี่ทำร่มของพ่อปลิวหายไป ตอนนี้พี่ต้องหาร่มของพ่อให้เจอ แม้ว่าร่มคันนั้นจะมีผ้าขาดหลุดลุ่ยไปแล้วก็ตาม แต่ก้านร่มและโครงสร้างมันยังอยู่ พี่ยังสามารถเก็บมาปะแต่งให้สวยงามได้” จริงซินะ ! ขณะนั้นเราทำร่มของพ่อหายไป

ทำให้นึกถึงครั้งหนึ่งที่ท่านอาจารย์พาพวกเราไปกราบสักการะสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย ตอนขากลับแทบทุกคนจะซื้อใบโพธิ์ติดตัวมาด้วย (โดยมิได้มีจุดมุ่งหมายว่าจะนำมาทำอะไร) นานเข้าหลวงพ่อท่านจึงมีกุศโลบายให้พวกเราสร้างประโยชน์ให้เกิดกับชีวิต นั่นคือสร้างมงคลชีวิตข้อที่ ๘…การมีศิลปะ ด้วยการให้ลูกศิษย์ทุกคนประดิษฐ์ร่มโดยใช้ใบโพธิ์เหล่านั้นมาทำเป็นการบ้านส่งท่าน ครั้งนั้นนอกจากจะได้สมาธิแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกถึงความสงบร่มเย็นหากเราได้ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ร่มโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นไม้แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ...ทุกคนจึงเพียรบรรจงนำใบโพธิ์มาปะแต่งเป็นร่มที่สวยงามอย่างสุดความสามารถเพื่อกราบถวายหลวงพ่อ




42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-7 14:53:53 | ดูโพสต์ทั้งหมด


วันนั้น ท่านอาจารย์อธิบายสิ่งที่ท่านพูดถึงก้านร่มซึ่งเป็นโครงสร้างของร่มที่ยังคงอยู่นั้นว่า นั่นหมายถึงความดีที่พวกเราทุกคนมีอยู่ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ก็เพราะเรามีความดี นั่นคือเบญจศีล-เบญจธรรมที่ติดตัวมา เมื่อเรามาทำความดีต่อไปเท่ากับเรากำลังปะแต่งร่มให้สวยงามเพื่อเป็นที่กำบังแดด หรือความร้อนให้กับตนเองได้

ท่านอาจารย์ยังย้ำต่อไปว่า “พี่ต้องรีบหาร่มคันนั้นให้เจอ ถ้าพี่ยังปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นสักวันมันก็คงจะผุผังไปกับกาลเวลา....” เพราะจะว่าไปแล้ว ลูกศิษย์ที่อยู่ฟังท่านอาจารย์ในวันนั้นล้วนอยู่ในช่วงปัจฉิมวัยกันทุกคน ทำให้ได้คิดว่าถ้าเราไม่รีบหาร่มของพ่อให้เจอแล้ว เราอาจจะต้องเสียใจที่หากวันนั้นเป็นวันที่โครงร่มคันนั้นผุผังไปตามอำนาจกรรมที่จบลงโดยที่เราไม่อาจแก้ไขอะไรอีกได้เลย

ถ้อยคำหลายๆประโยคของอาจารย์ในวันนั้น ทำให้ต้องกลับมาขบคิดถึงชีวิตของตนเอง

“รูปร่าง ...ชีวิตนี้ เราอาศัยมานานมากแล้ว ใช้มาตั้งแต่เด็กจนโต จนกระทั่งเป็นอาจารย์ เป็นโน่นเป็นนี้ ได้ตำแหน่งนั้น ได้ยศฐาบรรดาศักดิ์นี้ นับว่าเราใช้ชีวิตกันมานานมากแล้ว แต่เราไม่เคยหันมาดูแลชีวิตนี้กันเลย ตอนนี้เราผ่านสิ่งต่างๆเหล่านั้นมานานแล้ว ถึงเวลาที่เราควรจะหันกลับมาดูแลชีวิตนี้กันเสียบ้าง....

