|
คนเป็นกะเทยได้อย่างไร
โดย. ท่านอาจารย์บุญมี เมธางกูร
ตอนที่ (๑) อ่านที่นี่
จิตคืออะไร? เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
สมัยนี้ เป็นสมัยที่วิทยาการทางโลกทางวิทยาศาสตร์ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ มาให้สารพัดอย่าง ล้วนแต่มีคุณค่ามีสาระประโยชน์มากมาย โลกทางวัตถุเจริญขึ้นมาได้ถึงเพียงนี้ เราก็เป็นหนี้บุญคุณของนักวิชาการทั้งหลายมิใช่น้อย
แต่อย่างไรก็ดี เรื่องที่สำคัญที่สุด มีประโยชน์แก่มนุษยชาติมากที่สุด และอยู่ใกล้ชิดติดกันกับมนุษย์มากที่สุดด้วย นักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาการต่างๆ ยังค้นคว้าหาความจริงไม่พบ ยังไม่ทราบเลยว่า จิตนั้นคืออะไร? เกิดขึ้นมาได้ด้วยเหตุอะไรบ้าง? มันทำงานอะไรกัน แล้วทำงานกันอย่างไร นี่ว่าถึงเรื่องของจิตใจเฉยๆ ยังมิได้ก้าวเข้าถึงเรื่องสำคัญมากๆ อีกหลายอย่าง
เช่น จิตใจในเวลาง่วงนอน จิตใจในเวลานอนหลับ จิตใจในขณะกำลังตื่น โลภ โกรธ หลง หรือไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง จิตใจขณะทำสมาธิและวิปัสสนา จิตใจในขณะกำลังตาย และจิตใจที่กำลังเกิดใหม่ ตลอดจนจิตใจที่เกิดใหม่ในดินแดนอันแปลกประหลาดมหัศจรรย์อีกมากมายก่อายกองที่เห็นตัวมันไม่ได้
เมื่อค้นคว้าหาความจริงยังไม่พบ ก็เลยใช้พฤติกรรมคือการแสดงออกของจิตกันไปพลางก่อน ก็ยังได้ประโยชน์เพราะพฤติกรรมของจิต ก็มีมากมายศึกษากันไม่หวาดไหว พอจะช่วยมนุษย์ได้บ้างแม้ไม่มากก็มิใช่น้อย
ทุกยุคทุกสมัยมา มนุษย์ต่างก็ค้นคว้าหาความจริงในเรื่องของจิตใจว่า คืออะไร ด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย ก็ไม่บังเกิดผล เพราะในเรื่องนี้จะต้องอาศัยความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
ด้วยเหตุที่เป็นเรื่องลึกซึ้งอย่างยิ่งนี่เอง บางท่านที่ศึกษาพระอภิธรรมเข้าไปไม่ไหว เพราะมิใช่จะอ่านๆ หรือแปลบาลีได้แล้วจะทำความเข้าใจได้ แต่ท่านได้พยายามที่จะทำให้ใครๆ พากันเข้าใจว่า ตนเองนั้นมีความเข้าใจในพระอภิธรรม จึงได้เขียนเป็นหนังสือแพร่หลายออกไปสู่ประชาชน โดยแสดงเรื่องของจิตใจว่า "จิต คือสิ่งที่เราไม่รู้ได้ว่ามันเป็นอะไร"
ถ้าไม่รู้ว่าจิตนั้นคืออะไรเสียแล้ว จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ขึ้นมาได้อย่างไร ดังนี้เอง จึงปฏิเสธในเรื่องของชาติหน้า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเอาไว้เสียสิ้นเชิง ประชาชนจึงได้รับผลเสียหายใหญ่หลวง พระอภิธรรมปิฎกมีถึง ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มากเท่ากับพระวินัยกับพระสูตรรวมกัน
บางท่านก็ปฏิเสธว่า มิได้เป็นพุทธพจน์ แม้พระวินัยกับพระสูตรท่านก็ปฏิเสธ ทั้งๆ ที่มีแสดงมากมายถึงเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและผีสางเทวดา ท่านก็ว่าเขาแต่งขึ้นมาภายหลัง ท่านพยายามสอนให้ใครๆ พากันหันหลังให้พระพุทธศาสนา ทำลายความตรัสรู้ ทำลายสัพพัญญูของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียสิ้น เพียรพยายามแสดงออกทุกวิถีทางว่า ชาติหน้าไม่มี แม้เกิดเป็นผีสางเทวดาก็ไม่ได้ ถ้าเช่นนั้น พระพุทธศาสนาจะเหลือสัก ๑๐ หรือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ท่านชี้นิ้วเอาได้ราวกับท่านเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง
จิต คือ อะไร ? เป็นคำถามที่ตั้งขึ้นมาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงในปัจจุบัน แต่ก็หามีผู้ใดเข้าถึงความจริงไม่ แม้ว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายจะได้ค้นคว้าทดสอบด้วยประการใดๆ ก็ตาม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า "จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์" (อารมฺมณ วิชฺชานน ลกฺขณํ) ด้วยเหตุนี้ เราก็จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในคำว่า "อารมณ์" คืออะไรด้วย
ท่านก็แสดงเอาไว้อีกว่า "อารมณ์" ก็คือ ธรรมชาติที่ถูกจิตรู้ หรือธรรมชาติที่จิตเข้าไปจับนั่นเอง ก็จะเห็นได้ว่า จิตจะเกิดขึ้นโดดเดี่ยวแต่ลำพังไม่ได้เสียแล้ว เพราะจะต้องมีอารมณ์เข้ามาร่วมด้วย คือ อารมณ์เป็นตัวที่ถูกจิตเข้าไปรู้ และจิตเป็นตัวรู้ ท่านยังแสดงด้วยว่า ในโลกนี้ เมื่อย่นย่อลงแล้วก็มีธรรมชาติอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น คือ ธรรมชาติที่ "รู้" อย่างหนึ่ง และธรรมชาติที่"ไม่รู้" อีกอย่างหนึ่ง
ธรรมชาติที่ "รู้" ได้แก่ จิต (รวมทั้งเจตสิกด้วย) เรียกว่าเป็นนามธรรม
ธรรมชาติที่ว่ารู้ ก็ได้แก่ รู้ในเรื่องเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัสทางกาย และคิดนึกได้
ธรรมชาติที่ "ไม่รู้" ได้แก่ รูป ซึ่งได้แก่ สสารและพลังงาน เป็นรูปธรรม
สสารและพลังงานในพระพุทธศาสนาเรียกว่า "รูป" เป็นธรรมชาติ ที่ถูกผันแปรเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยอำนาจของความเย็นและร้อน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ต้นไม้
