ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 817|ตอบกลับ: 4

อยู่อย่างไรให้ได้บุญ (๑)

[คัดลอกลิงก์]

32

กระทู้

138

ตอบกลับ

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
2405






อยู่อย่างไรให้ได้บุญ (๑)


โดย หลวงพ่อเสือ



เราต้องรู้ว่าชีวิตของคนเรานั้นเกิดมาเป็นทุกข์ยิ่งนัก ไม่มีใครสักคนเดียวเกิดมาโดยปฏิเสธไม่พ่วงเอาทุกข์ติดตามมาได้ ความทุกข์คืออะไร? เราจะต้องรู้จักความทุกข์เสียก่อน มิฉะนั้น จะหนีไปพ้นจากความทุกข์ไม่ได้เด็ดขาด

ความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เกิดความไม่สบายใจ หรือเกิดความเจ็บป่วย หรือไม่มีเงินใช้จึงจะเรียกว่าความทุกข์ แต่ความทุกข์คือสิ่งที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องมีความเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถบังคับบัญชาได้

ความทุกข์มีอยู่ทุกขณะจิต คือทนอยู่ในอารมณ์นั้นไม่ได้ เช่น เราชอบอะไรสักอย่างหนึ่ง เราจะนั่งลูบคลำแต่อันนั้นไม่ได้เพราะจะเกิดความเบื่อหน่าย อารมณ์ที่เบื่อนั้นก็ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่เรามองออกไปแล้วมีคนเดินมาพูดกับเรานี่ ..เราต้องเห็น แต่จะเห็นอย่างเดียวก็ไม่ได้ เราต้องทำหน้าที่ได้ยินด้วย จึงจะรู้เรื่อง จึงทนอยู่ในการมองไม่ได้ ต้องไปทำหน้าที่ได้ยิน ได้ยินแล้ว ต้องมานึกคิดตัดสิน แล้วก็สร้างความรู้สึกเสพอารมณ์ขึ้นมา นี่คือความทุกข์ เขาเรียกว่าทุกขสัจจะ ถ้าเผื่อไม่รู้จักความทุกข์ก็ไม่สามารถแก้ไขความทุกข์ได้

32

กระทู้

138

ตอบกลับ

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-7-9 16:32:40 | ดูโพสต์ทั้งหมด
เราจะทำอย่างไรให้พ้นไปจากความทุกข์?

เราจะต้องรู้จักว่าพระพุทธองค์ตรัสรู้อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ ..ทุกข์เป็นของมีอยู่แท้จริงแต่ไม่มีผู้กำหนดรู้ สมุทัยเป็นของมีอยู่แท้จริงแต่ไม่มีผู้ละ นิโรธเป็นของมีอยู่แท้จริงแต่ไม่มีผู้ทำให้แจ้ง มรรค ๘ อันเป็นหนทางเดินสู่ความพ้นทุกข์มีอยู่แท้จริงแต่ไม่มีผู้ดำเนินตาม.. ชีวิตจึงจมปลักอยู่กับความทุกข์

เมื่อเกิดมาไม่มีใครสักคนเดียวปฏิเสธที่จะไม่ตายได้ ..ความตายจึงเป็นของธรรมดา และระหว่างเกิดไปจนถึงความตายนั้น เราต้องทนอยู่ในสภาพความทุกข์ ต้องแก้ไข ต้องดูแล ต้องดิ้นรน อะไรที่ต้องทำสิ่งนั้นเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะความไม่รู้จักอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ จึงต้องท่องเที่ยวเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ตราบนานเท่านาน โดยไม่สามารถลุล่วงไปจากสังสารวัฏได้

32

กระทู้

138

ตอบกลับ

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-7-9 16:33:01 | ดูโพสต์ทั้งหมด
คำว่าสังสารวัฏคืออะไร?

