กรุณาเลือก แสดงผลรูปแบบอุปกรณ์พกพา | แสดงผลโหมดพีซี

มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ - เว็บบอร์ด

 ลืมรหัสผ่าน
 ลงทะเบียน
ค้นหา
ดู: 1019|ตอบกลับ: 4

ชีวิตที่ไม่ต่างไปจากนักดนตรี

[คัดลอกลิงก์]

42

กระทู้

156

โพสต์

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

Rank: 8Rank: 8

เครดิต
1901


มีอยู่วันหนึ่ง ท่านอาจารย์ได้พูดถึงเรื่องทฤษฎีใหม่ ที่เป็นทฤษฎีแห่งชีวิต (เพราะวันนั้นท่านปฐมนิเทศผู้ที่สมัครเข้ามาเรียนพระอภิธรรมรุ่นใหม่) ท่านบอกว่าทฤษฎีนี้จะสอนการถอดรหัสชีวิตว่าชีวิตเป็นเรื่องไม่ยาก และทฤษฎีนี้จะทำให้เรารู้ว่าแท้ที่จริงแล้วชีวิตนั้นคืออะไร (ท่านถามนักศึกษาใหม่ว่า ชีวิตคืออะไร?) อาจารย์บอกว่าเราทุกคนอยู่มาจนถึงวันนี้.. แต่ละคนอายุเท่าไร นับแล้วก็เท่ากับที่ชีวิตอยู่มานั้นแหละ แต่ทว่าเรายังไม่รู้เลยว่าชีวิตคืออะไร? เมื่อไม่รู้แล้วเราจะพาชีวิตไปถูกทางได้อย่างไร ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรายังไม่สามารถถอดรหัสชีวิตได้นั่นเอง

และที่ทุกคนตอบมานั้น ไม่ว่า.. ชีวิตคือสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ...ชีวิตคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาและดำรงอยู่ เกิดขึ้นตั้งอยู่ และดับไป หรือ ชีวิตคือความเป็นอยู่ ทั้งหมดนั้น... คือพฤติกรรมของชีวิต จึงยังไม่ใช่คำตอบของชีวิตโดยแท้จริง หรือถ้าจะมีคำตอบในทางวิทยาศาสตร์ว่า ชีวิตคือการเจริญเติบโต กินได้ นั่งได้ นอนได้ สืบพันธุ์ได้ ขับถ่ายได้ นั่นก็ยังเป็นพฤติกรรมของชีวิตเช่นกัน.. ไม่ใช่คำว่าชีวิต

อาจารย์ให้เราทุกคนอธิษฐานจิตตั้งมั่นว่า ต่อไปนี้เราทุกคน(ที่เข้ามาเรียนพระอภิธรรม) จะไม่ยอมปล่อยให้ชีวิตเป็นสิ่งที่ลึกลับและซ่อนเร้นต่อไปอีก ในเมื่อเรารักชีวิตเรามากมายขนาดนี้ แล้วทุกคนต่างทำงานสารพัดสารเพก็เพื่อทุ่มเทสิ่งดีๆให้กับชีวิต แต่ลองตั้งคำถามซิว่า สิ่งที่ได้จากการทำงานนั้นมีเหลืออยู่กับชีวิตบ้างไหม? ถ้ามีเช่น ใครตอบว่ามีเงินเหลือเก็บ มีบ้าน มีทรัพย์สิน นั่นเป็นของนอกกายไม่ใช่สิ่งที่เหลือของชีวิต

ฉะนั้น เหลืออะไรให้แก่ชีวิตบ้าง? ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เพราะชีวิตคนเรารุกคืบหน้าไปหาความแก่ ความเจ็บ และในที่สุดก็ตายต้องไปอยู่บนเมรุ ทุกๆ ชีวิตก็เป็นแบบนี้.. คิดดูแล้วน่ากลัว เพราะในที่สุดเราต้องทิ้งร่างกายเป็นท่อนไม้นอนแน่นิ่งไม่ไหวติงอีกต่อไป เอาอะไรไปไม่ได้เลยสักอย่างเดียว แม้ใครจะเอาอะไรมายัดเยียดใส่มือเราในตอนนั้น เราก็เอาไปไม่ได้ ไม่มีศพไหนเอาอะไรติดไปได้เลย ถึงจะมีสมบัติมากมายมหาศาลก็อยู่ได้แต่ภายนอก ตายไปก็เอาไปไม่ได้