แต่จิตจะเกิดขึ้นมาทำความรู้สึกเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัสทางกาย และคิดนึก ก็จำเป็นจะต้องมีอารมณ์ คือตัวที่จิตเข้าไปรู้ นั่นก็คือจะต้องมีอารมณ์มาร่วมประชุม ซึ่งเราเรียกกันโดยทั่วไปว่า มีอารมณ์มากระทบ
แต่อารมณ์ที่มากระทบนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นรูปเสมอไป อาจจะเห็นนาม หรือเป็นบัญญัติที่สมมุติกันขึ้นมาก็ได้ แต่ถ้าไม่มีอารมณ์มากระทบเลย จิตจะเกิดขึ้นมาเฉยๆ ก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น
ความรู้สึก "เห็น" เกิดขึ้น ก็จะต้องมี"รูปารมณ์" คือ รูป อันได้แก่คลื่นของแสงที่สะท้อนจากวัตถุมากระทบกับจิตที่ประสาทตา
ความรู้สึก "ได้ยิน" เกิดขึ้น ก็จะต้องมี"สัททารมณ์" คือ รูป อันได้แก่คลื่นของเสียงมากระทบกับจิตที่ประสาทหู
ความรู้สึก "ได้กลิ่น" เกิดขึ้น ก็จะต้องมี"คันธารมณ์" คือ รูป อันได้แก่กลิ่นมากระทบกับจิตที่ประสาทจมูก
ความรู้สึก "รู้รส" เกิดขึ้น ก็จะต้องมี"รสารมณ์" คือ รูป อันได้แก่รสต่างๆ มากระทบกับจิตที่ประสาทลิ้น
ความรู้สึก "เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง" ทางกาย ก็จะต้องมี"โผฏฐะพพารมณ์" มากระทบกับจิตที่ประสาทกาย
ความรู้สึก "คิดนึก" เกิดขึ้น ก็จะต้องมี"ธัมมารมณ์" ซึ่งได้แก่อารมณ์ที่มากระทบทางใจที่หทยวัตถุ
สำหรับธัมมารมณ์ คือ เรื่องราวที่คิดนึกนั้น อารมณ์อาจจะเป็นรูปก็ได้ หรือเป็นนาม คือความยินดีอยากจะได้ก็ได้ หรืออารมณ์ที่เป็นบัญญัติที่สมมุติขึ้น เช่น นายแดง นายดำ ก็ได้
อย่างไรก็ดี "จิตทั้งหลายจะต้องมีที่อาศัยเกิด" เช่น "จิตเห็น" จะต้องเกิดที่ประสาทตา จิตได้ยินก็จะต้องเกิดที่ประสาทหู ได้กลิ่นจะต้องเกิดที่ประสาทจมูก รู้รสต้องเกิดที่ประสาทลิ้น รับสัมผัสทางกายจะต้องเกิดที่ประสาทกาย และคิดนึกจะต้องเกิดที่หทยวัตถุ คือ ภายในหัวใจ อันเป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิต (การเปลี่ยนหัวใจ มิได้ตัดหัวใจออกไปทั้งหมด)
การงานของจิตใจตามทวาร คือ ประตูต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ถ้าได้ศึกษาโดยละเอียดก็จะเห็นความวิจิตรพิสดารมาก ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ผู้ใดคาดคิด หรือไม่มีใครคิดเข้าไปให้ใกล้เคียงได้เลย
สรุปความเรื่องจิตก็แสดงว่า จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ และอารมณ์เป็นธรรมชาติที่จิตเข้าไปจับ และถ้าตั้งคำถามโดยยกตัวอย่างขึ้นมาก็จะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
ท่านทั้งหลายเห็นหนังสือที่ท่านถืออยู่หรือไม่ "เห็น" ก็เป็นจิต "หนังสือ"ที่เห็น ก็เป็นอารมณ์ หนังสือเป็นตัวที่จิตเข้าไปจับ
ท่านทั้งหลายได้ยินเสียงนกร้องไหม "ได้ยิน"ก็เป็นจิต "เสียงนกร้อง"ที่ได้ยินก็เป็นอารมณ์ เป็นตัวที่จิตเข้าไปจับ
ท่านทั้งหลายลองคิดถึงสามี ภรรยา บุตร หรือธิดาดูทีหรือ "คิดถึง" ก็เป็นจิต สามี ภรรยา บุตร ธิดา ก็เป็นอารมณ์เป็นตัวที่จิตเข้าไปจับ
จิตอย่างเดียวเกิดไม่ได้ จะต้องมีอารมณ์เข้ามากระทบเสมอไป เหมือนพูดว่ามีพี่ก็จะต้องมีน้อง มีสามีก็จะต้องมีภรรยา มีครูบาอาจารย์ก็จะต้องมีศิษย์ จะมีอย่างเดียวจะได้หรือ จะมีแต่พี่น้องไม่มี จะมีแต่สามี ภรรยาไม่มี จะมีครู แต่ศิษย์ไม่มี จะได้อย่างไร จิตจะว่างจากอารมณ์ ที่ชอบพูดชอบสอนกันว่าจิตว่าง ก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้
เพราะจิตทั้งหลายก็ย่อมมีอนุสัยกิเลส (ตัวการที่ก่อความเศร้าหมองเร่าร้อนที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ) เพราะไม่ใช่พระอรหันต์ และจิตจะเกิดขึ้นมาโดดเดี่ยวเดียวดายได้หรือโดยไม่มีสภาวะรองรับเลย ลองค้นหาหรือพิสูจน์กันเมื่อใดก็ได้
อีกประการหนึ่ง จิตเกิดขึ้นอยู่ที่ไหน อารมณ์ก็จะอยู่ ณ ที่นั้น จิตเกิดขึ้นทางทวารใด อารมณ์ก็จะอยู่ทางทวารนั้นเสมอไป และอารมณ์ที่เป็นรูปต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ ปากกา มันก็ยังคงเป็นรูปอยู่นั่นเอง เราเรียกว่าเป็น "อารมณ์" เฉพาะที่มาเป็นตัวการทำให้จิตเกิดขึ้นเท่านั้น
เท่าที่บรรยายมา เป็นการพยายามที่จะให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายพอเป็นแนวทาง แต่เหตุให้เกิดอารมณ์โดยหลักการท่านได้วางเอาไว้โดยพิสดาร แล้วมีตัวเลขกำกับไว้ทั้งสิ้น
คนไทยส่วนใหญ่มีสำมะโนครัวเป็นชาวพุทธ แต่ศึกษาพุทธศาสนาจริงจังไม่มากเท่าใด ด้วยเหตุนี้ จึงแยกศาสนาพราหมณ์ออกจากศาสนาพุทธไม่ได้ แล้วคิดว่า ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาพุทธไป
เพราะพราหมณ์บางลัทธิยึดถือพระอิศวร และเทวดาในชั้นต่างๆ เอามาเป็นที่พึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะมีผู้ที่ทำสมาธิมาก จนมีความสามารถพิเศษอย่างที่ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า "อภิญญาจิต" ติดต่อกับบรรดาเทวดาชั้นต่างๆ ได้ ก็เลยถือ