ที่ผ่านมาเราดูแลพ่อ ดูแลแม่ ดูแลคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลูก เป็นหลาน หรือใครๆก็ตาม เราคอยดูแล ให้เงิน ให้อะไรได้สารพัด แต่อย่าถึงกับให้ชีวิตเลย เราต้องกลับมาดูแลชีวิตของเราเองด้วย

..ตอนนี้พี่กำลังจะเขียนมอบบ้าน(ที่หมู่บ้านธรรมะ)ให้กับมูลนิธิ ..ดูๆไปแล้วไม่ต่างกับคนหลายๆคนที่สร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างกุฎิ แล้วมอบถวายให้กับพระพุทธศาสนา แต่ปรากฏว่าตนเองนั้นไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยหันมาศึกษาพระธรรม คือไม่เคยหันกลับมาดูแลชีวิตตนเองในทางที่ถูกต้องเลย ...พี่ก็เหมือนกัน ตั้งเจตนาเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยว่า เราจะไม่เพียงถวายบ้าน แต่จะถวายชีวิตนี้ให้อยู่กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ”



42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-7 14:54:49 | ดูโพสต์ทั้งหมด


เมื่อพูดถึงห้องปฏิบัติ ท่านอาจารย์บอกว่า คนเราต้องหามุมสงบให้กับชีวิตตนเองบ้าง ฉะนั้นการที่เราเข้าห้องปฏิบัติ(วิปัสสนา) อย่าไปคิดว่าเราจะต้องเข้าไปปฏิบัติ ซึ่งมันจะไม่เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะตามหลัก ๑๕ ข้อแล้ว ก็ยังมีข้อห้ามอยู่ข้อหนึ่งว่า อย่าทำความรู้สึกตัวว่าเรากำลังทำกรรมฐาน แต่ในห้องปฏิบัตินั่นเองจะเป็นมุมสงบให้เราได้มีโอกาสกลับมาสำรวจตนเอง และด้วยการสังเกตนั่นแหละที่จะทำให้เราได้มีโอกาสเข้าไปรู้จักสภาพธรรมที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งเป็นการพิสูจน์ตามที่เราได้เรียนมา

คำพูดเตือนสติของท่านอาจารย์ในวันนั้น ทำให้รู้สึกว่าหลายๆครั้งที่พวกเราหาร่มที่พ่อให้ไม่เจอ ต้องเดินตากแดดตากฝนอยู่กับกิเลสและวิบากของแต่ละคน พวกเราก็ยังได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์ที่นำร่มที่ท่านมีอยู่มากางให้พร้อมจูงมือพาพวกเราเพื่อเดินหาร่มของพ่อต่อไป

วันนั้นท่านอาจารย์ส่งกระดาษให้พี่คนนั้นพร้อมพูดว่า

“พี่ช่วยพับนกให้หน่อย”

“พับไม่เป็นแล้วค่ะอาจารย์ ลืมไปแล้ว”

“งั้นพี่พับเรือก็ได้..”

“ก็ไม่เป็นเหมือนกันค่ะ...” สรุปแล้วว่าจะให้พับเป็นรูปอะไร ก็พับไม่ได้ทั้งสิ้น

“ถ้างั้นพี่ฉีกกระดาษมาให้ก็แล้วกัน”

ว่าแล้ว พี่เขาก็บรรจงฉีกกระดาษจากชิ้นใหญ่ออกมาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

“เห็นไหมพี่ การพับกระดาษมันยากกว่าการฉีกกระดาษมากมาย เช่นเดียวกัน การที่เราจะไปพับชีวิตคนอื่นไม่ว่าจะเป็นลูกหลานให้เป็นรูปนั้นรูปนี้ตามใจเรานั้นมันยากมากกว่าที่เราจะฉีกชีวิตตนเองออกจากเรื่องนั้นๆ..”