42

กระทู้

156

โพสต์

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

Rank: 8Rank: 8

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-9-16 09:49:52 | ดูโพสต์ทั้งหมด

แต่มีอยู่สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะติดตามเราไปได้ทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือทรัพย์สมบัติภายใน ที่เรียกว่า อริยทรัพย์ ซึ่งได้แก่

๑. ศรัทธา เป็นความเชื่อที่มีเหตุผล คือเชื่อเรื่อง กรรม วิบากกรรม สัตว์โลกต่างมีกรรมเป็นของของตน เชื่อในคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒. ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นปกติ ประพฤติถูกต้องตามครรลองคลองธรรม

๓. หิริ ความละอายใจต่อการทำชั่ว

๔. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลของบาป

๕. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก

๖. จาคะ ความเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

๗. ปัญญา ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณาและรู้ที่จะกระทำ

อริยทรัพย์ นี้จัดเป็นทรัพย์อันประเสริฐที่อยู่ภายในจิตใจ จึงย่อมดีกว่าทรัพย์ภายนอก เพราะไม่มีผู้ใดแย่งชิงไปได้ ไม่มีการสูญหายไปด้วยภัยอันตรายใดๆ และยังจะเป็นทุนให้เราสามารถสร้างทรัพย์ภายนอกได้อีกด้วย

ฉะนั้นการที่เราตั้งใจมาเรียนพระอภิธรรมเพื่อศึกษาหาความจริงเกี่ยวกับชีวิตนี้ นอกจากพาหุสัจจะเกิดขึ้นแล้ว ความเข้าใจเรื่องของชีวิตจะทำให้เราเกิดศรัทธาทั้ง ๔ และมีความเกรงกลัวต่อการทำชั่ว และกลัวผลของบาป เพราะรู้เหตุรู้ผล อริยทรัพย์ในข้อต่างๆก็จะเกิดขึ้น นับว่าเรากำลังสะสมเสบียงทรัพย์ที่เราสามารถนำติดตัวไปได้

42

กระทู้

156

โพสต์

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

Rank: 8Rank: 8

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-9-16 09:50:10 | ดูโพสต์ทั้งหมด

เราอาจเคยมีความสงสัยว่า เพราะเหตุใดคนบางคนเพียงแค่เริ่มต้นเรียนพระอภิธรรม แต่ทำไมเขาเข้าใจได้รวดเร็ว แล้วเราทำไมจึงเข้าใจได้ยาก บางคนมาเรียนไม่กี่ครั้งก็สามารถอธิบายเรื่องจิตได้อย่างลึกซึ้ง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเขาสร้างสมปัญญามาแต่อดีต นั่นคือ ได้เคยศึกษาพระอภิธรรมมาในชาติก่อนๆ ครั้นเมื่อมีโอกาสมาศึกษาในชาตินี้ ความรู้ความเข้าใจที่เคยมีมาก่อนๆซึ่งถูกสั่งสมเอาไว้ก็หลั่งไหลออกมา ฉะนั้นคนที่เข้าใจได้ช้า อาจเป็นเพราะเพิ่งจะเริ่มต้นในชาตินี้ หรือยังสั่งสมปัญญามาน้อย แต่ทุกอย่างไม่สายเกินแก้ และไม่แก่เกินกาล(ที่จะเรียน) เพราะเมื่อเราสร้างสมไว้ในชาตินี้ พอถึงชาติหน้าเราก็จะมีมากขึ้นๆ เวลาเรียนก็มีความเข้าใจเร็วขึ้น

แม้นการปฏิบัติวิปัสสนาฯ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อปฏิบัติมากๆ หากปฏิบัติติดต่อกันมาหลายชาติแล้ว พอมาชาตินี้เริ่มปฏิบัติปุ๊ปสติก็รู้เท่าทันในปัจจุบันรูป ปัจจุบันนามที่เกิดขึ้น ญาณปัญญาอาจจะแล่นไหลไปจากวิปัสสนาญาณเทียม คือนามรูปปริเฉทญาณ ปัจจยปริคหญาณ สัมมัสสนญาณ ผ่านเข้าสู่วิปัสสนาญาณที่แท้จริง คือ อุทยัพพยญาณ ไปจนถึงมัคคญาณ ปหาณอนุสัยกิเลส เป็นเหตุให้สามารถโอนโคตรจากปุถุชนสู่อริยชนได้ในที่สุด

ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในปัจจุบันนี้ล้วนเกิดจากการสร้างสมมาตั้งแต่อดีตชาติทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความสันทัดทั้งเรื่องดี และไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ ตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องประสบพบเห็นทุกๆวันนั้นก็เกิดมาจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น

พระพุทธศาสนาจึงสอนเรื่องราวที่เกี่ยวกับเหตุผลว่า หากเราสร้างเหตุอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นย่อมต้องตรงตามเหตุนั้นๆ เช่นเดียวกันสิ่งที่เราได้รับในแต่ละวัน และเป็นอยู่ในทุกวันนี้ล้วนเป็นวิบาก ซึ่งหมายถึง ผลที่เราได้รับจากการกระทำกรรมในชาติที่แล้วๆ มา

42

กระทู้

156

โพสต์

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

Rank: 8Rank: 8

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-9-16 09:50:35 | ดูโพสต์ทั้งหมด

ท่านอาจารย์จึงอุปมาว่า ชีวิตเราทุกวันนี้ไม่ต่างกับการเล่นดนตรี เราทุกคน คือนักดนตรีที่ต่างกำลังบรรเลงเพลงกันอยู่ แล้วเพลงแต่ละเพลงนั้นจะบรรเลงได้ต้องมีโน๊ตเพลง ซึ่งประกอบไปด้วยตัวโน๊ตต่างๆ ที่อยู่บนบรรทัด ๕ เส้น (Staff) ที่วางอยู่ในตำแหน่งต่างกันๆ จึงทำให้เกิดระดับเสียงที่สูงต่ำต่างกันถึง ๗ เสียง คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ซี .... แล้วตัวโน๊ตเหล่านี้ก็มีหลายแบบ คือมีทั้ง ตัวกลม ตัวขาว ตัวดำ ตัวเขบ็ต ๑ ชั้น ตัวเขบ็ต ๒ ชั้น เป็นต้น

….ซึ่งความแตกต่างของสัญญลักษณ์ทางโน๊ตดนตรีเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดจังหวะเสียงที่สั้นยาวต่างกัน เพลงแต่ละเพลงที่เล่นได้จนจบนั้นต้องเป็นไปตามโน๊ตที่นักประพันธ์เพลงได้แต่งเอาไว้ฉันใด ลีลาชีวิตในแต่ละชาติก็ต้องโลดแล่นไปตามโน๊ตวิบากอันเป็นบทเพลง(กรรม)ที่เราได้ประพันธ์เอาไว้เองอย่างไม่มีทางเลือกฉันนั้น เพราะชีวิตเราในแต่ละชาติที่เกิดมาล้วนเป็นผลที่ถูกกำหนดมาจากเหตุที่เราสร้างมาไว้เอง ...แต่ขณะเดียวกันเราสามารถแต่งเพลง(กรรม)ใหม่เอาไว้เพื่อที่จะใช้บรรเลงในการแสดงใหม่ในครั้งต่อไป(ชาติต่อไป)ได้

ประการสำคัญเราทุกคนที่เกิดมาก็ไม่มีใครทราบว่าเรามาจากไหน เราทำอะไรมาจึงทำให้ชีวิตเราต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ฯลฯ ก็เหมือนกับโน๊ตเพลงแต่ละเพลงที่เส้น ๕ เส้นจะต้องขึ้นต้นด้วยกุญแจซอลเสมอ อุปมาแล้วเป็นเสมือนกุญแจที่เป็นคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปของชีวิต(ขันธ์ ๕) อยู่ที่ว่าใครต้องการคำตอบที่แท้จริงเท่านั้น อย่างผู้ที่เข้ามาเรียนพระอภิธรรมเท่ากับว่ากำลังนำกุญแจนั้นมาไขปริศนาของชีวิตที่โลดเล่นบนเส้นเสียงทั้ง ๕ คือขันธ์ ๕ ซึ่งได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เพื่อจะได้รู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรานั้นมันคืออะไรกันแน่ แท้ที่จริงมันก็คือตัวโน๊ตของชีวิตที่มีแต่ความพอใจกับไม่พอใจ หรือ สุขกับทุกข์ (เบื่อ เซ็ง...) ฯลฯ ที่มาโลดแล่นอยู่บนเส้นเสียงของชีวิตทั้งห้านั่นเอง