พระอิศวรและบรรดาเทวดาชั้นต่างๆ เหล่านั้นผู้มีความสามารถพิเศษ เช่น ดลบันดาลให้ตนรอดและปลอดภัย หรือมีลาภผลใดๆ ตามที่ตนปรารถนา (ติดต่อกับผีสางเทวดาได้เท่านั้น ไม่จำเป็นจะต้องได้อภิญญาเสมอไป)
คนไทยมิใช่น้อยก็คิดดังนี้ จึงได้สู้อุตส่าห์เดินทางไปแม้ว่าจะไกลแสนไกล ต้องลำบากกายลำบากใจ และเสียเงินทองมากมาย เพื่อหวังจะได้บนบานศาลกล่าวเจ้าป่า เจ้าเขา และพระภูมิเจ้าที่ หรือต้นไม้ใหญ่ๆ ที่มีรุกขเทวดาประจำอยู่ หรือมีข่าวเล่าลือว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์บอกเบอร์ล๊อตเตอรี่ได้ที่ไหน ก็จะพากันไปอย่างล้นหลามเป็นพันเป็นหมื่น เพื่อหวังจะได้ลาภ
ผู้ศึกษาธรรมะในขั้นละเอียดลึกซึ้งก็จะทราบว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทวดานั้นมีจริง แต่ก็ไม่มีความสามารถที่จะดลบันดาลอะไรให้ใครได้ตามชอบใจ ถ้าดลบันดาลให้เพราะการคารวะกราบไหว้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเรียนเรื่องของกรรมดีกรรมชั่วที่มีความยุ่งยากพิศดาร หรือพระพุทธศาสนาไม่ต้องมีก็ได้ เพราะต้องการอะไรก็ไปขอเทวาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาได้ง่ายๆ ก็แล้วกัน
อย่างไรก็ดี บรรดาเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวมานั้น เกิดมาได้ด้วยจิตเป็นกุศล ดังนั้น การคารวะกราบไหว้จึงเป็นมงคล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้กราบไหว้แต่มิได้สอนให้ขอลาภผลอะไร ถ้าจะว่าตามความจริงแล้ว เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น บางท่านก็มีอำนาจจิตสามารถสนับสนุน หรือส่งเสริมได้บ้างตามสมควร ตามอำนาจของกรรมที่ผู้นั้นได้ทำ
เพราะสมาธิของผู้ที่ได้ฌานขั้นต่างๆ เหล่านั้น จะมีความสามารถมากมาย และสามารถมี"อภิญญาจิต"ได้ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปศึกษา คือ ท่านอาฬารดาบสกับอุทกดาบส ผู้ได้ถึงอากิญจัญญายตนฌาน และฌานขั้นสูงสุดคือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาอยู่ไม่เท่าใดก็เสด็จจากไป เพราะสมาธินั้น ถึงจะทำให้มากมายก่ายกองอย่างไร ก็ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ไม่ได้
บรรดาผู้ทำสมาธิจนได้ฌานขั้นสูงสุด ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ยังต้องแก้ปัญหาให้ชีวิตต่อๆ ไป เพราะกิเลสทั้งหลายได้แต่ถูกข่มเอาไว้ โผล่ขึ้นมาไม่ได้ด้วยอำนาจของสมาธิเท่านั้น วันใดวันหนึ่งอำนาจสมาธิเสื่อมลง วันนั้นกิเลสทั้งหลายที่ข่มเอาไว้ก็จะเสนอตัวขึ้นมาใหม่อีก
อำนาจของสมาธิ มิได้ทำให้เกิดปัญญาทราบว่า สรรพสิ่งทั้งหลายนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แม้แต่จิตใจก็คิดว่ามันเที่ยง มันเป็นอมตะไม่รู้จักดับ เพราะว่าจิตนั้นเกิดดับอยู่โดยรวดเร็วอย่างเหลือเกิน จนเกินกว่ากำลังของผู้มีแต่สมาธิจะทราบได้ ไม่มีปัญญาจึงไม่อาจทราบว่าจิตใจนั้นมีความเกิดดับอยู่ตลอดเวลา และเกิดดับอยู่อย่างรวดเร็วต่อๆ กันไปไม่ขาดสาย จนผู้ทำสมาธิเข้าใจผิดไปจึงเข้าใจว่าจิตเป็นอมตะ หรือเป็นสิ่งกายสิทธิ์ไป คนไทยบางท่านก็คิดดังนั้น
เหมือนไฟฟ้า ที่ทำให้หลอดไฟสว่างอยู่ตลอดเวลา แท้จริงมันเกิดดับติดต่อกันไปไม่ขาดสายโดยรวดเร็ว แต่สายตาของเราจับความดับของมันไม่ทัน เพราะมันเกิดดับติดๆ กันไป หรือเหมือนกับไฟฟ้าที่เขาทำไว้โฆษณา มันเกิดดับต่อๆ กันไปโดยรวดเร็ว จนทำให้เราเข้าใจว่าไฟฟ้ามันวิ่งได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนเลยแม้แต่สิ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือเป็นนามก็ตาม ล้วนแต่มีความผันแปรเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาทุกๆ วินาที จิตก็โดยทำนองเดียวกันแม้แต่รูปที่เราเห็นว่ามันใหญ่โต หรือกว้างขวาง แท้จริงก็เป็นหน่วยเล็กๆ เรียกว่า "ปรมาณู" มารวมกัน (ปรมาณูในพระพุทธศาสนา)
ในบทสวดมนต์จึงได้กำหนดเอาไว้ว่า....
สัพเพสังขารา อนิจจา = สรรพสิ่งทั้งหลายที่มีการปรุงแต่งย่อมไม่เที่ยง ย่อมจะผันแปรเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอตลอดเวลา สรรพสิ่งทั้งหลายก็ได้แก่จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ประเภท
สัพเพสังขารา ทุกขา = สรรพสิ่งทั้งหลายที่มีการปรุงแต่งย่อมจะเป็นทุกข์ (ทุกข์ไม่ใช่เจ็บป่วยไม่สบายอย่างเดียว) หมายถึงสรรพสิ่งทั้งหลาย ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ได้แก่จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ประเภท
สัพเพธัมมา อนัตตา = ธรรมชาติทั้งหมด ทั้งที่มีการปรุงแต่ง หรือมิได้ปรุงแต่ง ย่อมไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ หรือสิ่งของอะไร สักแต่ว่ามาประชุมกันชั่วคราวแล้วก็สลายตัวไปบังคับบัญชามันไม่ได้ ได้แก่จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ สำหรับสัพเพธัมมานี้ หมายถึงธรรมชาติทั้งหมดรวมพระนิพพานด้วย แต่นิพพานมิได้ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัย นิพพานเป็นนิจจังเป็นสุขขังแต่เป็นอนัตตา