42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-7 14:55:32 | ดูโพสต์ทั้งหมด


ต้องใช้คำว่า วิธีการสอนของท่านอาจารย์นั้นเป็นการยิงตรงเป้าจนทำให้ผู้ฟังต้องจำนนด้วยเหตุผล และตัวอย่างที่ท่านยกมา

“...คนเราเมื่อรู้ว่าตนเองต้องจมปลักอยู่กับโคลนที่สกปรก ถ้าไม่อยากเลอะเทอะแทนที่จะบ่นหรือโวยวายก็เดินออกไปจากโคลนนั้นเสีย แล้วเอาน้ำมาล้างเสียซิ...

วันก่อนเหตุการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย มีความรู้สึกอยากจะมีส่วนช่วยสังคมบ้าง อยากไปบริจาคโลหิต ก็ทำไม่ได้เพราะสุขภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย ก็พอดีมีลูกศิษย์ที่เป็นพยาบาลมาหาที่บ้าน เลยทำบุญไปกับเขาห้าพันบาทเพื่อให้เขานำไปช่วยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และประสบความเดือดร้อนอยู่ที่โรงพยาบาล

ทานที่เราทำไป ก็เป็นเสมือนน้ำที่ช่วยราดรดความสกปรกออกจากใจของเรา นั่นคืออกุศลที่กำลังเกิดขึ้นที่ใจเราในขณะนั้นได้ แล้วถ้าอยากจะให้สะอาดมากขึ้น มีกลิ่นหอมด้วย ก็ต้องอาบน้ำถูตัว ฟอกสบู่ นั่นก็คือ การทำตนเองให้มีศีล และปฏิบัติด้วยการเจริญภาวนาต่อไป

ตอนมีเรื่องราวใหญ่โต ดูทีวีแล้วเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ก็เลิกดู หันมาหางานทำที่เป็นกุศลกับตนเอง ทำบุญกับลูกศิษย์ เขียนธรรมะลงกระทู้ แล้วขึ้นห้องพระ เมื่อหามุมสงบให้กับตนเองได้แล้ว ก็เกิดความคิดเกี่ยวกับ “การรู้” ขึ้นมา ๓ แบบ ว่า

๑. ไม่รู้ไม่เห็นเป็นดีที่สุด

๒. รู้เห็นเป็นดีที่สุด ถ้าการรู้การเห็นในเรื่องนั้นว่าเป็นเรื่องของกรรม และวิบาก

๓. การรู้การเห็นจะประเสริฐที่สุด เมื่อสามารถเข้าไปรู้เห็นการเกิดดับ เพราะแม้การรู้เรื่องกรรม และวิบากนั้นก็ตามล้วนเป็นสิ่งที่ไร้สาระทั้งสิ้น ...”

ก่อนหน้านี้หลวงพ่อเคยให้พวกเราท่องว่า ไม่รู้ไม่เห็นเป็นดีที่สุด เพราะท่านบอกว่า ธรรมชาติของพวกเรานั้นจิตชอบแส่ นั่นคือแส่ไปหาอกุศล บางครั้งเรื่องบางเรื่องไม่ใช่เรื่องของตนเองสักหน่อย แต่ก็ขอเข้าไปรับรู้ด้วย ฟังแล้วไม่รับรู้เฉยๆ แต่ไปร่วมวงออกความคิดเห็นกับเขาด้วย

ทั้งๆที่บ่อยครั้งหลวงพ่อท่านสอนเรื่อง “วัฏฏะ ๓” อันเป็นการหมุนวนของกิเลส กรรม วิบาก และคอยเตือนพวกเราเสมอว่า เวลารับฟังเรื่องที่เขานำมาเล่า พยายามเตือนใจตนเองให้ได้ว่า บุคคลผู้หนึ่งกำลังรับวิบาก อีกคนหนึ่งกำลังกระทำกรรม แต่จงระวังกิเลสของตนเอง เพราะทุกคนยังเป็นปุถุชน ย่อมเป็นที่แน่นอนว่ายังมีกิเลสอยู่หนาแน่น ตราบใดที่ยังไม่มีอะไรมากระตุ้น กิเลสที่ละเอียดนั้นมันก็ยังนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน แต่ถ้าเมื่อใดมีคำพูดหรือเรื่องราวมากระตุ้น หากไม่มีสติเข้าคุ้มครอง กิเลสที่ละเอียดนั้นก็จะฟูตัวมาเป็นกิเลสอย่างกลาง และอาจจะแสดงออกมาเป็นกิเลสอย่างหยาบทางวาจา และทางกายได้ นั่นย่อมหมายถึงการกระทำกรรมใหม่ที่เราเองนั่นแหละต้องเป็นผู้ไปรับผลต่อไปในอนาคต