สังสารวัฏคือรอบแห่งการเวียนว่ายตายเกิดโดยไม่รู้จักจบ ลักษณะของสังสารวัฏก็คือการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายซ้ำๆซากๆ ไม่พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ตราบใดที่ชีวิตยังมีเกิดอยู่ ตราบนั้นชีวิตไม่มีวันสิ้นสุดไปจากความทุกข์

ทุกข์เป็นของมีอยู่แท้จริงแต่ไม่มีผู้กำหนดรู้ เพราะไม่ยอมทำความเข้าใจว่าทุกข์ที่แท้จริงคืออะไร มีอยู่ที่ไหน ทุกข์ประจำมีอยู่ ๓ คือ เกิด แก่ ตาย นอกจากนั้นยังมีทุกข์จรเบ็ดเตล็ด เช่น ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ การบ่นเพ้อรำพัน ปรารถนาสิ่งใดไม่สมความปรารถนา พลัดพรากจากสิ่งที่ตัวเองปรารถนาและรักใคร่ ชีวิตเช่นนี้จึงจมปลักอยู่กับการหมุนเวียนแก้ไขโดยไม่รู้จักหยุดไม่รู้จักหย่อน

อะไรที่เราทำจำเจซ้ำๆซากๆเราบ่นว่าน่าเบื่อหน่าย แต่จริงๆแล้วชีวิตมีแต่ความจำเจซ้ำๆซากๆ ไม่ต้องไปดูไกล วันเดียวนี่แหละ ตั้งแต่เช้าลืมตาจนหลับตา เรามีความจำเจอยู่ ๒ อย่าง หนีไม่พ้นไปจาก ๒ อย่างนี้ ไม่มีของใหม่เลยที่เข้ามาให้เกิดความรู้สึก คือมีความพอใจกับความไม่พอใจ จำเจซ้ำๆซากๆ .. เดี๋ยวพอใจ แล้วก็ไม่พอใจ แล้วก็พอใจ หาเกินจาก ๒ ตัวนี้ไม่มีเลย แต่ละวันๆ เรารับกระทบอารมณ์แต่ความพอใจและไม่พอใจ

ความทุกข์มีอยู่ทุกขณะจิต เช่นนั่งนานๆก็เป็นทุกข์ แต่ทำไมล่ะเราไม่รู้จักว่านั่งเป็นทุกข์ ก็เพราะว่าพอเราเมื่อยขึ้นมา เราก็เปลี่ยนไปตามอารมณ์ที่เราปรารถนา และเราก็ไม่เคยดูว่าทำไมเราถึงต้องเปลี่ยน และสิ่งที่เราเปลี่ยนไปแล้วมันจะคงที่คงทนหรือไม่ เช่น นั่งนานๆก็เป็นทุกข์ เรารู้สึกเมื่อยขึ้นมาเราก็ออกไปเดิน แล้วทำไมไม่เดินไปนานๆถ้าเผื่อคิดว่าเดินดีกว่า เพราะเดินนานๆ ก็ทุกข์อีกแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าจะ นั่ง เดิน ยืน นอน หรือทำอะไรก็เป็นทุกข์ทั้งสิ้นความจำเจอยู่ที่ไหน ความทุกข์อยู่ที่นั่นอยู่ตลอดเวลา

เราจึงต้องรู้จักสภาวะของทุกข์ที่แท้จริงว่า ทุกข์เป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นเท่านั้น ลูกมะม่วงมีมาได้ ต้องมีต้นมะม่วง ต้นมะม่วงมีมาได้ต้องมีการปลูก การเจริญเติบโต ฉันใดฉันนั้น ทุกข์มีมาได้ต้องมีเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์คือสมุทัย ..สมุทัยคือตัณหา ..ตัณหาได้แก่ความทะยานอยาก เมื่อตราบใดชีวิตมีความทะยานอยากได้แล้ว การกระทำย่อมต้องมีดำเนินไป การกระทำนั้นเป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เช่น เราอยากจะเดิน ความอยากเดินจึงเป็นเหตุทำให้เกิดการเดิน การเดินเป็นทุกข์ แต่เราไม่เคยกำหนดรู้นั่นเอง

เมื่อมีเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์แล้ว ย่อมต้องมีเหตุที่ทำให้สิ้นสุดทุกข์คือนิโรธและมรรค นิโรธคือความสิ้นสุดทุกข์.. เป็นความสิ้นสุดโดยไม่เหลือเชื้อของความทุกข์ เพราะสิ้นสุดจากการเวียนว่ายตายเกิด สิ้นสุดจากการจับอารมณ์และยึดมั่นถือมั่นแล้ว เพราะตราบใดที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่น ตราบนั้นความเปลี่ยนแปลงของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมต้องมี ฉะนั้น เมื่อจิตใจเราปราศจากความอุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นฉันและเป็นของๆฉันแล้ว ความสิ้นสุดทุกข์จึงจะเกิดขึ้นกับผู้ที่คลายจากอุปาทาน นั่นคือผลที่เกิดขึ้นมาจากเหตุเช่นกันคือ การดำรงอยู่ในมรรค ๘ หนทางเดินสู่ความพ้นทุกข์

32

กระทู้

138

ตอบกลับ

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-7-9 16:33:21 | ดูโพสต์ทั้งหมด
มรรค ๘ คืออะไร?