ตามที่แสดงมานี้ ก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมทั้งหลายพูดเอาตามชอบใจไม่ได้ เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ควบคุมเอาด้วยตัวเลขทั้งหมด เฉพาะที่แสดงนี้เป็นแม่บทเท่านั้น พระธรรมทั้งหมดผู้ศึกษาจะได้เห็นว่ามีตัวเลขกระจายอยู่ทั่วไป ผมนำมาเสนอให้ท่านได้เห็น เพื่อจะให้ท่านเข้าใจในพระธรรมว่า ถ้ามิได้มีตัวเลขควบคุมเอาไว้แล้ว ไม่นานนัก พระพุทธศาสนาก็ต้องล้มละลาย เพราะใครต่อใครจะตีความเอาเองก็ได้ตามชอบใจ เพราะคนที่ไม่ยอมศึกษาพุทธศาสนาที่ลึกซึ้ง คิดว่าพุทธศาสนานั้นตื้นๆ ชอบคิดชอบตีความอยู่แล้ว
สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่ารูปหรือนาม ก็ย่อมจะไม่มีสิ่งใดตั้งมั่นอยู่ได้ ผู้ไม่ได้ศึกษาให้มีความเข้าใจก็คิดเอาง่ายๆ ว่า จิตนั้นเป็นอมตะ เป็นสิ่งกายสิทธิ์ ทั้งล่องลอยไปเกิดใหม่ได้ด้วย เมื่อเอาสรรพสิ่งทั้งหลายมาว่าไม่เที่ยงแล้ว จิตจะเป็นสิ่งกายสิทธิ์ และล่องลอยไปเกิดได้อย่างไร ก็เป็นการไม่ถูกต้องตามสภาวธรรม
นอกจากนี้แล้วยังชอบพูดว่า จิตดวงเดียวชอบท่องเที่ยวไป นี่แสดงว่าจิตไม่มีความดับ ซึ่งผิดกับหลักของธรรมชาติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ เพราะในโลกนี้หรือโลกไหนไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนแม้แต่สักวินาทีหนึ่ง แท้จริงเวลาจิตเกิดนั้น มีเหตุประชุมกันมากมายทั้งรูปทั้งนาม แต่จิตนั้นเป็นประธาน เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำให้ท่องเที่ยวแสวงหาอารมณ์ต่างๆ แต่หาได้เกิดขึ้นมาแต่จิตอย่างเดียวโดดเดี่ยว และไม่มีการเกิด-ดับ ซึ่งผิดสภาวะได้ไม่
จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่มีความเกิดดับสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย ไม่ว่าเวลาหลับ เวลาตื่น ไม่ว่าตอนเกิดหรือตอนตาย เพราะเป็นอนันตรปัจจัย ซึ่งท่านผู้ใดศึกษามีความเข้าใจแล้วก็จะได้เหตุผลข้อเท็จจริงพร้อมด้วยบทพิสูจน์ทุกประการว่า ทำไมมันจึงดับ แล้วทำไมมันจึงเกิดใหม่ไม่ขาดสาย
เปรียบเหมือน"เซลล์" ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย มันแยกตัวเองแล้วก็ขาดออกจาก ๑ เป็น ๒ จาก ๒ เป็น ๔ จาก ๔ ก็เป็น ๘ และเรื่อยๆ ไป ข้อสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ เมื่อ "เซลล์" แยกตัวออกเป็น ๒ เป็น ๔ แล้ว เซลล์ทั้งหมดก็ได้ถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างไปด้วยจากเซลล์ตัวเดิมมาทั้งหมด
จิตก็ทำนองนี้ เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์แล้วก็เก็บอารมณ์ต่างๆ เอาไว้ในจิตใจ เราจึงจำสีเขียว สีแดง จำ ก.ไก่ ข.ไข่ได้ ตลอดจนจำภรรยา สามี หรือเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ แม้การสอบไล่ของนักศึกษา ก็เอาของเก่าที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว เก็บเอาไว้ในจิตใจออกมาตอบในข้อสอบ ส่วนคิดนึกไม่ออกนั้นก็เพราะ กำลังแรงของอารมณ์ไม่พอ หรือมีความสันทัดจัดเจนน้อยไป หรือไม่ได้คิดนึกบ่อยๆ ด้วยไม่ได้มีความสนใจ
เมื่อจิตเกิดดับสืบต่อกันไปแล้ว การสืบทอดทุกอย่างก็ติดตามไปเหมือนกับเซลล์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง ความสันทัดจัดเจนต่างๆ ก็ติดตามไปด้วยทุกอย่าง ตลอดจนเรื่องของบุญ ของบาป เรื่องอุปนิสัยใจคอก็สืบต่อไปด้วยเช่นเดียวกัน
ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ คงจะก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ท่านทั้งหลายอยู่บ้าง ถ้าท่านค่อยๆ ศึกษาต่อๆไปแล้วก็จะเห็นว่า ในพระอภิธรรมปิฎกนั้นมีคำอธิบายอยู่พร้อมบริบูรณ์
จิตกับวิญญาณต่างกันหรือไม่?
คนไทยชอบพูดคำว่า "วิญญาณ" กันอยู่เรื่อยๆ เช่น วิญญาณออกจากร่างแล้วไปเกิดใหม่ วิญญาณนางนาคพระโขนง วิญญาณของคนตายมาเข้าฝัน แท้จริงตามหลักสภาวธรรม จิตกับวิญญาณนั้นก็อย่างเดียวกัน จิตก็แปลว่า รู้อารมณ์ และวิญญาณก็แปลว่ารู้อารมณ์เหมือนกัน ถ้าเช่นนั้น เหตุไฉนเล่าจึงไม่ใช้เสียเพียงตัวเดียวจะได้ไม่ลำบากแก่ผู้ใช้
เหมือนคำในภาษาไทยก็เหมือนกัน เราใช้กันหลายอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับที่ใช้ในที่นั้น เช่น คำว่า "จิต" บางทีเราก็ใช้คำว่า ใจไม่ดี หัวใจปวดร้าว ดวงกมล พระทัยขุ่นหมอง พระหฤทัยว้าวุ่น
คำว่า ใจ หัวใจ ดวงกมล พระทัย หฤทัย ก็ล้วแต่หมายถึงจิตใจทั้งสิ้น แต่ผู้ใช้ก็จะต้องเลือกเอาเองว่า จะใช้คำไหนให้เหมาะสมกับเรื่องอะไร
ในพระอภิธรรมปิฎกก็มีชื่อของจิตที่เป็นปรมัตถ์หลายชื่อเหมือนกัน เช่น มโน มนสํ หทยํ ปณฺฑรํ มน มนายตนํ มนินฺทริยํ วิญฺญาณํ วิญฺญาณก์ขนฺโธ ตชฺชา มโนวิญฺญาณธาตุ
สำหรับคำว่า จิต คำว่าวิญญาณ และคำอื่นๆ ท่านก็จะได้พบว่าใช้ในที่อย่างไร เมื่อได้ศึกษาต่อๆ ไป
จิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงเอาไว้เป็นหลักการ เป็นบาลีว่า "เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา" ซึ่งแปลว่า "ธรรมชาติทั้งหลายย่อมไหลมาจากเหตุ" ซึ่งก็หมายถึง ผลที่ปรากฏขึ้นมาได้นั้นไม่มีผู้ใดมาดลบันดาลหรือเสกสรรค์ขึ้นมาได้ หากจะต้องมี "เหตุ" เป็นแดนเกิด ถ้าปราศจากเหตุเสียแล้ว ผลจะปรากฏขึ้นมาเฉยๆ ย่อมจะเป็นไปไม่ได้เลยเป็นอันขาด
ด้วยเหตุดังนี้เอง จิตจะเกิดขึ้นมาทำการเห็น จึงต้องอาศัยเหตุเหมือนกัน โดยแบ่งเป็นเหตุใกล้ ๒ เหตุ และเหตุไกล ๒ เหตุ รวมเป็น ๕ เหตุด้วยกัน ทั้งนี้สำหรับผู้เริ่มศึกษาเล่าเรียนเรื่องจิต เพราะถ้าว่าโดยละเอียดแล้วก็มีเหตุเป็นจำนวนมาก
๑. อดีตกรรม .....เป็นเหตุไกล
๒. อารมณ์ ......เป็นเหตุไกล
๓. เจตสิก.......เป็นเหตุใกล้
๔. วัตถุรุป ......เป็นเหตุใกล้
๑. อดีตกรรม
อดีตกรรม หมายถึงกาลที่ล่วงไปแล้ว อาจจะเป็นกาลที่ล่วงไปแล้วในชาตินี้ หรือล่วงไปแล้วในชาติก่อนๆ ก็ได้ ส่วนคำว่า กรรม หมายถึงการกระทำ จะเป็นการกระทำทางกาย วาจา ใจ หรือเป็นการแระทำทางตา หู จมูก ลิ้น หาย และใจก็ได้ รวมกันเข้าก็หมายถึงกรรมที่ได้ทำเอาไว้แล้วเก็บเอาไว้ในจิตใจ ในข้อนี้ ผมขออธิบายโดยทั่วไปเสียก่อนเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย
จิตจะเกิดขึ้นมาได้ จะต้องอาศัยกรรมที่ได้กระทำไปแล้วในอดีต ทั้งเป็นอดีตชาติ หรือชาติก่อนๆ และอดีตในชาตินี้ เพราะถ้าไม่มีอดีตกรรมเข้ามาเป็นตัวอุดหนุนแล้ว จิตก็จะเกิดขึ้นมาไม่ได้เลยเป็นอันขาด ถ้าได้ทำความเข้าใจในข้อนี้เสียให้ดีก็จะพ้นความสงสัยไปได้ว่า ชาติก่อนไม่มี จิตที่จะเกิดขึ้นมาทำการงานเห็น ได้ยิน ได้คิดนึกในชาตินี้ก็ไม่มี หรือพูดสั้นๆ ว่า ชาติก่อนไม่มี จะเห็น จะได้ยิน ไม่ได้
ได้กล่าวมาแล้วว่าธรรมชาติของจิตนั้นย่อมเกิดดับ สืบต่อกันเรื่อยๆ ไปไม่ขาดสายอย่างรวดเร็วสุดที่จะพรรณนาได้ จิตนั้นย่อมจะเก็บและสะสมอารมณ์ต่างๆ ที่รับเอาไว้ เช่นในเรื่องที่ได้เห็นมา ได้ยินมา หรือคิดนึกมา เอาไว้ภายในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี เรื่องร้าย บุญ หรือบาปประการใด ตลอดไปจนที่เป็นความสันทัดจัดเจน เช่นเป็นคนมีความคิดอ่านว่องไวหรือเป็นคนเฉื่อยชา เป็นต้น
จิตที่สืบต่อๆ กันมานี้ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า วิบากจิต ซึ่งแปลว่าเป็นผลของกรรมอันเป็นบุญและบาป วิบากจิตนี้จะเกิดขึ้นสืบต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย ไม่ว่าเวลาหลับหรือเวลาตื่น ยกเว้นเวลาจิตขึ้นวิถีเท่านั้น คือจิตทำการงานในขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางกาย เรียกว่าอารมณ์เกิดขึ้นทางปัญจทวาร และคิดนึกเป็นอารมณ์เกิดขึ้นทางใจเรียกว่าทางมโนทวาร
มีผู้ชอบอธิบายว่า มันสมองเป็นจิตใจ แต่ถึงอย่างไรก็อธิบายไม่ได้ว่ามันสองเก็บอารมณ์เอาไว้ได้อย่างไร เห็น ได้ยิน คิดนึก ยืน เดิน รู้จักดี รู้จักชั่ว มีโลภะ โทสะ โมหะ บังคับให้หัวใจเต้น ให้ปอดทำงาน
ผมขอยกตัวอย่างจิตจะเกิดขึ้นเรื่องของอดีตกรรมอย่างง่ายๆ ที่เข้ามามีบทบาทการทำงาน ในขณะเกิดอารมณ์ปัจจุบันให้ได้เห็นสัก ๒ - ๓ ตัวอย่าง
เมื่อตั้งคำถามเด็กนักเรียนในชั้นเรียนว่า นักเรียนเห็นไหมว่ามีรูปอะไรบนกระดานดำ นักเรียนก็จะพากันตอบเหมือนๆ กันหมดว่า เห็นแมว เห็นสุนัข
เมื่อถามต่อไปว่า ทำไมจึงทราบว่าเป็นแมวและเป็นสุนัขได้ แล้วเหตุใดจึงแยกออกได้ว่าตัวแรกเป็นแมวและตัวหลังเป็นสุนัข
การตอบคำถามนี้ไม่ใช่ง่ายๆ จะตอบว่า "จำได้" เฉยๆ ก็ไม่ประกอบด้วยเหตุผล จำเป็นจะต้องยกหลักการจากสภาวธรรมขึ้นมาอธิบายว่า จำได้คืออย่างไร
ถ้าเด็กยังไม่เคยเห็นแมวหรือเห็นสุนัขมาก่อนเลย เขาก็จะรู้สึก "เห็น" เฉยๆ เท่านั้น ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นแมวหรือเป็นสุนัข
ที่ทราบว่าเป็นแมวหรือเป็นสุนัข ก็เพราะในใจของเขาเก็บภาพของแมวและของสุนัขเอาไว้แล้วอยู่ภายในจิตใจด้วย และจำชื่อได้ด้วย เมื่อตาเห็นรูป เขาก็เอาภาพแมวและสุนัขที่มีอยู่ในใจมาเปรียบเทียบกันดู แล้วจึงตัดสินใจได้ว่า ตัวไหนเป็นแมวตัวไหนเป็นสุนัข
อดีตกรรม คือรูปแมว รูปสุนัขมิได้เก็บเอาไว้ในใจแล้วจะตัดสินว่าแมวว่าสุนัขได้อย่างไร ก็จะรู้สึกว่า "เห็น" เฉยๆ เท่านั้น "เห็น"เป็นปรมัตถ์ความจริงแท้ แมวกับสุนัข ก็เป็นบัญญัติ คือ เป็นคำที่สมมุติขึ้น
ถ้าเราถามนักเรียนว่า เห็น "สีแดง" ไหม ถ้าเด็กตอบว่า เห็นสีแดงก็หมายความว่า สีแดง เด็กเคยจำเคยเก็บเอาไว้ในใจแล้ว จึงเอามาเปรียบเทียบกับที่ได้เห็นแล้วจึงตัดสินได้ ดังนั้น ถ้าคนตาบอดมาแต่คลอดออกจากครรภ์ของมารดา พูดเรื่องของสีอย่างไร เขาก็ไม่มีวันที่จะเข้าใจ สอนเรื่องสีกับคนตาบอดไม่ได้เพราะในใจของเขาไม่มีสีเก็บเอาไว้ ในทันทีนั้นเขาก็เห็นได้ แต่เขาก็จะไม่ทราบว่าที่เห็นนั้นเป็นสีแดง
ทั้งนี้ก็เพราะสีแดงเป็นบัญญัติ และในโลกนี้ไม่มีสีแดง(หรือแม้สีอะไรเลย) เราบัญญัติคำว่า "สีแดง" เพื่อให้เป็นที่เข้าใจของคนไทยเท่านั้น