42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-7 14:56:13 | ดูโพสต์ทั้งหมด


หลวงพ่อเคยบอกว่า

...บนถนนแห่งชีวิตที่ต่างคนต่างเห็นแตกต่างกันออกไปตามความนึกคิด บางก็ยินดีที่ได้รับสุขเวทนา บ้างก็เศร้าใจเสียใจไปกับทุกขเวทนาที่ได้รับ เส้นทางเช่นนั้นอันตรายยิ่ง เพราะความนึกคิดเช่นนั้นเต็มไปด้วยความมืดบอดจริงๆ ...เพราะเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงล้วนกลายไปเป็นความหลังทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่า สิ่งทั้งหลายก่อนที่จะผ่านเลยไปนั้น มันยังโยนอนาคตไว้ให้เป็นผลสืบเนื่องต่อไปอีก ซึ่งเราผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้รับรางวัลที่ความโง่มอบให้เสมอมา

ทุกวันนี้ เราก็กำลังได้รับรางวัลของความโง่กันทั้งนั้น ฉะนั้นหากเรารู้ตัวว่ายังไม่เท่าทันเรื่องกรรม และวิบากแล้วละก็ เรื่องบางเรื่องต้องเตือนตนเองว่า “ไม่รู้ไม่เห็นเป็นดีที่สุด” หลบเพื่อรักษาใจ ดีกว่าต้องมาสร้างอกุศลกรรมใหม่ให้ตนเองต้องเดือดร้อนในภายหลัง

แต่ถ้ามั่นใจว่าเรามีศรัทธามั่นคง เชื่อเรื่องกรรม เชื่อเรื่องวิบากกรรม เชื่อว่าสัตว์โลกต่างมีกรรมเป็นของๆตนแล้วละก็ การรู้ข้อที่ ๒ ย่อมดีกว่า เพราะเป็นการเผชิญหน้าอยู่กับความจริงที่เกิดขึ้น และยอมรับความจริงนั้นด้วยปัญญาที่ได้เล่าเรียนมา

สำหรับการรู้ในระดับที่สามนั้นย่อมเกิดกับผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนได้วิปัสสนาญาณ ๙ นับตั้งแต่ อุทยัพพยญาณขึ้นไป ซึ่งผู้นั้นจะประสพพบเห็นสภาวธรรมด้วยตนเองตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ธรรมชาตินั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา...

ซึ่งนั่นคือความปรารถนาสูงสุดของหลวงพ่อท่านที่ต้องการให้พวกเราลูกๆทุกคนได้ไปให้ถึงจุดหมายนั้น ดั่งที่ท่านให้พรพวกเราบ่อยๆว่า



42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-7 14:58:25 | ดูโพสต์ทั้งหมด


ขอให้ลูกทุกคนบรรลุธรรมอันเป็นเครื่องรู้ เป็นลูกที่ประเสริฐ เป็นลูกที่สืบทอดทายาทพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขอให้ลูกของพ่อทุกคน เป็นผู้บุกเบิกทางชีวิตของตนเอง คือทางที่ตรงต่อ มรรค ผล นิพพาน

ขอให้ลูกทุกคนเป็นผู้มีขันติ อดทน อดกลั้น ต่อความยากลำบาก อดทนต่อสิ่งที่มากระทบ อดทนต่ออารมณ์ทุกสิ่งทุกอย่างได้ สมเจตนาที่พ่อต้องการ