42

กระทู้

156

โพสต์

1901

เครดิต

ผู้ดูแลพิเศษ

Rank: 8Rank: 8

เครดิต
1901
 เจ้าของ| โพสต์ 2018-9-16 09:51:09 | ดูโพสต์ทั้งหมด

อย่างเช่นคนบางคนชอบรำพันว่า ทำไมปัญหาต่างๆ จึงต้องเกิดกับเรามากมายและยาวนานถึงขนาดนี้ ก็เพราะขณะนั้นชีวิตกำลังบรรเลงตามโน๊ตตัวดำเสียงสูงซึ่งอาจถูกกำหนดมาให้มีค่าถึง ๔ จังหวะ ชีวิตเราจึงต้องประสบปัญหาที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจไปนานถึง ๔ เดือน หรือ ๔ ปีตามกำลังของกรรมที่กระทำมานั่นเอง

แต่ในขณะเดียวกันบางเวลาก็มีโน๊ตตัวขาว เพียงแต่เป็นแค่เขบ็ต ๒ ชั้น จังหวะแห่งความสุขจึงเกิดขึ้นได้สั้น แล้วโน๊ตตัวต่อไปก็เป็นตัวดำที่ทำให้เราต้องประสบความทุกข์อีกต่อไป ดังนั้นระยะเวลาของวิบากดี -ไม่ดีที่เราได้รับนั้นล้วนถูกกำหนดมาจากกรรมในอดีตด้วยตัวของเราเองทั้งสิ้น เพราะไม่มีใครทำให้เราเป็นอย่างไรได้ ทุกคนล้วนทำกรรมมาด้วยตนเองทั้งสิ้น ดังสัจธรรมที่กล่าวว่า สัตว์โลกต่างมีกรรมเป็นของของตน

นักแต่งเพลงที่เก่งๆ ต้องรู้จักทฤษฎีดนตรี ที่มีทั้ง ตัวโน้ต และตัวหยุด (Note & Rest) หรือ จะเป็น โน้ตโยงเสียง (Tied Note) โน้ตประจุด (Dotted Note) โน้ต 3 พยางค์ (Triplets) แม้แต่ ห้องเพลง (Measure) และ เครื่องหมายกำหนดจังหวะ (Time Signature) เหล่านี้เป็นต้น หากนักแต่งเพลงคนใดรู้จักและมีความเข้าใจเป็นอย่างดีก่อนการประพันธ์ ก็จะทำให้ได้เพลงที่ดีมีความไพเราะ

เช่นเดียวกับเราทุกคนที่เข้ามาเรียนพระอภิธรรม เรากำลังมาศึกษาทฤษฎีชีวิต กำลังมาทำความเข้าใจในเรื่องของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นก็คือ จิต เจตสิก และรูป เพื่อให้เห็นว่าความเป็นไปของชีวิตที่ดำเนินไปโดยวิถีจิตนั้น มีทั้งจิตที่เป็นวิบาก กรรม และกิริยาที่พาชีวิตให้ดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนการบรรเลงเพลงเมดเล่ย์ที่ต้องเล่นเพลงต่อเพลงไปเรื่อยๆ หากเล่นโดยไม่มีวันหยุดย่อมก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าแก่ผู้เล่นเอง เช่นเดียวกับการที่เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างหาที่สิ้นสุดไม่ได้ย่อมต้องประสบความทุกข์ของชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทำอย่างไรจึงจะหยุดการบรรเลงเพลงแห่งความทุกข์เหล่านั้นลงได้ ซึ่งวิชาการนี้พระอภิธรรมสอนเอาไว้หมด สอนให้รู้จักเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ สอนวิธีการดับทุกข์ทั้งที่เป็นชั่วคราวและดับอย่างถาวร(วิปัสสนากรรมฐาน) นั่นคือหนทางแห่งการสิ้นสุดทุกข์ คือจบสิ้นการเวียนว่ายตายเกิด เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “การเกิดเป็นทุกข์ยิ่งนัก”

จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งนักที่วันนี้มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิมีผู้สมัครเข้ามาศึกษาทฤษฎีใหม่ อันเป็นทฤษฎีชีวิตที่เราพุทธศาสนิกชนหลายๆคนมองข้ามไป ทั้งที่ทฤษฎีนี้มีมานานกว่าสองพันปี เมื่อเรียนแล้วจะทำให้เราเกิดความศรัทธาในคำสอนของพระพุทธศาสนา และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นล้นพ้น ตลอดจนนอบน้อมบูชาคุณพระอรหันตสาวกผู้เป็นศาสนทายาทสืบทอดคำสอนเหล่านั้นมาจนกระทั่งทำให้เราอนุชนคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และมีโอกาสดำเนินชีวิตไปตามพุทธโอวาททั้งสาม คือ ละเว้นความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ซึ่งผู้ที่ไม่เรียนพระอภิธรรมก็จะไม่รู้ว่าความชั่วที่เป็นอกุศลทั้งปวงนั้นมีอะไรบ้าง แม้ความดีที่ว่าทำให้ถึงพร้อม นั้นถึงพร้อมได้อย่างไร และการทำจิตให้บริสุทธิ์นั้น บริสุทธิ์จากอะไร และมีวิธีการทำอย่างไร

ท่านอาจารย์ได้สรุปตอนท้ายว่าขอให้นักศึกษาทุกคนตั้งใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ว่า ชีวิตใหม่ของเราจะต้องเป็นชีวิตที่ประกอบไปด้วยปัญญา ซึ่งปัญญานั้นมีหลายระดับก็เหมือนตัวโน๊ตที่มีเสียงต่างๆ ตั้งแต่ต่ำไปจนสูง แต่ก่อนที่จะไปถึงเสียงสูงสุดเราต้องเริ่มจากเสียงต่ำก่อน และเมื่อเราเก่งแล้วเราจึงจะไล่เสียงสูงลงมาต่ำได้ ทุกอย่างจะสำเร็จได้ต้องมีการฝึกหัด นักดนตรีจะเล่นได้ก็ต้องฝึกหัด คือฝึกซ้อม แล้วก่อนเล่นนั้นก็ต้องลองเสียงก่อนว่าเส้นเสียงของเครื่องดนตรีนั้นตึง - หย่อนพอที่จะทำให้เสียงที่เล่นนั้นไพเราะหรือไม่

เราทุกคนก็เช่นเดียวกันเมื่อคิดจะเริ่มต้นชีวิตใหม่แล้วก็ตั้งใจเลยว่า จะมีชีวิตด้วยจังหวะและลีลา ก่อนที่จะทำอะไรให้คิดสักนิดก่อนว่าจะทำเพราะอะไร มีอะไรผลักดันให้เราทำ เพราะเมื่อเรามีสติซึ่งเป็นเสมือนจอมทัพฝ่ายกุศลแล้วก็จะชะลอความโลภ โกรธ หลงลงไปได้ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา(ฝึกซ้อมก่อน) ขณะนี้เวลาของทุกคนก็ยังมี เพราะขณะนี้เรายังมีชีวิต ยังมีลมหายใจอยู่ ก็มีเวลาพอที่จะให้ฝึกหัดและเรียนรู้ความจริงได้ แล้วความจริงที่เราได้ศึกษา และนำไปปฏิบัตินั้น ก็จะมาทำให้เราเลิกจากความหลงอยู่ในมายาของชีวิตไปได้ในที่สุด


ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ลงชื่อเข้าใช้ | ลงทะเบียน

รายละเอียดเครดิต

ประวัติการแบน|อุปกรณ์พกพา|ข้อความล้วน|อภิธรรมออนไลน์

GMT+7, 2024-3-28 20:24 , Processed in 0.088379 second(s), 19 queries .

Powered by Discuz! X3.4, Rev.75

Copyright © 2001-2021 Tencent Cloud.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้