อย่าว่าแต่จะพูดว่าสีแดงแล้วเขาจะไม่มีความเข้าใจเลย แม้แต่ความฝัน ถึงเรื่องสีแดงเขาก็ไม่อาจฝันได้ด้วยซ้ำไป เพราะว่าจิตทางมโนทวารจะเกิดขึ้นก็ต้องมีอารมณ์มากระทบ แต่เขาไม่มีสีแดงเก็บเอาไว้ในจิตเลยที่จะเป็นอารมณ์ที่จะมากระทบกับจิตได้ ด้วยเหตุนี้สีต่างๆ จะเกิดเป็นความฝันขึ้นทางมโนทวาร ก็จะต้องมีเก็บเอาไว้ในจิตใจ ซึ่งเป็นกรรมที่ทำเอาไว้ในอดีตมาเป็นตัวอุดหนุนให้จิตเห็นสีต่างๆ เกิดขึ้น
หรือเมื่อมีเสียงพูดขึ้นว่า "ผู้หญิงคนนี้รูปร่างสวยงามน่ารัก" เมื่อเราได้ยินเสียงนั้น จิตที่เข้ารับกระทบก็เกิดขึ้นรับต่อๆ กันไปแต่ละคำ หาได้รับพร้อมกันทั้งประโยคได้ไม่ เมื่อการกระทบเสียงที่ประสาทหูสิ้นสุดลงไป จิตคิดนึกจึงเกิดขึ้นโดยเอาแต่ละคำที่มากระทบหูนั้นมารวมดัน แล้วจึงตัดสินลงไปอีกครั้งหนึ่งว่า สวยอย่างไร
อย่างไรก็ดี มโนภาพของแต่ละคนของคนแต่ละประเทศจะให้เหมือนกันหาได้ไม่ เพราะว่า เราแต่ละคน แต่ละประเทศ ก็มีความรู้สึกว่าความสวยงามของผู้หญิงนั้นเป็นไปตามที่ได้อบรมมา ดังนั้น คนไทยว่าสวย คนฝรั่ง คนในอาฟริกา ก็อาจจะว่าไม่สวย หรือคนไทยด้วยกันเองก็อาจจะเถียงกันก็ได้ เพราะแล้วแต่รูปแบบความสวยของผู้ใดได้อบรมมาและเก็บไว้ในใจอย่างไร
เสียงที่พูดและจิตเข้ารับกระทบนั้น เกิดขึ้นที่ประสาทหูต่อๆ กันไป แล้วจิตทางมโนทวารจึงรวบรวมเอาไว้ทุกๆ คำที่กระทบหู แล้วจึงตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง โดยทำนองเดียวกันนี้เอง เมื่อเราเห็นหญิง "สวย" ก็เพราะรูปารมณ์อันได้แก่คลื่นของแสงจากจุดต่างๆ ของบนใบหน้า เช่น จมูก ตา แก้ม หน้าผาก ลูกคาง ผม สะท้อนมากระทบกับจิตที่ประสาทตาแต่ละจุดๆ เป็นขณะๆ ไป แล้วจิตจึงรวมเอาแต่ละจุดเหล่านั้นมาตัดสินอีกครั้งหนึ่ง ในเรื่องเหล่านี้ก็จะได้ความละเอียดลึกซึ้งโดยการศึกษาตามขั้นตอนเป็นลำดับไป พร้อมทั้งมีภาพแสดงการทำงานของจิต และของอารมณ์ที่มากระทบด้วย ผมขอยกตัวอย่างขึ้นมาให้ท่านได้เข้าใจเพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อย
หญิงผู้หนึ่ง เมื่อชาติที่แล้วมาเคยหากินด้วยการขายตัวอยู่ตามซ่องในที่ต่างๆ มาเป็นเวลายาวนาน จนบังเกิดความสันทัดจัดเจน
ชายผู้หนึ่ง มีความประพฤติไม่ดีในทางเพศ คอยหาโอกาสที่จะกระทำผิดในบุตรหลาน หรือผู้หญิงที่มีผู้ปกครองให้มีความเสียหาย มีความตั้งใจจะกระทำผิดในทางเพศมาเป็นประจำเป็นเวลานานปี ไม่ยอมรับผิดชอบกับผู้หญิงคนไหนจริงจัง แม้จะตั้งครรภ์ขึ้น เขาก็จะหาเหตุผลเข้ามาหักล้าง เพื่อให้ตนพ้นไปจากความรับผิดชอบ
เมื่อหญิงและชายทั้งสองนี้ ได้โอกาสมาเกิดใหม่เป็นมนุษย์ อำนาจที่ได้อบรมในชาติอดีตก็จะมาร่วมอุดหนุน ให้ประพฤติปฏิบัติเรื่องที่ไม่สมควรในทางเพศอีก แม้จะอบรมแล้วด้วยดีในชาตินี้ แม้ว่าจะเกิดเป็นลูกผู้หญิงในตระกูลสูง คือ เป็นลูกเจ้าคุณ หรือมีศักดิ์ศรีอย่างไร ก็ห้ามใจไว้ไม่ได้ที่จะวุ่นวายในทางเพศ ถึงว่าอายุยังไม่มาก็ตาม พ่อแม่จะว่ากล่าวอย่างไรสั่งสอนกันมามากสักแค่ไหน เขาก็กล้าที่จะทำผิดในทางเพศได้ง่ายๆ แล้วมองเห็นว่า ไม่เห็นเป็นเรื่องร้ายอะไร เป็นเรื่องธรรมดาๆ คนอื่นๆ คิดมากกันไปเอง
ผู้พิพากษาที่มาศึกษาพระอภิธรรมท่านหนึ่ง มาเล่าให้ผมฟังว่า มีหน้าที่อบรมผู้พิพากษาที่สอบเข้ามา โดยหลักการแล้วผู้ศึกษากฎหมายทุกท่านย่อมศึกษากันว่า ผู้ร้ายใจฉกรรจ์นั้นสืบสายโลหิตมาจาก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือในๆ เข้าไปอีกก็ได้
แต่ครั้นมาศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็บรรยายเพิ่มเติมว่าตามหลักสภาวธรรมนั้นสันดานผู้ร้ายเป็นจิตใจที่ถ่ายทอดตามสายโลหิตไม่ได้ หากแต่ผู้ที่มีสันดานผู้ร้ายมักจะไปเกิดกับพ่อแม่ที่เป็นผู้ร้าย หรือมีเรื่องราวมีความแตกแยกในครอบครัวในขณะปฏิสนธิ หรือถ้าพ่อแม่ยิ่งเสพสุรายาเมาด้วยแล้ว เด็กปัญญาอ่อนก็มักจะมาเกิดได้อย่างง่ายดาย
อำนาจของการสั่งสมอบรมมาย่อมจะเก็บไว้ในจิตใจ แล้วก็ส่งต่อไปเรื่อยๆ แก่จิตที่สืบต่อกันไม่ขาดสาย และอำนาจของกรรมที่ได้อบรมเหล่านั้นก็จะช่วยอุดหนุนให้เป็นไปต่างๆ ด้วยเหตุนี้พี่น้องท้องเดียวกันจึงมีอัธยาศัยใจคอแตกต่างกันมาก เป็นฟ้ากับดินก็ได้
อำนาจของการอบรมที่ได้กระทำผ่านมาแล้วในอดีต ที่เห็นได้ง่ายที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อเวลาจิตเกิดขึ้นมีความโลภหรือมีความโกรธ ความโลภหรือความโกรธนั้นก็ติดมาจากอดีตชาติทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครในชาตินี้สอนอะไรให้เลย ชาติก่อนมิได้ติดตัวมาแล้ว จะเอาความโลภ ความโกรธมาแต่ไหน
จิต"เห็น" ก็ดี จิต"ได้ยิน" ก็ดี ก็ล้วนแต่เป็นวิบากจิต เป็นจิตอันเป็นผลของกรรมที่ได้ทำเอาไว้แล้วทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ อดีตกรรมไม่มี จิต"เห็น" จิต"ได้ยิน" จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
๒.อารมณ์ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า จิตจะเกิดขึ้นมาได้จิตจะต้องจับอารมณ์ หรือจะต้องมีอารมณ์มากระทบกับจิต เช่น "จิตเห็น" เกิดขึ้น จะต้องมีรูปารมณ์ คือรูปอันได้แก่คลื่นของแสงมากระทบกับจิตที่ประสาทตา ถ้าไม่มีอารมณ์มากระทบจิตก็จะเกิดขึ้นไม่ได้