นั่นคือ พ่อต้องการให้ลูกของพ่อทุกคนเป็น “พระอรหันต์” ไม่ต้องการให้เป็นอย่างอื่น และขอให้เป็นได้โดยไวทุกๆ คน

หลวงพ่อเสือท่านจึงพยายามเคี่ยวเข็ญพวกเรา ทุ่มเทให้กับพวกเราจนหมดใจ ทั้งยังคอยติดตามดูแล ให้กำลังใจกับลูกๆทุกคน

“พ่อขอให้ลูกอดทนก้าวเดินต่อไปอย่างระมัดระวังนะลูกนะ แม้ทางเดินนั้นจะมีขวากหนามคอยทิ่มตำก็ตามที ขออย่าได้ท้อแท้ ตั้งใจให้มั่น และเดินข้ามไปให้ได้ทุกๆเรื่อง ไปให้สุดเวทีของชีวิตด้วยสติด้วยปัญญา และอาศัยเมตตาและกรุณาเป็นร่มแห่งหัวใจนะลูก ยามใดที่เกิดเพลียใจและท้อแท้บ้าง ลูกจงเดินเข้าร่มเสีย จะได้ไม่โดนแสงแดดแห่งวิบากเผาไหม้จนใจทุรนทุรายไงลูก ความเมตตากรุณาที่ลูกมีให้แก่ผู้อื่นไปนั้นนั่นแหละ คือร่มชีวิต ที่จะตามคุ้มครองใจได้เป็นอย่างดีเสมอ


42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-7 14:59:46 | ดูโพสต์ทั้งหมด


อีกทั้งเส้นทางที่ลูกเลือกเดินมานี้ ถึงจะไกลแสนไกล ไกลขนาดไหน แต่จุดหมายปลายทาง คือเดินสู่ความพ้นทุกข์ไงลูก และพ่อเองก็หยุดยืนรอลูกของพ่อตลอดมา เพื่อเส้นทางที่ไกลนั้นลูกยังมีพ่อร่วมเดินทางอยู่ด้วยเสมอ ลูกไม่ได้เดินคนเดียวตามลำพังนะลูก จำไว้ ทุกย่างก้าวในถนนสายนี้ ลูกมีพ่อเสมอนะลูกรัก...

สิ่งที่ได้รับฟังจากท่านอาจารย์นั้น ทำให้จิตใจเริ่มสงบ ไม่ทุรนทุรายไปกับความร้อนเช่นที่ผ่านมา ไอเย็นอันเกิดจากความเมตตาและกรุณาภายใต้ร่มชีวิตของท่านอาจารย์ที่นำมากางให้กับพวกเรานั้นช่วยปกป้องภัยจากอกุศล จนทำให้เราทุกคนได้รับรู้ถึงความโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นลูกศิษย์ของท่าน ผู้พยายามฉุดชีวิตพวกเราออกจากโคลนตมของกิเลส อยู่ที่ว่าเราจะราดน้ำ ถูสบู่ ฟอกตัวต่อไปหรือเปล่า เท่านั้นเอง ?

บ่อยครั้งที่เกิดความทุกข์ใจในวิบาก แต่พอได้นึกถึงสิ่งที่ได้รับจากหลวงพ่อ กำลังใจที่ท่านใส่มาในคำสอนคำเตือนทำให้เกิดความรู้สึกว่า เราไม่ได้เดินอยู่ตามลำพัง

...พ่ออยู่ใกล้ลูกตลอดเวลา ไม่เคยทิ้ง แต่ลูกจงอย่าทิ้งคำสอนของพ่อ

คำพูดด้วยความเมตตาที่ท่านมีให้ ความกรุณาที่ได้รับจากท่านนั่นเองที่คอยฉุดรั้งเราให้หลุดออกจากอกุศลได้แทบทุกครั้ง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่หลวงพ่อท่านบอกว่า ให้อาศัยเมตตาและกรุณาเป็นร่มแห่งหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านยังกำชับมาอีกว่า

ความเมตตากรุณาที่ลูกมีให้แก่ผู้อื่นไปนั้น นั่นแหละ คือร่มชีวิต ที่จะตามคุ้มครองใจได้เป็นอย่างดีเสมอ