มรรค ๘ เมื่อสงเคราะห์ในการปฏิบัติแล้วก็ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา

ศีลคือเครื่องชำระล้างกาย วาจาให้ปกติ เว้นจากทุจริตทั้งปวง สมาธิคือการที่จิตกำหนดอารมณ์อารมณ์เดียวไม่ให้ซัดส่ายไม่ให้ฟุ้งซ่าน เมื่อไม่ฟุ้งซ่านจิตก็จะไม่เกิดนิวรณ์เข้ามาปรุงแต่งจิตทำให้เกิดความพยาบาทปองร้าย ความอิจฉาริษยาต่างๆก็จะหมดไป ความง่วงเหงาหาวนอน หดหู่ วิจิกิจฉาความฟุ้งซ่านก็จะหมดไปด้วยอำนาจของสมาธิ ปัญญาคือความสว่าง เมื่อความสว่างสาดส่องเข้าไปในแง่มุมต่างๆของชีวิตแล้ว ความมืดบอดหลงผิดในชีวิตก็จะหมดไป ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นตัวปราบกิเลส ๓ ชนิดซึ่งมีอยู่ทุกคน ที่นองเนืองอยู่ในขันธสันดาน คือ กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด

กิเลสอย่างหยาบ คือการแสดงออกเป็นไปทางกายและวาจา เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดปด พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ พูดคำหยาบ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดำเนินไปแล้วสร้างความทุกข์ให้ ยกตัวอย่างเช่น การลักทรัพย์ เมื่อเราไปขโมยเขา ความทุกข์ก็จะต้องเกิดขึ้นทันที เพราะต้องเกิดความกลัว การเดินไปขโมยนี่ ไปหยิบของซึ่งมีเจ้าของอยู่มิได้รับอนุญาต สร้างความทุกข์ใจให้แล้ว คือวิตกกังวล มีความระวัง มีความระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าใครเขาจะพบเห็น เมื่อได้ของนั้นมาแล้วต้องคอยหลบคอยซ่อนคอยกลัวต่างๆก็เกิดขึ้นมา เป็นความทุกข์ของผู้ที่กระทำ

อะไรล่ะเป็นตัวห้ามปรามมิให้เกิดทุจริตทางกายและวาจา? ก็คือศีลนั่นเอง เพราะศีลแปลว่าความปกติ ที่ควบคุมกายให้ปกติ และวาจาให้ปกติได้ แต่ศีลไม่สามารถระงับกิเลสชนิดกลางได้ ไม่ว่าจะเป็นศีล๕ ศีล๘ ศีล๑๐ หรือ ๒๒๗ ของพระสงฆ์ ศีลทุกข้อก็ไม่สามารถทำลายความซัดส่ายฟุ้งซ่านของจิตได้

ความซัดส่ายฟุ้งซ่านของจิตเกิดขึ้นมาเพราะจิตนั้นมีความชำนาญกับการกระทำที่ไหลเรื่อยไปตามเหตุตามปัจจัยซึ่งมีกิเลสเป็นตัวปรุงแต่งจิต จึงจะต้องมีสมาธิเป็นตัวช่วย สมาธิคือการที่จิตกำหนดอารมณ์อารมณ์เดียวไม่ให้เลยไปในอดีต ไม่ให้เลยไปในอนาคต สมาธิมี ๓ ชนิด คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

การทำสมาธิได้เป็นเพียงขณะๆ ในการกำหนดลมหายใจเข้า กำหนดลมหายใจออก จิตอยู่กับลมหายใจเข้า จิตอยู่กับลมหายใจออก เรียกว่าขณิกสมาธิ คือสงบเป็นขณะๆในการกระทำ เมื่อการกระทำทุกอย่างมีความเคยชินขึ้น ก็จะสงบแนบแน่นมากขึ้นเรียกว่า อุปจารสมาธิ จนสามารถฝึกจิตให้มีอำนาจตรงต่องานที่ตนเองทำได้นานมากขึ้นจนแนบสนิท เรียกว่า อัปปนาสมาธิ จึงจะสามารถเป็นตัวการทำลายนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้โดยสิ้นเชิง แต่สมาธิกับศีล ๒ ตัวซึ่งเป็นองค์คุณนี้ ก็ไม่สามารถไปประหาณความโง่ของชีวิตได้

32

กระทู้

138

ตอบกลับ

2405

เครดิต

ผู้ดูแลบอร์ด

เครดิต
2405
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-7-9 16:34:18 | ดูโพสต์ทั้งหมด
ความโง่ของชีวิตคืออะไร?