แต่ที่ว่าอารมณ์มากระทบนั้น ก็เพื่อทำความเข้าใจให้ง่ายสำหรับผู้ศึกษาเท่านั้น เพราะว่ามากระทบจริงๆ ก็มี มากระทบโดยสืบต่อก็มี
กระทบทางกายนั้น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็มากระทบกับจิตที่ประสาทกายโดยตรง แต่บางทวาร เช่น กระทบทางตาเป็นต้น รูปอันได้แก่คลื่นของแสงหาได้กระทบโดยตรงไม่ หากแต่สืบต่อๆ เข้าไปภายใน และเปลี่ยนสภาพจากคลื่นของแสงในทางธรรมเรียกชื่อการกระทบโดยการสืบต่อ ๆ ไปนั้นว่า อสัมปัตตคาหกรูป และกระทบโดยตรงเรียกว่า สัมปัตตคาหกรูป
สำหรับเหตุให้เกิดจิตทั้ง ๒ ข้อนี้ เป็นเหตุไกล เพราะเป็นอดีตกรรม และอารมณ์ต่างๆ มากระทบ มิใช่เกิดที่จิตโดยตรง
๓. เจตสิก เหตุให้เกิดจิตตัวที่ ๓ ได้แก่ เจตสิก และเจตสิกนี้ก็จะต้องเกิดร่วมกับจิตเสมอไป ไม่มีเจตสิกก็ไม่มีจิต
๔. วัตถุรูป ไม่ว่าสิ่งใดในโลกนี้ จะต้องมีที่ตั้งที่อาศัยสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้วไม่มีที่อาศัยก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของใดๆ ก็ตาม แม้ขอทานไม่มีบ้านเรือนอันเป็นที่อยู่ เขาก็มีที่นั่ง ที่นอน อาจจะเป็นตามใต้ต้นไม้หรือใต้สะพาน
จิตจะเกิดขึ้นมาก็โดยทำนองเดียวกัน จะต้องมีที่ตั้งที่อาศัยเหมือนกับธรรมชาติทั้งหลายนั่นเอง ไม่มีที่ตั้งที่อาศัยจิตจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร (ยกเว้นในอรูปพรหมภูมิ)
วัตถุรูป ก็ได้แก่ที่ตั้งที่อาศัยที่จิตใจจะเกิดขึ้น เมื่อจิตเกิดขึ้นทางตามาทำหน้าที่ "เห็น" ก็อาศัยที่จักขุวัตถุ คือประสาทตา ทางหูเรียก โสตวัตถุ ทางจมูกเรียก ฆานวัตถุ ทางลิ้นเรียกว่า ชิวหาวัตถุ ทางกายเรียกว่า กายวัตถุ ทางใจเรียกว่า หทยวัตถุ
ที่เรียกว่า จักขุวัตถุ คือประสาทตานั้น ในภาษาธรรมะเรียกว่า จักขุปสาทะ ทางหู = โสตปสาทะ ทางจมูก=ฆานปสาทะ ทางลิ้น=ชิวหาปสาทะ ทางกาย=กายปสาทะ และทางใจไม่ใช่ปสาทะ เรียกว่า หทย
หทยก็ได้แก่ที่ตั้งที่อาศัยของจิตที่จะทำการงานทางมโนทวาร คือ คิดนึกนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เพราะ หทยวัตถุ อันเป็นที่ตั้งที่อาศัยของจิตที่ทำงานคิดนึก และเป็นที่ตั้งที่รองรับจิตที่ทำหน้าที่ภวังค์ หรือบางทีก็จุติและปฏิสนธินั้น มีความละเอียดพิสดารที่จะต้องศึกษาต่อไป และจะต้องผ่านการศึกษาเรื่องรูปพอเข้าใจเสียก่อน
หทยวัตถุนี้ ตั้งอยู่ภายในหัวใจของสัตว์ทั้งหลาย ต่อมาได้มีนายแพทย์ได้ทำการผ่าตัดหัวใจของคนไข้ แล้วเอาหัวใจของคนตายใส่เข้าไปแทน ท่านนักศึกษาพระอภิธรรมก็พากันพูดว่าผ่าตัดหัวใจออกแล้ว เหตุใดจึงมีชีวิตอยู่ได้
ในเรื่องนี้ ผมได้นำเอาภาพการผ่าตัดหัวใจในครั้งแรก ที่ลงในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ พร้อมกับปรึกษาศัลยแพทย์หลายท่านในประเทศไทย ก็ได้ความว่า ไม่ได้ตัดหัวใจทิ้งไปแล้วเอาหัวใจของอีกคนหนึ่งที่ตายมาใส่แทน หากแต่ตัดส่วนล่างออกเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ผมได้เฝ้าคอยดูผลของการเอาหัวใจของผู้อื่นบางส่วนเข้าไปต่อกับส่วนที่ตัดทิ้งจากโรคหัวใจ
ต่อมาอีกหลายปี คนไข้ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาอีกไม่นานทั้งนั้น นายแพทย์กล่าวว่า หัวใจของคนเก่าไม่ยอมรับหัวใจของคนใหม่ ได้พยายามทำทุกประการแล้วก็ยังไม่ได้ผล
เรื่องนี้ถ้าว่าโดยสภาวธรรมแล้ว กรรมชรูปของคนหนึ่งแล้วจะให้กรรมชรูปของอีกคนหนึ่งรับได้อย่างไร
เจตสิก คืออะไร
ผู้ที่มิได้ศึกษาพระอภิธรรม ซึ่งเป็นพระธรรมที่ว่าด้วยเรื่องอันลึกซึ้งของชีวิตจิตใจ ก็จะตีความคำว่า เจตสิก เอาง่ายๆ ว่าเจตสิกกับวิญญาณเป็นเจตภูต เพราะเจตสิกกับเจตภูต พูดคล้ายกันแล้วเวลานอนหลับเจตภูตจะออกจากร่างกายได้แล้วก็ท่องเที่ยวไปทำให้เกิดความฝันต่างๆ
ผู้ใดมีความคิดเห็นอย่างไรก็แสดงออกมา โดยไม่ได้มีหลักวิชาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ พร้อมทั้งมีตัวเลขควบคุมมิให้บางท่านมักง่าย แล้วก็ค่อยๆ ทำลายพระพุทธศาสนาให้ค่อยๆ สลายตัวไปโดยปริยาย
ผู้แสดงธรรมะมักง่ายเหล่านี้ เพียรพยายามที่จะทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ซึ่งตรัสรู้ ผู้ซึ่งมีสัพพัญญูให้กลายเป็นบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไป ดังนั้น จึงตัดเรื่องยากๆ ออกไปเสียจนหมด เช่นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ผีสางเทวดา พญานาค พญาครุฑ และปัญหาโลกแตกอีกมากมาย ที่มีแสดงและมีบทพิสูจน์พร้อมบริบูรณ์อยู่ในพระอภิธรรมปิฎกออกเสีย โดยพยายามหาคำพูดหาทางยกเหตุผลของตนเองขึ้นมา แล้วก็ใส่ความคิดเห็นตื้นๆ ของตนลงไปโดยไม่ละอาย โดยมิได้มีความรับผิดชอบใดๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีสภาวะรับรองและมิได้เอาตัวเลขที่ควบคุมเอาไว้มาวาง
ในเรื่องของเจตสิกนี้ บางท่านก็คิดเอาง่ายๆ โดยอธิบายเป็นจิตไปเลย ว่าเจตสิกก็คือความรู้สึกนั่นรู้สึกนี่ มันเป็นจิตที่ผสมเจตสิกเสร็จแล้ว จึงรักบ้าง โกรธบ้าง แล้วแถมท้ายว่าขอให้เข้าใจว่ามันเป็นจิตดวงเดียวนั่นแหละ มันจะไปไหน มันจะอยู่ที่ไหนมันก็ดวงเดียว จึงได้ใช้คำว่า "เอกจรํ"