42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-7 15:00:45 | ดูโพสต์ทั้งหมด


เพราะจะว่าไปแล้วตลอดชีวิตของหลวงพ่อ ท่านมีแต่ ความเมตตากรุณาที่ให้กับผู้อื่นเสมอๆ แม้แต่ในหนังสือเซียนพระ ฉบับที่ ๕๘ พ.ศ. ๒๕๓๓ คุณสามารถ คงสัตย์ ได้เขียนถึง กิตติคุณของหลวงพ่อเสือมีใจความว่า

“ เรื่องเมตตาของหลวงพ่อนั้น เล่ากันมากก็คือ บรรดาญาติๆ รวมทั้งคนเจ็บที่ไปหาหลวงพ่อจะได้รับความเมตตาด้านเครื่องอุปโภคบริโภคคือ ใครเอาอะไรมาถวายหลวงพ่อท่านท่านก็นำมาแจกจ่ายช่วยเหลือคนเจ็บป่วย เป็นที่ประทับใจว่า หลวงพ่อเสือ คือพระที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

อีกเรื่องหนึ่งที่หลวงพ่อชอบปฏิบัติมากก็คือ การช่วยเหลือคนยากคนจน ดังปรากฏคำเล่าลือ แทบทุกครั้งที่หลวงพ่อเสือ วิรุฬหผโล ไปกิจนิมนต์ครั้งใด จะได้ข้าวของจากผู้ที่ถวายเป็นจำนวนมาก จำนวนของที่ชาวบ้านผู้มั่งมีถวายท่านนั้น ส่วนมากจะไปถึงคนยากคนจน ส่วนที่จะเหลือถึงศิษย์นั้นมีน้อย สำหรับปัจจัยที่เป็นเงิน ท่านจะนำมาปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ทุกบาททุกสตางค์ บรรดาชาวบ้านที่ยากจนถึงกับบอกว่า “ด้วยเมตตากรุณาของพ่อท่านเสือนี้เอง จึงไม่อดไม่อยาก และถึงจะยากจนแต่ก็เป็นสุข” คำเทศนาของท่านที่เทศน์โปรดญาติโยมบ่อยๆ ก็คือ เมตตาพาให้สุข กรุณาจะพาให้พ้นทุกข์ การเบียดเบียนผู้อื่นไม่ใช่สิ่งที่ดี พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็คือ ๑) ให้ละจากการทำกรรมชั่วทั้งปวง ๒) ให้ทำแต่กรรมดี ๓) ทำจิตให้เป็นสุข ๔) ผู้ที่เบียดเบียนผู้อื่นมิใช่สรณะ ๕) การเดินทางสายกลางไม่ตึงไม่หย่อนย่อมเป็นสุข ฯลฯ .....”

เนื่องจากเดือนมิถุนายนของทุกๆปี ถือเป็นเดือนที่บันทึกอยู่ในปฏิทินใจของเหล่าศิษย์ เพราะวันที่ ๒๒ มิถุนายน เป็นวันคล้ายวันเกิดของ “หลวงพ่อเสือ พระวิรุฬหผล แห่งวัดไผ่สามกอ” หากจะกล่าวไปแล้วประวัติของท่านนั้นเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหาร ๔ มาโดยตลอด แม้กระทั่งวันมรณภาพของท่านนั้นคุณวีรฉัตร พลชัย ได้เขียนลงในคอลัมน์ “อริยะ โลกที่ ๖” หนังสือพิมพ์ข่าวสด กล่าวถึงหลวงพ่อเสือว่า

....ท่านได้อยู่เป็นมิ่งขวัญแก่ชาวบ้านมาจนอายุเกือบ 80 ปี โดยก่อนมรณภาพ 4 วัน ท่านได้สั่งลูกศิษย์ห้ามรบกวนเป็นอันขาด เพราะจะใช้เวลาปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ วิปัสสนากรรมฐานเพียงองค์เดียว ไม่ว่าญาติหรือแขกใครไปมาทั้งนั้น เมื่อครบ 4 วันแล้วค่อยมาเรียกกันใหม่