ทุกคนมีความไม่รู้จักชีวิตอยู่อย่างหนึ่ง ว่าชีวิตนั้นเป็นของไม่ดี ชีวิตนั้นไม่ใช่สุข ชีวิตนั้นไม่เที่ยง ชีวิตนั้นไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ชีวิตนั้นไม่ใช่คนหรือสัตว์มาเป็นเจ้าของ ไม่ใช่หญิงไม่ใช่ชายมาเป็นเจ้าของ เพราะคนสัตว์หญิงชายไม่มี คนสัตว์หญิงชายเป็นเพียงสมมุติ เช่นผู้หญิง ผู้ชาย เมื่อไปอยู่ต่างชาติเรียก woman man เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เป็นเพียงสมมุติสัจจะ แต่เราหลงว่าเราเป็นผู้ชาย หลงว่าเป็นผู้หญิง แท้ที่จริงเป็นของสมมุติกันขึ้น

ภายใต้ความสมมุตินั้นมีแต่ความไม่เที่ยง คือ อนิจจัง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ คือ ทุกขัง และไม่สามารถบังคับบัญชาชีวิตได้ว่า อย่าแก่นะ อย่าเมื่อยนะ อย่าเจ็บนะ ชีวิตย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่สามารถบังคับบัญชาได้คือ อนัตตา ฉะนั้น ศีล สมาธิ ไม่สามารถทำให้หายความโง่ได้ จึงทำให้คิดหลงคลาดเคลื่อนอยู่กับความจอมปลอม คือวิปลาสทั้ง ๔ อย่าง คือ สุภวิปลาส สุขวิปลาส นิจจวิปลาส อัตตวิปลาส ที่หลงผิดว่าชีวิตนั้นเป็นของดี หลงผิดว่าชีวิตนั้นมีความสุข หลงผิดว่าชีวิตนั้นเที่ยง หลงผิดว่าชีวิตนั้นเป็นตัวตนคนสัตว์ เป็นฉันและเป็นของๆฉัน

แท้ที่จริงไม่ใช่เลยเพราะถ้าเป็นของๆฉันจริง ฉันต้องบังคับบัญชาได้ แต่นี่มีเหตุมีปัจจัยโดยไม่สามารถฝืนเหตุฝืนปัจจัยได้ เมื่อสร้างเหตุอย่างไร ย่อมต้องได้รับผลอย่างนั้น ผลปรากฏขึ้นต้องมาจากเหตุอันนั้นอันนี้ซึ่งสอดคล้องกัน เหตุกับผลย่อมต้องตรงกันเสมอ จึงจะต้องมีองค์คุณตัวที่ ๓ เท่านั้นที่จะสามารถทำให้หายโง่ในชีวิตได้ คือ ปัญญา

คำถาม : ในระหว่างการปฏิบัติอยู่เราใช้ชีวิตธรรมดาได้หรือไม่ในการทำมาหากิน

คำตอบ : ได้ เพราะผู้ปฏิบัติถึงมรรคผลนิพพานจะไม่ใช้ชีวิตพิเศษพิสดาร เพราะไม่ใช่ธรรมชาติ เป็นการฝืนธรรมชาติ ขณะใดที่จิตฝืนธรรมชาติ จะไม่เจอธรรมชาติ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติถึงมรรคผลนิพพานจะต้องอยู่กับธรรมชาติแห่งความเป็นจริง และรู้จักธรรมชาติแห่งความเป็นจริง จึงจะเจอความจริง ถ้าอยู่กับความฝืนความจริง แกล้งทำ หรือตึงเกินไป ก็จะไม่เจอความจริง การปฏิบัติเป็นการปฏิบัติโดยอยู่บนความจริง ทิ้งความโง่ โผล่มาดูความจริงอีกทีหนึ่ง

โปรดติดตามตอนต่อไป



ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ข้อความล้วน|อุปกรณ์พกพา|ประวัติการแบน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-11-21 23:00 , Processed in 0.075655 second(s), 20 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.9

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้