ท่านยังกล่าวต่อไปว่า มีเจตสิกธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งผสมแล้ว นับตั้งแต่คลอดออกจากท้องแม่จะมีแต่ความเป็นอย่างนี้เข้มข้นมากขึ้น จนเป็นนิสัยสันดานของสิ่งที่เรียกว่า จิต
ท่านมีความเข้าใจว่า จิตกับเจตสิก มันเป็นคนละกลุ่ม คนละพวก แล้วจึงได้มาผสมกันกลายเป็นว่า มีจิตกลุ่มหนึ่งต่างหาก แล้วจึงเอามารวมกับเจตสิก เจตสิกคืออะไรก็ไม่ทราบ ตีความเอาง่ายๆ ว่า เจตสิกคือความรู้สึกนั่นรู้สึกนี่ มันเป็นจิตที่ผสมเจตสิกเสร็จแล้ว จึงรักบ้าง โกรธบ้าง
ท่านพยายามที่จะแสดงว่า ท่านก็ได้ศึกษาพระอภิธรรมมาเหมือนกัน แต่พอขึ้นต้น ผู้ศึกษาพระอภิธรรมก็ทราบว่า ท่านไม่เคยได้ศึกษามาก่อนเลยอย่างแน่นอน ยิ่งวิปัสสนาของท่านด้วยแล้ว ก็เป็น "วิปัสสนึก" ไปทั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้วจะสอนวิปัสสนึก ดังนี้หรือ
ท่านพยายามแสดงหลายที่หลายแห่งและหลายครั้งว่า จิตนั้นมันเป็นอันเดียว ดวงเดียว ไม่มีอะไรเป็นคู่ได้ ไม่มีอะไรปน เช่นในเวลาที่คนนอนหลับ หรือที่ยังอยู่ในท้องแม่ ท่านคิดแล้วพูดเอาเองแท้ๆ บาปหรือบุญที่ได้ทำไปแล้ว เรียกว่า "วิบากจิต" หายไปไหน นิสัยใจคอหรืออัธยาศัยจะไปอยู่ในที่ใด และถ้าจิตของเด็กที่อยู่ในท้องแม่อยู่โดดเดี่ยวแต่ลำพังแล้ว ถ้าเช่นนั้น คนทำแท้งลูกก็คงจะไม่เป็นบาปกรรมอะไรกระมัง
ท่านไม่เคยได้ศึกษาแม้ในพระสูตรที่แสดงว่าขณะปฏิสนธิเป็นจุดเล็กๆ ที่อยู่ในครรภ์ของมารดา เรียกว่า "กลละ" นั้น มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีรูปอันเป็นปรมาณูจากอำนาจของอะไร มีจำนวนเท่าใด และมีอะไรบ้าง แล้วมันทำงานกันอย่างไร แม้คนนอนหลับท่านก็ไม่มีความเข้าใจ ง่วงนอน ละเมอ หรือความฝัน ก็แน่ละไม่มีวันที่จะอธิบายได้เป็นอันขาด เพราะท่านไม่ยอมอาศัยพระอภิธรรมปิฎก
นอกจากนี้ คำว่า "เอกจรํ" เขาไม่ได้แปลว่า เที่ยวไปโดดเดี่ยวแต่ลำพัง เพราะจิตจะไปไหนโดดเดี่ยวแต่ลำพังไม่มีสภาวะรองรับ และในโลกนี้ก็ไม่มีอะไรโดดเดี่ยวเลยแม้แต่อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของต่างๆ หรือรวมพูดว่า "รูปนาม" ก็ตาม
จิตไม่มีอารมณ์ จิตไม่มีสถานที่อาศัย และจิตไม่มีเจตสิกหลายประเภทร่วมด้วยแล้ว จิตจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และเมื่อจิตเกิดขึ้นมาแล้วจิตจะไปไหนได้ เพราะจิตล่องลอยไม่ได้ ถ้าล่องลอยไปก็จะกลายเป็นความเห็นผิดเป็นสัสสตทิฏฐิ ท่านคิดไปไม่ถึงดอกว่าเหตุที่ทำให้จิตเกิดคือรู้สึก "เห็น" รู้สึก"ได้ยิน" ได้นั้น ต้องมีเหตุปัจจัยมาประชุมกันถึง ๗๓ เหตุ แล้วในการแสดงพระอภิธรรมเรื่องจิตเกิด หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นของสัตว์ทั้งหลายนั้น จิตเป็นหัวหน้า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการแสดงออกแต่ลำพังผู้เดียว ทั้งเป็นใหญ่เป็นประธานอย่างไรก็มีคำอธิบาย
แล้วท่านก็สรุปเอาง่ายๆ ว่า ขอให้เรารู้เรื่องจิตในลักษณะอย่างนี้เถิด คือรู้แต่ลักษณะที่สามารถอบรมจิต เจตสิกให้มีความพ้นทุกข์ก็พอแล้ว (พ้นทุกข์ของท่านมีชาตินี้ชาติเดียว) เพราะฉะนั้น จิตวิทยาในพระพุทธศาสนา จึงจำกัดอยู่แค่นี้เกินนี้ไไม่ใช่พระพุทธศาสนา มันออกไปนอกขอบเขตของพระพุทธศาสนามันเป็นจิตวิทยาที่เพ้อๆ ไปอย่างนี้ เมื่อเพ้อหนักๆ เข้า ก็เลยเฟ้อเลยแล้วมันจะเสียเวลาเปล่า
ท่านพยายามปิดประตูเสียอย่างมิดชิด มิให้ผู้ใดคิดไปในทางอื่นๆ โดยถือความคิดเห็นของท่านเป็นใหญ่ ท่านผูกขาดแม้ผู้ใดจะค้นคว้าหาความจริงจากพระไตรปิฎก
ช่างน่าประหลาด พระอภิธรรมนั้นลึกซึ้งอย่างเหลือเกินหลับมีผู้ที่ไม่ได้ศึกษา แต่มีความสามารถอธิบาย และตีความซ้ำชี้ให้เป็นคำขาดเสียด้วยว่า ศึกษามากแล้วออกไปนอกขอบเขตของพระพุทธศาสนา จึงได้ว่า คำสอนในพระอภิธรรมนั้นเพ้อๆ ไปอย่างนั้นเอง ท่านห้ามเหมือนกับท่านสั่งว่า เรียนเครื่องยนต์ของรถยนต์นั้น อย่าเรียนมากมันจะเฟ้อ เรื่องชีวิตจิตใจนั้นยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุด ศึกษามามากท่านก็กลัวจะเฟ้อแล้วจะพาชีวิตจิตใจให้เดินทางไกลไปได้อย่างไร ดังนี้เองหนทางพ้นทุกข์ของท่าน จึงได้พูดเอา "ง่ายๆ" เพียงในชาตินี้โดยกลัวว่าจะเฟ้อแล้ว จะเป็นสัพพัญญูผู้ตรัสรู้ได้อย่างไรกัน เราจะพากันเอาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบไหว้ทำไม
เรื่องที่เขียนออกมา ก็พูดวนไปเวียนมา ว่าไปตามความเข้าใจ โดยมิได้อยู่ในความควบคุมของตัวเลขเลยแม้แต่ตัวหนึ่ง ผมขอยกเอามาวิจารณ์เพียงเท่านี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับจิตใจโดยตรงเท่านั้น ถ้าประชาชนมิได้มีความเสียหายใหญ่หลวงแล้วผมก็ไม่ปรารถนาที่จะแตะต้องเลย ผมก็จะไม่ทำให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายต้องเสียเวลาต่อไปอีก ขอเชิญท่านเรียนเรื่อง "เจตสิก" ต่อไป.
โปรดติดตามตอนต่อไป
|
|