เมื่อสั่งเสร็จท่านก็เข้ากุฏิปิดประตูแน่น ไม่ออกมาฉัน หรือมาถ่ายใดๆ ทั้งสิ้น กระทั่งครบกำหนด 4 วัน คือวันที่ 30 ธันวาคม 2498 พระลูกศิษย์จึงไปเคาะประตูเรียก แต่ไม่มีเสียงตอบ เมื่อขยับประตูดูรู้ว่าไม่ได้ลงกลอน จึงเปิดประตูเข้าไปพบท่านนอนตะแคงขวาเหมือนหลับ โดยมีตาลปัตร บาตร ตั้งอยู่ข้างๆ สังฆาฏิก็พาดไว้เรียบร้อย

ตรงหน้ามีกระดาษเขียนข้อความไว้ว่า “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เหตุการณ์น่าอัศจรรย์คือ ขณะท่านดับขันธ์นั้น ท้องฟ้าไม่มีเมฆหมอกตั้งเค้าว่าจะมีฝน จู่ก็ตกลงมาอย่าแรงประมาณ 15 นาทีก็หยุดหายไป



42

กระทู้

114

ตอบกลับ

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2017-11-7 15:02:39 | ดูโพสต์ทั้งหมด


เมื่อพูดถึงฝน ก็เป็นที่กล่าวขานกันว่า ตลอดชีวิตของท่านนั้น มักมีสิ่งอัศจรรย์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ เช่น วันเกิดทุกปี จะมีผู้คนล้นหลามไปรอสรงน้ำด้วยความเคารพ พอท่านเดินลงมาจากกุฏิเพื่อรับการสรงน้ำ ทั้งที่ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีเค้าฝน แต่ฝนจะตกลงมาในระยะนั้นทุกครั้งทุกปี

ตามปกติ จะไม่มีใครเคยเห็นท่านสรงน้ำ แต่ศิษย์ใกล้ชิดและหมั่นสังเกตบอกว่า ทุกวันจะได้ยินเสียงน้ำไหลจากฝักบัวดังขึ้นในห้องของท่าน ทั้งๆ ที่ในห้องไม่มีห้องน้ำหรือท่อน้ำฝักบัวเลย

ครั้นท่านออกมาที่นอกชาน จะเห็นว่าเนื้อตัว ผ้าอาบน้ำของท่านเปียกชุ่มไปหมด และมีกลิ่นหอมคล้ายดอกลำเจียกตลบฟุ้งอยู่เป็นประจำ บางคนจึงให้ฉายาว่า “พระพิรุณหผล

นี่คือ ...ตอนหนึ่งในประวัติหลวงพ่อเสือของพวกเราทุกคน

จึงขอน้อมนำกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่ลูกได้กระทำมากราบแทบเท้าถวายหลวงพ่อเสือเนื่องในวันสำคัญด้วยความระลึกถึงพระคุณที่ท่านได้เมตตากรุณาให้ร่มชีวิตเพื่อก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นแก่เหล่าศิษย์ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าบางครั้งพวกเราอาจพลั้งเผลอลืมพกร่ม หรือทำร่มหายไป ก็ยังได้ท่านอาจารย์ที่เป็นผู้นำร่มชีวิตของท่านมากางให้เราได้เดินหาร่มของพ่อต่อไป

ลูกจะพยายามหาร่มของพ่อให้พบ และจะขออาศัยร่มชีวิตนี้ไปตลอดจนกว่าจะถึงวันสุดท้ายในสังสารวัฏ เพื่อมอบถวายสิ่งประเสริฐสุดตามที่พ่อต้องการให้ได้ ลูกขอสัญญา..



ลูกวยุรี สุวรรณอินทร์
๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๕





ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ข้อความล้วน|อุปกรณ์พกพา|ประวัติการแบน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-12-4 00:23 , Processed in 0.114062 second(s), 20 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.9

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้